สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

คลอดยาก – คลอดง่าย

คนทั่วไปมักยอมรับว่าการคลอดลูกเป็นความเจ็บปวดและให้ความทุกข์ทรมานแก่แม่อย่างมาก ยิ่งบางรายต้องใช้เครื่องมือช่วยเอาลูกออกก็ยิ่งน่ากลัวยิ่งขึ้น Schell & Hall (1979, หน้า 81) รวบรวมข้อมูลจาก นักศึกษาหลายท่านนำเสนอมีใจความว่า วิธีการคลอดลูกในถิ่นต่างๆของโลกแตกต่างกันอย่างมากมาย ในหมู่คนที่ถือประเพณีว่าการคลอดลูกเป็นเรื่องน่ากลัว ต้องซ่อนเร้นปกปิด ผู้คลอดต้องใช้เวลานานและคลอดยาก ในด้านตรงข้ามในหมู่คนที่ถือประเพณีว่าการคลอดลูกเป็นของเปิดเผย กระบวนการทำกันง่ายๆ ผู้คลอดมักใช้เวลาสั้น และคลอดไม่ยุ่งยากสับสน

นายแพทย์ Grantly Dick-Read ได้เสนอแนวคิดจากการทำคลอดคนที่คลอดลูกง่ายและไม่เจ็บปวดมากว่า ความรู้สึกกลัวนั่นเองทำให้ผู้คลอดเครียด จึงเกิดการเจ็บปวดรวดเร้า เขาส่งเสริมให้คลอดตามธรรมชาติ เทคนิคของเขาใช้ควบกับวิธีของลาเมซ (Lamaze method) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการคลอด วิธีของ Lamaze สอนให้ผู้หญิงสำรวมใจอยู่กับการหายใจ พยายามระงับความเจ็บปวด

Frederick Leboyer (1975) สูติแพทย์ฝรั่งเศสเอาวิธีการจิตวิทยาไปใช้ เขาสนใจอารมณ์และการได้รับสัมผัสของทารกที่เกิดใหม่ เขาแนะให้ทำการคลอดในสถานที่สงบเงียบ แสงสว่างไม่เจิดจ้า ไม่รีบตัดสายสะดือ และให้มีการสัมผัสลูกที่เกิดใหม่ (ลูกคลอดออกมาไม่ทันตัดสายสะดือ เอามาให้แม่ประคอง และลูบคลำ) และให้อาบน้ำอุ่น เหมือนที่เคยอยู่ในมดลูก คนในบางประเทศชอบคลอดลูกในบ้าน เห็นว่าเป็นธรรมชาติดี ธรรมเนียมเช่นนี้เป็น    วิธีปฏิบัติทั่วไปในประเทศเนเธอร์แลนด์    ทารกที่เกิดในประเทศนั้นจำนวนครึ่งหนึ่งเกิดในบ้าน (Schell & Hall, 1979, หน้า 81)

health-0087 - Copy

วิธีของลาเมซ ประกอบด้วยกายกรรมและการหายใจ(ภาพจาก Schell & Hall, 1979, หน้า 81)

การคลอดที่มีปัญหา
ทารกออกจากครรภตามกล่าวข้างต้นเป็นการคลอดที่เป็นธรรมชาติ    ไม่มีข้อบกพร่องผิดพลาดในพฤติกรรมจริงย่อมมีข้อบกพร่องผิดพลาดอยู่ไม่น้อย ดังขอนำเสนอในที่นี้ตามสมควร

1. การแท้งตามธรรมชาติมักเกิดขึ้นภายใน 3 เดือนนับแต่ตั้งครรภ์ เพราะรกและสายสะดือรวมทั้งตัว Embryo ไม่พัฒนาอย่างเพียงพอ เนื่องจากสุขภาพที่เสื่อมทรามหรือทุโภชนาการของแม่ อีกข้อหนึ่งคือ เซลล์ที่ผสมพันธุ์แล้วเคลื่อนตัวมาผนึกกับผนังมดลูกในตำแหน่งที่ไม่เหมาะ เหล่านี้เป็นต้น มีรายงานการศึกษา ผลการใช้ยา Lysergic Acid Diethylamide อย่างผิดๆ เป็นต้นเหตุของการแท้งอีกอย่างหนึ่ง (การแท้งโดย เจตนากระทำไม่ขออภิปรายในที่นี้)

การศึกษาต่างๆ รายงานสอดคล้องกันว่าทารกที่แท้งหรือตายคลอดเป็นชายมากกว่าหญิง มีผู้ประมาณว่าชายเกิดในครรภ์ 120 ถึง 170 คน ต่อหญิง 100 คน แต่เพราะทารกเพศชายแท้งและตายคลอดเป็นจำนวนมากกว่าทารกเพศหญิง เมื่อรอดมาจนคลอดสัดส่วนกลายเป็นทารกเพศชาย 105 คน ต่อทารกเพศหญิง 100 คน (Papalia & Olds, 1975, หน้า 44, 46 และ 104)

2. เราทราบแน่ว่า Fetus ในครรภ์จะกลับศีรษะลงล่างเพื่อคลอด โดยเอาศีรษะออกก่อนเป็นธรรมชาติ แต่มีบ่อยๆ ที่เกิดบกพร่อง Fetus ไม่ได้กลับตัวมาอยู่ในท่านี้ พอเกิดลมเบ่ง ทารกออกจากช่องคลอดโดยเอาก้น หรือร่างกายส่วนอื่นออกมาก่อน ทำให้การคลอดเป็นการยากลำบากมาก แพทย์ต้องช่วยเหลือ

3. ทารกบางคนคลอดในท่าที่ถูกต้อง แต่ศีรษะของเขาใหญ่ ช่องคลอดเล็กไม่สามารถออกมาได้แน่ๆ กรณีเช่นนี้ต้องผ่าตัดช่วย ยิ่งกว่านั้นอาจมีกรณีที่ไม่สามารถเกิดการคลอดตามวิถีทางปกติได้ ต้องผ่าตัดนำทารกออกทางหน้าท้อง

ข้อ 2. และ 3. นี้ค่อนไปในทางแพทยศาสตร์จึงขอกล่าวถึงโดยสังเขปเพียงเท่านี้

4. Lefrancois (1990, หน้า 145) ให้บัญชีเกี่ยวกับเรื่องในข้อนี้น่าสนใจ จึงขอนำมาประกอบในที่นี้
health-0090 - Copy

พฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมที่สร้างปัญหา
1. อายุ
ถือว่าอายุแม่ที่เหมาะสมจะมีลูกคืออายุ 20 ถึง 35 ปี การมีครรภ์จะไม่สับสน คลอดง่ายกว่าแม่ที่อายุมากกว่าหรือน้อยกว่ากำหนดนี้ แม่อายุตํ่ากว่า 20 ปี มีอัตราเสี่ยงที่ลูกจะตายมากเป็นสองเท่า เปรียบเทียบกับแม่อายุ 20 เศษ ทั้งนี้เพราะแม่อายุไม่ถึง 20 ปี ยังขาดความสมบูรณ์พอจะมีครรภ์ จะได้ลูกที่น้ำหนักน้อย แม่ที่อายุเกิน 35 ปี ขึ้นไป ก็มีโอกาสมากที่จะแท้ง มีลูกไม่สมประกอบ และน้ำหนักน้อย

2. อาหาร
ลูกในครรภ์จะได้อาหารจากแม่ พัฒนาการของเขาจึงขึ้นกับอาหารที่แม่รับประทาน ถ้าแม่ได้รับอาหารไม่สมบูรณ์มีโอกาสแท้งลูกง่าย ดังเห็นได้จากประวัติศาสตร์ใกล้ตัวนี้เองคือ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แม่ในยุโรปซึ่งขาดอาหารต้องแท้งลูกมาก การได้รับสารอาหารไม่ถูกส่วนมีผลกระทบต่อระบบประสาทของลูก แม่ที่จำกัดอาหารในช่วงเวลาตั้งครรภ์จะทำให้ลูกในท้องอดอยาก แม่ที่รับประทานอาหารเอาอร่อยหรือเพียงแต่อิ่มท้องมักจะรับประทานอาหารพวกไขมัน และคาร์โบไฮเดรทมากและโปรตีนน้อย จะมีโทษต่อสุขภาพของลูก มีงานวิจัยแสดงว่าเด็กที่มีสติปัญญาความเฉลียวฉลาดตํ่า มักเป็นเด็กเกิดจากแม่ที่ได้อาหารไม่มีคุณค่า โดยเฉพาะขาดโปรตีนจากสัตว์ เช่น ไข่ และเนื้อ ซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาสมอง จำเป็นต้องใช้เวลาล่วงหน้า เพื่อบำรุงร่างกายให้สมบูรณ์ด้วยสารอาหารสำหรับลูกในครรภ์  เพราะฉะนั้นควรให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าตั้งแต่ก่อนมีครรภ์ (Lefrancois, 1990)

3. อารมณ์
แม้ว่าไม่มีการเชื่อมโยงเส้นใยประสาทติดต่อโดยตรงระหว่างแม่กับลูกในครรภ์ก็จริง แต่เมื่อแม่มีอารมณ์เครียด ฮอร์โมนในร่างกายก็เปลี่ยนแปลงไป เมื่อมีการเร้าอารมณ์รุนแรงต่อมอะดรีนาลจะหลั่งฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด แล้วอาจผ่านรกไปถึงลูกในครภ์ได้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่รายงานตรงกันว่าเมื่อแม่กลุ้มใจ Fetus ในครรภ์จะวุ่นวายมากขึ้น แม่ที่โศกเศร้าอาจคลายไปไม่ช้า แต่ความวุ่นวายของ Fetus ยังยืดเยื้อ ต่อไปอีกหลายชั่วโมง แม่ที่เศร้าโศกเนิ่นนาน จะส่งผลให้ลูกเกิดมามีน้ำหนักตัวตํ่า พยาบาลห้องสูติกรรมสามารถยืนยันได้ว่าในระหว่างเจ็บท้องใกล้คลอด แม่ซึ่งรู้สึกผ่อนคลายมากเท่าใด ก็ยิ่งคลอดง่ายและใช้เวลาสั้นมากขึ้นเท่านั้น ส่วนแม่ที่มีความหวาดกังวลสูง กลัวมากและไวต่อความรู้สึกเจ็บจะคลอดยาก และลูกที่ออกมามักมีอารมณ์อ่อนไหวมาก

4. ยาอันตราย
แม่กินยาระหว่างมีครรภ์อาจเกิดผลร้าย 2 ทาง ทางแรกยานั้นเขาจัดขนาดไว้สำหรับผู้ใหญ่ เมื่อแม่กินเข้าไปก็อาจซึมซาบไปถึงลูกในท้อง ฤทธิ์ยาอาจแรงเกินไปสำหรับลูกอ่อน ทางที่สองตับของลูกอ่อนไม่ สามารถบรรเทาฤทธิ์ยาได้เหมือนตับของแม่ ยาพวกนี้ได้แก่แอสไพริน แอนติฮิสตามิน บาบิตุเรท และคาเฟอิน เป็นต้น ยาปฏิชีวนะเช่น สเตรปโตมัยซิน และเตตราไซลิน มีผลกระทบต่อฟันและกระดกของลูกอ่อน Scarr และคณะ (1986, หน้า 99) อ้างรายงานของ Kolata (1978) ว่าแม่ที่ใช้ยาธาลิโดไมค์ (เพื่อให้รู้สึกสบาย) ในเวลา 34 ถึง 38 วัน หลังการตั้งครรภ์ ลูกที่เกิดมาจะไม่มีใบหู ระหว่าง 38 และ 46 วัน ลูกจะมีแขนผิดรูปร่าง ใช้ยาระหว่าง 40 และ 46 วัน ขาของลูกจะพิการ ลูกเกิดจากแม่ที่ติดเฮโรอีนจะได้รับความเจ็บปวดในระยะแรกของชีวิต จะเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ และตัวเล็กกว่าวัยแม้จะได้รับอาหารดีก็ตาม

ปรากฏว่ามีหญิงมีครรภ์ใช้ฮอร์โมนเป็นยาอยู่บ้าง ซึ่งอาจส่งผลร้ายแก่ลูกในครรภ์ได้ จึงควรรวมเอาการใช้ฮอร์โมนเข้าในประเภทที่ต้องระมัดระวังการใช้ เช่นเดียวกับยาอันตราย

5. แอลกอฮอล์
แม่ดื่มสุราประจำจะทำให้ลูกมีอาการ FAS (Fetal alcohol syndrome) ได้แก่ (1)ไม่เติบโตตามปกติทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด (2) ใบหน้าผิดสัดส่วน (3) ระบบประสาทกลางทำหน้าที่บกพร่อง (4) การก่อรูปทรงตา หู ปาก หัวใจ จะผิดปกติ เป็นที่เชื่อกันว่าแอลกอฮอล์เข้าถึง Fetus โดยตรง ซึ่งมีผลกระทบความเจริญของเนื้อเยื่อที่กำลังงอกงามโดยเร็ว ทำลายเซลล์และชะลอการเติบโต ไม่ต้องสงสัยเลยสมองจะได้รับความเสียหายมากที่สุด เด็กที่มีอาการ FAS อาจเกิดมาโดยมีกลิ่นแอลกอฮอล์อยู่ในลมหายใจ ทางที่ดีที่สุดคือ หญิงมีครรภ์ควรงดดื่มแอลกอฮอล์เสียเลย

6. การสูบบุหรี่
มีรายงานการศึกษาผลของบุหรี่ ที่แม่สูบอยู่มากหลาย กล่าวโดยสรุปผู้สูบบุหรี่จะได้รับคาร์บอนโมนอกไซค์ และนิโคติน สารที่กล่าวประการหลังนี้ ทีแรกเป็นการกระตุ้นแล้วก็กดการประสานงานของร่างกาย เกิดผลส่งให้แม่และ Fetus คือ เพิ่มความดันโลหิตและลดออกซิเจนในครรภ์ที่จะได้รับผ่านรก Fetus จะได้รับอันตรายหลายอย่างเช่นมีน้ำหนักน้อยเมื่อคลอด อัตราการแท้งสูง และเสี่ยงมากต่อการคลอดก่อนกำหนด

7. โรคต่างๆ
ไวรัสและแบคทีเรียหลายชนิดซึ่งทำให้แม่เจ็บป่วย อาจผ่านรกไปถึงลูกที่กำลังพัฒนาตนเองอยู่ในครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน จะมีผลกระทบต่อลูกในครรภ์โดยเฉพาะสามเดือนแรก เมื่อลูกคลอดอาจเป็นเด็กตาบอด หูหนวก หัวใจและสมองผิดปกติ โรคอื่นเช่น ฝีดาษ คางทูม หัด ก็เป็นโรคติดต่อที่แม่ไม่ควรให้เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์

ผู้ประสงค์จะทำความเข้าใจให้ลึกในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือศึกษาจากตำราเฉพาะเรื่องที่มีแพร่หลายอยู่

8. พ่อสร้างปัญหาให้
ข้อที่กล่าวมาข้างต้นนั้น มุ่งไปที่ความเสียหายอันเกิดจากแม่เป็นส่วนใหญ่ ที่จริงพ่อก็มีส่วนก่อความเสียหายได้มาก แต่เป็นเรื่องนอกความมุ่งหมายของหนังสือเล่มนี้ มีกรณีสำคัญที่ต้องกล่าวไว้ในที่นี้ถึงความ เสียหายที่พ่อจะนำมาสู่ลูกในครรภ์ของแม่ได้แก่ พ่อนำโรคมาติดแม่แล้วต่อไปถึงลูก โรคที่หวั่นเกรงกันมากในอดีตได้แก่ โรคที่ขอเรียกรวมๆ กันว่า กามโรค แม่ที่ได้รับเชื้อโรคนี้อาจมีหนองอยู่ในช่องคลอด พอลูกคลอดออกมาหนองอาจเข้าตาทำให้ตาบอด ได้มีการค้นพบวิธีป้องกันโดยผู้ทำคลอดต้องล้างตาเด็กคลอดใหม่ทันที

โรคที่พ่ออาจนำมาติดแม่ที่เป็นโรคทันสมัยอยู่มากได้แก่โรคเอดส์

9. รังสีและสภาพแวดล้อม
หญิงมีครรภ์ได้รับรังสี X ซ้ำๆ โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้องอาจเป็นอันตรายแก่ Fetus ในครรภ์ได้ และมลพิษจากสภาพแวดล้อม เช่น ขยะของทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม นักวิจัย เช่น Fein (1984) นี้พบว่าแม่ที่รับประทานปลาที่ปนเปื้อนเคมีวัตถุในงานอุตสาหกรรม ให้กำเนิดลูกที่น้ำหนักตัวตํ่า หัวเล็ก และคลอดก่อนกำหนด (เก็บใจความจาก Gormly & Brodzinsky, 1989, หน้า 64)

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า