สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กินสารพิษหรือยาพิษ(Ingestion of poisons)

การกินสารพิษหรือยาพิษเข้าสู่ร่างกายที่พบได้บ่อย เช่น

1. ยา ยาบางชนิดถ้ากินเข้าไปจำนวนมากอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เช่น ยาแก้ปวด ยาที่ใช้ภายนอก ยานอนหลับ ยาถ่าย ยารักษาโรคหัวใจ เป็นต้นยาพิษ

2. วัตถุเคมีที่ใช้ในบ้าน เช่น น้ำยาขัดพื้น ผงซักฟอก ทินเนอร์ แลกเกอร์ ดีดีที น้ำมันก๊าด เป็นต้น

3. สารเคมีที่ใช้ในทางเกษตรกรรม เช่น ยาปราบวัชพืช หรือยาฆ่าแมลง เป็นต้น

4. ยาพิษที่ใช้เบื่อสัตว์ เช่น ยาเบื่อหนูหรือสุนัข

5. สัตว์หรือพืชพิษ

สารพิษเหล่านี้อาจส่งผลต่อระบบประสาทและสมอง ระบบเลือด ทางเดินหายใจ ตับ ทางเดินอาหาร หรืออื่นๆ ได้ บางชนิดก็อาจทำให้ผิวหนังและเยื่อบุของทางเดินอาหารเกิดการระคายเคือง เช่น สารที่เป็นกรดหรือด่างอย่างรุนแรง

สาเหตุ
เด็กบางคนอาจกินสารพิษ เช่น น้ำมันก๊าด ยาเม็ดที่มีสีสันสวยงาม หรือกินยาน้ำที่รสหวาน ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่สำหรับในผู้ใหญ่อาจจะเป็นเพราะจงใจจะฆ่าตัวตาย หรือความเผอเรอ หรืออาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้

อาการ
อาการและความรุนแรงของโรคมักขึ้นอยู่กับชนิด ปริมาณ และระยะเวลาที่กินสารพิษนั้นเข้าไป ซึ่งจะได้กล่าวเพียงชนิดที่พบได้บ่อยเท่านั้น เช่น

ยานอนหลับกลุ่มบาร์บิทูเรต มักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการซึม ไม่ค่อยรู้ตัว หายใจตื้นและช้า เหงื่อออก ตัวเย็น ตัวเขียว รูม่านตาโตและไม่หดเมื่อถูกแสดง หมดสติ และตายในที่สุด ถ้ากินเข้าไปเกินขนาดมากๆ

แอสไพริน มักทำให้ผู้ป่วยมีภาวะเลือดเป็นกรด หายใจหอบลึก หน้าแดง ไข้สูง ปวดท้อง อาเจียน มีภาวะขาดน้ำ มีเลือดออกตามที่ต่างๆ ชัก หมดสติ อาจถึงตายได้ถ้ากินเข้าไปเกินขนาดมากๆ

พาราเซตามอล มักจะทำให้ตับถูกทำลายภายใน 24-48 ชั่วโมง และเกิดภาวะตับแข็งหรือตับวายเฉียบพลันได้ถ้ากินในขนาดมากกว่า 140 มก./กก.

ไอโอดีน เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีนที่ใช้ใส่แผล ถ้ากินเข้าไปอาจทำให้ปากคอและหลอดอาหารไหม้และเจ็บ อาเจียนออกมาเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำเงิน กระหายน้ำ ท้องเดินหรืออาจถ่ายเป็นเลือด มีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน เป็นลม และชักได้

ด่างทับทิม มักจะกัดเนื้อเยื่อในปาก ทำให้กล่องเสียงบวม ชีพจรเต้นช้า และช็อกได้ถ้ากินเกล็ดหรือน้ำด่างทับทิมเข้มข้นเข้าไป

เมนทอลหรือยูคาลิปตัส อาจทำให้ผู้ป่วยอาเจียน ท้องเดิน หายใจตื้น ปัสสาวะเป็นเลือด ชัก และหมดสติได้ถ้ากินเข้าไปมากๆ

กรดบอริก ถ้ากินเข้าไปเกินขนาดอาจทำให้ไข้ขึ้น อาเจียน ท้องเดิน ถ่ายเป็นมูกเลือด หน้าแดง ซึม ชัก ตัวเหลือง ตัวเขียว ไตถูกทำลาย ความดันโลหิตต่ำ หมดสติ อาจถึงตายได้

ผงซักฟอก เมื่อกินเข้าไปก็อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรืออาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินอาหารได้ถ้ามีส่วนผสมของด่างอยู่ด้วย

น้ำมันก๊าด เบนซิน ทินเนอร์ ถ้ากินเข้าไปอาจทำให้อาเจียน ปอดบวมน้ำ วิงเวียน ชีพจรเบาและเต้นไม่สม่ำเสมอ ชัก หรืออาจทำให้ปอดอักเสบได้ถ้าสำลักเข้าไปในปอด และอาจทำให้เกิดอาการเป็นพิษเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ ซึม ตามัว มือเย็นและชา อ่อนเพลีย ความจำเสื่อม ใจสั่น ความคิดสับสน ซีด เจ็บในปาก

สารพวกฟีนอล เป็นกรดที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร กระหายน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะออกน้อย กล้ามเนื้อชักเกร็ง ช็อก และการหายใจอาจล้มเหลวได้ สารพวกนี้ เช่น กรดคาร์บอลิก เครซอล มีชื่อการค้า คือ เฮกซาคลอโรฟีน เป็นต้น

ฟอสฟอรัส เมื่อกินสารนี้เข้าไปมักจะทำให้เจ็บในปากและลำคอ อาเจียน ท้องเดิน ปวดศีรษะ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ อ่อนเปลี้ย เพลียแรง ดีซ่าน ปัสสาวะออกน้อย มีจุดแดงตามผิวหนัง และช็อก พบสารพวกนี้ได้ในหัวไม้ขีดไฟ

ดีดีที เมื่อกินสารนี้เข้าไปผู้ป่วยมักจะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดตามแขนขา กระสับกระส่าย กล้ามเนื้อกระตุก ชัก และหมดสติ

ยาฆ่าแมลงประเภทออร์แกโนฟอสเฟต เช่น พาราไทออน มาลาไทออน คาร์บาเมต เป็นต้น ภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังจากกินเข้าไปมักทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เหงื่อออก น้ำลายฟูมปาก น้ำตาไหล อาเจียน ท้องเดิน กล้ามเนื้อเต้นกระตุก ชัก หอบ ตาลาย รูม่านตาหดเล็ก และอาจตายในเวลาอันรวดเร็ว

พาราควอต มักจะอยู่ในยาปราบวัชพืช เมื่อกินเข้าไปภายในไม่กี่ชั่วโมงถึงหลายวันมักจะทำให้เกิดอาการชัก ปอดบวมน้ำ ตับวาย ไตวาย หัวใจวาย และเมื่อเกิดเยื่อพังผืดในปอดในที่สุดก็จะทำให้ระบบหายใจล้มเหลว หรืออาจกัดเยื่อบุหลอดอาหารถ้าได้รับเข้าไปในขนาดเข้มข้น ทำให้เกิดการไหม้พองและเป็นแผลของริมฝีปากและลำคอ และอาจเป็นแผลทะลุในหลอดอาหารได้ ภายใน 1-4 วัน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตจากภาวะช็อกจากหัวใจ และอวัยวะหลายระบบล้มเหลว

สตริกนิน มักทำให้เกิดอาการชัก หลังแอ่น หายใจลำบาก น้ำลายฟูมปาก และขาดออกซิเจน มักพบได้ในรูปแบบของยาเบื่อสุนัข

ไซยาไนด์ มักทำให้ผู้ป่วยตัวเขียว หายใจลำบาก ความดันเลือดตก และตายในเวลาอันรวดเร็ว มักพบอยู่ในรูปแบบของยาเบื่อหนู

สารปรอท เมื่อกินเข้าไปเกินขนาดมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการน้ำลายฟูมปาก กระหายน้ำ ในปากและลำคอจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อน เยื่อบุในช่องปากบวมและเปลี่ยนสี ปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน ถ่ายเป็นเลือด ปัสสาวะไม่ออก และช็อก ในรายที่เป็นพิษเรื้อรังจะมีอาการอ่อนเพลีย เดินเซ มือสั่น ซึมเศร้า และเป็นตะคริว

สารหนู มักทำให้มีอาการปวดท้อง กลืนลำบาก อาเจียนติดๆ กัน ท้องเดิน เป็นตะคริว ภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากกินเข้าไป หรือบางรายอาจนานกว่านั้น และจะรู้สึกกระหายน้ำ และช็อกในเวลาต่อมา

เมทิลแอลกอฮอล์ เป็นคนละชนิดกับที่ใช้ทำเหล้าหรือเบียร์แต่เป็นชนิดที่ใช้จุดไฟ เมื่อกินเข้าไปอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง จุกแน่น คลื่นไส้ อาเจียน และตาบอดเนื่องจากประสาทตาถูกทำลาย หรืออาจมีอาการตัวเขียว ชัก และหมดสติได้

กรดหรือด่างอย่างแรง มักทำให้เกิดการไหม้และอักเสบของผิวหนังและเยื่อบุของทางเดินอาหาร เจ็บในปากและลำคอ กระหายน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน อาเจียนเป็นเลือด กลืนลำบาก หายใจลำบาก และช็อกได้

บางรายอาจกลายเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบ หรือหลอดอาหารเกิดการตีบตันจากการอักเสบได้ถ้ามีการแตกทะลุของหลอดอาหารและกระเพาะ

การปฐมพยาบาล
สำหรับผู้ป่วยที่กินสารพิษ สัตว์พิษ หรือพืชพิษ

1. รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียน เพื่อขับพิษออก
-ถ้ามียากระตุ้นอาเจียน เช่น ไอพีแคกน้ำเชื่อม ให้กินครั้งละ 15-30 มล. เด็กโตให้ 15 มล. และให้ดื่มน้ำตามไป 1 แก้ว ถ้ายังไม่อาเจียนภายใน 20 นาที ก็ให้กินซ้ำอีกครั้ง

-ถ้าไม่มียา ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ 1 แก้ว แล้วใช้นิ้วล้วงเข้าไปเขี่ยที่ผนังลำคอเพื่อกระตุ้นให้อาเจียน ถ้ายังไม่ได้ผลให้ทำซ้ำอีกครั้ง ควรเก็บเศษอาหารที่อาเจียนไว้ส่งตรวจวิเคราะห์ วิธีนี้จะได้ผลดี แต่ต้องรีบทำภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากกินสารพิษเข้าไป และไม่ต้องทำหากผู้ป่วยมีอาการอาเจียนเองอยู่แล้ว

ห้ามทำด้วยวิธีนี้ในผู้ป่วยที่ชัก ไม่ค่อยรู้ตัวหรือหมดสติ หรือกินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด ทินเนอร์ หรือสารพิษไม่ทราบชนิด

2. ถ้ามีผงถ่านกัมมันต์ ให้กินในขนาด 1 กรัม/กก. โดยผสมน้ำ ½ -1 แก้ว เพื่อลดการดูดซึมสารพิษเข้าสู่ร่างกาย แต่ถ้าผู้ป่วยกินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด หรือทินเนอร์ ก็ไม่ต้องทำ

ถ้าไม่มีผงถ่านกัมมันต์ ให้กินไข่ดิบ 5-10 ฟอง หรือดื่มนมหรือน้ำ 4-5 แก้ว

3. สำหรับผู้ป่วยที่กินพาราควอต ให้กินสารละลายดินเหนียว โดยผสมผงดินเหนียว 150 กรัม หรือ 2 ½ กระป๋อง ในน้ำ 1 ลิตร ถ้าไม่มีให้ดื่มน้ำโคลนดินเหนียวจากท้องร่องในสวนที่ไม่มีตะปูหรือเศษแก้ว หรือสารพิษตกค้าง ซึ่งจะลดพิษของยานี้ได้

4. สำหรับผู้ที่กินปลาปักเป้า แมงดาถ้วย ปลาทะเลพิษ หอยทะเลพิษ เห็ดพิษ ให้ดื่มโซเดียมไบคาร์บอเนตขนาด 2-5% จำนวน 50 มล. อาจเตรียมโดยผสมผงฟู 1-2.5 กรัม ในน้ำ 50 มล. ซึ่งจะช่วยลดพิษของอาหารพิษได้

ห้ามทำแบบข้อ 2-4 ถ้าผู้ป่วยชัก ไม่ค่อยรู้ตัวหรือหมดสติ

5. ถ้าผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

6. ถ้าผู้ป่วยชักหรือหมดสติ ให้ทำการปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยชัก

7. รีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ควรนำสารพิษที่ผู้ป่วยกิน หรืออาเจียนออกมาไปให้แพทย์ตรวจวิเคราะห์ด้วย

การรักษา
1. รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียนและให้กินผงถ่านกัมมันต์เพื่อลดการดูดซึมสารพิษเข้าสู่ร่างกาย

2. ใช้น้ำเกลือนอร์มัลหรือน้ำล้างกระเพาะอาหาร แต่ในรายที่หมดสติ ชัก หรือกินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด เบนซิน หรือทินเนอร์ ห้ามทำด้วยวิธีนี้

3. ให้การรักษาตามอาการ เช่น
-ให้น้ำเกลือถ้ามีภาวะขาดน้ำ ช็อกหรือหมดสติ

-ให้ออกซิเจนและอาจต้องเจาะคอช่วยหายใจถ้าหายใจลำบากหรือตัวเขียว แต่ไม่ควรให้ออกซิเจนในรายที่กินพาราควอต เพราะจะไปเสริมให้เกิดภาวะเป็นพิษขึ้น นอกเสียจากจะมีภาวะขาดออกซิเจนรุนแรงเท่านั้น

-ให้ฉีดฟูโรซีไมด์ เข้าหลอดเลือดดำ 1-2 หลอดถ้ามีภาวะปอดบวมน้ำ

-ให้ฉีดไดอะซีแพม เข้าหลอดเลือดดำ 5-10 มก. ถ้ามีอาการชัก

-ให้ฉีดโซเดียมไบคาร์บอเนตถ้ามีภาวะเลือดเป็นกรด

-อาจต้องทำการฟอกล้างของเสียหรือล้างไตถ้ามีภาวะไตวาย

-ให้ยาปฏิชีวนะถ้ามีการติดเชื้อ เช่น ปอดอักเสบ

4. ให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ คือ
-ถ้าเกิดจากยาฆ่าแมลงประเภทออร์แกโนฟอสเฟต ควรฉีดอะโทรพีน ขนาด 0.05 มก./กก.เขากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำทุก 5-10 นาที จนกระทั่งรูม่านตาขยายและมีอาการคอแห้ง และให้ยาต้านพิษ เช่น พราลิดอกไซม์ มีชื่อการค้าว่า 2-PAM. Protopam ขนาด 25 มก./กก. ผสมน้ำเกลือ 100 มล. ฉีดเข้าหลอดเลือดดำช้าๆ และให้ฉีดซ้ำอีกใน 30 นาทีต่อมาถ้าอาการหายใจยังไม่ดีขึ้น

-ถ้าเกิดจากสารหนู ให้ยาต้านพิษ เช่น ไดเมอร์แคปรอบ มีชื่อทางการค้า คือ บีเอแอล โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อในขนาด 3-4 มก./กก. ทุก 4 ชั่วโมงใน 2 วันแรก และให้ทุก 12 ชั่วโมงติดต่อกันอีก 8 วัน

-ถ้าเกิดจากดีดีที ควรให้กินยาระบาย เช่น โซเดียมซัลเฟต ขนาด 30 กรัมในน้ำ 200 มล. และให้กินฟีโนบาร์บิทาลเพื่อระงับประสาท นอกเหนือจากการสวนล้างกระเพาะด้วยน้ำอุ่นแล้ว

-ถ้าเกิดจากการกินพาราเซตามอลเกินขนาด ควรให้กินหรือฉีดด้วย อะเซทิลซิสเตอีน เข้าหลอดเลือดดำ

ข้อแนะนำ
1. ผลการรักษามักขึ้นอยู่กับชนิด และปริมาณของสารพิษ สภาพของผู้ป่วย และความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยจะสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ถ้าได้รับการปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

2. ภายใน 36 ชั่วโมงผู้ที่ได้รับสารพิษมักมีอาการแสดงให้เห็น แต่ถ้าเลย 36 ชั่วโมงไปแล้วยังไม่เกิดอาการใดๆ ก็ถือว่าผู้ป่วยปลอดภัยแล้ว

การป้องกัน
1. ควรเก็บสารเคมีหรือยาให้มิดชิดหรือให้สูงพ้นจากมือเด็กเพื่อป้องกันการหยิบยาหรือสารพิษมากิน

2. ควรป้องกันการหยิบยาผิด หรือกินถูกสารพิษด้วยความเผอเรอ โดย
-เก็บยายาไว้ในที่มิดชิด หรือไว้ในตู้ยาที่เด็กหยิบเองไม่ได้
-เขียนฉลากยาให้ชัดเจน
-สารเคมีที่มีพิษควรเก็บไว้ในที่เฉพาะและปิดให้มิดชิด ไม่ควรวางปะปนกับอาหารที่กินหรือวางในตู้กับข้าว

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า