สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การแพทย์สมุนไพรเพื่อการบำบัดรักษาโรค

การแพทย์สมุนไพร(Herbal Medicine)
ในบางครั้งก็เรียกว่า เฮอร์บัลลิซึ่ม(Herbalism) หรือการแพทย์พฤกษศาสตร์(Botanical Medicine) โดยอาศัยคุณค่าของพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ เพื่อรักษาโรค สมุนไพรชนิดหนึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของพืชที่มีคุณค่า เนื่องจากมีคุณสมบัติในทางยา ทางรส ทางกลิ่น ก่อให้เกิดสารเคมีที่ส่งผลต่อร่างกาย หรือสารเคมีดังกล่าวอาจอยู่ในตัวของมันแล้ว

การใช้สมุนไพรในทางการแพทย์ เป็นรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุดที่มนุษยชาติเคยใช้มา เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการของอารยธรรมสมัยใหม่ ไม่มีการรักษาโรคแบบใดที่มีประวัติการใช้ประโยชน์มายาวนาน หลากหลายและมีรายละเอียดเช่นนี้

คนในยุคดึกดำบรรพ์หรือยุคบุรพกาลมีความจำเป็นบังคับให้ต้องสังเกตและรับรู้ถึงความหลากหลายของพืชที่มีให้ใช้สอย พืชที่ใช้อาหาร ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เพราะไม่มีทางเลือกอื่นใดเมื่อเกิดความเจ็บปวด หรือบาดเจ็บ หรือเป็นโรคขึ้นมา จึงจำเป็นต้องหันไปหาพืชเพื่อใช้รักษาตัว นอกเหนือจากการใช้สัตว์ หรือพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ต่างๆ

การรักษาผู้ป่วยด้วยการสวดภาวนา ด้วยพิธีกรรมและยาที่ทำขึ้นมาจากสมุนไพรในท้องถิ่นของหมอยุคดึกดำบรรพ์ อาจถือได้ว่าเป็นยาวิเศษ ซึ่งกว่าจะไปพบพืชชนิดที่ใช้ได้เหมาะสมและได้รู้ถึงประโยชน์ของมัน พืชจำนวนนับไม่ถ้วนก็ถูกนำมาทดสอบด้วยความหวังว่าจะได้พบชนิดที่มีอำนาจวิเศษ การใช้พืชเพื่อการแพทย์มากมายจะมีพื้นฐานตั้งอยู่บนสัญชาตญาณที่ได้รับการพัฒนาอย่างสูง ซึ่งได้ชักนำให้หมอยุคโบราณหรือผู้รักษาเยียวยาประจำเผ่าไปพบพืชเหล่านั้น

วิธีการลองผิดลองถูกจากการสังเกตสัตว์ป่า ชนแต่ละกลุ่ม แต่ละเผ่าและแต่ละเชื้อชาติ ได้เพิ่มความเข้าใจถึงประโยชน์ของพืชต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณท้องถิ่นของตนเพื่อนำมาใช้ในการรักษาโรค

ระบบการแพทย์ที่รู้จักกันในโลกว่าเก่าแก่ที่สุด คือระบบที่มาจากจีน อินเดีย และอียิปต์โบราณ ซึ่งมีอายุมากว่า 5,000 ปี เกี่ยวกับประโยชน์ต่างๆ ของพืชมีข้อมูลบันทึกไว้ในหนังสือที่มีชื่อว่า “สมุนไพร”(herbals) การใชสมุนไพรในปัจจุบันก็มีพื้นฐานมาจากตำราโบราณเหล่านี้

ชาวซูเมอเรียนที่อาศัยอยู่ในบริเวณเมโสโปเตเมียตอนใต้ แถบลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรตีส ได้จากรึกอักษรรูปลิ่มไว้บนดินเหนียว เมื่อประมาณสีพันปีก่อนคริสตกาล จึงทำให้ทราบว่าพวกเขาใช้ฝิ่น ไธม์(thyme) มัสตาร์ด ชะเอม และกำมะถัน เป็นยารักษาโรค แต่ต่อมาก็ได้เพิ่มเติมเอากระเทียม อบเชย ผักชี หญ้าฝรั่น และสมุนไพรอื่นๆ เข้ามาสมทบรวมอยู่ด้วยโดยชาวบาบิโลเนียน

จักรพรรดิเซนหนุง(Shen-nung) ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรชาวจีน ได้บันทึกรายชื่อตัวยาจากพืช 366 ชนิดเอาไว้ในตำราที่มีชื่อว่า เปินเซิว(Pen Ts’ao)ไว้ในปี 2800 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นตำราการปรุงยาที่เก่าแก่ที่สุดของจีน ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาสมุนไพร ได้ถูกนำมารวมเอาไว้ในตำราแพทย์ของจักรพรรดิเหลือง คือจักรพรรดิฮวงตี้ และยังมีตำราของหลินซือฉิน ที่วิเคราะห์พืชไว้กว่า 100 ชนิด และได้บันทึกสูตรและตำรับยาไว้ 12,000 อย่าง และในปี ค.ศ.1596 ตำรานี้ได้รับการแปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษและตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรก

อายุรเวท ใช้รักษาผู้คนในอินเดียมากว่า 4,000 ปี และเป็นระบบการแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มนุษย์ได้รู้จัก พระเวท(Vedas) ซึ่งเดิมเขียนขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต มีบันทึกอ้างถึงพืชที่ใช้รักษาโรคเอาไว้มากมาย ฤคเวท(Rigveda) เป็นคัมภีร์โบราณของศาสนาฮินดู ได้ลงรายการพืชที่เป็นตัวยาเอาไว้กว่า 1,000 ชนิด ตำราสมุนไพรของอินเดียฉบับรวม ที่มีชื่อว่า จักร สะมหิตา(Chakra Samhita) ก็ได้ระบุถึงวิธีการรักษาโรคด้วยสมุนไพรเอาไว้กว่า 500 วิธี

การแพทย์สมุนไพรของอียิปต์ มีการพัฒนาขึ้นในทำนองเดียวกันกับของจีนและอินเดีย ซึ่งพบอยู่ในเอกสารที่เรียกกันว่า เอเบอร์ ปาปิรัส(Ebers Papyrus) มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัย 1,600 ปีก่อนคริสกาล เอกสารนี้ได้บอกสูตรการปรุงยาเอาไว้ประมาณ 800 ขนาน ที่ใช้ว่านหางจระเข้ แอนนีซีด(aniseed) เป็ปเปอร์มิน เฟนเนล(fennel) น้ำมันละหุ่ง หญ้าฝรั่น กระเทียม และอื่นๆ อีกมากมาย อยู่ที่วิหารโบราณที่คาร์นัค และมีภาพสลักบรรยายถึงพืชที่ใช้เป็นยาชนิดต่างๆ ขณะถูกนำกลับจากซีเรียมายังอียิปต์ด้วย

ฮิปโปเครตีส(Hippocrates) แพทย์ชาวกรีกคนแรกที่ได้โยกย้ายอาชีพการรักษาโรคออกมาให้ห่างจากความเชื่องมงายและไสยศาสตร์ โดยจัดเอาไว้เป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ซึ่งในข้อเขียนของเขาได้บรรยายถึงประโยชน์ในการเยียวยารักษาโรคจากพืชประมาณ 400 ชนิด มีทั้งที่ใช้เพื่อเป็นยาขับปัสสาวะ ยาระบาย น้ำมันยาทาผิวแก้เคล็ดขัดยอก และอื่นๆ อีกมากมาย และในปัจจุบันก็ยังมีพืชบางอย่างที่เขาแนะนำไว้ยังคงนำมาใช้รักษาโรค เช่น เสจ(sage) มินท์(mint) มักวอร์ท(mugwort) เวอร์บีน่า(verbena) และอื่นๆ

การแพทย์ของโรมันมีรากฐานมาจากการแพทย์ของกรีก และในเวลาต่อมาก็ได้กลายมาเป็นรากฐานของการแพทย์ส่วนใหญ่ในยุโรป กาเลน(Galen) และไดออสโคริดีล(Dioscorides) เป็นบุคคลสำคัญของการแพทย์สมุนไพรของโรมัน ในด้านเภสัชกรรม ไดออสโคริดีส ได้เขียนคำแนะนำเอาไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า De Materia Medica ซึ่งได้กล่าวถึงพืชไว้กว่า 600 ชนิด โดยที่ผลงานของไดออกโคริดีส กาเลน และธีโอเฟรสตัส ได้ใช้เป็นพื้นฐานของการใช้สมุนไพรของยุโรปมาจนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 16

คริสตจักรแคธอลิค ได้ควบคุมความรู้ด้านการแพทย์ในยุโรปเอาไว้เกือบทั้งหมดนับตั้งแต่ประมาณ ค.ศ.400-1500 ตลอดยุคมืดคือในปี ค.ศ.641-1096 หลักการรักษาโรคด้วยสมุนไพรของกาเลนและไดออสโคริดีส ได้รับการสถาปนาเป็นหลักที่มั่นคง วัดวาอารามทั้งหลายก็ได้ทำสวนสมุนไพรกันขึ้นเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ และยาพื้นบ้านกับวิธีการใช้สมุนไพรก็กลายมาเป็นความรู้ของสามัญชน

ได้ค้นพบงานด้านการแพทย์ของกรีกยุคคลาสสิคในช่วงยุคมืดในยุโรปโดยชาวอาหรับ พวกเขาได้เพิ่มเอาพืชอย่าง การบูร หญ้าฝรั่น และผักขม เข้ามารวมอยู่ในตำราเภสัชกรรมเดิม และความรู้เรื่องยาสมุนไพรของอาหรับก็ได้ฝังรากลงในยุโรปหลังสงครามครูเสดระหว่างชาวคริสต์และอิสลาม

ตอนต้นรัชสมัยของพระนางอลิซาเบธที่ 1 ของอังกฤษ ยุคที่ยิ่งใหญ่ของสมุนไพรก็ได้เริ่มต้นขึ้น ได้มีการเขียนตำราเด่นๆ ขึ้นมากมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ จอห์น พาร์คินสัน(John Parkinson) ก็ได้เขียนตำราเล่มใหญ่ขึ้น ชื่อว่า Theatrum Botanicum ซึ่งมีความยาวถึง 1,800 หน้า มีรายละเอียดของพืชถึง 3,800 ชนิด ในปี ค.ศ.1640 หนังสือเล่มนี้ก็ได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ หลังจากนั้นก็มีผลงานคลาสสิคชื่อว่า The Complete Herbal ซึ่งมีข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติทางยาของสมุนไพรนับร้อยๆ ชนิด ของนิโคลาส คัลเปเปอร์(Nicholas Culpeper) ตามมา

ชาวอังกฤษได้นำพืชและสมุนไพรมายังทวีปอเมริกา และเป็นส่วนสำคัญสำหรับความอยู่รอดของคนเหล่านี้เพื่อตั้งถิ่นฐานในดินแดนใหม่ และเนื่องจากในอเมริกาพืชเหล่านี้ปลูกไม่ได้ดี พวกเขาจึงต้องหันไปอาศัยพืชพื้นถิ่นที่ค้นพบ ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐอเมริกา คือ โธมัส เจฟเฟอร์สัน ก็ได้ปลูกสมุนไพรไว้ในสวนครัวของเขากว่า 25 ชนิด ที่มอนติเซลโล

ในศตวรรษที่ 20 แม้ว่าการใช้ยาสมุนไพรในสหรัฐฯ จะถดถอยลงเนื่องจากความก้าวหน้าด้านการแพทย์ศาสตร์และเคมีเภสัช แต่มันก็กำลังกลับมาอีกในปัจจุบันนี้ ซึ่งมีเหตุผลหลายประการเช่น ขบวนการสุขภาพแบบองค์รวม(holistic health) มีอาหารสุขภาพและสมุนไพรออกมาให้ซื้อหากันมากขึ้น และจากความปรารถนาในเรื่องสุขภาพของคนก็มีเพิ่มขึ้นด้วย แต่เหตุผลที่สำคัญก็คือ จากการตระหนักดีว่า ตลอดเวลานับพันปี ได้มีตัวยาจากพืชมากมายที่ใช้แก้ปัญหาด้านสรีระและอารมณ์อย่างได้ผล มีความเสมอต้นเสมอปลาย และมีประสิทธิภาพ

ทุกวันนี้การใช้ยาสมุนไพรเป็นวิธีการรักษาโรคที่รู้จักกันทั่วไป ประชากรส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาอาศัยสมุนไพรในการดูแลรักษาสุขภาพขั้นต้น และเพื่อค้นหาคุณค่าในทางรักษาโรคของมัน บริษัทเภสัชกรรมสำคัญๆ ก็มีการดำเนินงานวิจัยกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับพืชที่เก็บมาจากป่าดิบแถบลุ่มน้ำอะเมซอน และตามที่อื่นๆ ทั่วโลก

สารต่างๆ ที่ได้จากพืชในปัจจุบันนี้ ยังคงเป็นพื้นฐานสำหรับตัวยาที่ผลิตจำหน่ายกันในเชิงพาณิชย์ในสัดส่วนที่มากทีเดียว โดยนำมาผลิตเป็นยารักษาโรคหัวใจ แก้อาการความดันโลหิตสูง แก้ปวด แก้หอบหืด และปัญหาอื่นๆ พืชบางชนิดก็เป็นสมุนไพรที่ใช้กันมาตั้งแต่ครั้งโบราณซึ่งมีคุณสมบัติในการบำบัดรักษาอย่างเดียวกับที่ใช้กันในสมัยนี้

สมุนไพรที่ใช้เหมือนกันทั้งในยุคเก่าและใหม่ ได้แก่ อีเฟดรา(ephedra) ใช้เพื่อแก้อาการหอบหืดและปัญหาที่เกี่ยวกับเส้นทางหายใจอื่นๆ ซึ่งการแพทย์แผนโบราณของจีนใช้มากว่า 2,000 ปีแล้ว ตัวยาสำคัญในอีเฟดรา คือ อีเฟดรีน(ephedrine ซึ่งนำมาใช้ในการผลิตยาสำหรับบรรเทาอาการหอบหืด และปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจชนิดอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้นในปัจจุบันนี้

สมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ฟ็อกซ์โกลฟ(foxglove) โดยในปี ค.ศ.1775 นายแพทย์ชาวอังกฤษ ชื่อวิเลี่ยม วิเธอริงก์(William Withering) ได้เป็นผู้ค้นพบพืชชนิดนี้ ใบของฟ็อกซ์โกลฟ ใช้เป็นยากระตุ้นหัวใจ ซึ่งผู้ป่วยโรคหัวใจยังคงใช้กันอยู่

การจัดประเภทแบบกว้างๆ ของการแพทย์สมุนไพรแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. ยาสมุนไพรของจีนโบราณ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์แผนโบราณของจีน

2. สมุนไพรของอายุรเวท ซึ่งได้มาจากตำราอายุรเวท

3. สมุนไพรของตะวันตก ซึ่งกำเนิดมากจากรีซและโรม ก่อนที่จะแพร่มายังยุโรป และต่อไปยังอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้

สมุนไพรจีนและของตำราอายุรเวท ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นระบบการวินิจฉัยและรักษาโรคที่มีความซับซ้อนมาก โดยในช่วงระยะเวลานับร้อยๆ ปี สมุนไพรของตะวันตกในสมัยกรีก-โรมันก็มีระบบดังกล่าวอยู่เหมือนกัน แต่มิได้มีการสืบทอดพัฒนาต่อในภายหลังยุคกลางในยุโรป และได้จัดว่าเป็นระบบของการแพทย์พื้นถิ่นในปัจจุบันนี้

ปรัชญาของสมุนไพรจีน คือ แนวคิดเรื่องความเป็นคู่ของลัทธิเต๋า ที่ประกอบด้วยหยินและหยาง หยิน จะหมายถึงสิ่งที่มืด เย็น ชื้น ผ่อนปรน มีขั้วลบและเป็นผู้หญิง ในขณะที่หยาง หมายถึง สิ่งที่สว่าง อุ่น แห้ง โดดเด่น มีขั้วเป็นบวกและเป็นเพศชาย แม้จะมีลักษณะตรงข้ามกันระหว่างหยินกับหยาง แต่มันก็ความสามารถในการสร้างปฏิสัมพันธ์และสร้างความสมดุลที่จะทำให้เกิดสุขภาพที่ดีได้

การจัดประเภทของอาหารและสมุนไพรในหลักสมุนไพรของจีน มีพื้นฐานอยู่ 4 ประเภท คือ หลักการ 4 ธรรมชาติ(4 Natures) 5 รส(5 Flavors) 4 ทิศทาง(4 Direction) และอวัยวะกับเมริเดียนส์(Organs and Meridians)

4 ธรรมชาติ ประกอบด้วย หนาว เย็น อุ่น และร้อน ที่มีความสัมพันธ์กับทฤษฎีหยินและหยาง เช่น สมุนไพรเย็น/หนาว หรือหยิน ถูกนำมาใช้สำหรับรักษาโรคที่อุ่น/ร้อน ที่เป็นหยาง ด้วยการสร้างสมดุลขึ้น สมุนไพรที่จัดประเภทว่าเป็นกลาง สามารถนำมาใช้รักษาโรคได้ทั้งโรคประเภทหยินและหยาง

5 รส ประกอบด้วย เปรี้ยว ขม หวาน เผ็ด และเค็ม แต่ละรสจะกระทบในเชิงสรีรวิทยาทั่วไป ถูกจัดประเภทไว้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างหยินหรือหยาง

4 ทิศทาง ได้แก่ ขึ้น จม ลอย และลง สี่ทิศทางนี้เกี่ยวโยงกับลักษณะที่สารชนิดใดชนิดหนึ่งจะก่อปฏิกิริยาขึ้นในร่างกาย ในระบบนี้ หยินจะเป็นทิศทางลง หยางเป็นแนวขึ้น โดยสมุนไพรที่เป็นหยินหรือที่หนักจะถูกนำมาใช้รักษาโรคที่ลึก และเรื้อรังกว่า ส่วนสมุนไพรที่เป็นหยางหรือเบากว่า จะนำมาใช้รักษาอาการที่ผิว เช่น การอักเสบหรือหวัด

หลักการเรื่องอวัยวะและเมอริเดียนส์ เป็นการจัดประเภทที่ค่อนข้างใหม่ของจีน ซึ่งมีอายุเพียงไม่กี่ร้อยปี และไม่ได้รับการพัฒนาอย่างหลักแบบอื่นๆ สรีรวิทยาของจีน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของอวัยวะสำคัญ 12 อวัยวะ และการจัดประเภทนี้ก็ใช้อาหารและสมุนไพรในการสร้างผลกระทบต่ออวัยวะแต่ละอวัยวะ

เพื่อให้บรรลุถึงผลลัพธ์ในการรักษาโรค สมุนไพรจีนจะใช้สูตรต่างๆ ของสมุนไพรในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกัน มิใช่ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อรักษาโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะ หลักสำคัญของการกำหนดสูตรตั้งอยู่บนพื้นฐานของตัวยา 4 ประเภท แต่ละประเภทมีหน้าที่เฉพาะอย่าง และแต่ละประเภทจะประกอบด้วยสมุนไพรที่เป็นตัวหลัก ตัวสนับสนุน ตัวช่วย ตัวกระทำ การแพทย์สมุนไพรถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บทุกชนิด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการแพทย์แผนโบราณของตะวันออก

อายุรเวทจะรับรองธาตุพื้นฐาน 5 ธาตุ คือ ลม ไฟ น้ำ ดิน และความว่างเปล่า ปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้จะแสดงออกมาให้เห็นในตัวคน ซึ่งควบคู่กลายเป็นลักษณะพื้นฐาน 3 แบบ คือ วาตะ(ลม) ปิตตะ(ไฟ๗ และกับผะ(น้ำ) ซึ่งรวมเรียกว่า ไตรโดชา(tridosha) ซึ่งเป็นพลังชีวิตที่สำคัญที่ควบคุมการทำงานทั้งหมดของร่างกาย

การรักษาโรคของอายุรเวท มีพื้นฐานตั้งอยู่บนความรู้ถึง ประกฤติ(prakruti) หรือองค์ประกอบของแต่ละบุคคล แต่ละองค์ประกอบ คือองค์รวมของโดชาทั้ง 3 คือ วาตะ ปิตตะและกับผะ โดยแต่ละคนจะมีความเด่นไปทางโดชาใดโดชาหนึ่งโดยเฉพาะ

เมื่อโดชาสมดุลก็จะไปเลี้ยงร่างกาย แต่เมื่อเสียสมดุลก็จะทำลายร่างกาย ดังนั้น สุขภาพที่ดีในร่างกายจึงประกอบไปด้วยดุลที่ถูกต้องของพลังสร้างสรรค์และทำลายจากโดชา

มีหลักการจัดประเภทของอาหารและสมุนไพรของอายุรเวทอยู่ 4 ประการคือ พลังงาน(virya) รสชาติ(rasa) ผลกระทบหลังจากการย่อย(vipaka) และคุณสมบัติพิเศษ(prabhava) เพื่อทำให้ร่างกายคืนสู่สมดุลสมุนไพรบางอย่างจึงถูกนำมาใช้เพิ่มหรือลด วาตะ ปิตตะ และกับผะ

ก่อนศตวรรษที่ 17 หลักการสมุนไพรของตะวันตกในยุโรปใช้การจัดประเภทสมุนไพรโดยสัมพันธ์กับการแพทย์ตามแบบของกาเลนและของกรีก-โรมัน ผู้คนถูกจัดเป็น 4 จำพวก ทำนองเดียวกับอายุรเวช คือ ประเภทร้อน/ชื้น(sanguine) เย็น/แห้ง(melancholic) เย็น/ชื้น(phlegmatic) และร้อน/แห้ง(Choleric)

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า