สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ข้อเสื่อม(Osteoarthritis)

ข้อเข่าเสื่อม
เป็นอาการปวดข้อ ข้อแข็งและเคลื่อนไหวได้น้อยลงจากภาวะการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนที่บุอยู่บนผิวข้อต่อกระดูก เป็นโรคข้อเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดในวัยกลางคนและวัยสูงอายุ บริเวณข้อนิ้วมือ ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว ข้อกระดูกสันหลังส่วนคอ เป็นข้อที่เสื่อมได้บ่อย และอาจไม่มีอาการแสดงก็ได้ข้อเข่าเสื่อม

สาเหตุ
เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและสารเคมีภายในข้อทำให้เกิดการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนที่บุอยู่บนผิวข้อกระดูกซึ่งทำหน้าที่ลดแรงกระแทรก เมื่อผิวกระดูกทั้งสองด้านสึกกร่อนเกิดการขรุขระและเสียดสีกันโดยตรงจนเกิดการอักเสบเรื้อรังในข้อกระดูกจึงทำให้มีอาการปวด จะมีหินปูนหรือปุ่มงอกเกาะรอบๆ ผิวข้อจากกระบวนการซ่อมแซมของข้อ บางส่วนอาจหลุดเข้าไปในข้อขัดขวางการเคลื่อนไหวของข้อ จนทำให้ปวดข้อ ข้อติด ข้อแข็ง เคลื่อนไหวลำบาก

การเสื่อมของข้อยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดในปัจจุบัน แต่เชื้อว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น

-อายุและเพศ ส่วนใหญ่ภาวะข้อเสื่อมักเกิดในผู้สูงอายุ มักเป็นในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หลังวัยหมดประจำเดือน ส่วนในผู้ชายมักพบว่ามีอายุน้อยกว่า 50 ปี-กรรมพันธุ์ มีโอกาสที่จะเกิดข้อเสื่อมได้เร็วขึ้นในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคข้อเสื่อมชนิดหลายข้อหรือข้อเสื่อมตั้งแต่อายุน้อย พบว่ากลุ่มที่มีข้อนิ้วมือเสื่อมสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้มากกว่ากลุ่มที่มีข้อเข่าเสื่อม

-ความอ้วน ข้อจะเสื่อมเร็วขึ้นจากแรงกดดันต่อข้อเข่าและสะโพก
-ได้รับบาดเจ็บจากการกระแทกต่อข้อเข่า เช่น การวิ่ง การเล่นกีฬา
-การใช้ข้อมากหรือซ้ำๆ นานๆ จะทำให้เกิดแรงกดดันต่อข้อต่อ เป็นเหตุให้ข้อเสื่อมได้ เช่น การก้ม การนั่งงอเข่า เดินขึ้นลงบันได ยืนนานๆ การยกของหนัก เป็นต้น
-กล้ามเนื้ออ่อนแอที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็ว เช่น กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแอ
-เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น โรคปวดข้อรูมาตอยด์ โรคเกาต์ เป็นต้น
-การติดเชื้อของข้อเข่า

อาการ
โรคข้อเข่าเสื่อมไม่ว่าจะพบที่ตำแหน่งใด ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดข้อ ข้อติดขยับได้ไม่สุด จะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไปเรื้อรังนานแรมเดือนแรมปี มักไม่มีไข้ การอักเสบของข้ออาจไม่ชัดเจน ปวดข้อไม่รุนแรง เมื่อใช้ข้อก็จะปวด แต่เมื่อพักอาการก็จะทุเลาลง เวลาตื่นนอนตอนเช้าอาจมีอาการข้อแข็ง ข้อติด ขยับลำบาก มักเป็นอยู่ไม่เกิน 30 นาที อาการจะทุเลาไปเองเมื่อได้เคลื่อนไหวข้อ เวลาอากาศเย็นชื้นหรืออากาศเปลี่ยนแปลงมักจะทำให้เกิดอาการปวดข้อและข้อติด เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของแรงดันในข้อตามไปด้วย

อาการเฉพาะของข้อที่เสื่อมแต่ละตำแหน่งมีลักษณะดังนี้
-ข้อนิ้วมือเสื่อม จะมีอาการปวดและชาตามข้อในระยะแรก ภายใน 1 ปีหลังจากมีอาการจะทุเลาไปเอง หากมีการใช้ข้อมากเกินไปอาจกำเริบซ้ำได้ และมักเกิดปุ่มกระดูกที่ข้อต่อ เรียกว่า ปุ่มเฮเบอร์เดน ซึ่งอาจทำให้จำกัดการเคลื่อนไหวของข้อ และดูไม่สวยงาม แต่ไม่มีอาการเจ็บ

-ข้อกระดูกสันหลังเสื่อม จะมีอาการปวดที่ต้นคอ ปวดหลังตรงกระเบนเหน็บ หรืออาจปวดร้าวมาที่แขนหรือขาได้

-ข้อสะโพกเสื่อม เวลายืนหรือเดินนานๆ เมื่อขึ้นลงบันได มักมีอาการปวดสะโพก อาจปวดร้าวไปที่ขาหนีบ ก้น หรือเข่า ข้อสะโพกติดขัดขยับไม่ได้เต็มที่ แต่เมื่อได้พักก็จะทุเลาลง

-ข้อเข่าเสื่อม อาจเกิดอาการกับเข่าเพียงข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้ เมื่อเคลื่อนไหวจะมีอาการปวดเข่า และเมื่อพักก็จะทุเลาลง เวลายืนหรือเดินนานๆ เดินขึ้นลงบันได เวลางอเข่านั่งยอง คุกเข่าพับเพียบ ขัดสมาธิ ก็จะทำให้ปวดมากขึ้นจากการที่ผิวข้อขรุขระเบียดกันมาก อาจทำให้ปวดบริเวณต้นขาและน่องจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ อาจมีเสียงดังกรอบแกรบเวลาเคลื่อนไหวข้อเข่าจากการเสียดสีของผิวข้อที่ขรุขระ หรือเนื่องจากปุ่มงอกที่หักหลุดเข้าไปขัดอยู่ในข้อจนทำให้มีอาการติดขัด

เวลาตื่นนอนตอนเช้า หรือเมื่อนั่งหรือยืนอยู่ในท่าเดิมนานๆ ผู้ป่วยมักมีอาการข้อติดข้อแข็ง และอาการจะทุเลาไปภายใน 30 นาที เมื่อได้ขยับข้อหรือลุกเดิน อาการจะเป็นๆ หายๆ ในระยะแรก และมากขึ้นทีละน้อยจนปวดรุนแรงหรือปวดอยู่ตลอดเวลา

ผู้ป่วยจะมีอาการขาโก่ง เดินไม่ถนัด เดินคล้ายขาสั้นข้างยาวข้างเมื่อข้อเสื่อมรุนแรงขึ้น เนื่องจากการลงน้ำหนักตัวได้ไม่เต็มที่หรือจากการเอนตัวเพราะเจ็บเข่าอีกข้างหนึ่ง อาจพบอาการเดินกะเผลกหรือโยนตัวเอนไปมา งอและเหยียดเข่าลำบาก หรือมีกล้ามเนื้อขาลีบลง ในบางราย อาจทำให้พลัดตกหกล้มได้ในรายที่มีกล้ามเนื้อรอบเข่าอ่อนแรงจนทำให้มีอาการเข่าอ่อนเข่าทรุด

สิ่งตรวจพบ
อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนในรายที่เริ่มมีข้อเสื่อมระยะแรก เมื่อเป็นเรื้อรังนานเข้าอาจตรวจพบข้อขยับได้ไม่สุดหรือข้อติดขัด จะได้ยินเสียงดังกรอบแกรบเมื่อขยับข้อไปมา ที่ข้อนิ้วมือหลายนิ้วอาจพบปุ่มกระดูก หรือที่เรียกว่า ปุ่มเฮเบอร์เดน หรือที่ข้อเข่าคลำพบปุ่มงอกเกิดขึ้น

อาจพบอาการขาโก่ง 2 ข้าง เดินกะเผลก เมื่อข้อเข่าเกิดเสื่อมรุนแรง หรืออาจพบข้อบวมเนื่องจากมีน้ำอยู่ในข้อโดยไม่มีอาการอักเสบแดงร้อนร่วมด้วย อาจตรวจพบขา 2 ข้างยาวไม่เท่ากันในรายที่ข้อสะโพกเสื่อม เนื่องจากข้อข้างที่เสื่อมเคลื่อนหลุดจากเบ้าสะโพก

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดโพรงกระดูกสันหลังแคบ หรือกระดูกคองอกกดรากประสาทในรายที่ข้อกระดูกสันหลังเสื่อมรุนแรง และอาจทำให้เดินไม่ถนัด เข่าอ่อนเข่าทรุด หกล้มได้ในรายที่ข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อมรุนแรง

การรักษา
1. ให้พักข้อที่ปวดเมื่อมีอาการปวด เช่น ไม่ยืน เดินขึ้นลงบันไดมาก ไม่นั่งงอเข่า เหยียดเข่าข้างที่ปวด แล้วประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำอุ่นจัดๆ ทานวดด้วยยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ชนิดเจล เช่น ไดโคลฟีแนก ไพร็อกซิแคม ถ้ายังไม่หายปวดให้บรรเทาปวดด้วยพาราเซตามอล ขนาด 500 มก. 1-2 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง ไม่ควรกินเกินวันละ 8 เม็ด และไม่กินติดต่อกันทุกวันเป็นเวลานานๆ เพราะจะทำให้เกิดผลเสียต่อตับและไตได้ ให้ยาคลายกล้ามเนื้อ ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 6-8 ชั่วโมงในรายที่มีอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ อาจให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ในขนาดต่ำสุดถ้ามีอาการปวดมาก โดยให้นาน 3-5 วัน และไม่ควรกินติดต่อกันนานๆ ผู้สูงอายุและผู้ที่เป็นโรคแผลเพ็ปติกควรระมัดระวังในการใช้ยานี้ หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ติดต่อกันหลายวันควรกินยาป้องกันโรคแผลเพ็ปติก เช่น รานิทิดีน ครั้งละ 300 มก. วันละ 2 ครั้ง หรือโอเมพราโซล ครั้งละ 20 มก. วันละ 2 ครั้ง

2. พยายามนั่งบนเก้าอี้หรือนั่งในท่าเหยียดเข่าตรง ห้ามยกของหนัก ไม่ยืนนาน อย่านั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ หรือขัดสมาธิ นานๆ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการกำเริบ

หลังจากนั่งทำงานนาน 1 ชั่วโมง ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย พัก หรือลุกเดิน 2-3 นาที หรือหลังจากยืนนานๆ ก็ควรนั่งพักสลับกันไป ควรลดน้ำหนักเพื่อช่วยลดอาการปวดถ้ามีน้ำหนักเกิน ผู้ที่มีข้อเข่าหรือข้อสะโพกเสื่อมควรใส่รองเท้าที่มีคุณสมบัติลดแรงกระแทกเพื่อลดการบาดเจ็บของข้อ

3. บริหารกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวข้อให้แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น ถ้าปวดหลังก็ให้บริหารกล้ามเนื้อหลัง ถ้าปวดเข่าก็ให้บริหารกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้า และควรทำเมื่อกล้ามเนื้อทุเลาอาการปวดลงแล้ว ในระยะแรกอาจฝึกวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 5-10 นาที จนกล้ามเนื้อแข็งแรงไม่เมื่อยง่าย จึงค่อยเพิ่มเป็นวันละ 3-5 ครั้ง

การบริหารกล้ามเนื้อเข่า ไม่ต้องถ่วงด้วยน้ำหนักในระยะแรก ต่อไปค่อยถ่วงน้ำหนักที่ข้อเท้าทีละน้อย จาก 0.3 กก. เป็น 0.5 กก. และ 1 กก. เพิ่มไปเรื่อยๆ ทุก 2-3 สัปดาห์ จนได้ 2-3 กก. ข้อเข่าก็จะแข็งแรงและลดอาการปวดลงได้ และทำเป็นประจำทุกๆ วัน

4. ควรใช้ไม้เท้า เครื่องช่วยพยุงหรือกายอุปกรณ์ช่วยเดิน สร้างราวเกาะในบ้านในห้องน้ำเพื่อใช้เกาะเดินและพยุงตัวป้องกันการหกล้มในรายที่มีอาการปวดเข่ามากหรือบ่อย

5. ควรแนะนำไปโรงพยาบาลถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 3-4 สัปดาห์ หรือบวมตามข้อ ปวดร้าวหรือชาตามแขนขา แพทย์อาจตรวจด้วยการเอกซเรย์ หรืออาจต้องตรวจเลือด ตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมหากสงสัยว่าเกิดจากโรคอื่น

ในการรักษาแพทย์อาจให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ในรายที่ปวดรุนแรง ถ้ามีข้อห้ามใช้ยากลุ่มนี้อาจใช้ ทรามาดอล ครั้งละ 50-100 มก. แทน และให้ซ้ำทุก 4-6 ชั่วโมง หรืออาจบรรเทาปวดด้วย อะมิทริปไทลีน ก็ได้ หากมีความจำเป็นอาจให้ยาแก้ปวดกลุ่มอนุพันธ์ฝิ่น เช่น โคเดอีน ครั้งละ 15-30 มก. ทุก 4-6 ชั่วโมง ยานี้อาจเสพติดได้จึงไม่ควรกินเป็นประจำ

แพทย์อาจทำการดูดน้ำในข้อออกในรายที่มีอาการข้อบวม และพิจารณาฉีดสตีรอยด์เข้าในข้อเป็นครั้งคราว ทุก 4-6 ชั่วโมง ยานี้อาจทำให้กระดูกเสื่อมหรือสลายตัวเร็วขึ้นจึงไม่ควรให้เกินปีละ 2-3 ครั้ง

การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น กายภาพบำบัด การฝังเข็ม การกินยากลูโคซามีน 1,500 มก./วันเพื่อกระตุ้นการสร้างกระดูกอ่อนที่ผิวข้อ การฉีดสารไฮยาลูโรเนต 1 ครั้ง/สัปดาห์ จำนวน 3-5 ครั้ง

การรักษาด้วยวิธีเหล่านี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดของข้อ แต่โรคก็อาจกำเริบขึ้นได้อีก อาจต้องให้การรักษาตามความรุนแรงของโรคเป็นระยะๆ

หากไม่สามารถทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติจากข้อเข่าเสื่อมรุนแรง หรือข้อเข่าผิดรูป เช่น ขาโก่ง โค้งงอ แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดด้วยวิธีที่เหมาะสมกับอายุ ความรุนแรง และลักษณะการใช้งานของข้อเข่า อาจผ่าตัดเพื่อล้างข้อและซ่อมแซมผิวข้อด้วยการใช้กล้องส่องในรายที่เข่าเสื่อมไม่มาก ผ่าตัดจัดแนวรับน้ำหนักของข้อเข่าใหม่ในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 60 ปีที่ข้อเข่าผิดรูป หรือผู้ป่วยที่ข้อเข่าเสื่อมรุนแรงและผิดรูปมากอาจรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม หรือผ่าตัดจัดแนวรับน้ำหนักใหม่และผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียมในรายที่ข้อสะโพกเสื่อม

ผู้ป่วยจะหายปวดและสามารถเคลื่อนไหวข้อและเดินได้เป็นปกติจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ปัจจุบันผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนที่แข็งแรงทั่วไปได้ด้วยการพัฒนาข้อเข่าเทียมที่สามารถงอเหยียด และเคลื่อนไหวข้อเข่าได้ใกล้เคียงกับข้อเข่าจริง

การใส่ข้อเข่าเทียม ผู้ป่วยต้องไม่ทำงานหนัก ยกของหนักเป็นเวลานานๆ การเดินไกลๆ ไม่งอเข่ามาก ควบคุมน้ำหนัก เพราะข้อเทียมอาจชำรุดหรือใช้งานได้ในระยะเวลาอันสั้นกว่าที่ควรจะเป็นซึ่งปกติจะมีอายุการใช้งานประมาณ 8-15 ปี

ข้อแนะนำ
1. ปัจจุบันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมไม่ใช่เพียงเสื่อมตามอายุหรือจากการใช้งานมากเพียงอย่างเดียว และมีผู้ที่ข้อเสื่อมจำนวนไม่น้อยจะไม่มีอาการแสดงแต่จำเป็นต้องได้รับการรักษา

2. โรคนี้จะเป็นเรื้อรังโดยมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไปนานหลายปี อาจมีอาการปวดรุนแรงหรือปวดตลอดเวลา หรือทำให้ข้อผิดรูปได้ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง

3. การรักษาที่สำคัญและปลอดภัยเมื่อมีอาการปวดข้อเข่าจากโรคนี้ คือ ควรปฏิบัติตัวอย่างจริงจังและสม่ำเสมอโดยหลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ทำให้ปวดข้อ เช่น นั่งงอเข่า เดินขึ้นลงบันได หรือบนพื้นต่างระดับ ไม่ให้น้ำหนักตัวเกิน บริหารกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อให้แข็งแรง ใช้น้ำแข็งหรือน้ำอุ่นจัดๆ ประคบเวลาปวด

4. ยาที่ใช้ในโรคนี้มักเป็นยาบรรเทาอาการปวดไม่ใช่ยารักษาเฉพาะ ควรเริ่มใช้ยาทาแก้ปวดข้อก่อน ถ้าไม่ได้ผลก็ให้ใช้พาราเซตามอลเฉพาะเมื่อปวด หรือถ้ายังไม่ได้ผลอีกก็ให้ใช้ยาบรรเทาปวดอื่นๆ เช่น ทรามาดอล อะมิทริไทลีน เป็นต้น

5. ไม่ควรใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ แต่ถ้าใช้ยาอื่นไม่ได้ผลหรือปวดรุนแรงก็อาจจำเป็นต้องใช้ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้ เช่น แผลเพ็ปติก เลือดออกในกระเพาะ ไตวาย และไม่ควรใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ชนิดฉีดโดยไม่จำเป็น เพราะอาจทำให้เกิดภาวะช็อกจากปฏิกิริยาอะไฟแล็กตอยด์ หรือการติดเชื้อที่กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้

6. ไม่ควรซื้อยาชุดหรือยาลูกกลอนมากินเอง เนื่องจากมักมียาสตีรอยด์ผสมอยู่เมื่อกินแล้วจะทำให้รู้สึกว่าอาการดีขึ้นจึงต้องใช้ยาติดต่อกันนานๆ จนเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงจากสตีรอยด์ ที่สำคัญ คือ โรคคุชชิง ภาวะต่อมหมวกไตบกพร่องเฉียบพลัน

7. ผู้ป่วยควรออกกำลังกายที่ไม่ลงน้ำหนักมาก และควรใส่รองเท้าที่มีคุณสมบัติลดแรงกระแทกด้วย

การป้องกัน
อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดข้อเข่าเสื่อมโดย
1. ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
2. หลีกเลี่ยงการยกหรือหาบของหนักเป็นประจำ ไม่นั่งงอเข่านานๆ
3. บริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรงเสมอ
4. ออกกำลังกายที่ไม่ลงน้ำหนักมาก เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า