สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ของเสียที่เป็นอันตราย

ของเสียที่เป็นอันตรายคืออะไร
ของเหลือทิ้งจากการบริโภค อุปโภค หรือสิ่งของเสื่อมสภาพจนใช้การไม่ได้แล้วตลอดจนของที่มนุษย์ไม่ต้องการจะใช้ต่อไปแล้ว เรารวมเรียกว่า “ของเสีย” (Waste) ของเสียบางชนิดเป็นพิษภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมไม่มากนัก เช่น ของเสียจำพวกเศษอาหาร เศษกระดาษจากบ้านเรือนที่พักอาศัย แต่ของเสียบางชนิดเป็นอันตรายต่อชีวิตของมนุษย์และสัตว์ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อย่างมาก หากทำการเก็บหรือกำจัดทิ้งไปโดยไม่ระมัดระวังให้ถูกหลักวิชาการ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการปนเปื้อนหรือสะสมอยู่ใน “ห่วงโซ่อาหาร” อาจเป็นสาเหตุหรือทำให้เกิดการเจ็บป่วยอย่างเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ เราเรียกของเสียประเภทนี้ว่า “ของเสียที่เป็นอันตราย” (Hazardous Waste)

ของเสียที่เป็นอันตราย ได้แก่ ของเสียที่มีลักษณะของความเป็นอันตรายหนึ่งลักษณะใดดังต่อไปนี้

1. ของเสียเป็นพิษ หรือเจือปน หรือมีส่วนประกอบของสารที่เป็นพิษ เช่น มีส่วนประกอบของสารปรอท ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู สารยาฆ่าแมลง เป็นต้น

2. ของเสียที่ติดไฟง่าย หรือมีส่วนประกอบของสารที่ติดไฟง่าย หรือสารไวไฟซึ่งอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้ ถ้าเก็บไว้ใกล้ไฟ หรือเมื่อมีอุณหภูมิสูงมากๆ

3. ของเสียที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่าง ซึ่งสามารถกัดกร่อนวัสดุต่างๆ ตลอดจนเนื้อเยื่อของร่างกายมนุษย์หรือสัตว์

4. ของเสียที่เมื่อทำปฏิกิริยากับสารอื่น เช่น น้ำ จะทำไห้เกิดมีก๊าซพิษ ไอพิษ หรือควันพิษ หรือของเสียที่เมื่อถูกทำให้ร้อนขึ้นในที่จำกัดอาจเกิดการระเบิดได้

5. ของเสียที่เป็นสารกัมมันตรังสี หรือมีสารกัมมันตรังสีเจือปนอยู่

6. ของเสียที่เมื่อถูกน้ำชะล้าง จะปลดปล่อยสารที่เป็นอันตรายดังกล่าวข้างต้นออกมาได้

7. ของเสียที่มีเชื้อโรคติดต่อปะปนอยู่

และในบางกรณีของเสียที่เป็นอันตรายอาจมีลักษณะของความเป็นอันตรายหลายประเภทรวมกัน

แหล่งที่มาของของเสียที่เป็นอันตราย
ของเสียที่เป็นอันตรายมีที่มาจากแหล่งกำเนิดที่สำคัญ 3 แหล่ง ได้แก่

1. โรงงานอุตสาหกรรม กากสารเคมีที่ได้จากขบวนกาวผลิต หรือ สารเคมีที่เหลือใช้ ภาชนะบรรจุสารเคมีตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่เสื่อมคุณภาพหรือไม่ได้มาตรฐานรวมทั้งกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำทิ้งของโรงงานเป็นของเสียอันตรายที่จะต้องได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ของเสียเหล่านี้อาจมีทั้งประเภทที่มีลักษณะเป็นสารที่เป็นพิษ สารไวไฟ สารกัดกร่อน หรือมีหลายลักษณะรวมกันขึ้นอยู่กับประเภทของโรงงานอุตสาหกรรม อาทิ ของเสียจากโรงงานชุบโลหะส่วนใหญ่จะมีสารพิษ เช่น ไซยาไนด์ และสารโลหะหนักเจือปนอยู่ ได้แก่ โครเมียม แคดเมียม สังกะสี ทองแดง ฯลฯ ของเสียจากโรงงานผลิตโซดาไฟในขบวนการผลิตแบบเก่า จะมีพวกสารปรอทปะปนอยู่ ของเสียจากโรงงานผลิตสีหรือโรงงานทอผ้าที่มีการย้อมสีจะมีสารพวกตะกั่ว ปรอท และสารหนู ฯลฯ ของเสียจากโรงงานผลิตและบรรจุยาฆ่าแมลง ส่วนใหญ่จะเป็นภาชนะบรรจุวัตถุดิบ หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งอาจจะมีสารเคมีที่เป็นพิษ หรือสารยาฆ่าแมลงติดค้างอยู่ ของเสียจากโรงกลั่นน้ำมันจะเป็นพวกกากตะกอนน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นสารไวไฟ และอาจมีโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว เจือปนอยู่ ของเสียจากโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ที่เป็นโลหะจะเป็นพวกกรดหรือด่างที่ใช้ในการผลิต

2. ชุมชนหรือบ้านเรือนที่พักอาศัย ของที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันบางชนิดอาจจะมีสารเคมีที่เป็นพิษหรือสารไวไฟ หรือสารกัดกร่อนเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย แม้ว่าของนั้นจะหมดสภาพการใช้งานแล้ว แต่สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบก็ยังคงเหลือความเป็นอันตรายในตัวเองอยู่ ถ้าดำเนินการกับของเสียนั้นๆ อย่างไม่ระมัดระวังหรือไม่ถูกวิธี ก็จะทำให้สารเคมีที่อยู่ในของเสียนั้นรั่วซึมออกมาได้ เช่น ซากถ่านไฟฉาย จะมีสาวโลหะหนักพวกแมงกานีส หรือแคดเมียมอยู่ภายใน ซากแบตเตอรี่รถยนต์ เก่าอาจมีน้ำกรด และมีสาวโลหะหนักพวกตะกั่วเหลืออยู่ นอกจากนี้หลอดฟลูออเรสเซนต์ที่หมดอายุใช้งานแล้วยังคงมีสารปรอท เหลืออยู่เศษของเสียเหล่านี้ถ้าถุฏทิ้งไปโดยไม่ดูแลให้ถูกต้อง สารพิษดังกล่าวอาจถูกน้ำชะล้างออกมาปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนี้น้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรคที่ใช้ในรถยนต์แม้จะใช้แล้วก็ยังคงความเป็น สารไวไฟหรือสารกัดกร่อน สำหรับภาชนะที่บรรจุยาฆ่าแมลงสาบและยุงที่ใช้หมดแล้วอาจมีเศษของยาฆ่าแมลงเหลือติดค้างอยู่ น้ำยาขัดพื้น หรือน้ำยาล้างห้องน้ำจะมีส่วนผสมของกรดหรือด่างแม้จะใช้แล้วก็ยัง คงมีฤทธิ์ในการกัดกร่อนอยู่ ส่วนสี ทินเนอร์ ยาตลอดจนเครื่องสำอางค์ที่หมดอายุแล้ว ก็นับเป็นของเสียที่เป็นอันตรายด้วยเช่นกัน

ของเสียที่ถูกทิ้งออกมาจากโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่างๆ บางส่วนอาจจะมีเชื้อโรคติดต่อปะปนอยู่ เช่น เศษเนื้อเยื่อ ชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆ น้ำเหลือง น้ำหนอง เสมหะ น้ำลาย เหงื่อ ปัสสาวะ อุจจาระ ไขข้อ น้ำในกระดูก น้ำอสุจิ เลือด เซรุ่มของผู้ป่วย เครื่องใช้ที่สัมผัสกับผู้ป่วย เช่น ลำลี ผ้าพันแผล กระดาษชำระ เข็มฉีดยา มีดผ่าตัด เสื้อผ้า จากห้องฉุกเฉิน ห้องปัจจุบันพยาบาล ห้องออร์โธปิดิกส์ หน่วยโลหิตวิทยา ห้องศัลยกรรม ห้องอายุรกรรม ห้องกุมารเวชกรรม ห้องสูตินารีเวชกรรม หน่วยพยาธิวิทยา เป็นสิ่งของที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคหากไปสัมผัสเข้า นอกจากของเสียที่ติดเชื้อโรคแล้วยังมีของเสียชนิดอื่นอีก เช่น ยาที่หมดอายุแล้ว และสารเคมีที่ใช้ในการแพทย์ ตลอดจนซากสัตว์หรืออุปกรณ์ที่ทิ้งจากห้องเลี้ยงสัตว์ทดลอง เป็นต้น

3. การเกษตรกรรม  ได้แก่ การผลิตและการใช้สารเคมีทางการเกษตร เช่น ยากำจัดแมลง ยากำจัดวัชพืช ยากำจัดเชื้อราที่เหลือใช้หรือเสื่อมคุณภาพ ภาชนะที่บรรจุยากำจัดศัตรูพืชต่างๆ ซึ่งอาจมีเศษยาติดค้างอยู่ สารเคมีเหล่านี้มีความเป็นพิษในตัวของมันเอง บางชนิดมีความคงทนไม่สลายตัวง่าย ทำให้มีฤทธิ์อยู่ได้นาน ส่วนใหญ่นอกจากจะมีพิษต่อศัตรูพืชแล้วยังมีพิษต่อมนุษย์ด้วย

ปริมาณของเสียที่เป็นอันตราย
ของเสียที่เป็นอันตรายอาจมีได้หลายลักษณะ อาทิ อยู่ในรูปของกากน้ำมัน กากตะกอนสารอินทรีย์หรือสารอนินทรีย์ สารตัวทำละลาย สารที่มีฤทธิ์เป็นกรด-ด่าง ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือเสื่อมคุณภาพ หรือของเสียที่ติดเชื้อโรค ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมด้านอุตสาหกรรม ชุมชน เกษตรกรรมและอื่นๆ อาจจะผลิตของเสียที่เป็นอันตรายเหล่านี้ออกมาในรูปลักษณะและปริมาณที่ต่างกันออกไป คาดประมาณว่าในปัจจุบัน จะมีของเสียที่เป็นอันตราย ประเภทต่างๆ ถูกผลิตขึ้นจากกิจกรรมข้างต้นกระจัดกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศประมาณปีละเกือบ 1 ล้านตัน โดยประมาณร้อยละ 75 ของของเสียจำนวนนี้ถูกผลิตขึ้นในบริเวณกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลและในอนาคตคาดว่าปริมาณของเสียที่เป็นอันตรายเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นหลายเท่า สาเหตุที่ปริมาณของเสียที่เป็นอันตรายมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ เนื่องจากประเทศไทยกำลังเปลี่ยนรูปแบบจากประเทศเกษตรกรรมมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม ทำให้มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีการนำสารอันตรายต่างๆ มาใช้ในขบวนการผลิตมากขึ้น รวมทั้งปัจจุบันการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิตก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีของเสียในรูปใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งบางชนิดก็มีความเป็นพิษสูงทำให้ต้องใช้วิธีกำจัดที่ยุ่งยากซับซ้อน ตลอดจนเกิดปัญหาในการเก็บรวบรวมและกำจัดเป็นอย่างมาก

ผลกระทบของของเสียที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
กาวจัดการของเสียที่เป็นอันตรายโดยไม่ระมัดระวัง หรือไม่ถูกต้องเหมาะสมจะก่อไห้เกิดปัญหาพื้นฐานที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้ 4 ประการคือ

1. ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง การสัมผัสหรือเกี่ยวข้องกับของเสียที่เป็นอันตราย ซึ่งประกอบด้วยสารพิษที่เป็นสารก่อมะเร็ง อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ โดยเฉพาะเมื่อได้รับสารเหล่านั้นเป็นเวลาติดต่อกันนานๆ อาทิ การหายใจเอาอากาศที่มีสารพวก ไดออกซิน เบนซิน ฟอร์มัลดีไฮน์เข้าไป หรือกินอาหาร หรือน้ำที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมี พวกยาฆ่าแมลง

2. ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่น  การที่ได้รับสารเคมี หรือสารโลหะหนักบางชนิดเข้าไปในร่างกาย อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ จนอาจถึงตายได้ เช่นโรคทางสมองหรือทางประสาท หรือโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกาย ตัวอย่างของโรคที่เกิดจากการจัดการของเสียที่เป็นอันตรายอย่างไม่ถูกต้อง ได้แก่ โรคมินามาตะ ซึ่งเกิดจากสารปรอท โรคอิไต-อิไต ซึ่งเกิดจากสารแคดเมียม และโรคแพ้พิษสารตะกั่ว เป็นต้น

3. ทำไห้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์  สารโลหะหนัก หรือสารเคมีต่างๆ ที่เจือปนอยู่ในของเสียที่เป็นอันตราย นอกจากจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์แล้ว ยังเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งพืชและสัตว์ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและตายได้เช่นกัน หรือถ้าได้รับสารเหล่านั้นในปริมาณไม่มากพอที่จะทำให้เกิดอาการอย่างเฉียบพลัน ก็อาจจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างของโครโมโซมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม นอกจากนี้การสะสมของสารพิษไว้ในพืชหรือสัตว์แล้วถ่ายทอดไปตามห่วงโซ่อาหาร ในที่สุดอาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ซึ่งนำพืชและสัตว์ดังกล่าวมาบริโภค

4. ทำให้เกิดผลเสียหายต่อทรัพย์สินและสังคม เช่น เกิดไฟไหม้ เกิดการกัดกร่อนเสียหาย ของวัสดุ เกิดความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมทำให้เกิดปัญหาทางสังคมด้วย

ของเสียที่เป็นอันตรายก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร?
ของเสียที่เป็นอันตราย หรือสารที่เจือปนอยู่ในของเสียที่เป็นอันตรายอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้หลายทาง คือ

1. โดยการสัมผัสโดยตรง หากของเสียพวกกรดหรือด่างที่มีความเข้มข้นไม่มากกรดถูกร่างกาย อาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสเกิดการระคายเคืองเป็นผื่น แต่ถ้ามีความเข้มข้นมากๆ อาจทำให้ผิวหนังไหม้ หรือเนื้อเยื่อถูกทำลายจนเกิดบาดแผลพุพอง นอกจากนี้การใช้สารยาฆ่าแมลง โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากาก และถุงมือ สารดังกล่าวอาจซึมเข้าทางผิวหนังได้ การกินสารเหล่านี้เข้าไปโดยตรงจะเป็นอันตรายอย่างมากและทำให้เกิดอาการอย่างเฉียบพลัน ดังนั้น ควรระมัดระวังร่างกายหรืออาหารไม่ให้สัมผัสกับของเสีย รวมทั้งภาชนะบรรจุของเสียที่เป็นอันตรายไม่ควรนำมาใช้อีก เนื่องจากอาจมีเศษของสารอันตรายเหลือค้างอยู่

2. โดยการสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหาร พืชและสัตว์จะดูดซึมหรือกินเอาสารอันตรายต่างๆ ที่มีสะสมอยู่ในดินหรือในอาหารเข้าไป และสารดังกล่าวจะไปสะสมอยู่ในส่วนต่างๆ ของพืชและสัตว์นั้นๆ เนื่องจากสารอันตรายเหล่านี้สลายตัวได้ช้า ดังนั้นในร่างกายของพืชและสัตว์ จึงมีความเข้มข้นของสารเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับเมื่อมนุษย์กินพืช หรือสัตว์นั้นก็จะได้รับสารอันตรายเข้าไปด้วย และจะไปสะสมอยู่ในร่างกายของมนุษย์จนมีปริมาณมากและก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ออกมาในที่สุด

3. โดยการปนเปื้อนต่อแหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภค  การนำของเสียที่เป็นอันตรายไปฝังโดยไม่ถูกวิธีกาจทำให้เกิดน้ำเสียที่มีสารอันตรายปนเปื้อน น้ำเสียเหล่านี้จะไหลซึมผ่านชั้นดินลงไปยังแหล่งน้ำใต้ดิน นอกจากนี้การนำของเสียที่เป็นอันตรายมากองทิ้งไว้อาจทำให้น้ำฝนไหลชะพาเอาสารอันตรายต่างๆ ไปปนเปื้อนต่อแม่น้ำ ลำคลอง ดังนั้น เมื่อเรานำน้ำใต้ดินหรือน้ำผิวดินที่มีการปนเปื้อนของเสียที่เป็นอันตรายมาบริโภคหรืออุปโภคเราก็อาจจะได้รับสารอันตรายต่างๆ นั้นเข้าไปด้วย

4. โดยการเจือปนอยู่ในอากาศ  ของเสียที่เป็นอันตรายบางชนิดจะระเหยปล่อยสารต่างๆ ออกมาหรือปลิวฟุ้งเป็นฝุ่นผสมอยู่ในอากาศที่เราหายใจ นอกจากนี้การเผาของเสียที่เป็นอันตรายโดยไม่มีการควบคุมปัญหาอากาศอย่างเข้มงวด อาจทำให้มีสารอันตรายปะปนอยู่ในอากาศในรูปของไอหรือฝุ่นของสารเคมีต่างๆ

5. โดยการระเบิดหรือไฟไหม้ การเก็บของเสียที่มีลักษณะไวไฟหรือติดไฟง่ายในสถานที่ต่างๆ จะต้องมีการระมัดระวังเรื่องการติดไฟหรือระเบิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสถานที่เก็บมีอุณหภูมิสูงเกินกว่าจุดวาบไฟของของเสีย นอกจากนี้การนำของเสียต่างชนิดกันมาผสมกัน อาจมีการทำปฏิบัติกันอย่างรุนแรงจนเกิดการระเบิดขึ้นทำอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

ตัวอย่างของปัญหาจากของเสียที่เป็นอันตรายบางชนิด

สารปรอท เป็นสารโลหะหนักที่ใช้มากในอุตสาหกรรม เช่นอุตสาหกรรมทำวัตถุระเบิด ทำสี ทำหลอดฟลูออเรสเซนต์ เทอร์โมมิเตอร์ ทำโซดาไฟ ตลอดจนใช้ในการเกษตรกรรม เช่น ใช้ในยาฆ่าเชื้อรา ปรอทเป็นสารพิษที่มีอันตรายต่อสุขภาพอนามัยค่อนข้างรุนแรง โดยผู้ที่ได้รับสารนี้เข้าไปจะทำให้เกิดอาการท้องร่วง เป็นโรคไตและโรคลำไส้เรื้อรัง มีอาการระคายเคืองและอักเสบของระบบทางเดินหายใจ แน่นหน้าอก มีอาการผิดปกติของระบบประสาท เช่นง่วงซึม สูญเสียระบบการทรงตัว ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อไม่ได้ ชักกระตุก ความจำเสื่อม และอาจถึงตายได้

ตัวอย่างอันตรายจากของเสียที่มีสารปรอทเจือปนที่เห็นได้ชัด ได้แก่ กรณีของโรคมินามาตะที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเกิดจากการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีสารปรอทเจือปนอยู่ลงในอ่าวมินามาตะ ทำให้มีสารปรอทสะสมอยู่ในปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ ประชาชนที่อาศัยอยุ่ในบริเวณนั้นได้นำปลาและสัตว์ทะเลมารับประทาน ซึ่งจากรายงานพบว่าประชาชนในบริเวณอ่าวมินามาตะกว่า 2,000 คน มีอาการปวดท้อง ท้องร่วง ไม่สามารถควบคุมการทรงตัว และการทำงานของกล้ามเนื้อ ประสาทตาและหูเสื่อม ความจำเสื่อม บางรายมีอาการชัก จากการตรวจพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้รายแรกเมื่อปี พ.ศ. 2499 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2529 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมินามาตะแล้วกว่า 600 ราย แม้ว่าเหตุการณดังกล่าว จะเกิดขึ้นมากว่า 30 ปี แล้วก็ตาม แต่ยังมีรายงานผู้เสียชีวิตหรือมีอาการแสดงของโรคมินามาตะ จากการรับประทานอาหารทะเลจากอ่าวมินามาตะในครั้งนั้นอยู่

สารหนู เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ทำยารักษาโรค ทำสี ทำวัตถุระเบิด ทำแก้ว และเซรามิค และใช้ในการเกษตรกรรม เช่น ใช้ในยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหนู เป็นสารพิษที่มีอันตรายต่อร่างกายอย่างรุนแรงเช่นกันหากร่างกายมนุษย์ได้รับสารดังกล่าวเข้าไปในปริมาณไม่มากนัก จะทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณที่สัมผัส เป็นโรคผิวหนัง เป็นตุ่มแข็งใสพอง หวือผิวหนังแข็งด้าน หรือเป็นจุดสีๆ เกิดเป็นหูด อาจเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง ทำให้เกิดตาแดง ตาอักเสบ หลอดลมอักเสบ เบื่ออาหาร ปลายประสาทอักเสบ แขนขาชา อาจเป็นอัมพาต ความจำเสื่อม และมีอาการทางตับ ไต แต่หากร่างกายรับสารดังกล่าวเข้าไปมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานเข้าไปโดยตรงจะทำให้ตายได้

ตัวอย่างอันตรายจากของเสียที่มีสาวหนูเจือปนอยู่ได้แก่เมื่อปลายปี พ.ศ. 2530 เกิดกรณีโรคพิษสารหนูเรื้อรังหรือที่เรียกว่า “ไข้ดำ” ที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่พบผู้ป่วยมากกว่า 200 ราย มีอาการของโรคผิวหนัง เนื่องจากชาวบ้านบริโภคน้ำและอาหารที่มีสารหนูปนเปื้อนอยู่ติดต่อกันเป็นเวลานาน การปนเปื้อนของสารหนูในอำเภอร่อนพิบูลย์มีสาเหตุจากการทำเหมืองแร่ดีบุกและอุตสาหกรรมการแต่งแร่ โดยสารหนู่ที่ปนอยู่ในดินบริเวณเหมืองถูกชะล้างไปกับน้ำฝนลงสู่แหล่งน้ำรวมทั้งมีการปล่อยน้ำเสียจากการแต่งแร่ ซึ่งมีสารหนูเจือปนอยู่ออกสู่สิ่งแวดล้อม สารหนูดังกล่าวจะปนเปื้อนลงในน้ำใต้ดิน ในห้วยน้ำธรรมชาติ ในดินและพืชผักต่างๆ เป็นบริเวณโดยรอบพื้นที่

สารตะกั่ว  เป็นสารโลหะหนักที่ใช้กันมากในการทำแบตเตอรี่รถยนต์ ทำสี ผสมในน้ำมันเบนซิน ผสมในยากำจัดศัตรูพืช ถ้าร่างกายได้สารตะกั่วเข้าไปในระดับความเข้มข้นสูงเป็นเวลานานๆ จะปรากฏอาการแพ้พิษสารตะกั่วคือ มีอาการอ่อนเพลีย โลหิตจาง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นโรคไตเรื้อรังมีอาการผิดปกติทางประสาท เช่น เซื่องซึม หงุดหงิด ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อกระตุก ความจำเสื่อมอาจถึงข้น เพ้อ คลั่ง ชัก อัมพาต และตายได้ พบว่าตะกั่วสามารถถ่ายทอดจากมารดาไปสู่ทารกในครรภ์ได้โดยผ่านทางรก นอกจากนี้ยังทำให้เป็นหมัน แท้ง เป็นมะเร็งในกระเพาะ ตับ ลำไส้ และไต

ตัวอย่างอันตรายจากของเสียที่มีสารตะกั่วเจือปนที่เกิดขึ้นแล้ว ได้แก่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2519 ที่ตำบลบางครุ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ที่มีเด็กหญิงคนหนึ่งเสียชีวิตเนื่องจากแพ้พิษตะกั่ว และคนในหมู่บ้านบริเวณนั้นมีระดับตะกั่วในเลือดสูงกว่าปกติ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากมีการนำกากตะกอนของโรงงานหลอมตะกั่วจากซากแบตเตอรี่รถยนต์มาถมบริเวณบ้านและถนนในซอยเข้าหมู่บ้าน ทำให้สารตะกั่วที่ยังติดค้างอยู่ในแบตเตอรี่รั่วไหลซึมออกมาปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำใช้ของชาวบ้าน และบางส่วนระเหยกลายเป็นไอ หรือฝุ่นตะกั่วปะปนอยู่ในอากาศ

สารแคดเมียม เป็นสารโลหะหนักที่ใช้มากในอุตสาหกรรมชุบโลหะ ทำสี อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุปกรณ์อิเลคโทรนิค อุตสาหกรรมยางและพลาสติก ตลอดจนใช้ในการเกษตรกรรม เช่น ใช้ในยาฆ่าเชื้อรา สารแคดเมียมเป็นพิษต่อร่างกายโดยทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หงุดหงิด เกิดอาการระคายเคืองและอักเสบของระบบทางเดินหายใจ เจ็บแน่นหน้าอก หายใจติดขัด เบื่ออาหาร โลหิตจาง เป็นโรคตับและลำไส้ และมีอาการปวดกระดูก

ตัวอย่างอันตรายจากของเสียที่มีสารแคดเมียมเจือปนอยู่ได้แก่ กรณีของโรคอิไต-อิไตที่เกิดขึ้นในมณฑลโทยามา ประเทศญี่ปุ่น โดยเกิดจากการปล่อยน้ำเสียจากเหมืองตะกั่วและสังกะสีรวมทั้งโรงงานถลุงตะกั่วและสังกะสี ที่มีสารแคดเมียมเจือปนอยู่ลงในแม่น้ำจิซู ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดื่มและน้ำใช้ในการเกษตรกรรม ทำให้มีสารแคดเมียมสะสมอยู่ในน้ำและในข้าวที่ใช้น้ำจากแม่น้ำในการเพาะปลูกเมื่อประชาชนนำน้ำและข้าวนั้นมาบริโภคจึงได้รับสารแคดเมียมด้วย ผู้ป่วยด้วยโรคอิไต-อิไต จะมีอาหารปวดและเจ็บหน้าอก ไอ หายใจติดขัด กระดูกเปราะและมีรูปร่างผิดปกติ เนื่องจากแคดเมียมจะเข้าไปแทนที่แคลเซียมในกระดูก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดกระดูกตลอดเวลามีรายงานพบผู้ป่วยด้วยโรคอิไต-อิไต ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2497 – พ.ศ. 2511 แล้วกว่า 70 ราย และมีผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะเป็นโรคอิไต-อิไต แต่ยังไม่แสดงอาการเด่นชัดอีกประมาณ 150 ราย

การจัดการของเสียที่เป็นอันตราย
การปนเปื้อนของของเสียที่เป็นอันตรายในสิ่งแวดล้อม อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของมนุษย์ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเป็นภาวการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันและมี แนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต การจัดการของเสียที่เป็นอันตรายจึงควรจะได้มีการปฏิบัติอย่างเหมาะสมโดยเริ่มตั้งแต่เมื่อของเสียถูกผลิตออกมาจนกระทั่งของเสียดังกล่าวได้รับการกำจัดในขั้นสุดท้าย ขั้นตอนในการจัดการควรทำเป็นระบบครบวงจร  ตั้งแต่การลดปริมาณการผลิตของเสีย การเก็บกักของเสีย การเก็บขนและการขนส่ง การบำบัด-ทำลายฤทธิ์ การนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ และการกำจัดของเสียในขั้นสุดท้าย

health-0265 - Copy

ขั้นตอนการจัดการของเสียที่เป็นอันตราย

การลดปริมาณการผลิตของเสียที่เป็นอันตราย

การลดปริมาณการผลิตของเสียที่เป็นอันตราย นับเป็นการจัดการที่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา โดยการทำให้มีปริมาณของเสียที่เป็นอันตรายเกิดขึ้นน้อยลง ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี คือ
-โดยการเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตให้มีสารอันตรายน้อยที่สุด
-โดยการเปลี่ยนแปลงวัสดุ และขนาดของภาชนะหีบห่อ
-โดยการเปลี่ยนแปลงขบวนการผลิต ให้มีของเสียจากการผลิตน้อยที่สุด
-โดยการใช้สารที่ไม่เป็นอันตรายหรือมีอันตรายน้อยกว่า แต่ให้ผลไม่แตกต่างกันแทนการใช้สารที่เป็นอันตรายในการผลิต
-โดยการแยกของเสียกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่
ฯลฯ

การเก็บกักของเสียที่เป็นอันตราย
การเก็บกักของเสียที่เป็นอันตราย หมายถึง การเก็บรวบรวมของเสียที่เป็นอันตราย ณ จุดกำเนิดเพื่อรอการเก็บขนไปกำจัดทำลาย การเก็บกักของเสียที่เป็นอันตรายนิยมเก็บไว้ในถังซึ่งมีทั้งที่ทำด้วยโลหะ พลาสติกไฟเบอร์กลาส และแก้ว แต่ถ้ามีปริมาณมากๆ อาจเก็บไว้ในบ่อก็ได้ แต่ต้องทำคันดินล้อมรอบ และต้องบุพื้นบ่อและผนังโดยรอบบ่อด้วยวัสดุกันซึม และมีท่อสำหรับรวบรวมน้ำเสียที่อาจเกิดการรั่วไหลออกไปบำบัดด้วย

หลักการสำคัญในการเก็บกักของเสียที่เป็นอันตราย ได้แก่

-ห้ามนำของเสียที่เป็นอันตรายและของเสียที่ไม่เป็นอันตรายมาเก็บกักไว้ในภาชนะเดียวกัน

-ห้ามนำของเสียที่เป็นอันตรายที่อาจทำปฏิกิริยาเคมีรุนแรงต่อกันมาเก็บกักไว้ในภาชนะเดียวกัน เพราะอาจทำให้เกิดระเบิด ไฟไหม้ หรือทำให้เกิดควันพิษขึ้นได้ เช่น ของเสียที่เป็นกรดไม่ควรเก็บไว้ภาชนะเดียวกันกับของเสียที่เป็นด่างหรือของเสียที่เป็นสารติดไฟ เช่น โปตัสเซียม คลอรีน อัลกอฮอล์ เป็นต้น

-การเลือกชนิดของวัสดุที่ใช้ทำภาชนะเก็บกัก  จะต้องคำนึงถึงลักษณะสมบัติของของเสียที่จะบรรจุด้วย เช่น ของเสียที่เป็นกรดหรือด่างไม่ควรเก็บในถังที่ทำด้วยโลหะ เพราะจะเกิดการกัดกร่อนของถัง ควรเก็บไว้ในถังที่ทำด้วยไฟเบอร์กลาส แก้ว หรือพลาสติกชนิดที่ทนการกัดกร่อนได้แทน แต่ถ้าเป็นของเสียที่ไม่มีฤทธิ์กัดกร่อนอาจเก็บในถังโลหะได้ สำหรับของเสียที่เป็นสารกัมมันตรังสีควรเก็บในถังที่ทำด้วยตะกั่ว และหุ้มด้วยคอนกรีตอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันการรั่วไหลของรังสี

-ของเสียที่มีความเป็นพิษ ควรจะทำลายฤทธิ์หรือลดความเป็นพิษลงก่อน

– สถานที่เก็บกักของเสียที่เป็นอันตราย จะต้องอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยและเหมาะสม เช่นมีการระบายอากาศที่ดี ไม่อบอ้าว อยู่ห่างจากบ้านพักอาศัย หรือที่เก็บเชื้อเพลิง เป็นต้น

การเก็บขนและการขนส่งของเสียที่เป็นอันตราย

การเก็บขนและการขนส่งของเสียที่เป็นอันตราย หมายถึง การเก็บรวบรวมของเสียที่เป็นอันตรายที่เก็บกักไว้ ณ จุดกำเนิดเพื่อลำเลียง หรือเคลื่อนย้ายไปทำการบำบัดและกำจัดทำลาย การเก็บขนและขนส่งของเสียที่เป็นอันตรายสามารถทำได้ทั้งโดยการใช้รถยนต์ เรือ หรือ รถไฟ การบรรทุกของเสียไปกำจัด อาจทำได้ 2 วิธี คือโดยการสูบของเสียใส่ในตัวถังบรรทุกของพาหนะ ซึ่งปกปิดมิดชิดทุกด้าน และโดยการใส่ในถังที่มีฝาปิดมิดชิดและตั้งวางเรียงในตัวถังบรรทุกของพาหนะ

พาหนะที่ใช้เก็บขนของเสียที่เป็นอันตราย ควรจะมีลักษณะแตกต่างจากพาหนะทั่วไป เช่น ต้องแข็งแรงสามารถป้องกันการรั่วซึมไหลของของเสียในกรณีเกิดอุบัติเหตุมีสัญลักษณ์หรือคำเตือนให้รู้ว่าเป็นของเสียที่เป็นอันตราย และจะต้องมีระบบควบคุมไม่ให้ของเสียหกหล่นระหว่างการขนส่ง ในบางประเทศ่จะต้องมีใบกำกับการขนส่งของเสียที่เป็นอันตรายด้วย ซึ่งจะระบุชื่อผู้ผลิตของเสีย ผู้ที่ทำการเก็บขนและขนส่งสถานที่ที่จะนำไปกำจัด รวมทั้งระบุชนิด และปริมาณของของเสีย ลักษณะภาชนะบรรจุ ตลอดจนคำเตือนสำหรับของเสียที่ต้องได้รับการเก็บขนและขนส่งด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษใบกำกับการขนส่งนี้จะมีสำเนาอย่างน้อย 4 ฉบับ ให้ผู้ผลิตของเสีย ผู้ขนส่ง ผู้ดูแลสถานที่กำจัดและเจ้าหน้าที่ของรัฐเก็บไว้เป็นหลักฐานตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำของเสียไปทิ้งที่อื่น

การบำบัดของเสียที่เป็นอันตราย
การบำบัดของเสียที่เป็นอันตราย หมายถึง การเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพหรือทางเคมีของของเสียหรือสารพิษที่เจือปนอยู่ในของเสีย เช่น ทำให้มีปริมาตรลดลงหรือหมดความเป็นพิษ หรือมีความเป็นพิษน้อยลง หรืออยู่ในลักษณะที่ไม่สามารถแสดงความเป็นพิษออกมาได้เพื่อสะดวกต่อการกำจัดทำลายในขั้นต่อไป การบำบัดของเสียสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่

1. การทำให้เป็นก้อน  โดยการนำมาผสมกับซีเมนต์หรือคอนกรีตทำให้เป็นก้อน หรือนำมาเก็บในภาชนะและหุ้มด้วยซีเมนต์หรือคอนกรีตเพื่อป้องกันไม่ให้ของเสียถูกชะล้างหลุดออกมาได้ วิธีนี้ส่วนใหญ่ใช้กับของเสียที่มีลักษณะเป็นของแข็งหรือกึ่งของแข็ง เช่น กากตะกอนของของเสียที่มีสารโลหะหนักเจือปนอยู่ ตัวอย่างของเสียที่นิยมบำบัดด้วยวิธีนี้ ได้แก่

-ของเสียที่มีสารปรอทเจือปน เช่น ซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ ให้นำมาบดให้มีขนาดเล็ดลงแล้ว เติมสารละลายของโซเดียมซัลไฟด์ เพื่อให้ได้สารประกอบของปรอทที่คงตัว จากนั้นจึงนำไปผสมกับซีเมน หล่อให้เป็นก้อนนำเก็บรวมไว้หรือไปฝังดิน

-ของเสียที่มีสารแมงกานีสเจือปน เช่น ซากแบตเตอรี่ ซากถ่านไฟฉายให้นำมาบดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเติมสารละลายด่าง เช่น ปูนขาว ผสมให้เข้ากันจากนั้นนำไปผสมกับซีเมนต์ทำให้เป็นก้อน

2.  การทำให้แห้ง  โดยการนำมาผึ้ง กรอง ปั่น หรือ บีบเอาน้ำออก วิธีนี้เป็นการทำให้ปริมาตรของเสียลดลง นิยมใช้สำหรับการบำบัดของเสียที่มีลักษณะกึ่งของแข็งหรือกากตะกอน เช่น กากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสีย

3. การทำให้เป็นกลาง  ของเสียที่มีฤทธิ์เป็นกรดจะสามารถกัดกร่อนวัสดุต่างๆ ได้ จึงต้องทำให้มีฤทธิ์เป็นกลางโดยการเติมด่างลงไป ในทำนองเดียวกันของเสียที่มีฤทธิ์เป็นด่างจะเติมกรดลงไปเพื่อทำให้มีฤทธิ์เป็นกลาง

4. การใช้สารเคมีทำลายฤทธิ์  โดยการเติมสารเคมีเพื่อให้ทำปฏิกิริยาทางเคมีกับสารพิษเจือปนอยู่ในของเสียเพื่อทำให้สารพิษนั้นอยู่ในรูปของสารประกอบอื่นๆ ซึ่งไม่เป็นพิษ ตัวอย่างเช่นของเสียจำพวกยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช และยากำจัดเชื้อรา จะใช้สารละลายด่าง เช่นปูนขาว เพื่อทำลายฤทธิ์ของตัวยาแต่ละชนิด

5. การใช้สารเคมีทำให้ตกตะกอน  โดยการเติมสารเคมีเพื่อทำให้สารที่เจือปนอยู่ในของเสีย ซึ่งอยู่ในรูปของสารละลายแยกตัวและตกตะกอนออกมา สารเคมีที่นิยมใช้ในการตกตะกอน ได้แก่ ปูนขาว

6. การใช้ขบวนการชีววิทยา  เป็นการบำบัดของเสียเพื่อลดปริมาณของเสียที่สามารถกำจัดได้ด้วยจุลินทรีย์ เช่น สารอินทรีย์ต่างๆ โดยจุลินทรีย์จะทำการย่อยสลายและเปลี่ยนสารอินทรีย์ต่างๆ ไปเป็นก๊าซและได้เซลของจุลินทรีย์เพิ่มมากขึ้น หรือโดยการใช้เอ็นไซม์ที่จุลินทรีย์ผลิตขึ้นในการย่อยสลายสารต่างๆ

7. การใช้เตาเผา  เตาเผาที่ใช้เผาของเสียที่เป็นอันตรายจะต้องเป็นเตาเผาที่มีอุณหภูมิการเผาสูง และมีระบบควบคุมสารมลพิษที่เกิดจากการเผาด้วย เช่น ระบบดักฝุ่นและก๊าซ ระบบบำบัดน้ำเสีย วิธีนี้นิยมใช้บำบัดของเสียจำพวกกากน้ำมัน และของเสียอื่นๆ ที่มีสารอันตรายเจือปนอยู่ในปริมาณไม่สูงมากนัก ตลอดจนของเสียที่ผ่านการทำลายฤทธิ์มาบ้างแล้ว

การนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์
การนำของเสียมาใช้ประโยชน์ สามารถทำได้หลายลักษณะ อาทิ

-การคัดแยกนำกลับมาใช้ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีบางอย่าง เช่นการตกตะกอน การกลั่น การแยกด้วยไฟฟ้าในสารตัวทำละลาย การใช้สารเคมีทำปฏิกิริยา ของเสียที่นิยมคัดแยกนำกลับมาใช้ใหม่ได้แก่ กากน้ำมัน สารตัวทำละลายใช้แล้ว สารตัวเร่งปฏิกิริยา ที่ใช้แล้ว และของเสียที่มีโลหะหนักเจือปน เป็นต้น

-การนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในขบวนการผลิตอื่น

-การแปรสภาพของเสียไปใช้ประโยชน์ในรูปพลังงาน เช่น การนำของเสียไปเผาเพื่อนำความร้อนไปใช้ประโยชน์
ฯลฯ

การนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ นอกจากจะช่วยลดปริมาณของเสียที่ต้องนำมากำจัดแล้ว ยังเป็นการช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติที่จะต้องนำมาใช้ในขบวนการผลิต ตลอดจนประหยัดพลังงานที่ใช้ในการผลิตและการกำจัดอีกด้วย

การกำจัดของเสียที่เป็นอันตรายในขั้นสุดท้าย
การกำจัดของเสียที่เป็นอันตรายในขั้นสุดท้าย หมายถึงการทำให้ของ เสียนั้นหมดไปโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของระบบการจัดการของเสีย วิธีการกำจัดของเสียที่เป็นอันตรายที่นิยมใช้ ได้แก่

1. การนำไปฝังดิน ได้แก่ การนำของเสียไปฝังในบ่อดินที่ขุดเตรียมไว้ โดยบ่อดินนั้นจะต้องบุก้นบ่อและผนังโดยรอบด้วยวัสดุกันซึม เช่น ดินเหนียว หรือแผ่นพลาสติก เพื่อป้องกันไม่ให้ของเสีย หรือน้ำเสียจากของเสียไหลซึมออกไปปนเปื้อนภายนอก โดยที่ก้นบ่อจะมีท่อรับน้ำเสียเพื่อนำไปบำบัดด้วย และเมื่อฝังของเสียจนเต็มบ่อแล้ว จะต้องปิดบ่อด้วยแผ่นพลาสติก หรือดินเหนียวด้วย

2. การนำไปทิ้งทะเล  โดยการนำของเสียบรรจุใส่ภาชนะที่ปิดมิดชิด ป้องกันการรั่วไหลของของเสียได้ แล้วนำไปทิ้งในทะเลลึก ไม่น้อยกว่า 2000-4000 เมตร ให้ภาชนะที่บรรจุของเสียนั้นวางอยู่บนชั้นดินหรือชั้นทรายของทะเล หรือให้ภาชนะนั้นฝังลงในชั้นดินหรือชั้นทรายของทะเลที่มีความหนาไม่น้อยกว่า 10-30 เมตร

3. การปล่อยให้ซึมในชั้นดิน  โดยการอัดฉีดของเสียลงในบ่อที่มีระดับความลึกกว่าระดับน้ำใต้ดินและน้ำบาดาล เพื่อให้ของเสียนั้นซึมและกระจายอยู่ในชั้นดิน โดยไม่มีผลกระทบต่อน้ำใต้ดิน

สำหรับการกำจัดของเสียที่เป็นอันตราย โดยวิธีการนำไปทิ้งทะเลหรือการปล่อยให้ซึมในชั้นดิน ปัจจุบันยังไม่เป็นที่แน่ใจนักว่าจะไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงไม่เป็นที่นิยม

การควบคุมการขนส่งของเสียที่เป็นอันตรายข้ามแดน
ของเสียที่เป็นอันตรายที่ถูกผลิตขึ้นจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ส่วนใหญ่จะถูกกำจัดภายในประเทศของผู้ผลิตของเสียเอง แต่มีบางส่วนจะถูกขนส่งนำไปกำจัดนอกประเทศของผู้ผลิตของเสีย ซึ่งจะมีทั้งที่นำไปกำจัดโดยได้รับอนุญาตจากประเทศเจ้าของสถานที่ เพื่อทำการกำจัดอย่างถูกวิธี และนำเข้าไปกำจัดโดยไม่ได้ขออนุญาตประเทศเจ้าของสถานที่ สำหรับวิธีหลังนี้มักจะเป็นการนำของเสียไปทิ้งไว้ โดยไม่มีการกำจัดอย่างถูกวิธี และก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศที่รับของเสียนั้นๆ ตามมา

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลจากปัญหาดังกล่าว ในระยะตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 เป็นต้นมามีการส่งสินค้า ซึ่งเป็นเคมีภัณฑ์ที่เสื่อมคุณภาพแล้ว หรือเคมีภัณฑ์ที่มีลักษณะไม่ครงกับที่ระบุในฉลากกำกับภาชนะจึงเป็นการส่อว่าจะมีของเสียแฝงเร้นเข้มาในลักษณะการส่งเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ยังปรากฏว่าในบางครั้งไม่มีตัวตนของบริษัทนำเข้าหรือส่งออก ทำให้ไม่สามารถส่งสินค้ากลับคืนไปยังประเทศแหล่งที่มาได้  เนื่องจากเรายังไม่มีกฎหมายหรือมาตรการป้องกันการนำเข้า หรือนำผ่านของเสียที่เป็นอันตราย ทำให้เป็นภาระของประเทศไทยที่จะต้องหาวิธีการกำจัดของเสียเหล่านั้น

การขนส่งของเสียที่เป็นอันตรายข้ามแดนเพื่อนำไปทิ้งยังประเทศอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตนับเป็นปัญหาระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ  โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติจึงได้จัดทำอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียที่เป็นอันตรายข้ามแดน (Basel convention on the control of Transboundary Movemeents of Hazardous Wastes and Their Disposal) ขึ้นเพื่อกำหนดข้อตกลงระหว่างประเทศในการควบคุมการส่งออก นำเข้าและนำผ่านของเสียที่เป็นอันตรายข้ามแทน ให้ดำเนินการอย่างปลอดภัยและรัดกุม  อาทิจะต้องมีการระบุรายละเอียดของผู้ผลิต ผู้รับ และลักษณะของเสียที่ชัดเจน และห้ามนำเข้าหรือส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมทั้งมีบทลงโทษสำหรับประเทศผู้ฝ่าฝืนข้อบังคับของอนุสัญญาด้วย

ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญาบาเซลฯ แล้วตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2533 และขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในด้านกฎหมาย และองค์กรเพื่อการให้สัตยาบันกับอนุสัญญาดังกล่าว

กฎหมายและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสียที่เป็นอันตราย
ปัจจุบันกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสียที่เป็นอันตรายในประเทศไทยมีหลายฉบับ ได้แก่

1. พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2512  เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม โดยได้มีการออกประกาสกระทรวงอุตสาหกรรม และประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรมภายใต้กฎหมายดังกล่าวในการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม โดยทำการเก็บรวบรวมและกำจัดสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุไม่ใช้แล้ว ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารไวไฟ สารกัดกร่อน สารเกิดปฏิกิริยาได้ง่าย และสารมีพิษ เช่น สารหนู แคดเมียม โครเมียม ตะกั่ว และปรอท นอกจากนี้ยังระบุชื่อของสารตัวทำละลาย และประเภทของวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ที่จะต้องมีการเก็บทำลายฤทธิ์กำจัดฝัง ทิ้ง เคลื่อนย้ายตามวิธีที่กำหนดไว้

2. พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535  เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อควบคุม การนำเข้า ส่งออก การผลิต การจำหน่าย การครอบครอง การขนส่ง และการใช้สารอันตราย ซึ่งได้มีการแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ตามความจำเป็นแก่การควบคุมและให้มีศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตรายขึ้นในกระทรวงอุตสาหกรรม

3. พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535  ซึ่งเป็นกฎหมายหลักในการดูแลสภาวะแวดล้อมของประเทศ โดยให้มีการควบคุมภาวะมลพิษ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ

4. พระราชบัญญัติอื่นๆ  ส่วนใหญ่มีสาระของกฎหมายเน้นเรื่องบทลงโทษเพียงอย่างเดียว เช่น พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำ พ.ศ.2456 ซึ่งรับผิดชอบโดยกระทรวงคมนาคม ที่ห้ามมิให้มีการทิ้งของเสียลงในแม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ หรือเป็นพิษต่อชีวิต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท เป็นต้น

หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดการของเสียที่เป็นอันตรายในปัจจุบันมีหลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมดูแลของเสียที่เป็นอันตรายจากกิจกรรมแต่ละประเภททั้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ชุมชน และการเกษตรกรรม

ที่มา:นายอดิศักดิ์  ทองไข่มุกต์
กรมควบคุมมลพิษ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า