สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การรักษาโรคด้วยความฝัน(Dream Therapy)

เป็นการบำบัดรักษาเยียวยาปัญหาทางอารมณ์และปัญหาที่เกิดกับร่างกายโดยการใช้ความฝันและภาวะขณะที่กำลังฝัน การรักษาแบบนี้เกี่ยวข้องกับการตีความข้อมูลที่ได้ขณะฝันและเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการฝันนั้น โดยผ่านเทคนิคที่เรียกว่า การฝันลูสิด(lucid dreaming หรือการเข้าสู่ความฝันอย่างรู้สึกตัว โดยกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวกับความฝันจะถูกนำมารวมอยู่ในเครือข่ายที่เรียกรวมๆ กันว่า ดรีมเวิร์ค(dreamwork)

ความฝันและการตีความความฝันเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างใหญ่หลวงตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เนื่องจากมันให้ความเชื่อมโยงระหว่างโลกภายในที่ลึกลับของความคิด และโลกทางสรีระภายนอกของชีวิตในยามตื่น

ผู้ที่ใช้การบำบัดรักษาโรคโดยใช้ความฝัน คือแพทย์ชาวกรีกโบราณที่ชื่อ ฮิปโปเครตีส(Hippocrates) โดยส่งเสริมการสร้างฝัน และสอนถึงอำนาจในการรักษาโรคของความฝัน ในกรีกยุคโบราณมีการสร้างโบสถ์ความฝันขึ้นกว่า 300 แห่ง เพื่อรักษาผู้ป่วย

การสร้างความฝันที่เริ่มทำกันที่อียิปต์มาก่อน เป็นวิธีการที่คนจะต้องเดินทางไปยังวัด/โบสถ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยความหวังว่าจะได้หลับฝันอย่างที่จะช่วยรักษาโรค หรือช่วยพยากรณ์อนาคตได้ ซึ่งต้องมีกระบวนการตระเตรียมการอย่างพิถีพิถันนานถึง 3 สัปดาห์ ที่ประกอบไปด้วยการสวดมนต์วิงวอน การอดอาหาร การอาบน้ำชำระร่างกาย การร้องเพลงและการร่ายกวีกรรม แล้วต่อมาวิธีการนี้ก็ได้ถูกนำมาใช้กันในกรีซ เป็นเวลานานกว่า 1,000 ปี

นักจิตวิทยาชาวออสเตรีย ชื่อ ซิกมันด์ ฟรอยด์(Sigmund Freud) เป็นผู้ปลุกเร้าให้เกิดความสนใจในความสำคัญของความคิดฝัน เขาได้กล่าวเน้นว่า นักวิเคราะห์จิตที่เชี่ยวชาญสามารถรักษาเยียวยาความเจ็บไข้ได้มากด้วยการตีความความฝัน การบำบัดรักษาด้วยความฝันจากการวิเคราะห์ของจุง จะเริ่มด้วยการสร้างการเชื่อมโยงอย่างเสรีและการวิเคราะห์ความฝันและจะเน้นพิเศษที่การตีความความฝันนั้น โดย คาร์ล จุง(Carl Jung) นักจิตวิทยาชาวสวิส ได้เคยกล่าวไว้ว่า “การใส่ใจกับความฝัน เป็นรูปแบบหนึ่งของการตระหนักถึงตนเอง”

การตีความความฝันแม้จะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาตามปกติของผู้บำบัดทางจิต แต่ก็มีผู้ที่ใช้ศิลปะในการรักษาที่เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องการวิเคราะห์ฝันด้วย “ดรีมเวิร์ค” นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นกระบวนการช่วยเหลือตนเอง

ส่วนใหญ่การตีความความฝันจะทำด้วยการให้แต่ละคนที่ฝันใช้ตำราเล่มหนึ่งที่มีอยู่หลายเล่มในการตีความความฝัน ซึ่งความฝันนั้นอาจจะเตือนถึงปัญหาด้านสุขภาพที่กำลังจะมาถึง จะช่วยวินิจฉัยโรคเหล่านั้น เสนอแนะวิธีการรักษาเร่งกระบวนการหายจากโรค และช่วยเกื้อหนุนแก่สุขภาพที่ดีไปชั่วชีวิต

สามารถใช้ความฝันอย่างที่เรียกว่า ลูสิด(Lucid)ในการรักษาตัวเองได้ในคนที่มีปัญหาทางอารมณ์ ป่วยไข้ หรือได้รับบาดเจ็บมา ความฝันลูสิด(lucid dreaming) เป็นกระบวนการซึ่งผู้ฝันเอาความรับรู้โดยจิตสำนึกเข้าไปอยู่ในภาวะฝัน เพื่อขอรับคำชี้นำหรือความลับในเบื้องลึกเกี่ยวกับเรื่อง หรือปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ความรับรู้ใต้จิตสำนึกจะให้คำตอและข้อมูลในรูปของสัญลักษณ์และภาพในภาวะขณะฝัน

ความรับรู้อย่างมีสติหรืออย่างรู้ตัวของเราในยามตื่นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของความคิดที่เกี่ยวข้องกับความจำ ความรู้และเหตุผล ในการสื่อสารติดต่อมันจะใช้คำพูด ความคิดและแง่คิด เมื่อความรับรู้อย่างรู้สึกตัวถูกนำเข้าไปสู่ภาวะฝันก็จะมีชั่วขณะหนึ่งในความฝันที่เราจะรู้ตัวว่าเรากำลังฝันด้วยการใช้บทที่เตรียมไว้ก่อนที่จะเข้านอน เราก็จะสามารถสร้างอิทธิพลต่อความฝันของเราได้ โดยการหันเหความฝันให้เป็นไปตามที่เราต้องการ เช่น เราอาจจะพูดว่า “ช่วยรักษาโรคให้หน่อย” หรือนึกภาพผิวหนังที่ปลอดจากโรคซึ่งในความเป็นจริงแล้วกำลังเป็นโรคอยู่

ในขณะฝันการทำให้ความรับรู้อย่างมีสำนึกได้ทำงาน เปรียบเสมือนการสร้างสะพานระหว่างความรับรู้อย่างมีจิตสำนึกกับความรับรู้โดยไม่รู้สึกตัว ทำให้ความรับรู้ทั้งสองแนวนั้นทำงานร่วมกัน ความรับรู้อย่างรู้สึกตัวจะสามารถตีความภาพและสัญลักษณ์ต่างๆ และเมื่อตื่นขึ้นมาผู้ฝันก็จะรู้ว่า ทำไมตนจึงฝัน และความฝันนั้น มีความหมายว่าอย่างไร แล้วผู้ฝันก็จะสามารถใช้ข้อมูลนี้มารักษาตัวเองได้ และการรักษาหรือการหายจากโรคยังสามารถเกิดขึ้นได้ในความฝัน โดยที่เราจะตื่นจากฝันพร้อมกับหายจากโรคได้อย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องใช้ความพยายามอย่างใดเพิ่มเติม

เกี่ยวกับความฝันและการตีความความฝันสำหรับการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับฝันทั้งหลายสามารถหาอ่านได้จากหนังสือมากมาย แต่มีหนังสือที่ดีมากเรื่องหนึ่งชื่อ Dreamtime and Dreamwork ของสแตนลีย์ คริปเนอร์(Standley Krippner) อีกเล่มหนึ่งจะเน้นที่สุขภาพ คือเป็นเรื่องของความฝันในแง่ของการช่วยรักษาโรค ซึ่งเป็นหนังสือที่ดีเยี่ยมอีกเล่มหนึ่งมีชื่อเรื่องว่า The Healing Power of Dream ของ ดร.แพ็ตทริเซีย การ์ฟิลด์(Patricia Garfield)

เกี่ยวกับเรื่องความฝันมีองค์การและสิ่งพิมพ์ที่ทำงานเฉพาะด้านนี้มากมาย เช่น สมาคมเพื่อการศึกษาความฝัน(Association for the Study of Dreams) สมาคมการเชื่อมโยงความฝัน-ความจริง Lucidity Association(Lucid Dreaming) นิตยสารชื่อ Night Vision กับวารสารรายปักษ์ Dream Network: A Quarterly Journal Exploring Dreams and Myths

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า