สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ข้อเสนอแนะปัญหาสุขภาพจากมลพิษ

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานทางวิชาการเรื่องปัญหาสุขภาพจากมลพิษ กรณีแม่เมาะ

เสนอโดย สมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย วันที่ 5,10 พฤศจิกายน 2535

ความเดิม
สมาคมแพทย์ฯ กรรมการ ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา และสมาชิก ได้ติดตาม ศึกษาและค้นคว้าเพิ่มเติมในทางเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจากมลพิษ กรณีแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มาโดยตลอด และสมาคม ได้ร่วมกับคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้จัดให้มีการอภิปรายและถกแถลงทางวิชาการที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ 2 ครั้ง ซึ่งประมวลความเห็น และข้อเสนอแนะได้ดังนี้

ข้อเท็จจริงที่มีอยู่เดิมก่อนเกิดเหตุการณ์ 3 ตุลาคม 2535

-มีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ลิกไนท์เป็นเชื้อเพลิงเปิดดำเนินการที่อำเภอแม่เมาะจริงตั้งแต่ปี 2521 และในการนี้มีเหมืองเปิด เพื่อนำลิกไนท์ป้อนโรงไฟฟ้าจริง

-มีการผลิตและใช้ถ่านลิกไนท์จากปี 2521 คือประมาณปีละ 1 ล้านตันเป็นปีละ 11.7 ล้านตันในปี 2535 หรือ 11 เท่า

-คุณภาพถ่านลิกไนท์ที่ป้อนเข้าโรงไฟฟ้ามีเถ้าถ่าน 18-21 % กำมะถัน 3-3.3 % สารระเหย 27-28 % และคาร์บอนคงตัว 19-20 %

-ในการทำเหมืองลิกไนท์ จะมีฝุ่นมาก และลิกไนท์ในเหมืองเปิด สามารถลุกไหม้ได้ง่ายเมื่อทิ้งไว้ในอากาศ เกิดกาซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ และจากการสำรวจ EIA ปี 2526 ขณะที่ผลิตถ่านหินเพียงปีละ 1.6 ล้านตันเท่านั้น มีปริมาณฝุ่นละอองสูงมาก เกินกว่าค่าที่ยอมให้มีได้

-ในการเดินเครื่องจักรผลิตไฟฟ้า จะมีมลพิษสำคัญได้แก่ฝุ่นเขม่าที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน และเข้าถึงถุงลมได้ กาซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ กาซไนโตรเจนออกไซด์โดยเฉพาะ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และไนตริค-
ออกไซด์ สารระเหยที่แปรรูปเมื่อถูกเผาไหม้ และคาร์บอนมอนอกไซด์ จากการสำรวจ EIA ในปี 2531 พบว่าสภาพอากาศประจำวันอาจทำให้ เกิดมีกาซซัลเฟอร์ไดออกไซด์สะสมอยู่ช่วง 3400-8400 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรที่ระดับพื้นดิน

-โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 1-9 ในขั้นต้นไม่ได้ออกแบบสำหรับติดตั้งอุปกรณ์กำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในปี 2534-2535 ได้ติดตั้งระบบกำจัดฝุ่นแบบประจุไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า เครื่องที่ 1 และที่ 2

-มีความรู้ทางการแพทย์ชัดเจนว่า ฝุ่นขนาดที่เข้าถึงถุงลมได้ ทำให้เกิดพังผืดที่ปอด เกิดโรคปอดอักเสบจากฝุ่น ถ้าได้รับสะสมเรื่อยๆ จะเป็นง่ายขึ้น กาซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และกาซไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นสารที่ทำลายเยื่อบุในร่างกายของมนุษย์ โดยเฉพาะเยื่อบุตา และเยื่อบุทาง เดินหายใจ ในปริมาณที่มากจะทำให้ตายได้ทันที โดยมลพิษทั้ง 3 ตัวมีฤทธิ์ทำลายเสริมกัน สำหรับสารระเหยบางตัว เป็นสารก่อมะเร็ง

-ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในบรรยากาศที่มีฝุ่น หรืออนุภาคด้วย จะทำให้ร่างกายสามารถรับเอา Sulphur dioxide เข้าไปได้มากกว่าปกติ เช่นถึง 20 เท่า ในการศึกษาที่ระดับความเข้มข้นเดียวกันกับที่ไม่มีฝุ่น ซึ่งเป็นที่ทราบว่าจะทำให้ความเป็นพิษของกาซดังกล่าวรุนแรงขึ้น

-มีชุมชนที่อาศัยอยู่เดิมบริเวณใกล้โรงไพ่ฟ้าแม่เมาะ โดยใกล้ที่สุดในระยะ 1 กม. และในรัศมีอื่นๆ มาในระยะที่นานพอ

-ในเดือนพฤษภาคม 2534  มีการร้องเรียนของประชาชนในเขตอำเภอแม่เมาะเรื่องเกิดอาการเจ็บป่วยระบบทางเดินหายใจว่า มีสาเหตุจากโรงไพ่ฟ้าแม่เมาะ จากการสำรวจโดยสำนักงานสาธารณสุขลำปางพบว่าอัตราป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจในพื้นที่อำเภอแม่เมาะสูงเป็น 2-3 เท่าของอัตราเฉลี่ยของจังหวัดลำปาง

-ในปี 2534 มีการศึกษาเรื่องมลพิษทางอากาศและโรคระบบทางเดินหายใจ ในเด็กนักเรียนอายุ 10-15 ปี ของอำเภอแม่เมาะที่มีมลพิษจากโรงไพ่ฟ้า เปรียบเทียบกับอำเภอแจ้ห่มที่ไม่มีโรงไพ่ฟ้า จังหวัดลำปาง โดยกองระบาดวิทยา ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง พบว่า เด็กที่อาศัยอยู่ในอำเภอแม่เมาะป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจสูงกว่าเด็กในอำเภอแจ้ห่ม 2.7-3.0 เท่า และเด็กในอำเภอแม่ เมาะมีสมรรถภาพปอดของค่า Peak expiratory flow rate ต่ำกว่าเด็ก ในอำเภอแจ้ห่ม

ข้อเท็จจริงนับตั้งแต่ 3 ตุลาคม 2535
-วันที่ 3 ตุลาคม 2535 เวลาประมาณ 5.00 น. มีฝุ่นลักษณะคล้ายแป้งสีขาวปนเทาแบบขี้เถ้าโปรยลงมาใส่บ้านเรือน ต้นไม้ ซึ่ง 5 ชั่วโมงต่อมาใบไม้มีลักษณะไหม้ เกรียม พบเสียหาย 30 ชนิด

-วันที่ 3-5 ตุลาคม 2535 มีผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน 71 ราย มีอาการหายใจขัด ปวดแสบในลำคอ เวียนศีรษะ บางรายมีคลื่นไส้อาเจียนด้วย สงสัยจากพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์และฝุ่น จากโรงไพ่ฟ้าแม่เมาะในราษฎร 3 หมู่บ้าน คือบ้านสบป้าด บ้านแม่จาง และบ้านสบเติ๋น ที่ตั้งอยู่รอบๆ โรงไพ่ฟ้าเครื่องที่ 4-11 และผลการตรวจสมรรถภาพปอด 70 รายพบว่า มีค่าเฉลี่ยที่ 370-379 ลิตร/นาที ซึ่งตํ่ากว่าค่าปกติ

-วันที่ 20 ตุลาคม 2535 มีผู้ป่วยตา จมูก คอ ทอนซิล และปอดอักเสบแบบเฉียบพลันรวม 213 ราย ลักษณะป่วยคล้ายวันที่ 3-5 ตุลาคม 2535 แต่รุนแรงกว่าในราษฎรหมู่บ้านสบป้าด ผลการตรวจ Peak expiratory flow rate จำนวน 47 คน พบว่าต่ำกว่าค่าปกติ ในครั้งนี้พบว่าพืชผัก และต้นไม้ มีใบเหี่ยวเฉา ไหม้เกรียม และร่วงเป็นหย่อมๆ โดยเฉพาะพืชผักสวนครัวที่นัก เรียนปลูก เสียหายตาย หมดทั้งแปลง

-ผลการเฝ้าตรวจคุณภาพอากาศในวันที่ 20 ตุลาคม 2535 พบว่ามีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงกว่าค่าที่ยอมให้มีได้ (permissible exposure limit) ระหว่างเวลา 9.00-15.00 น. โดยมีค่าระหว่าง 429.9-2122.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีระดับไนโตรเจนไดออกไซด์สูงด้วยระหว่าง 67.7-302.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีฝุ่นค่อนข้างสูง และสูงสุดเมื่อเวลา 19.00 น.

-วันที่ 21-22 ตุลาคม 2535 มีผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน จำนวน 209 ราย ที่หมู่บ้านแม่จาง ต.นาสัก มีอาการแสบจมูก หายใจไม่ออก เจ็บแน่นหน้าอก คล้ายกับอาการของ ผู้ป่วยในวันที่ 3-5 และ 20 ตุลาคม 2535 ไม่มีผลการเฝ้าตรวจคุณภาพอากาศที่บ้านแม่จาง

-ในช่วงดังกล่าว มีโค กระบือ ป่วย 66 ตัว และตาย 20 ตัว สัตว์แพทย์ให้ความเห็นว่า เป็นอาการของโรค Haemorrhagic Septicemia ซึ่งเชื้อที่ทำให้เกิดโรคนี้มักตรวจพบที่เยื่อเมือกใน ลำคอของวัว ควายที่แสดงอาการปกติ แต่ถ้าหากเกิดสภาวะอากาศ เปลี่ยนแปลง หรือร่างกายของสัตว์อ่อนแอ เชื้อตัวนี้จะทำให้สัตว์ เกิดโรคได้

-ในการเฝ้าระวังอากาศ พบว่า มีปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในอากาศระดับรุนแรงนับตั้งแต่ 3 ต.ค.35 ถึง 7 พ.ย.35 จำนวน 5 ครั้ง คือในวันที่ 3,20,27,29 ตุลาคม และ 7 พฤศจิกายน 2535 ที่แม่เมาะ

สรุป เหตุผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ระหว่าง 3-22 ตุลาคม 2535

– เกิดระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจอักเสบแบบเฉียบพลัน และตาอักเสบเฉียบพลัน  วินิจฉัยแยกโรคจากโรคติดเชื้อ มีเวลา เกิดที่สัมพันธ์กับมลพิษในสิ่งแวดล้อม และ onset เร็ว และหายได้เร็ว ผู้ป่วยมีอาการ และอาการแสดงเข้าได้กับโรคพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ จำนวน 3 ครั้ง ในระยะเวลา 20 วัน กรณีตาแดง ได้แยกจากโรคตาแดงที่มีการระบาดในระยะนั้นแล้วทางคลีนิค
-มีผู้ป่วยใน 2 ตำบล 493 ราย อยู่โรงพยาบาล 6 ราย
-มีสัตว์ป่วย 66 ตัว สัตว์ตาย 20 ตัว (กรณีตาย เป็นกระบือ 16 ตัว และโค 4 ตัว)
-มีต้นไม้ ใบไม้ เหี่ยวเฉา ไหม้เกรียม และได้รับผลกระทบ 30 ชนิด

การดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ

1. การป้องกันที่คน  ระยะที่เกิดโรคหรือเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแล้ว ได้ดำเนินการโดยการให้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เมื่อเหตุเกิด และมีการเฝ้าตรวจคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่องในบริเวณที่อยู่อาศัยของชุมชน

2. การป้องกันที่ทางผ่านของมลพิษ และการที่มีมลพิษปนเปื้อน่ในอากาศบุริเวณที่ชุมชนอาศัย
-ยังไม่มีการดำเนินการชัดเจน

-มีการเฝ้าตรวจคุณภาพอากาศที่ผ่านมายังบุคคลที่อาศัย แต่ไม่มีผลในการป้องกันการเกิดพิษแบบเฉียบพลันได้ทัน เนื่องจากอาการพิษแบบ เฉียบพลันนี้ เกิดได้รวดเร็ว

-การกำหนดระดับที่ยอมรับได้ของมลพิษนี้เป็นแบบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ขาดการกำหนดค่าสูงสุดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือ Peak level or Ceiling เนื่องจากพิษของกาซในกลุ่มนี้เกิดแบบเฉียบพลัน และอาจอันตรายถึงชีวิตได้ในปริมาณที่สูงมากๆ

3. การป้องกันที่ดำเนินการที่แหล่ง
-ยังไม่มีการดำ เนินการในระยะเวลาสั้นชัดเจน มีเพียงแผนการลดกำลังผลิตไฟฟ้าโดยลิกไนท์ลง ถ้าผลการตรวจคุณภาพอากาศพบการปนเปื้อน เฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่เกินกว่าค่าที่ยอมรับได้ ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพพอ เนื่องจากการป่วยจากพิษนี้แบบเฉียบพลัน เกิดได้รวดเร็วมาก

-มีการดำเนินการด้านการบริหารที่เกี่ยวข้อง
1. มีโครงการติดตั้งระบบกำจัดมลพิษใน 3 ปี
2. จะให้ลดกำลังการผลิตไฟฟ้าลง     300-400 เมกกะวัต ถ้ามีมลพิษออกมามาก
4.มีการดำเนินงานสงเคราะห์ และช่วยเหลืออื่นๆ บ้าง

คำถามที่ยังคงมีอยู่

-การเจ็บป่วยของประชาชนแม่เมาะครั้งนี้ และครั้งต่อไป จำเป็นต้องได้รับการตรวจยืนยันว่า เกี่ยวข้องกับปัจจัยมลพิษที่สัมผัสหรือไม่ เนื่องจากจะมีความเกี่ยวข้องกับการ compensate ต่อไป เนื่องจาก ยังคงมีความเห็นบางส่วนไม่ยอมรับการป่วยครั้งนี้ของประชาชนแม่ เมาะว่า เกี่ยวข้องกับมลพิษ

-อุปกรณ์ในการดำเนินงานด้านการตรวจสุขภาพผู้ป่วย และผู้คนที่ เกี่ยวข้องกับสารพิษ และเวชศาสตร์ สิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด เกือบทุกแห่งในประเทศไทยยังคงขาดแคลน ไม่พอดำเนินการทั้งเชิงรุก และ เชิงรับอย่างมีประสิทธิภาพพอ ใช่หรือไม่ ในขณะที่รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้านนี้แล้ว

-ในการศึกษาทางระบาดวิทยา ทั้ง crossedionaI and cohort study ยังคงขาดคำจำกัดความ ผู้ป่วยพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และพิษไนโตร เจนไดออกไซด์อย่างเฉียบพลันใช่หรือไม่ ทำให้การศึกษาและการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยามีอุปสรรค

-การศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพทางเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ยังคงไม่ครอบคลุมปัญหาบางประการ เช่น มี carcinogen เกิดขึ้นหรือไม่ และควรมีการศึกษาผลระยะล่าด้วย เช่นโรคทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรัง หรือเปรีบบเทียบอัตราเกิดของโรคมะเร็งที่อาจเกี่ยวข้องได้ จะเป็นการสมควรหรือไม่

-การศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพ ยังมิได้ศึกษารวมถึงผลกระทบทางระบบผิวหนังซึ่งเกี่ยวข้องด้วย และการทำ skin test เช่น patch test อาจช่วยบอก cause ของการป่วยได้มาก โดยเฉพาะการศึกษาหา agent สำคัญในมลพิษที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางผิวหนังมาก อาจเป็นประโยชน์ได้มาก

-ถ้าเงื่อนไข และปัจจัยต่างๆ ได้ดำเนินการในระดับที่ผ่านมา ในระยะเวลาต่อไปอันใกล้ โดยเฉพาะตลอดหน้าหนาว จะยังคงมี pollutant disaster เช่นนี้อีก และอาจรุนแรงได้หรือไม่ หรือขยายพื้นที่ครอบคลุมไปอีกได้หรือไม่

-มาตรการในการป้องกันทั้งที่ตัวบุคคล ทางผ่าน และที่แหล่งมลพิษ ยังขาดมาตรการระยะสั้นที่ชัดเจน เช่นการใช้วิธีการลดมลพิษให้เหลือครึ่งหนึ่ง หรือเท่าที่ทำได้โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นได้ในระยะเวลา 1-6 เดือน ใช่หรือไม่

ข้อเสนอแนะ และความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมและสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ฯ

1. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ควรได้จัดหาเครื่องตรวจให้พร้อม และขยายศักยภาพในการดำเนินงานด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยการจัดหาอุปกรณ์เหล่านี้เป็นตัวอย่าง (ควบคู่ไปกับพัฒนาคน)

1.1 Exhaled air เพื่อ detect กาซ sulphur dioxide, nitrogen dioxide และ nitrogen oxide อื่นๆ, carbonmonoxide

1.2 ชุดตรวจทางพิษวิทยา ซึ่งประกอบด้วย Atomic absorbtion, HPLC, infrared และ gas chromatography และอื่นๆ จากนั้นยังควรพัฒนา lab ให้ detect sulphonate ใน plasma, sulphate และ nitrate ใน urine หรืออื่นๆ ได้ การตรวจสารระเหย และที่เกี่ยวข้อง

1.3 ชุดตรวจทาง skin และชุดตรวจ spirometer จำนวนเพียงพอ

1.4 ชุดตรวจโครโมโซม เพื่อตรวจ chromosome abnormalities ซึ่งจะช่วยในการ detect ปัญหาได้ดีขึ้น

2. ในการศึกษาทางระบาดวิทยา และการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ควรจะได้มีคำจำกัดความผู้ป่วยจากสารพิษ,ให้ชัดเจน เช่น ผู้ป่วยพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์แบบเฉียบพลัน คือผู้ที่มีประวัติสัมผัสสารนั้น และเกิดอย่างรวดเร็วของอาการ และอาการแสดงของ conjunctivitis, rhinitis, pharynxgitis, pneumonia, obstructed airway, pulmonary edema หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว และหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อลด exposure(ในกรณีไม่รุนแรง) โดยร่วมกับ abnormal lung function หรือ มี exhaled air พบ sulphur dioxide หรือไม่ก็ได้ (ตามแต่จะตกลง) ควรมีการศึกษาผลระยะล่าด้วย และมีการเฝ้าระวังการเกิดโรคนี้ไปข้างหน้าแบบเชิงรุกด้วย

3. แหล่งมลพิษควรมีมาตรการป้องกันที่แหล่งในระยะสั้น ซึ่งดำเนินการในระยะ 1-6 เดือนด้วย เนื่องจากได้เกิด outbreak ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ ถึง 3 ครั้งใน 20 วัน ที่ผ่านมา โดยมาตรการป้องกันที่แหล่งระยะสั้นนี้ จะมีคุณสมบัติช่วยลดมลพิษได้บางส่วน เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมซึ่งเป็นไป

4. สำหรับระบบกำจัดสมบูรณ์เร่งรัดให้สามารถลุล่วงได้ในระยะเวลาที่ เร็วขึ้น และควรได้มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของระบบด้วย โดยใช้ทั้งการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) และการประ เมินผลกระทบทางสุขภาพควบคู่ไปด้วย(HIA=Health Impact Assesment) มิใช่มีเพียงการทำ EIA อย่างเดียว และผลการประเมินต้องเป็นที่เข้าถึงได้ของสาธารณะ

การป้องกัน disaster ในลักษณะเดียวกันระดับประเทศ

เนื่องด้วย มี disaster ที่คล้ายคลึงกรณีแม่เมาะเกิดขึ้นในประเทศไทยหลายครั้ง แต่ขีดความสามารถของระบบบริการสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศในด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม และพิษวิทยายังคงจำกัดอยู่มาก แม้ในพื้นที่อุตสาหกรรมเดิม หรือเขตอุตสาหกรรมใหม่ ยังคงขาดเครื่องมือเครื่องใช้จำเป็นในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง สมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่า

1. กระทรวงสาธารณสุข ควรดำเนินการจัดหาอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับชุดอุปกรณ์และเครื่องมือ ในการดำเนินงานเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม และพิษวิทยาแก่จังหวัดใหญ่ และจังหวัดในพื้นที่อุตสาหกรรมเดิม และอุตสาหกรรมใหม่ (พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก) ตลอดจนทุกจังหวัดในประเทศตามสภาพปัญหามลพิษ

2. กำหนดให้มีโครงสร้างและหน่วยงานรองรับงานด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม พร้อมกำลังบุคลากร (พัฒนาบุคลากรเดิม หรือจัดหา เพิ่มเตรียมกรอบอัตราให้พร้อม) และงบประมาณ ในแต่ละจังหวัด พื้นที่ ตามแผนงานเวชศาสตร์อาชีวะและสิ่งแวดล้อม หรือพัฒนาให้ดีกว่า

3. รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ชัดเจนให้โครงการที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพเนื่องจากมลพิษ ต้องมี Health inpact assesmnet และมีระบบกำจัดมลพิษที่มีประสิทธิภาพ การพิจารณาต่อใบอนุญาตประกอบการ ควรได้พิจารณาถึงเหตุผลด้านมลพิษ และสุขภาพที่เกี่ยวข้องด้วย รวมถึงโครงการที่มีการลงทุนใหม่ ควรได้รับการพิจารณา เรื่องปัญหามลพิษ และผลกระทบทางสุขภาพด้วย

4. ส่งเสริมศักยภาพของชุมชน บุคคล ในการมีบทบาทป้องกัน และควบคุมปัญหาสุขภาพจากมลพิษ ในพื้นที่ตามรูปการณ์ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น และสถานการณ์ ตลอดจนการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ

ที่มา:สมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า