สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การฝึกไบโอฟีดแบ็ค(Biofeedback Training)

เป็นกระบวนการเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ในการติดตามสภาพและควบคุมสิ่งที่เรียกกันว่า การทำงานตามหน้าที่โดยอัตโนมัติของร่างกาย เช่น ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ การหมุนเวียนโลหิต-น้ำเหลือง การย่อยอาหาร หรือเหงื่อ โดยใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์ที่มีชื่อเรียกว่า เครื่องไบโอฟีดแบ็ค(biofeedback machine)

การใช้อุปกรณ์ไบโอฟีดแบ็คชนิดต่างๆ มากมาย ผู้สอนจะสอนให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกที่มีวัตถุประสงค์นี้โดยเฉพาะ

ภาวะของร่างกาย เช่น ระดับความตึงของกล้ามเนื้อ อุณหภูมิที่ผิวหนัง ปริมาณเหงื่อที่ผิวหนัง การทำงานของคลื่นสมอง และภาวะทางร่างกายอื่นๆ สามารถวัดได้ด้วยอุปกรณ์ไบโอฟีดแบ็ค โดยการใช้ขั้วไฟฟ้าชนิดพิเศษติดแปะไว้กับส่วนต่างๆ ของร่างกายตามที่ต้องการ

อุปกรณ์ไบโอฟีดแบ็คมีการตอบสนองทั้งที่เป็นภาพและเสียง ข้อมูลที่ได้จากขั้วไฟฟ้าจะถูกสื่อส่งไปถึงผู้ใช้โดยผ่านทางเกจ์วัดแสง เสียง และอื่นๆ

การป้อนข้อมูลกลับจากการใช้อุปกรณ์นี้จะทำให้ผู้ใช้ได้รู้ถึงกระบวนการของร่างกาย/ความคิดต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากสัมผัสทั้ง 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ตามปกติ หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า สามารถทำให้เราได้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานทางสรีรวิทยาของตนเอง ซึ่งเป็นการทำงานที่จิตสำนึกของเราหยั่งไปไม่ถึง

ในสมัยต้นทศวรรษที่ 1900 คนที่คิดคำว่าฟีดแบ็คนี้ขึ้นมาเป็นผู้ที่บุกเบิกด้านวิทยุ ส่วนคำว่า “ไบโอฟีดแบ็ค”(biofeedback) คิดขึ้นมาในทศวรรษที่ 1960 เพื่อบรรยายถึงกระบวนการในห้องแล็บ เพื่อทดลองฝึกเจ้าหน้าที่วิจัยในตอนนั้น ในปี ค.ศ. 1970 นักคณิตศาสตร์และบิดาผู้ก่อตั้งการวิจัยเรื่องการป้อนกลับทางชีววิทยาหรือไบโอฟีดแบ็ค ที่ชื่อ นอร์เบิร์ด ไวเนอร์(Norbert Wiener) ได้อ้างไว้ในนิตยสารไซแอนติฟิค อเมริกัน(Scientific American) และให้คำนิยามไว้ว่า เป็นวิธีการควบคุมระบบใดระบบหนึ่งด้วยการนำเอาผลลัพธ์ของการปฏิบัติงานที่ผ่านมาใส่กลับเข้าไปใหม่

ไบโอฟีดแบ็ค มิใช่ของใหม่ ซึ่งในช่วงศตวรรษที่ 18 ในอินเดียสมัยที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ มีแพทย์ในกองทัพและข้าราชการหลายคนที่รายงานว่า พวกโยคีสามารถควบคุมการทำงานของร่างกายชนิดที่เรียกกันว่า “อยู่นอกเหนือการควบคุม” ได้ เช่น ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและความเจ็บปวดจนสามารถนอนบนเตียงตาปูได้ ความสามารถนี้พวกโยคีอ้างว่า ได้มาจากการฝึกควบคุมความคิด ร่างกายและอารมณ์

ในทศวรรษที่ 1950 ได้มีการค้นพบว่า เราสามารถหัดควบคุมกระบวนการทางสรีระบางอย่างได้อย่างรวดเร็วโดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือที่ใช้สำหรับวัดกระบวนการทางด้านสรีรวิทยา โดย คามิยา(Kamiya) บราวน์(Brown) และ กรีน(Green)

ขณะที่คามิยากำลังทำงานวิจัยเรื่องการหลับและฝัน เพื่อเปลี่ยนภาวะของความคิด ผู้เข้าร่วมการทดลองของเขาก็ฝึกใช้ข้อมูลที่ได้จากเครื่องวัดคลื่นสมอง(electroencephalograph หรือ EEG) โดยพวกเขาสามารถบรรลุถึงภาวะอัลฟ่า(alpha)หรือภาวะที่สมองผ่อนคลายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในขณะที่ยังตื่นอยู่ ซึ่งปกติแล้วจะเกิดขึ้นในขณะที่หลับสนิท

คามิยา ได้สร้างอุปกรณ์ต้นแบบซึ่งได้กลายมาเป็นมาตรฐานสำหรับอุปกรณ์ฝึกสร้างภาวะอัลฟ่าทั่วไปในปัจจุบันหลังจากที่ย้ายมาทำงานวิจัยต่อที่ศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในซานฟรานซิสโก ผู้ที่รับการทดสอบจะได้ยินเสียงชนิดพิเศษเวลาที่ตนบรรลุถึงภาวะอัลฟ่าเมื่อต่อสายเชื่อมเข้ากับอุปกรณ์นี้แล้ว คามิยาสังเกตว่าคนเหล่านี้จะมีความสามารถในการรักษาภาวะอัลฟ่าเอาไว้ได้หลังจากที่ได้ฝึกฝนแล้ว

ตอนปลายทศวรรษที่ 1960 นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยร็อคกี้เฟลเลอร์ในนิวยอร์ค ชื่อ ดร. นีล มิลเลอร์(Neal Miller) สามารถสอนหนูในห้องแล็บให้ควบคุมการไหลเวียนของโลหิตได้ในขณะที่เป็นอัมพาตเพราะยาผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งในขณะเดียวกัน ดร.เอลเมอร์ กรีน(Elmer Green) กับอลิซ(Alyce) ที่เป็นทั้งภรรยาและเพื่อนร่วมงานของเขาก็ได้ทำงานทดลองเรื่องไบโอฟีดแบ็ค เพื่อสอนคนทำให้มือของตัวเองอุ่น อยู่ที่มูลนิธิเมนนิงเกอร์(Menninger Foundation) ในโทพีคา รัฐแคนซัส

ก่อนการทดลองเหล่านี้เคยคิดกันว่า ระบบประสาทแบ่งหน้าที่การทำงานออกเป็นการทำงานที่อยู่ในความควบคุม กับที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เคยเชื่อว่า หน้าที่สำคัญๆ อย่างเช่น การเต้นของหัวใจ การหายใจและการไหลเวียนของโลหิตเป็นการทำงานนอกเหนือจิตสำนึก โดยไม่มีการควบคุม ในขณะที่การเดิน คุยหรือเขียน ควบคุมได้ตามใจปรารถนา

ความคิดที่อยู่เบื้องหลังไบโอฟีดแบ็คนี้ก็ง่ายๆ คนส่วนใหญ่คงจะใช้กันอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว เช่น เมื่อวัดอุณหภูมิของร่างกาย หรือชั่งน้ำหนักก็เท่ากับได้ใช้หลักนี้แล้ว โดยเทอร์โมมิเตอร์จะบอกให้เรารู้ว่า เรามีไข้ และตาชั่งก็จะบอกว่าเรามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งอุปกรณ์ทั้งสองนี้จะป้อนกลับข้อมูลเกี่ยวกับภาวะร่างกายของเรา เมื่อมีข้อมูลนี้แล้ว เราก็สามารถดำเนินขั้นตอนต่างๆ เพื่อปรับปรุงภาวะของเราได้

ในร่างกายจะมีระบบการป้อนกลับมาตั้งแต่กำเนิด ทำให้เราสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบายภายในสิ่งแวดล้อมของเรา ด้วยการให้สัญญาณบอกระบบในร่างกายของเราว่า เมื่อไรควรจะทำงาน และเมื่อไรควรจะหยุดทำงาน ทำให้เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้ด้วยระบบการป้อนกลับตามธรรมชาติพวกนี้

การป้อนกลับทางชีววิทยา หรือป้อนกัลับข้อมูลในแง่ชีววิทยา หรือไบโอฟีดแบ็คมีประโยชน์ในการใช้ได้หลายอย่าง ทั้งในด้านการแพทย์ พฤติกรรมศาสตร์และการเชื่อมโยงร่างกายกับความคิดจิตใจเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคและรักษาสุขภาพ ผู้ที่เส้นโลหิตแตกในสมองสามารถเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อที่เป็นอัมพาตไปแล้วได้ใหม่ด้วยนักกายภาพบำบัดที่ใช้ไบโอฟีดแบ็คในการรักษา ผู้ที่กระวนกระวายและเครียดก็ได้หัดผ่อนคลายจากที่นักจิตวิทยาใช้ไบโอฟีดแบ็คเข้าช่วย ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มากมาย ได้ช่วยคนไข้ของตนเอาชนะความเจ็บปวดด้วยการใช้ไบโอฟีดแบ็ค

เป็นที่เห็นพ้องต้องกันโดยทั่วไปว่า ความเครียดและความตึงที่ขังอยู่ในร่างกาย ไม่ถูกอนามัย และเกื้อหนุนให้เกิดความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับความเครียด เช่น ความดันโลหิตสูง แผลในกระเพาะอาหาร หัวใจวาย และปวดศีรษะแบบไมเกรน เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวเองว่าอยู่ในภาวะเครียดตอนไหน ไบโอฟีดแบ็ค จึงให้วิธีการที่จะมองเห็นในสิ่งที่โดยปกติแล้วไม่มีทางทราบได้ ดังนั้นการตรวจหาความเครียดจึงเป็นไบโอฟีดแบ็คแขนงที่มีค่ามากอย่างหนึ่ง

อุปกรณ์ไบโอฟีดแบ็คมิใช่อุปกรณ์ปาฏิหาริย์ที่จะเอามาเสียบเข้ากับตัวคนแล้วก็หายจากโรคได้ แต่มันมุ่งหมายเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่ในร่างกายของเราเอง ทำให้เราเข้ารับผิดชอบต่อสุขภาพของเราเองแทนที่จะมองหาทางรักษาจากแหล่งภายนอก

การชี้แนะและช่วยเหลือผู้รับการฝึกในการตีความข้อมูลจากอุปกรณ์ไบโอฟีดแบ็คคือบทบาทของผู้ฝึกสอนไบโอฟีดแบ็ค โดยผู้รับการฝึกจะระบุได้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในร่างกายของตนในขณะที่ตนกำลังเครียด เช่น คนที่ปวดศีรษะเพราะเครียดก็จะได้ค้นพบว่า กล้ามเนื้อส่วนไหนของตนกำลังหดบีบรัดตัวจนทำให้เกิดความปวด การฝึกเทคนิคการผ่อนคลายในขณะที่ใช้อุปกรณ์ไบโอฟีดแบ็คสามารถช่วยแก้ไขหรือบรรเทาความเจ็บปวดได้ การฝึกโดยได้รับการช่วยเสริมจากผู้ฝึกหัดหลายๆ ครั้ง จะทำให้สามารถเรียนรู้วิธีที่จะบรรลุถึงภาวะการผ่อนคลายตามที่ปรารถนาได้ การเรียนรู้ภาวะผ่อนคลายได้เป็นอย่างดีจนไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เป็นเป้าหมายสูงสุดของไบโอฟีดแบ็ค

ผู้ที่ได้ฝึกไบโอฟีดแบ็คมาแล้ว เมื่อประสบกับสถานการณ์ที่ไม่สบายใจขึ้นมา ก็จะสามารถรู้ได้ด้วยตัวเองว่ารู้สึกเครียดขึ้นมาตอนไหน และสามารถที่จะขจัดความเครียดนั้นออกไปได้

คลินิกไบโอฟีดแบ็คในปัจจุบัน มีอุปกรณ์สำหรับการฝึกหลายชนิดกว้างขวาง จนทำให้สามารถนำไปใช้ฝึกตามที่ต่างๆ ได้ รวมทั้งตามสถานที่อย่างเช่น คลินิกของนักจิตวิทยา โรงพยาบาล ศูนย์ผู้ป่วยนอกและอื่นๆ

เพื่อบำบัดรักษาอาการต่างๆ ที่มากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งอาการปวดศีรษะแบบไมเกรน ปวดศีรษะเพราะเครียด ความเจ็บปวดชนิดต่างๆ ความผิดปกติที่กระเพาะอาหารและลำไส้ อาการปลายนิ้วมือนิ้วเท้าเย็น ความดันโลหิตสูงและต่ำ จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ลมบ้าหมู อัมพาตและความผิดปกติที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอื่นๆ สามารถนำเทคนิคของไบโอฟีดแบ็กมาใช้ได้อย่างกว้างขวาง

หากมีความสนใจและต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ สามารถติดต่อขอได้จากสมาคมและสถาบันไบโอฟีดแบ็คตามที่อยู่ดังต่อไปนี้
Association for Applied Psychophysiology and Biofeedback
2424 Dempter
DesPlaines, IL 6001
USA.
(312) 827-0440

หรือที่
Biofeedback Certification Institute of America
3710 So. Robertson Bivd., Suite 216
Culver City, CA 90232
USA.
(213) 933-9541

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า