สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การพูดติดอ่าง (Stuttering)

พูดติดอ่าง
ลักษณะทางคลินิก
เสียงพูดหรือคำพูดที่ซ้ำ หรือยืดเสียงออก หรือหยุดหายไปเป็นช่วงๆ มักเริ่มตั้งแต่อายุ 18 เดือนถึง 9 ปี อายุที่พบมากคือ 2-3 ½  ปี และ 5-7 ปี แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่คือ

1. ชนิดที่เกิดในช่วงวัยก่อนเรียน มักมีอาการเป็นบางขณะ โดยเฉพาะเวลาตื่นเต้น หรือมีเรื่องจะเล่ามากมาย หรือเวลาแย่งกันพูด เด็กจะไม่รู้สึกทุกข์ร้อนถึงอาการนี้ อย่างน้อยร้อยละ 40 ของเด็กพวกนี้อาการจะหายไปโดยสิ้นเชิง แต่ไม่สามารถรู้ได้แน่ว่า เด็กพวกไหนอาการจะหายไปอย่างสิ้นเชิง เพียงแต่มีหลักการคร่าวๆ ว่า ถ้าเด็กที่มีประวัติพูดได้ช้าหรือมีประวัติครอบครัวพูดติดอ่าง มีโอกาสเกิดอาการพูดติดอ่างต่อไปเป็น 5 เท่าของเด็กที่ไม่มีประวัติดังกล่าว

2. ชนิดที่เกิดในวัยเรียนถึงวัยผู้ใหญ่ ผู้ป่วยเริ่มต้นรู้ตัวว่าตนเองพูดติดอ่าง เริ่มรู้สึกกังวลกับอาการของตนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เริ่มหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้ตนพูดติดอ่างมากขึ้น หรือหลีกเลี่ยงบางคำที่จะพูดติดอ่าง บางคนอาจมีอาการอื่นแทรกซ้อน เช่น บิดคอ หรือสะบัดหน้า หรือกระทืบเท้า เพื่อให้คำพูดที่กำลังพูดติดอ่างอยู่นั้นหายจากติดอ่าง

การรักษา
1. ถ้าเป็นช่วงวัยก่อนเรียน ควรแนะนำพ่อแม่อย่าไปเพ่งเล็งอาการของเด็ก หรืออย่าพยายามแก้ไขการพูดติดอ่างของลูกโดยให้ลูกพูดใหม่ หรือตำหนิติเตียนการพูดติดอ่างนั้น

2. ถ้าเป็นช่วงวัยเรียน หรือวัยผู้ใหญ่ มีวิธีการรักษาอยู่หลายวิธี เช่น

ก. การหันเหความสนใจ โดยให้ผู้ป่วยพูดตามจังหวะของเสียงที่สม่ำ เสมอแทน

ข. พฤติกรรมบำบัด โดย desensitization กล่าวคือ ให้เด็กเริ่มหัดพูดจากสถานการณ์ที่ตื่นเต้นน้อยที่สุด หรือพูดติดอ่างน้อยที่สุด และให้กำลังใจกับเด็ก จากนั้นค่อยๆ เปลี่ยนไปพูดในสถานการณ์อื่นๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ

ค. speech therapy

ง. จิตบำบัด

จ. ใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน

ที่มา:ปิยาณี  ชัยวัฒนพงศ์
ชาญวิทย์  เงินศรีตระกูล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า