สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การรักษาโรคด้วยละคร(Drama Therapy)

คำนิยามเกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยละครหรือดรามาเธราพีที่สมาคมการรักษาโรคด้วยละครแห่งชาติ(National Therapy Association)ได้ให้ไว้มีอยู่ว่า “การตั้งใจที่จะใช้กระบวนการละครเพื่อบรรลุเป้าหมายในทางบรรเทาอาการที่เกิดจากโรค สร้างการประสานกลมกลืนกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างอารมณ์กับสรีระและเพื่อความเติบโตในแง่ของบุคลิกภาพ”

วิธีการนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อารมณ์และการรับรู้สำหรับคนพิการและผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และวิธีการนี้ยังสามารถนำมาปรับใช้เพื่อการสำรวจหาศักยภาพในตัวเองของใครก็ได้

ในปี ค.ศ.1979 สมาคมการรักษาโรคด้วยละครแห่งชาติก็ได้ก่อตั้งขึ้น เพื่อกำหนดและรักษามาตรฐานของความเป็นนักวิชาชีพในหมู่ผู้ที่ให้การบำบัดรักษาด้วยการละคร และสมาคมนี้ก็ยังได้มีการกำหนดแนวทางระดับชาติสำหรับโครงการฝึกการรักษาโรคด้วยการละครในระดับปริญญาโทและเอก และกำหนดบรรทัดฐานสำหรับการออกใบอนุญาตให้กับนักวิชาชีพผู้บำบัดรักษาโรคด้วยการละครด้วย

ผู้ป่วยจะมีโอกาสหายจากอารมณ์เครียดที่เกิดมาจากเหตุการณ์ที่สร้างความแปรปรวนให้เกิดขึ้นในชีวิตเมื่อได้รับการบำบัดอาการป่วยด้วยการละคร และยังช่วยให้ปรับตัวกลับเข้าสู่สภาพแวดล้อมที่ประกอบไปด้วยชีวิตในครอบครัว เพื่อนและชุมชนได้

คนที่กำลังพักฟื้นจากการถูกทารุณกรรม จากครอบครัวที่ผิดปกติ คนพิการทางจิต นักโทษผู้ต้องขัง ผู้ป่วยเอดส์ คนจรจัด ผู้ป่วยโรคจิต เด็ก วัยรุ่น และคนชรา บุคคลเหล่านี้จะได้รับประโยชน์จากการรักษาโรคด้วยละครทั้งสิ้น

ผู้ที่ต้องการจะเป็นผู้ให้การบำบัดรักษาด้วยการละครจะต้องผ่านการศึกษาและฝึกฝนทางด้านศิลปะการละคร จิตวิทยา และการบำบัดรักษาด้วยละครด้วย ในการประเมินและรับรักษาของผู้ให้การบำบัดจะมีทั้งแบบเป็นกลุ่ม เป็นครอบครัว และรายบุคคล ตามสถานที่ต่างๆ มีการบำบัดรักษาด้วยการละครกันอย่างมากมาย รวมทั้งที่ศูนย์สุขภาพจิตต่างๆ โรงพยาบาล โรงเรียน เรือนจำ ศูนย์ประจำชุมชน และหน่วยงานธุรกิจ และที่คลินิกเอกชนต่างๆ

มีวิธีการที่ต่างกันในการบำบัดรักษาด้วยการละคร รวมทั้งที่เป็นเทคนิคที่คิดขึ้นมาสดๆ เช่น การแสดงตามบทบาทที่สมมติขึ้นมาเดี๋ยวนั้น เกมการละคร ละครใบ้ ละครหุ่น หรือละครสวมหน้ากาก และละครที่มีการเขียนบทจัดแสดงบนเวทีก็มีใช้เหมือนกัน

ต้องมีคุณสมบัติตามที่สมาคมกำหนดไว้สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นผู้ให้การบำบัดรักษาด้วยการละครอาชีพที่มีใบอนุญาต รวมถึงต้องเรียนจบปริญญาโทมาก่อน ต้องมีประสบการณ์การทำละครมาแล้ว 500 ชั่วโมง ต้องผ่านการฝึกบำบัดรักษาด้วยการละคร 300 ชั่วโมง และต้องมีประสบการณ์ในการทำงานเป็นผู้บำบัดรักษาด้วยการละครโดยได้รับค่าจ้าง 1,000 ชั่วโมง ปัจจุบันนี้ที่สถาบัน Integral Studies ของแคลิฟอร์เนีย ในซานฟรานซิสโก และที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค ก็มีการสอนวิชาการบำบัดรักษาด้วยการละครอยู่

เกี่ยวกับการบำบัดรักษาด้วยการละคร สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสมาคมเพื่อการบำบัดรักษาด้วยการละครแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ตามที่อยู่ดังนี้
National Association for Drama Therapy,
19 Edwards Street,
New Haven, CT 0651
USA.

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า