สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ครรภ์เป็นพิษ/โรคพิษแห่งครรภ์(Toxemia of pregnancy)

เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ คือ อาการบวม ความดันโลหิตสูง และตรวจปัสสาวะพบสารไข่ขาว มักพบในหญิงที่ตั้งครรภ์ได้ 5-6 เดือนขึ้นไป จนกระทั่งหลังคลอด 1 สัปดาห์ครรภ์เป็นพิษ

ครรภ์เป็นพิษแบ่งเป็น โรคพิษแห่งครรภ์ระยะก่อนชัก ผู้ป่วยจะมีอาการบวม ความดันโลหิตสูง ในปัสสาวะพบสารไข่ขาว แต่ไม่มีอาการชักหรือหมดสติ ส่วนอีกแบบคือ โรคพิษแห่งครรภ์ระยะชัก จะมีอาการชักหรือหมดสติ อาจทำให้มีอันตรายถึงชีวิตได้ ในผู้ที่เป็นโรคพิษแห่งครรภ์ระยะชักอาจกลายเป็นโรคครรภ์แห่งพิษระยะชักได้ในเวลาต่อมา

อาการของครรภ์เป็นพิษจะค่อยๆ หายไปได้เองภายหลังจากคลอดแล้ว

สาเหตุ
สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบได้แน่ชัด ซึ่งส่วนใหญ่มักพบในครรภ์แรก ครรภ์แฝด ครรภ์ไข่ปลาอุก ผู้หญิงที่เคยเป็นเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไตอยู่ก่อน

อาการ
อาการที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย เช่น ปวดศีรษะ ตามัว คลื่นไส้อาเจียน ปวดตรงใต้ลิ้นปี่ บวมตามมือ ตามเท้า และใบหน้า

จะพบว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงเกิน 160/110 มม.ปรอท อาจมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก เอนไซม์ตับขึ้นสูง และภาวะเกล็ดเลือดต่ำในรายที่เป็นโรคพิษแห่งครรภ์ระยะก่อนชัก และเนื่องจากมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มตับอาจทำให้มีอาการปวดตรงลิ้นปี่แบบรุนแรงได้

ผู้ป่วยจะมีอาการชักหรือหมดสติ ซึ่งอาจเกิดก่อนคลอด ขณะคลอด หรือภายใน 1 สัปดาห์หลังคลอด ในรายที่เป็นโรคพิษแห่งครรภ์ระยะชัก

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตช่วงบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 มม.ปรอท หรือช่วงล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มม.ปรอท เท้าบวม กดมีรอยบุ๋ม อาจมีภาวะซีด จ้ำเขียว เลือดออก อาจตรวจพบรีเฟล็กซ์ของข้อไว ใช้เครื่องฟังปอดได้ยินเสียงกรอบแกรบจากภาวะปอดบวมน้ำ

พบสารไข่ขาวจากการตรวจปัสสาวะ ยิ่งพบมากเท่าไรก็ถือว่าอาการยิ่งรุนแรงเท่านั้น อาจพบเอนไซม์ตับ และสารบียูเอ็นรวมทั้งครีอะตินีนขึ้นสูงจากการตรวจเลือด

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนจาก รกลอกตัวก่อนกำหนด เด็กคลอดตัวเล็ก เลือดออกในสมองของหญิงที่ตั้งครรภ์ หรืออาจมีภาวะไตวายเฉียบพลัน หรือตับอักเสบ แทรกซ้อนในบางราย อาจทำให้เกิดอันตรายถึงเสียชีวิตได้ในรายที่ครรภ์เป้นพิษชนิดร้ายแรง หรือโรคครรภ์แห่งพิษระยะชัก

การรักษา
1. ควรแนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเลือดและปัสสาวะหากมีความสงสัยว่าจะเกิดโรค

การนอนพักจะช่วยให้เลือดไหลเวียนไปยังสมอง หัวใจ ตับ ไต และรกได้ดี อาการของโรคอาจทุเลาลงได้จึงควรแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักที่บ้านให้เต็มที่ทั้งวัน ไม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลในรายที่เป็นไม่มาก ควรนัดผู้ป่วยมาตรวจ 2 ครั้ง/สัปดาห์ หรือส่งพยาบาลไปเยี่ยมบ้านทุกวันเพื่อประเมินอาการ

ควรรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น หรือความดันช่วงบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 มม.ปรอท หรือความดันช่วงล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มม.ปรอท หรือไม่สามารถติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดได้ ควรให้ผู้ป่วยนอนพักให้เต็มที่ ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจรีเฟล็กซ์ของข้อ ตรวจสารไข่ขาวในปัสสาวะ และฟังเสียงหัวใจทารกบ่อยๆ และทุกๆ 1-2 วัน ต้องตรวจเลือดเพื่อดูจำนวนเกล็ดเลือด อิเล็กโทรไลต์ บียูเอ็น ครีอะตินีน เอนไซม์ตับ ด้วย

แพทย์จะให้ยาลดความดัน เช่น ไฮดราลาซีน 5-10 มก. ฉีดเข้าหลอดเลือดดำถ้าพบว่ามีความดันมากกว่าหรือเท่ากับ 160/110 มม.ปรอท และควบคุมความดันช่วงล่างให้อยู่ระหว่าง 90-110 มม.ปรอท ป้องกันภาวะพิการในทารกและมารดาไตวายจากการไม่ใช้ยาลดความดันกลุ่มยาต้านเอช และหากไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้ยาขับปัสสาวะเพราะจะทำให้เลือดไปเลี้ยงรกได้ไม่ดี

เพื่อป้องกันอาการชักและช่วยลดความดันอาจฉีดแมกนีเซียมซัลเฟต ในรายที่เป็นมากควรใช้ยากระตุ้นเพื่อทำให้เด็กคลอดเมื่อครรภ์ใกล้กำหนดคลอด หรืออาจต้องผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องถ้าใช้ยากระตุ้นแล้วไม่ได้ผล

2. ให้ฉีดไดอะซีแพม 5-10 มก. เข้าหลอดเลือดดำแล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหากมีอาการชัด เพื่อควบคุมอาการชักแพทย์จะฉีดแมกนีเซียมซัลเฟต หรือไดอะซีแพมและรีบทำคลอด และอาจต้องให้ยาป้องกันชักต่อไปอีก 1-7 วัน หลังคลอด

ข้อแนะนำ
1. ทั้งมารดาและเด็กจะปลอดภัยได้ถ้าให้การดูแลรักษาอย่างถูกต้องเมื่อตรวจพบโรคตั้งแต่เริ่มแรก ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์จึงควรมาฝากครรภ์ตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์ หมั่นชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิตและตรวจปัสสาวะ และควรไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลหากพบมีความผิดปกติเกิดขึ้น

2. หญิงตั้งครรภ์ควรสังเกตอาการปวดศีรษะ ตามัว หรือบวมตามหน้าหรือมือด้วยตนเอง หากพบมีความผิดปกติก็ให้มาพบแพทย์ก่อนถึงเวลานัดหมาย

3. ควรสงสัยว่าอาจเป็นครรภ์ไข่ปลาอุกถ้าพบอาการครรภ์เป็นพิษในระยะแรกๆ หรืออายุครรภ์ก่อน 5 เดือน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า