สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กุ้งยิง(Sty/Stye/Hordeolum)

เป็นตุ่มฝีเล็กๆ ที่อาจพบได้บริเวณเปลือกตาบนและล่าง แบ่งออกได้ 2 ชนิดคือ กุ้งยิงชนิดหัวผุด และกุ้งยิ่งชนิดหลบในตากุ้งยิง

1. กุ้งยิงชนิดหัวผุด จะเป็นหัวฝีผุดให้เห็นชัดเจนตรงบริเวณขอบตาเกิดจากการอักเสบของต่อมเหงื่อบริเวณผิวหนังตรงโคนขนตา

2. กุ้งยิงชนิดหลบใน จะเป็นหัวฝีหลบซ่อนอยู่ด้านในของเปลือกตาเกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันบริเวณเยื่อบุเปลือกตา

บางครั้งอาจมีการอุดตันของรูเปิดเล็กๆ ของต่อมไขมันบริเวณเยื่อบุเปลือกตา กลายเป็นตุ่มนูนแข็งจากการที่เนื้อเยื่อรวมตัวอยู่ภายในต่อมนั้น แต่ไม่มีอาการเจ็บปวดอะไร เรียกว่า ตาเป็นซิสต์ อาจทำให้เกิดการอักเสบคล้ายเป็นกุ้งยิงชนิดหัวหลบในได้ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียเข้าไป ตุ่มซิสต์นี้จะยังคงอยู่เช่นเดิมแม้จะหายจากอาการอักเสบแล้วก็ตาม

สาเหตุ
เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ คือ เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส หรือเกิดจากต่อมเหงื่อหรือต่อมไขมันที่โคนขนตามีการอุดตันจนกลายเป็นตุ่มฝีขึ้นมา ทำให้ต่อมที่เปลือกตาอุดตันและอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการที่มีฝุ่นหรือเชื้อโรคเข้าตาแล้วใช้มือที่ไม่สะอาดขยี้

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย แต่จะพบมากในเด็กอายุ 4-10 ปี

ปัจจัยที่เสริมให้เป็นกุ้งยิงได้ง่าย เช่น
-ไม่รักษาความสะอาดของร่างกายและเครื่องนุ่งห่ม
-มีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา เช่น สายตาสั้น ยาว เอียง เข เป็นต้น
-สุขภาพไม่ดี เช่น เป็นโรคเรื้อรัง ขาดอาหาร ฟันผุ ไซนัสอักเสบ อดนอน เป็นต้น
-มีภาวะที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เช่น เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง เบาหวาน กินยาสตีรอยด์นานๆ เป็นต้น

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตุบๆ ที่เปลือกตาจุดใดจุดหนึ่ง จะปวดมากขึ้นเมื่อก้มศีรษะต่ำกว่าระดับเอว มีตุ่มแข็งแตะถูกจะเจ็บ และจะนุ่มลงในระยะต่อมา บางครั้งจะเป็นตุ่มหนองนูนเป่งเป็นหัวขาวๆ เหลืองๆ ตุ่มเดียว ภาวะนี้จะเกิดที่เปลือกตาบนหรือล่างก็ได้ ที่เกิดพร้อมกัน 2-3 ตุ่มพบได้น้อยราย หรืออาจมีอาการเปลือกตาบวม หรือมีขี้ตาไหลได้ในบางครั้ง

อาจทำให้หนังตาบวมแดงจนตาปิดได้ถ้ากุ้งยิงขึ้นที่บริเวณหางตาและมีความรุนแรง และตุ่มฝีมักจะแตกเองถ้าปล่อยทิ้งไว้ 4-5 วัน ถ้าระบายหนองได้หมดก็จะยุบหายไปภายใน 1 สัปดาห์

อาจจะมีอาการกำเริบเป็นๆ หายๆ อาจเป็นตรงจุดเดิมหรือย้ายที่หรือสลับข้างไปมาได้ ในผู้ป่วยที่เคยเป็นกุ้งยิงมาครั้งหนึ่งแล้ว

สิ่งตรวจพบ
ตรงบริเวณขอบตาจะพบตุ่มฝีขนาดเล็ก มีลักษณะสีขาวๆ เหลืองๆ ตรงกลาง รอบๆ จะนูนแดงและกดเจ็บ

จะพบตุ่มนูนอยู่ใต้เปลือกตา กดถูกเจ็บ ในรายที่เป็นกุ้งยิงชนิดหัวหลบใน จะเห็นหัวฝีซ่อนอยู่ภายในเมื่อปลิ้นเปลือกตาออก หรือที่บริเวณหน้าหูอาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตและเจ็บ

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้มีหนังตาอักเสบร่วมด้วยถ้าเป็นมาก โรคนี้อาจจะทำให้เป็นแผลเป็นโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ โดยทั่วไปมักจะแตกและยุบหายไปได้เอง

การรักษา
1. เมื่อเป็นตุ่มฝีในระยะแรกๆ เป็นตุ่มแข็งยังไม่มีหนอง ควรให้การรักษาดังนี้

-ใช้ผ้าสะอาดห่อหุ้มปลายด้ามช้อน แล้วชุบน้ำอุ่นจัดๆ กดประคบตรงบริเวณหัวฝี แล้วนวดเบาๆ วันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที และให้ใช้ยาป้ายตาหรือหยอดตาที่เข้ายาปฏิชีวนะหลังจากประคบทุกครั้ง

-ให้ยาแก้ปวดถ้ามีอาการปวดเกิดขึ้น

-ให้กินยา ไดคล็อกซาซิลลิน หรือ อีริโทรไมซิน เป็นเวลา 5-7 วัน ถ้ามีอาการหนังตาบวมแดง หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่หน้าหูโตร่วมด้วย

2. ควรให้กินยาปฏิชีวนะดังกล่าวหลังจากสะกิดตุ่มฝีที่เป็นหนองหรือผ่าระบายหนองออกแล้ว

3. ควรแนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดถ้ามีอาการเป็นๆ หายๆ บ่อย ซึ่งชวนให้สงสัยว่าอาจมีภาวะซ่อนเร้นอื่นๆ เช่น เบาหวาน สายตาผิดปกติ เป็นต้น

ข้อแนะนำ
1. เมื่อเริ่มเป็นตุ่มกุ้งยิงใหม่ๆ ควรประคบด้วยน้ำอุ่นจัดๆ และหยอดหรือป้ายด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าตุ่มเกิดการกลัดหนองแล้วอาจต้องสะกิดหรือผ่าระบายหนองออก

2. อาจเกิดจากตาเป็นซิสต์ในกรณีที่ตุ่มฝีแตกหรือหายอักเสบแล้ว แต่ยังคงมีตุ่มแข็งโดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด มักพบที่เปลือกตาบนซึ่งจะสังเกตเห็นว่าเวลาหลับบริเวณนั้นจะนูนกว่าปกติ และจะเคลื่อนไปมาได้เล็กน้อยเมื่อคลำดู โรคนี้อาจเป็นอยู่นาน 2-3 เดือนแล้วยุบหายไปเองโดยไม่มีอันตราย แต่อาจต้องผ่าหรือขูดออกถ้ายังไม่หาย

การป้องกัน
1.ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำ

2. รักษาความสะอาดของร่างกายและเครื่องนุ่งห่มอยู่เสมอ

3. ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดนฝุ่น ลม แสงแดดจ้าๆ และควันบุหรี่

4. ไม่ควรขยี้ตา หรือหลีกเลี่ยงใช้มือ หรือผ้าเช็ดหน้าที่ไม่สะอาด

5. แก้ไขความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา

6. ควบคุมโรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ไซนัสอักเสบ ฟันผุ เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า