สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง(Ankylosing spondylitis)

เป็นภาวะการอักเสบแบบเรื้อรังของข้อต่อกระดูกสันหลัง และรุนแรงขึ้นจนมีการเชื่อมต่อกันของข้อต่อกระดูก มักพบในคนหนุ่มสาว พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง

สาเหตุ
พบว่ามีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยาภูมิต้านตนเองต่อเนื้อเยื่อบริเวณข้อต่อกระดูกต่างๆ และอาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

อาการ
มักเริ่มปวดข้อบริเวณหลังและบั้นเอวเมื่ออายุประมาณ 20 ปี ลำดับของบริเวณที่ปวดมาก ได้แก่ บั้นเอว แก้มก้น ทรวงอก หัวเข่า ส้นเท้า หัวไหล่ ข้อมือ มักมีอาการปวดเป็นครั้งคราวในระยะแรก เมื่อกินยาแก้ปวดอาการจะดีขึ้น อาการที่เด่นชัดคือจะปวดหลังมากเมื่อตื่นนอนตอนเช้า อาจปวดมากจนต้องตื่นมาตอนกลางคืน อาจมีอาการหลังแข็งแต่เมื่อได้เคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกายก็จะดีขึ้น

หลังทำงานหรือเล่นกีฬาอาจรู้สึกปวดเมื่อยง่าย หรือปวดร้าวลงขาแบบรากประสาทถูกกดในบางราย อาจมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซีด ถ้าเป็นแบบรุนแรง

หลังมีอาการ 6 เดือนถึง 3 ปี ผู้ป่วยจึงจะไปพบแพทย์ ในระยะ 10-20 ปีอาการจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นอาจจะทุเลาและหายไปได้เอง อาจจะปวดเฉพาะที่บั้นเอวหรือสะโพก อาการอักเสบอาจลุกลามไปตามข้ออื่นๆ หรืออวัยวะอื่นๆ เช่น ม่านตา หัวใจ ทางเดินอาหาร ปอด เป็นต้นในบางราย

สิ่งตรวจพบ
อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนในระยะแรกเริ่ม จะพบอาการกดหรือคลำถูกเจ็บตรงข้อที่ปวด หรือใช้กำปั้นทุบเบาๆ ตรงกลางหลังจะเจ็บมากเมื่อเป็นมากขึ้น

อาจตรวจพบว่าการก้มงอบั้นเอวลงด้านหน้าของผู้ป่วยทำได้น้อยกว่าปกติ เรียกว่า การทดสอบแบบโชเบอร์

จะพบการขยายของทรวงอกเมื่อหายใจเข้าเต็มทีได้น้อยกว่าคนปกติ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเป็นแรมปีเมื่อมีอาการรุนแรง เช่น หลังแข็งทั้งท่อนและโก่ง ตาไม่สามารถมองตรงไปข้างหน้าได้ บางรายยืนและเดินไม่ได้จากการที่สะโพกแข็งแบบอยู่ในท่านั่ง

บางรายอาจมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วซึ่งใช้เครื่องฟังตรวจหัวใจได้ยินเสียงฟู่ มีม่านตาอักเสบ ปวดตา ตาแดงร่วมด้วย เรียกว่า กลุ่มอาการไรเตอร์ (Reiter’s syndrome)

ภาวะแทรกซ้อน
เกิดความพิการหลังโก่งจากข้อต่อสันหลังเชื่อมติดกัน ทำให้ยืนและเดินไม่ได้จากข้อสะโพกติดแข็ง ทำให้สมรรถภาพปอดลดลง มีการติดเชื้อในปอด ปอดอักเสบได้จากข้อต่อกระดูกซี่โครงติดแข็ง ทำให้กลืนลำบากจากข้อขากรรไกรแข็ง เกิดอาการปวดขา ขาอ่อนแรง กลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้จากประสาทสันหลังส่วนล่างผิดปกติ

การรักษา
หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์มักตรวจเลือดหากเป็นโรคก็จะพบค่าอีเอสอาร์(ESR) และ C-reactive protein สูงกว่าปกติ

จะพบความผิดปกติของข้อต่อสันหลังและข้อต่อสะโพกในระยะที่โรคเป็นมากแล้วจากการตรวจเอกซเรย์

การรักษาโดยเฉพาะยังไม่มี เพียงแต่ให้การบรรเทาอาการปวด อักเสบ และป้องกันความพิการ โดย

1. ให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เช่น อินโดเมทาซิน ซึ่งมักใช้ได้ผลดี ควรปรับให้เหมาะสมกับความรุนแรงและระยะของโรค เมื่ออาการทุเลาก็อาจหยุดยาได้ อาจใช้ยาเพียงวันละ 1 แคปซูลหรือ 25 มก. แต่บางรายอาจต้องใช้ถึง 150-200 มก./วันเพราะมีอาการรุนแรง

2. กายภาพบำบัด จะช่วยให้ผู้ป่วยคงรูปทรงในท่าตรงให้สามารถยืนและนั่งตรงได้ สามารถรักษามุมการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง สะโพก คอ และทรวงอกได้

3. ในระยะท้ายของโรคที่มีการติดแข็งของข้ออาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด เช่น การเปลี่ยนข้อสะโพก การตัดกระดูกเอวที่โก่งโค้งให้ตรง เป็นต้น

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะสามารถช่วยตัวเองได้ แต่อาจพบมีความพิการได้หากละเลยการรักษา หลังจากมีอาการเกิน 10 ปีแล้วข้อสันหลังและข้อสะโพกยังมีความยืดหยุ่นก็มักจะไม่เสี่ยงต่ออาการข้อติดแข็ง

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้จะมีอาการปวดเหมือนโรคปวดกล้ามเนื้อหลัง หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน รากประสารทถูกกด ข้อเสื่อม ในระยะแรก แต่ถ้าพบเป็นเรื้อรังในชายหนุ่มมีอาการปวดก่อนตื่นนอนตอนเช้า เมื่อบริหารร่างกายอาการก็ทุเลาลงก็ควรนึกถึงโรคนี้

2. ระยะและความรุนแรงของโรคนี้จะแตกต่างกันไปตามสภาพของแต่ละบุคคล และมักเป็นแบบเรื้อรัง การรักษาไม่อาจร่นระยะเวลาของโรคได้ และในรายที่เป็นรุนแรงก็ไม่อาจป้องกันการติดแข็งของข้อได้ อาจช่วยให้ผู้ป่วยคงสภาพการทำงานของร่างกายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

3. ผู้ป่วยควรติดตามรักษากับแพทย์อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง หมั่นฝึกกายบริหารตามคำแนะนำของแพทย์โดยเน้นการเหยียดตรงของหลังและคอ รักษาอิริยาบถการยืน เดิน นั่ง นอน ให้หลังอยู่ในท่าตรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ควรนอนบนที่นอนแข็ง หลีกเลี่ยงการใช้หมอนสูงเพื่อป้องกันมิให้คอโก่งโค้ง เมื่อมีอาการปวดคออาจประคบด้วยน้ำอุ่น อาบน้ำอุ่น หรือบีบนวด สามารถเล่นกีฬาได้ทุกประเภทในผู้ป่วยที่ข้อยังไม่ติดแข็ง ยกเว้นการปั่นจักรยาน โบว์ลิ่ง ตีกอล์ฟ ซึ่งเป็นประเภทที่ต้องก้มหลังลงอาจเกิดอาการปวดขึ้นได้ ในช่วงหลังตื่นนอนตอนเช้าควรฝึกการหายใจเข้าออกลึกๆ วันละ 10-20 ครั้ง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า