สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การแยกผู้ป่วย (Isolation)

การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล วิธีหนึ่งกระทำได้โดยการแยกผู้ป่วยที่เป็นแหล่งของเชื้อโรคออกจากผู้ป่วยอื่น เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้ป่วยที่อยู่ใกล้ชิด (Infectious Isolation) และโดยการแยกผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันโรคตํ่า หรือติดเชื้อได้ง่ายให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปราศจากเชื้อโรคหรือมีเชื้อโรคน้อย (Protective Isolation) แม้ชื่อและวิธีการแยกผู้ป่วยนั้นแตกต่างกันในแต่ละโรงพยาบาล และประเทศ และมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมอยู่เสมอ แต่หลักการทางวิชาการคล้ายคลึงกัน คณะกรรมการควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล หรือผู้บริหารจะเป็นผู้ที่กำหนดนโยบายและวิธีการที่เหมาะสมสำหรับโรงพยาบาลนั้น

สิ่งที่จำเป็นสำหรับการแยกผู้ป่วย และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคคือ

1. ห้องสำหรับแยกผู้ป่วย เป็นห้องที่มิดชิด ถ้าเป็นห้องปรับอากาศได้ยิ่งดี นอกจากนี้ ถ้าสามารถปรับความดันในห้องได้ก็จะมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เช่นห้องที่ใช้แยกผู้ป่วยที่มีเชื้อโรค ติดต่อผู้อื่นได้ ในห้องควรมีความดันตํ่า เวลาเปิดประตูจะดูดอากาศข้างนอกเข้าไปและอากาศ ข้างในไม่ออกมาข้างนอก ส่วนห้องที่ใช้แยกผู้ป่วยติดโรคง่าย ควรจะมีความดันในห้องสูง เวลาเปิดประตู อากาศในห้องจะออกและอากาศนอกห้องไม่สามารถพัดเข้าในห้องได้เป็นต้น นอกจากนี้ในห้องควรจะมีอ่างล้างมือสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และญาติ, เสื้อคลุม, ภาชนะใส่เสื้อคลุม, หมวก ฯลฯ ที่ใช้แล้ว อย่างพร้อมมูลด้วย รายละเอียดจะไม่ขอกล่าวในที่นี้

2. เสื้อคลุมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ญาติ เป็นเสื้อคลุมแขนยาว ถ้าเป็นไปได้ควรได้รับการซัก รีดทำความสะอาดแล้ว และเมื่อใส่แต่ละครั้งแล้วก็ส่งทำความสะอาดก่อนนำมาใช้อีก ส่วนเสื้อกระดาษที่ใช้แล้วทิ้งมีราคาแพงไม่เหมาะสำหรับประเทศไทย

3. หมวกคลุมศีรษะ แบบเดียวกับที่ใช้ในห้องผ่าตัด

4. ผ้าปิดปาก-จมูก อาจจะเป็นผ้าเมื่อใช้แล้วนำไปทำความสะอาดก่อนนำมาใช้อีก หรือแบบใช้แล้วทิ้งเลย เป็นต้น

5. ถุงมือ สำหรับประเทศไทยควรใช้แบบที่นำไปทำความสะอาดใหม่ได้ เพื่อเป็นการประหยัด

6. รองเท้า ที่ใช้สำหรับห้องนั้นๆ โดยเฉพาะ

7. กรรมวิธีทำลายเชื้อ สิ่งปฏิกูล, สิ่งขับถ่าย, หนอง ฯลฯ ที่เหมาะสม

การป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค (Precaution against spread of pathogenic organism)
วิธีการป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลที่สำคัญประการหนึ่งคือ การป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่อาจจะถูกนำหรือพาจากผู้ป่วย หรือแหล่งเชื้ออื่นๆ ไปสู่ผู้ป่วยอีกรายหนึ่ง การป้องกันนี้รวมถึงการปฏิบัติตนของบุคลากรทางการแพทย์, วิธีการเก็บและการทำลายสิ่ง ที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ เพื่อให้ง่ายในทางปฏิบัติจึงแบ่งวิธีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคเป็น 4 อย่าง ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ก. การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคที่อยู่ในนํ้ามูก, นํ้าลาย (Oral secretion precaution) มีวิธีการดังนี้
1. เวลาผู้ป่วยไอหรือจาม ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษเช็ดหน้าปิดปากปิดจมูกก่อนเสร็จแล้วทิ้งผ้าหรือกระดาษนั้นลงในถุงพลาสติคเพื่อทำลายเชื้อต่อไป
2. ถ้ามีผู้ที่ติดโรคได้เข้าใกล้ผู้ป่วย หรือจะขนย้ายผู้ป่วยออกนอกห้องแยก ควรให้ผู้ป่วยผูกผ้าปิดปาก-จมูก ตลอดระยะเวลานั้น

ข. การป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคธรรมดาในนํ้าหนอง (Standard exudate precaution) ขณะที่ทำแผล
1. ล้างมือก่อนทำแผล
2. ใช้เครื่องมือปลอดเชื้อ
3. เวลาทำแผลใช้เครื่องมือหยิบจับ อย่าใช้มือจับโดยตรง
4. ผ้าปิดแผลที่เปื้อนให้ทิ้งลงในถุงพลาสติคสองชั้น
5. เสร็จแล้วล้างมืออีกครั้ง

ค. การป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคอันตรายหรือดื้อยาในน้ำหนอง (Special exudate precaution) ขณะที่ทำแผล
1. ล้างมือก่อน
2. สวมเสื้อคลุม และผูก mask
3. ใช้เครื่องมือที่ปลอดเชื้อ
4. สวมถุงมือชุดแรกเวลาเอาผ้าพันแผลที่สกปรกออก, ทำความสะอาดแผล และสวมถุงมือชุดที่สองเพื่อปิดแผลด้วยผ้าพันแผลที่สะอาด
5. ใช้เครื่องมือหยิบจับขณะทำแผล อย่าใช้มือจับโดยตรง
6. ทิ้งผ้าปิดแผลที่สกปรกในถุงพลาสติคสองชั้น
7. เสร็จแล้วถอดถุงมือ ล้างมือให้สะอาด
8. ถ้าจะขนย้ายผู้ป่วยออกนอกห้อง ปิดแผลให้มิดชิด และใช้ผ้าปลอดเชื้อคลุมทับอีกชั้น

ง. การป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคในอุจจาระ, ปัสสาวะ (Excretion precaution)
1. ล้างมือทุกครั้งหลังจากถูกต้องผู้ป่วย
2. สวมถุงมือก่อนหยิบจับกระบอกปัสสาวะ, กระโถน
3. อาหารที่ผู้ป่วยรับประทานไม่หมดให้ห่อให้มิดชิด แลวทิ้งลงถุงพลาสติคที่มิดชิด
4. จาน ชาม ช้อน และของใช้อื่นๆ อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ ผู้ที่ล้างสิ่งเหล่านี้ ต้องสวมถุงมือก่อน และล้างมือให้สะอาดอีกครั้งหลังจากถอดถุงมือแล้ว

การแยกผู้ป่วย (Isolation of patient)
ก. Infectious isolation เป็นการแยกผู้ป่วยที่เป็นแหล่งของเชื้อโรคที่อาจจะติดผู้ป่วยรายอื่นมี 3 ประเภทคือ
I. Standard isolation ใช้แยกโรคทั่วๆ ไป
1. น่าจะมีห้องแยก
2. ผู้ที่จะถูกต้องผู้ป่วยควรสวมเสื้อคลุมและถุงมือก่อน

II. Respiratory isolation ใช้แยกผู้ป่วยที่มีแหล่งเชื้ออยู่ในระบบทางเดินหายใจ
1. ใช้ห้องแยก
2. ผู้ที่จะเข้าไปในห้องผู้ป่วยต้องสวมผ้าปิดปาก-จมูก
3. ผู้ป่วยควรสวมผ้าปิดปาก-จมูก
4. Oral secretion precaution
5. เวลาขนย้ายผู้ป่วย ให้แจ้งไปยังแผนกที่ผู้ป่วยจะย้ายไปทราบล่วงหน้า ว่าผู้ป่วยมีปัญหาการแพร่เชื้อทางระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยควรจะสวมผ้าปิดปาก-จมูก

III. Strict isolation ใช้แยกโรคที่ติดต่อง่ายหรืออันตรายสูง
1. ใช้ห้องแยก
2. ผู้ที่จะเข้าห้องแยกต้องสวมเสื้อคลุม, ผ้าปิดปาก-จมูก และถุงมือ
3. special exudate precaution
4. excretion precaution
5. การขนย้ายผู้ป่วย
-ควรหลีกเลี่ยงนอกจากจำเป็นจริงๆ
-บอกให้แผนกที่ผู้ป่วยจะไปทราบล่วงหน้า
-ผู้ป่วยผูกผ้าปิดปาก-จมูก, สวมเสื้อคลุมแขนยาว และคลุมทับด้วย
ผ้าที่สะอาดอีกชั้น
-คนเข็นรถหรือเปล ต้องสวมถุงมือ, ผ้าปิดปาก-จมูก และเสื้อคลุม

ข. Protective isolation เป็นการแยกผู้ป่วยที่ติดโรคได้ง่ายจากสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อโรค
1. ใช้ห้องแยก
2. ผู้ที่จะเข้าห้องผู้ป่วยต้องสวมเสื้อคลุมปลอดเชื้อ และผูกผ้าปิดปาก-จมูก
3. ถ้าจะจับต้องผู้ป่วย ต้องสวมถุงมือก่อน
4. ถ้าไม่จำเป็นอย่าขนย้ายผู้ป่วย เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อมนอกห้อง

การดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อ แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อจะเป็นผู้กำหนดวิธีการแยกผู้ป่วย ถ้าเห็นว่าจำเป็น โดยเขียนขั้นตอนต่างๆ สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาแต่ละราย ถ้ามีผู้ป่วยที่มีปัญหาอยู่บ่อยๆ เช่นผู้ป่วยในประเทศไทย การกำหนดแต่ละรายนั้นเสียเวลา และอาจจะผิดพลาดได้

ตารางที่ 3.1 จะเป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติโดยได้เรียงชื่อโรคที่ต้องการแยกตามลำดับอักษรภาษาอังกฤษ, วิธีการแยก, วิธีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และระยะเวลาที่ต้องปฏิบัติไว้

ตารางที่ 3.1 โรคที่ต้องการการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคและวิธีการ

health-0036 - Copy

health-0037

health-0038

health-0039

ที่มา:สมหวัง  ด่านชัยวิจิตร
เสน่ห์  เจียสกุล
ศรีเบญจา  ไวทยพิเชษฐ์
ทวีสุข  ปทุมานุสสรณ์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า