สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ความดันโลหิตสูง(Hypertension)

ความดันโลหิต เป็นแรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือดแดงจากการสูบฉีดของหัวใจ สามารถวัดหาค่าด้วยเครื่องวัดความดัน โดยวัดที่แขน จะมี 2 ค่าที่วัดได้ คือ ความดันโลหิตสูง

1. ความดันช่วงบนหรือความดันซิลโตลี(systolic blood pressure) เป็นแรงดันของเลือดขณะหัวใจบีบตัว ค่าของความดันอาจแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยตามท่าทาง อารมณ์ การออกกำลังกาย และอายุ

2. ความดันช่วงล่าง หรือความดันไดแอสโตลี หมายถึง แรงดันเลือดขณะที่หัวใจคลายตัว

สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ได้มีการกำหนดค่าความดันโลหิตปกติและระดับความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูงไว้ในปัจจุบัน

ความดันโลหิตสูง หมายถึง ความดันช่วงบนมีค่าตั้งแต่ 140 มม.ปรอท ขึ้นไป หรือความดันช่วงล่างมีค่าตั้งแต่ 90 มม. ปรอท ขึ้นไป ส่วนใหญ่มักพบผู้ป่วยที่มีความดันช่วงล่างสูงในขณะที่ความดันช่วงบนจะสูงหรือไม่ก็ตาม บางรายความดันช่วงล่างไม่สูงแต่กลับมีความดันช่วงบนสูงเพียงอย่างเดียว เรียกว่า ความดันช่วงบนสูงเดี่ยวมักจะมีอันตรายมากกว่าผู้ที่มีความดันช่วงล่างสูง จึงควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและจริงจัง

ควรทำการวัดความดันในท่านั่งอย่างน้อย 2 ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 1-2 นาที ถ้าหากค่าเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าปกติ ควรวัดซ้ำอีกอย่างน้อย 1-2 ครั้งในต่างวันกัน หากพบค่าความดันเฉลี่ยสูงกว่าปกติ ผลการวินิจฉัยก็สรุปได้ว่าเป็นความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง มักพบโรคนี้ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป

การตรวจวัดความดัน
ก่อนการวัดควรให้ผู้ป่วยนั่งพักบนเก้าอี้อย่างน้อย 5 นาที ให้เท้าวางบนพื้นในท่าผ่อนคลาย แล้วทำการวัดในท่านั่งโดยวางแขนบนโต๊ะให้สูงระดับเดียวกับหัวใจ และไม่ควรพูดคุยในขณะกำลังวัดความดัน ควรใช้ผ้าพันแขนให้ส่วนที่พองลม(cuff bladder) พันได้อย่างน้อยร้อยละ 80 ของเส้นรอบวงแขน เพราะอาจทำให้ค่าความดันที่วัดได้สูงเกินจริงหากพันได้น้อยกว่านี้ ควรทำการวัด 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยโดยทิ้งระยะให้ห่างกัน 1-2 นาที แล้วจดบันทึกค่าเฉลี่ยที่ได้โดยห้ามปัดตัวเลขสุดท้ายให้เป็น 0 หรือ 5 เพราะอาจทำให้การแปลผลเกิดความคลาดเคลื่อนได้

ควรวัดความดันจากแขนทั้ง 2 ข้าง ถ้าแขนข้างใดมีความดันสูงกว่า คราวต่อไปให้วัดแขนข้างที่มีความดันสูงกว่าเสมอ

ควรวัดความดันในท่ายืนไว้เปรียบเทียบกับท่านอน และระมัดระวังการใช้ยาลดความดัน สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันตกในท่ายืน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่กินยาขยายหลอดเลือด

ก่อนการวัดความดันอย่างน้อย 30 นาที ควรงดบุหรี่ ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน การออกกำลังกาย และควรงดการใช้ยากระตุ้นอะดรีเนอร์จิก เช่น สูโดเอฟีดรีน และงดดื่มแอลกอฮอล์ ในวันที่มีการวัดความดัน

การแบ่งระดับความรุนแรงของความดันโลหิตสูงในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

ประเภท ความดันช่วงบน(มม.ปรอท) ความดันช่วงล่าง(มม.ปรอท)
ความดันที่ดี < 120 และ < 80
ความดันปกติ < 130 และ < 85
ความดันปกติแต่ค่อนไปทางสูง 130-139 และ/หรือ 85-89
ความดันโลหิตสูงระดับที่ 1(เล็กน้อย) 140-159 และ/หรือ 90-99
ความดันโลหิตสูงระดับที่ 2(ปานกลาง) 160-179 และ/หรือ 100-109
ความดันโลหิตสูงระดับที่ 3(รุนแรง) มากกว่าหรือเท่ากับ 180 และ/หรือ มากกว่าหรือเท่ากับ 110
ความดันช่วงบนสูงเดี่ยว มากกว่าหรือเท่ากับ 140 และ < 90

หมายเหตุ เมื่อความดันช่วงบนและความดันช่วงล่างมีความรุนแรงอยู่ต่างระดับกันให้ถือระดับที่รุนแรงกว่าเป็นเกณฑ์
สาเหตุ
1. ส่วนใหญ่มักไม่พบหรือภาวะผิดปกติหรือสาเหตุของความดันโลหิตสูง เรียกว่า ความดันโลหิตสูงชนิดปฐมภูมิ หรือความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ มักพบว่าผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้จะมีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติดังกล่าวซึ่งเป็นปัจจัยทางกรรมพันธุ์ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค และปัจจัยเสริมที่อาจทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน คือ อายุที่มากขึ้น ความอ้วน การกินอาหารเค็มจัดที่มีเกลือโซเดียมสูง ดื่มแอลกอฮอล์จัด เป็นต้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่ออายุประมาณ 25-55 ปีมักจะเริ่มเป็นโรคความดันโลหิตสูง พบได้มากในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีโอกาสพบโรคนี้ได้มากขึ้นเมื่อยิ่งมีอายุสูงขึ้น

2. อาจพบโรคหรือภาวะผิดปกติที่เป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูง เรียกว่า ความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ หรือความดันโลหิตสูงชนิดมีสาเหตุ แต่พบได้เป็นส่วนน้อย โดยผู้ป่วยอาจมีลักษณะดังต่อไปนี้
-ความดันช่วงบน มากกว่าหรือเท่ากับ 180 หรือช่วงล่าง มากกว่าหรือเท่ากับ 110 มม.ปรอท
-มีความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นฉับพลัน
-เกิดความดันโลหิตสูงก่อนอายุ 30 ปีหรือหลังอายุ 50 ปี
-ภาวะแทรกซ้อนที่พบร่วมด้วย เช่น หัวใจห้องล่างซ้ายโต มีค่าครีอะตินีนในเลือด มากกว่า 1.5 มก./ดล.
-จอตาเสื่อมระดับ 3 หรือ 4
-คุมความดันไม่ได้หลังจากเคยคุมได้มาก่อน หรือได้ใช้ยาลดความดันหลายชนิดแล้ว
-มีอาการที่สงสัยว่าเป็นความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ

3. ความดันช่วงบนสูงเดี่ยว ยิ่งมีอายุมากก็จะยิ่งมีโอกาสพบได้มากขึ้น เช่นใน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยคอพอกเป็นพิษ ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ ลิ้นหัวใจเอเออร์ติกรั่ว

4. ความดันโลหิตอาจสูงได้ชั่วคราวเมื่อหัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เช่น มีไข้ ภาวะซีด หลังออกกำลังกายใหม่ๆ อารมณ์ตื่นเต้น หรือโกรธ เป็นต้น เมื่อปัจจัยเหล่านี้หมดไปความดันก็จะกลับเป็นปกติได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรักษา

สาเหตุของความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ
-ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
-ผลข้างเคียงจากยา เช่น ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ยาเม็ดคุมกำเนิด/เอสโทรเจน อะดรีนาลิน สูโดเอฟีดรีน สตีรอยด์ ไซโคลสปอรีน อีริโทรพอยเอทิน แอมเฟตามีน/โคเคน
-โรคไต เช่น ไตวายเรื้อรัง หน่วยไตอักเสบ กรวยไตอักเสบเรื้อรัง โรคถุงน้ำไตชนิดหลายถุง เป็นต้น
-หลอดเลือดแดงไตตีบ
-หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ
-เนื้องอกต่อมหมวดไต-ฟีโอโครโมไซโตมา
-โรคคุชชิง การใช้สตีรอยด์ติดต่อกันนานๆ
-โรคของต่อมไทรอยด์/พาราไทรอยด์
-ภาวะแอลโดสเตอโรนสูงชนิดปฐมภูมิ

อาการ
ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแต่อย่างใด มักตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อไปตรวจรักษาโรคอื่นๆ

อาจพบอาการปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ เวียนศีรษะ มักเป็นเมื่อตื่นนอนใหม่ๆ และจะทุเลาไปเองเมื่อตอนสายๆ ซึ่งพบอาการนี้ได้เป็นส่วนน้อย หรืออาจมีอาการปวดศีรษะตุบๆ แบบไมเกรนในบางราย

อาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ มือเท้าชา ตามัว หรือมีเลือดกำเดาไหล ในรายที่เป็นมานานหรือผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมากๆ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เจ็บหน้าอก บวม หอบเหนื่อย แขนขาเป็นอัมพาต เป็นต้น หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ โดยไม่ได้รับการรักษา

ในรายที่เป็นความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ อาการแสดงของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น มีระดับความดันโลหิตแกว่งขึ้นๆ ลงๆ ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ใจสั่น เหงื่อออกเป็นพักๆ ปวดหลังร่วมกับปัสสาวะขุ่นแดง ต้นแขนและขาอ่อนแรงเป็นพักๆ อาการนอนกรนผิดปกติ อ้วนฉุ หน้าอูม มีไขมันที่หลังคอ มีประวัติกินยาสตีรอยด์ ยาชุด ยาลูกกลอน เป็นต้น

สิ่งตรวจพบ
มักพบความดันโลหิตช่วงบนมีค่าตั้งแต่ 140 มม.ปรอทขึ้นไป หรือช่วงล่างมีค่าตั้งแต่ 90 มม.ปรอทขึ้นไป หรือสูงทั้งช่วงบนและช่วงล่าง

มักไม่พบสิ่งผิดปกติอื่นๆ ยกเว้นในรายที่เป็นความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิอาจพบอาการของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ชีพจรที่ขาหนีบคลำไม่ได้หรือคลำได้แผ่วเบาในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ คลำได้ก้อนในท้องส่วนบน 2 ข้างในผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงน้ำไตชนิดหลายถุง ในผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดแดงไตตีบเมื่อใช้เครื่องฟังได้ยินเสียงฟู่เมื่อตรวจบริเวณหน้าท้องใต้ชายโครงขวาหรือซ้าย ในผู้ป่วยที่มีลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วใช้เครื่องตรวจฟังได้ยินเสียงฟู่ตรงลิ้นหัวใจเอออร์ติก ในผู้ป่วยโรคไตมักตรวจพบสารไข่ขาวในปัสสาวะ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน
มักทำให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ สมอง ไต ประสาทตา เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยให้เป็นความดันโลหิตสูงอยู่นานๆ เนื่องจากการเสื่อมของหลอดเลือดแดงแทบทุกส่วนของร่างกาย ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง หลอดเลือดตีบ เลือดไปเลี้ยงอวัยวะไม่ได้
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ เช่น

1. หัวใจ จะทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายโต และจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงอื่นๆ เกี่ยวกับหัวใจตามมาถ้าปล่อยให้เป็นมากขึ้น และยังอาจทำให้หลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจตีบกลายเป็นโรคหัวใจขาดเลือด มีอาการเจ็บหน้าอก และอาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายได้หากเป็นแบบรุนแรง และอาจยังทำให้เกิดอาการภาวะหัวใจวายมีอาการบวม หอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ และยังอาจตรวจพบหัวใจเต้น มากกว่า 120 ครั้ง/นาที จังหวะการเต้นไม่สม่ำเสมอจากหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว

2. สมอง ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคืออาจกลายเป็นโรคอัมพาตครึ่งซีกจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก หรืออาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วในรายที่มีหลอดเลือดฝอยในสมองส่วนสำคัญแตก ถ้าเป็นแบบเรื้อรังมานานอาจทำให้กลายเป็นโรคความจำเสื่อม สมาธิลดลงได้

อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ซึม เพ้อ ชัก หรือหมดสติได้ ในรายที่มีความดันโลหิตสูงรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เรียกว่า “Hypertensive encephalopathy”

3. ไต เนื่องจากหลอดเลือดแดงแข็งทำให้เลือดไปเลี้ยงไม่พอจึงอาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้ เมื่อไตวายความดันโลหิตก็ยิ่งสูงขึ้นกลายเป็นวงจรที่เลวร้าย มักพบสารไข่ขาว 2+ขึ้นไปเมื่อตรวจปัสสาวะ การเจาะเลือดทดสอบการทำงานของไตพบว่าระดับของสารบียูเอ็น และครีอะตินีนสูง

4. ตา จะเกิดภาวะเสื่อมของหลอดเลือดแดงภายในลูกตาอย่างช้าๆ หลอดเลือดจะตีบในระยะแรก และอาจแตกมีเลือดออกที่จอตาในระยะต่อมา ทำให้ประสาทตาเสื่อม ตามัวลงเรื่อยๆ จนทำให้ตาบอดในที่สุด ซึ่งอาจตรวจดูความผิดปกติภายในลูกตาด้วยเครื่องส่องตา

5. หลอดเลือดแดงใหญ่ และหลอดเลือดแดงส่วนปลาย เกิดภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่แข็งทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง และภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ซึ่งอาจทำให้อันตรายถึงตายได้

อาจเกิดภาวะแข็งตัวและตีบของหลอดเลือดแดงส่วนที่มาเลี้ยงขาและปลายเท้าได้ และจะทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนี้น้อยลงทำให้เป็นตะคริวบ่อย หรือปวดน่องเมื่อเดินมากๆ ถ้ามีการสูบบุหรี่ร่วมด้วย หากหลอดเลือดแดงอุดตันอาจทำให้กลายเป็นเนื้อตายเน่าจากการขาดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณนั้น

ภาวะแทรกซ้อนจะรุนแรงหรือรวดเร็วเพียงใดขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะของโรค ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้รวดเร็วและเสียชีวิตภายในไม่กี่ปีหากมีความดันสูงมากๆ ส่วนผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยแล้วปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษามักเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นในเวลาประมาณ 7-10 ปี แต่อาจป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือลดความรุนแรงลงได้หากสามารถควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเร็วขึ้นในผู้ป่วยที่มีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ หรือผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์จัด จึงควรจะควบคุมพฤติกรรมเหล่านี้ควบคู่ไปกับการควบคุมโรคด้วย

การรักษา
ถ้าพบมีความดันโลหิตสูงในระดับที่ 1 ควรตรวจยืนยันภายใน 2 เดือน ถ้าเป็นในระดับที่ 2 ควรประเมินหรือส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อภายใน 1 เดือน ถ้าเป็นระดับที่ 3 ควรประเมินและส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อภายใน 1 สัปดาห์หรือทันทีถ้ามีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเกิดขึ้น

ควรประเมินผู้ป่วยทุกรายก่อนให้การรักษา โดยค้นหาสาเหตุ ประเมินพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ค้นหาโรคที่สัมพันธ์กับโรคนี้ และร่องรอยการทำลายอวัยวะจากโรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งค้นหาโรคและภาวะผิดปกติอื่นๆ ที่มีผลต่อการเลือกใช้ยาลดความดัน ด้วยวิธีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดหาระดับน้ำตาล คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ กรดยูริก ครีอะตินีน โพแทสเซียม เฮโมโกลบิน และฮีมาโทคริต ซึ่งต้องตรวจครั้งแรกที่ทำการวินิจฉัยและตรวจซ้ำปีละ 1-2 ครั้ง หรือถ้าพบมีความผิดปกติก็ให้ตรวจบ่อยขึ้น

แพทย์มักให้การรักษาตามระดับความรุนแรงของโรคร่วมกับการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีแนวทางดังนี้

1. เป้าหมายของการลดความดันโลหิต
ควรลดให้ความดันช่วงบนน้อยกว่า 140 และช่วงล่างน้อยกว่า 90 มม.ปรอทในผู้ป่วยทั่วไป
ควรลดให้ความดันช่วงบนน้อยกว่า 130 และช่วงล่างน้อยกว่า 80 มม.ปรอทในผู้ที่มีเบาหวานหรือโรคไตเรื้อรังร่วมด้วย

2. สำหรับผู้ที่มีความดันช่วงบน 130-139 และ/หรือช่วงล่าง 80-89 มม.ปรอท ไม่ต้องให้ยาลดความดันแต่ควรแนะนำให้ปรับพฤติกรรมและติดตามวัดความดันใน 1 ปี

ในผู้ที่มีโรคเบาหวานหรือโรคไตเรื้อรังร่วมด้วยถ้าปรับพฤติกรรมแล้ว 3 เดือน ยังควบคุมความดันไม่ได้ตามเป้าหมาย ควรให้ยาลดความดันเพื่อรักษา

3. ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือผู้ที่มีความดันโลหิตในระดับที่ 1ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ ควรให้ปรับพฤติกรรมและติดตามวัดความดันทุก 1-2 เดือน นาน 6-12 เดือน ควรเริ่มให้ยาลดความดันหากยังคุมไม่ได้ตามเป้าหมาย

4. ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีความเสี่ยงปานกลาง คือ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับที่ 1 ที่มีปัจจัยเสี่ยง 1-2 อย่าง และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับที่ 2 ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือมีปัจจัยเสี่ยง 1-2 อย่าง ควรปรับพฤติกรรมและควบคุมภาวะเสี่ยงอื่นๆ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อ้วน เป็นต้น ติดตามวัดความดันทุก 1-2 เดือน เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน ให้ยาลดความดันถ้ายังคุมไม่ได้ตามเป้าหมาย

5. ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีความเสี่ยงสูง เป็นผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับที่ 3 และผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง 3 อย่างขึ้นไป หรือมีร่องรอยการทำลายอวัยวะหรือโรคที่สัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูง ควรให้ยาลดความดันร่วมกับปรับพฤติกรรมและควบคุมภาวะเสี่ยงอื่นๆ ตั้งแต่เริ่มแรก

6. ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤติ มีอยู่ 2 ระดับคือ
-ความดันโลหิตสูงฉุกเฉิน คือ ผู้ป่วยจะมีความดันช่วงบนมากกว่า 180 และ/หรือช่วงล่าง มากกว่า 120 มม.ปรอท ร่วมกับอวัยวะสำคัญเกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลัน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาตครึ่งซีกที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ไตวายเฉียบพลัน เป็นต้น ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วน แพทย์มักรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้ยาลดความดัน ค่อยๆ ลดความดันให้เหลือ 160/100 มม.ปรอท ใน 2-6 ชั่วโมงต่อมา อย่าลดความดันเร็วเกินไป เช่น ไม่ควรให้ไนเฟดิพีนอมใต้ลิ้น เพราะอาจทำให้เซลล์สมองหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยงฉับพลันได้

-ความดันโลหิตสูงเร่งด่วน คือ ผู้ป่วยมีความดันช่วงบนมากกว่า 180 และ/หรือช่วงล่างมากกว่า 120 มม.ปรอท ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะรุนแรง เลือดกำเดาไหล วิตกกังกลรุนแรง ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมงซึ่งต้องให้ยาลดความดันออกฤทธิ์เร็วกินทันที หรือให้หลายชนิดกินทันที เพื่อให้ความดันลดลงภายใน 24-48 ชั่วโมง

7. การให้ยารักษาความดัน แนวทางในการให้ยาลดความดันมีดังนี้

ก. ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงระดับที่ 1 ควรเริ่มด้วยยาเพียงชนิดเดียว มักเริ่มจากไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ ขนาด 12.5 มก.วันละครั้ง ติดตามผลการรักษาทุกเดือน ให้ปรับเป็นขนาด 25 และ 50 มก.ถ้ายังไม่ได้ผลตามเป้าหมาย ควรให้ยาอีกหนึ่งชนิดร่วมด้วยถ้ายังควบคุมโรคไม่ได้ เช่น ยาปิดกั้นบีตา ยาต้านแคลเซียม หรือยาต้านเอช ให้ปรับขนาดยาลงที่ละน้อย หรือให้ยา 2 ชนิดในขนาดต่ำ คือไม่จำเป็นต้องให้ยาชนิดแรกเต็มขนาดแล้วค่อยเพิ่มชนิดที่ 2

ข. ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงระดับที่ 2 และ 3 ควรเริ่มด้วยยาสองชนิดร่วมกัน โดยมีไฮโดรคลอโรไทอาไซด์เป็นหลักร่วมกับยาชนิดอื่นในขนาดต่ำ ติดตามวัดผลเดือนละครั้ง และจึงค่อยๆ ปรับขึ้นทีละน้อยจนควบคุมได้ หรืออาจต้องปรับเปลี่ยนยาและใช้ยาถึง 3-4 ชนิดร่วมกันถ้ายังควบคุมไม่ได้ผลตามเป้าหมาย

8. การรักษาความดันโลหิตสูงในภาวะต่างๆ
-ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีโรคหัวใจขาดเลือดร่วมด้วย ควรใช้ยาปิดกั้นบีตา หรือยาต้านแคลเซียมชนิดออกฤทธิ์ยาวในผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ และควรใช้ยาปิดกั้นบีตาและยาต้านเอชในผู้เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
-ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวายร่วมด้วย ควรใช้ยาต้านเอช ยาปิดกั้นบีตา ยาขับปัสสาวะ
-ผู้ป่วยที่มีโรคไตเรื้อรัง ควรใช้ยาลดความดันอย่างน้อย 3 ชนิดร่วมกัน โดยมียาต้านเอชหรือยาปิดกั้นแองจิโอเทนซินเป็นหลักเพื่อชะลอการเสื่อมของไต
-ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายโต ควรใช้ยาปิดกั้นแองจิโอเทนซิน
-ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดสมองร่วมด้วย ควรใช้ยาไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ร่วมกับยาต้านเอช เพื่อป้องกันการกำเริบ
-ผู้ป่วยที่มีต่อมลูกหมากโตร่วมด้วย ควรใช้ยาปิดกั้นแอลฟา เช่น prazosin doxazosin เพื่อช่วยรักษาอาการต่อมลูกหมากโตด้วย
-ผู้สูงอายุที่มีภาวะความดันช่วงบนสูงเดี่ยว ควรใช้ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ และ/หรือยาต้านแคลเซียมชนิดออกฤทธิ์ยาวในขนาดต่ำ ควรปรับขนาดยาขึ้นทีละน้อยอย่างช้าๆ หากให้ขนาดต่ำแล้วยังไม่ได้ผล ควรระวังภาวะความดันตกในท่ายืนจากยาชนิดนี้ด้วย
-ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรใช้ยาปิดกั้นบีตา เมทิลโดพา ไฮดราลาซีน ห้ามให้ยาต้านเอชและยาปิดกั้นแองจิโอเทนซิน เพราะอาจเกิดความพิการของทารกในครรภ์ได้

9. การติดตามผลการรักษา ควรมาตรวจความดันเดือนละ 1 ครั้งในช่วงแรกๆ และนัดเป็นทุก 3-6 เดือน เมื่อควบคุมได้ตามเป้าหมายแล้ว ทุกๆ 6-12 เดือนควรได้ตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ผู้ป่วยควรปรับพฤติกรรมอย่างจริงจัง ปรับใช้ยาอย่างเหมาะสมตามแพทย์สั่ง เฝ้าสังเกตอาการ ภาวะแทรกซ้อน และผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้นได้

10. การดื้อต่อการรักษา เมื่อผู้ป่วยกินยาลดความดันตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไปจนเต็มขนาดแล้วยังควบคุมไม่ได้ตามเป้าหมาย ควรตรวจค้นหาสาเหตุที่แท้จริงและให้การรักษาแก้ไขตามสาเหตุที่พบ

11. เมื่อควบคุมความดันไม่ได้ตามเป้าหมาย หรือสงสัยเป็นความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ หรือมีภาวะทางหัวใจ สมอง ไต หรือตาแทรกซ้อน ซึ่งต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องตามสาเหตุต่อไป

ข้อแนะนำ
1. การวินิจฉัยโรคและการติดตามผล คือการตรวจวัดความดันโลหิต การสังเกตอาการอย่างเดียวมักไม่แน่นอน เพราะมักไม่มีอาการแสดงอย่างใดในโรคนี้ มักเข้าใจกันว่าความดันโลหิตสูงจะทำให้ปวดศีรษะ ซึ่งอาการปวดศีรษะมักพบได้เป็นส่วนน้อยเท่านั้น อาการปวดศีรษะมักเกิดจากความเครียด ไมเกรน และอื่นๆ มากกว่าความดันโลหิตสูง

2. ผู้ป่วยมักควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ด้วยการใช้ยา 1-2 ชนิด มีเพียงน้อยรายเท่านั้นที่ต้องใช้ยามากกว่า 2 ชนิด

3. ถ้าปล่อยให้มีความดันโลหิตสูงอยู่นานแรมปีไม่ได้รับการรักษามักทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ จึงควรหมั่นวัดความดันเป็นประจำเดือนละ 1-2 ครั้ง แม้จะรู้สึกสบายดีไม่มีอาการผิดปกติใดๆ หากพบโรคก็ควรทำการรักษากับแพทย์เสียตั้งแต่เนิ่นๆ อย่าได้ขาด

ในผู้ป่วยบางรายที่วัดความดันเองที่บ้านอาจพบว่าปกติแต่เมื่อไปวัดที่สถานพยาบาลอาจพบว่าความดันโลหิตสูง ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงควรมีเครื่องวัดความดันเพื่อช่วยประเมินค่าเองที่บ้านด้วยจะดีกว่า

4. ถึงแม้จะรู้สึกสบายดีหรือความดันลดลงแล้วก็ตามผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเองควรให้อยู่ในความพิจารณาของแพทย์ผู้รักษา เมื่อให้ยาจนความดันปกติได้ใน 1 ปี อาจลองลดขนาดยาลงทีละน้อย แล้วตรวจวัดความดันเป็นระยะๆ ถ้าความดันปกติก็ให้ยาขนาดนั้นๆ หรือค่อยๆ ลดลงจนหยุดยาได้ และหมั่นตรวจวัดความดันไปเรื่อยๆ ถ้าความดันสูงอีกก็ให้ยาใหม่ หรือเพิ่มขนาดยา ในบางรายอาจต้องใช้ยาควบคุมความดันไปตลอดชีวิต

5. การใช้ยารักษาความดันควรให้ทีละน้อยและเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆ เพื่อป้องกันการให้ยาเกินขนาดที่ทำให้ความดันตกลงมากไปจนทำให้ผู้ป่วยอาจมีอาการหน้ามืดเป็นลมเวลาลุกขึ้นได้

6. ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัดเพื่อช่วยให้ความดันเป็นปกติ และการเกิดภาวะแทรกซ้อน อาจจะไม่ต้องใช้ยา หรือลดขนาดยาที่ใช้ลงได้ในรายที่มีการปฏิบัติตัวดี

7. ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปควรตรวจวัดความดันอย่างน้อยทุก 2 ปี และอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปควรตรวจวัดอย่างน้อยปีละครั้ง แม้จะรู้สึกสบายดี โดยเฉพาะผู้ที่มีรูปร่างอ้วนหรือมีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ ควรตรวจวัดความดันที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เช่น สถานีอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกแพทย์ เป็นต้น

การป้องกัน
ในคนทั่วไปอาจป้องกันได้ดังนี้
1. ควบคุมน้ำหนักตัว โดยให้มีค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่า 23 กก./ม.2 ความยาวรอบเอวน้อยกว่า 80 ซม. ในผู้หญิง หรือ น้อยกว่า 90 ซม. ในผู้ชาย โดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายสม่ำเสมอ

2. ออกกำลังกายแบบแอโรบิก ครั้งละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง หรือวันเว้นวัน

3. ลดการบริโภคเกลือโซเดียมให้ไม่เกินวันละ 2.4 กรัม

4.ลดอาการพวกไขมันชนิดอิ่มตัว ให้กินผักและผลไม้มากๆ

5. สำหรับผู้ชายควรจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกินวันละ 2 หน่วยการดื่ม เทียบเท่าวิสกี้ 90 มล. ไวน์ 300 มล. หรือเบียร์ 720 มล. สำหรับผู้หญิงหรือผู้มีน้ำหนักตัวน้อยควรจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกินวันละ 1 หน่วยการดื่ม เทียบเท่าวิสกี้ 45 มล. ไวน์ 150 มล. หรือเบียร์ 360 มก. ในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า