สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การแก้ไขปัญหาสุขภาพด้วยการฝังเข็ม

การฝังเข็ม(Acupuncture)
การฝังเข็มเป็นการแพทย์ครบทั้งระบบ มีทั้งส่วนที่เป็นการวินิจฉัยโรค และรักษาโรค ใช้กับความผิดปกติที่เรื้อรัง บรรเทาความเจ็บปวด ช่วยป้องกันโรคและบำรุงสุขภาพ และยังนำมาแก้ไขปัญหาได้ทั้งในด้านสรีระ อารมณ์ และจิตวิทยาการฝังเข็ม

การแพทย์แผนโบราณแบบตะวันออก ซึ่งเป็นการแพทย์ที่นำมาใช้รักษาโรคกันอย่างกว้างขวางที่สุดในโลกมีการฝังเข็มเป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์นั้นด้วย การแพทย์แผนโบราณของทางตะวันออกประกอบไปด้วยการใช้สมุนไพร การอังด้วยของร้อน การประคบ การนวด การใช้อาหารและการออกกำลังกายเบาๆ ควบคู่ไปกับการกดจุด เพื่อแก้ไขความไม่สมดุลของพลังงานในร่างกาย ซึ่งเป็นระบบการแพทย์ที่สมบูรณ์อยู่ในตัวเองแล้ว

ต้นกำเนิดของวิธีการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มมีอยู่ในประเทศจีนโบราณ เรื่องนี้มีอยู่ในตำราฮวงตี้ ไนชิง(หรือการแพทย์ภายในของจักรพรรดิเหลือง ซึ่งเป็นเอกสารการแพทย์แผนโบราณของจีนที่มีเนื้อหากว้างขวาง จัดทำขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิฮวงตี้ หรือจักรพรรดิเหลือง ที่ครองราชย์อยู่ในสมัยปี 2598-2697 ปีก่อนคริสตกาล

ฮวงตี้ไนชิง เป็นหนึ่งในตำราแพทย์ของจีนที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ยังมีอยู่ เป็นตำราหลักเกี่ยวกับทฤษฎีการฝังเข็มที่ยังคงยึดตำราเดิมนี้อยู่ไม่เปลี่ยนแปลงจนถึงปัจจุบันนี้

ได้พบเข็มที่ใช้ในการฝังเข็ม ซึ่งมีอายุเก่าแก่สมัยเมื่อ 4,000 ปีก่อนโดยนักโบราณคดีจีน ในยุคแรกๆ เข็มทำมาจากหิน และต่อมาก็ทำจากทอง เงิน และบรอนซ์

การแพทย์ของจีนได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากปรัชญาและแบบอย่างของปราชญ์ผู้สอนลัทธิเต๋า ซึ่งมีศรัทธาต่อการป้องกันโรคโดยยึดทางสายกลางมานับตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสต์กาล จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7

ในราวปี ค.ศ.1000 การฝังเข็มได้แพร่กระจายเข้าไปสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย และในราวปี ค.ศ.1700 ก็ได้ถูกนำไปเผยแพร่ให้รู้จักกันในยุโรป

เซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ แพทย์ชาวแคนาดา ได้ใช้การฝังเข็มเพื่อรักษาอาการปวดบั้นเอวขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ดร.ออสเลอร์รู้สึกว่าสำหรับการแก้ไขอาการปวดเช่นนี้ การฝังเข็มเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่

ในปี ค.ศ.1970 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันได้ไปเยือนประเทศจีน และระหว่างที่ปฏิบัติภารกิจทางการทูตคราวนี้ เจมส์ เรสสัน ผู้เป็นเลขานุการฝ่ายหนังสือพิมพ์ของประธานาธิบดีนิกสันเกิดล้มป่วยและจำเป็นต้องผ่าตัดไส้ติ่ง การผ่าตัดครั้งนี้มีความพิเศษตรงที่ว่ามีการวางยาสลบด้วยการฝังเข็ม โดยไม่ได้ใช้ยาชาแต่อย่างใด จากเหตุการณ์ครั้งนี้การฝังเข็มก็ถูกนำไปเผยแพร่ในสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา

ประธานาธิบดีนิกสัน ได้ช่วยจัดให้มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของนักวิชาชีพทางการแพทย์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนขึ้น เนื่องจากประทับใจกับสิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการฝังเข็มนี้

ผู้เชี่ยวชาญด้านการฝังเข็มของจีน 30 คน ได้รับเชิญให้เข้ามาร่วมโครงการที่สถาบันการแพทย์ลอสแองเจลีสของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า ยูซีแอลเอ(UCLA)ในปีเดียวกันนั้น จึงเป็นเหตุให้การแพทย์ภายในสารบบของสหรัฐฯ เริ่มรู้จักการฝังเข็มที่เป็นการรักษานอกระบบเป็นครั้งแรก ปัจจุบันนี้มีการใช้วิธีการฝังเข็มเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วยด้วยที่ศูนย์ความเจ็บปวดของยูซีแอลเอ

ปรัชญาโบราณของลัทธิเต๋า เป็นพื้นฐานของทฤษฏีการฝังเข็ม โดยที่นักลัทธิเต๋าเชื่อว่า ลักษณะของจักรวาล สามารถอธิบายได้โดยใช้แนวคิดความเป็นคู่ นั่นคือ หยิน กับหยาง สสารทุกอย่างรวมทั้งร่างกายมนุษย์ทุกส่วน จะประกอบไปด้วย หยิน กับหยาง ซึ่งหยินมีคุณสมบัติของสิ่งที่มืด เย็น ชื้น โอนอ่อนผ่อนตามเป็นขั้วลบและเป็นเพศหญิง ส่วยหยาง เป็นสิ่งที่สว่าง อบอุ่น แห้ง ครอบงำ มีขั้วบวกและเป็นเพศชาย

แม้ว่าโดยธรรมชาติหยินและหยางจะมีความตรงกันข้าม แต่ก็มีความสามารถและบทบาทในเชิงปฏิสัมพันธ์และหักล้างกันได้ ทำให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า สุขภาพ ขึ้น สาเหตุจากความไม่สมดุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าจะเป็นหยินหรือหยางก็ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและอาการของโรคขึ้นมาได้ และสามารถแยกประเภทได้ว่าเป็นโรคหรืออาการแบบหยิน หรือหยาง โดยที่โรคแบบหยิน จะมีอาการของความเสื่อมที่เรื้อรังมานาน เช่น โรคมะเร็ง ส่วนโรคแบบหยาง จะมีอาการรุนแรง มีระยะเวลาสั้น เช่น หวัดหรือเจ็บคอ

ในการแพทย์แผนโบราณของตะวันออก ชี่ ก็เป็นแนวคิดที่มีความสำคัญพอๆ กันกับหยินและหยาง ชาวจีนมีสิ่งที่บอกถึงความเป็นชี่ กว่า 1,000 แบบ ซึ่งทำให้การนิยามคำว่า ชี่ เป็นไปได้ยากยิ่ง แต่เพื่อให้ง่ายขึ้นเราอาจจะคิดถึงชี่ ในฐานะที่เป็นพลังที่อยู่เบื้องหลังชีวิตทั้งมวล แนวคิดเรื่องชี่ หรือพลังงานชีวิตนี้จึงเป็นเสาหลักของการแพทย์นอกระบบ หรือการแพทย์ในแนวที่ผิดแผกไปจากการแพทย์แผนปัจจุบัน

เราสามารถบรรยายถึงชี่ได้อย่างจำเพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้นเนื่องจาก ชี่ มีความเกี่ยวพันกับการฝังเข็ม ซึ่งชี่ เป็นพลังงานชีวิตที่หมุนเวียนผ่านเส้นทางหรือช่องทางเมอริเดียน

ทฤษฎีการฝังเข็มของจีนยืนยันว่า มีเมอริเดียนหรือช่องทางเดินหลักๆ ของพลังงานอยู่ 12 ช่อง โดยจะเดินทางผ่านทั่วร่างกาย และอวัยวะภายในส่วนของ ปอด ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร ม้าม หัวใจ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ ไต สิ่งที่สร้างความอบอุ่นสามเท่า ถุงน้ำดี ตับและประตูชีวิต จะสัมพันธ์กับเมอริเดียน

ตั้งแต่ศีรษะจนถึงนิ้วเท้าจะมีแนวเมอร์ริเดียนทั้ง 12 ทอดไปทั่วร่างกาย มีจุดอยู่มากกว่า 461 จุดสำหรับการฝังเข็ม มีความเชื่อของผู้เชี่ยวชาญด้านการฝังเข็มว่า หากมีชี่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป อาจทำให้เกิดอาการของโรคขึ้นมาได้

หมอฝังเข็มสามารถทำให้เข็มสร้างชี่ขึ้นมาได้ ถ้าร่างกายขาดแคลนพลังงานด้วยการเอาเข็มปักลงที่จุดฝังเข็ม แต่หากมีพลังงานส่วนเกินมากเกินไปก็ระบายชี่ออกไป เมื่อพลังงานสมดุลกันแล้วผู้ป่วยก็จะกลับมามีสุขภาพที่ดีได้

การกระตุ้นจุดฝังเข็มยังอาจทำได้โดยใช้ความร้อน ความเย็น แรงกดและกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นวิธีที่นอกเหนือจากการใช้มือแบบธรรมดาๆ ทั่วไปแล้ว และขณะนี้ชาวจีนกำลังมีการทดลองใช้แสงเลเซอร์เป็นปัจจัยในการกระตุ้นจุดต่างๆ เหล่านี้

วิธีการกระตุ้นจุดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือการให้ความร้อน หรือที่มีศัพท์ใช้ว่า ม็อกซาบัสชั่น(moxabustion) สามารถนำการให้ความร้อนมาใช้ควบคู่กับการบำบัดรักษาด้วยการฝังเข็ม หรือจะใช้รักษาแบบโดดๆ ก็ได้ เทคนิคการใช้ความร้อนอังแบบโบราณ ทำโดยแพทย์แผนโบราณ ซึ่งจะเอาก้อนหรือกองม็อกซา(moxa)ซึ่งเป็นใบของต้นเวิร์มวู้ดจีน กองเล็กๆ วางลงที่ปลายเข็มที่ปักไว้ หรือวางลงบนผิวหนังแล้วจุดไฟขึ้น เมื่อติดไฟ ม็อกซาก็จะลุกแดงขึ้นโดยไม่ก่อให้เกิดเปลวไฟ รูปแบบการอังความร้อนที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบันนี้ เป็นไม้ที่จัดทำขึ้นเพื่อการพาณิชย์ สามารถนำมาใช้ได้สะดวกกว่าไม้ม็อกซาที่จุดไฟ โดยจะถูกเคลื่อนไปรอบๆ เข็ม เพื่อก่อให้เกิดความร้อนอ่อนๆ สม่ำเสมอกัน เพื่อกระตุ้นจุดดังกล่าว

การกระตุ้นจุดด้วยไฟฟ้า ทำโดยการส่งกระแสไฟฟ้าในปริมาณเล็กน้อยเข้าไปที่เข็มเป็นจังหวะๆ โดยกระแสไฟฟ้านี้จะได้มาจากอุปกรณ์เล็กๆ ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่สามารถปรับความถี่และความรุนแรงได้

องค์การอนามัยโลกได้รับรองว่าวิธีการบำบัดรักษาโรคต่างๆ กว่า 100 โรคที่สามารถทำได้ด้วยการฝังเข็ม และสถาบันยาเสพย์ติดแห่งชาติ และสถาบันแอลกอฮอล์และโรคพิษสุราเรื้อรังแห่งชาติของสหรัฐฯ ก็ยังได้ริเริ่มโครงการสาธิตการใช้การฝังเข็มเพื่อล้างพิษโคเคนและรักษาโรคพิษสุราเรื้อรังด้วย แต่คนในสหรัฐฯ กลับรู้จักการฝังเข็มในแง่ที่มันระงับความเจ็บปวดได้เท่านั้น

การฝังเข็มถูกนำมาใช้ในสหรัฐอเมริกาเพื่อแก้ปัญหาทางกายภาพต่างๆ อย่างกว้างขวางในปัจจุบันนี้ เพื่อระงับปวด แก้ปัญหาที่ระบบทางเดินอาหาร ไซนัส รักษาโรคเกี่ยวกับสูตินรีเวช ความเครียด หืดหอบ เอดส์ ปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะสำหรับปัสสาวะ กามตายด้าน เป็นหมัน เจ็บขัดที่ข้อศอก ไหล่ตึง เส้นเอ็นอักเสบในรูปแบบต่างๆ ปัญหาเกี่ยวกับไขข้อและข้อต่อ และอื่นๆ อีกมากมาย

กลไกการฝังเข็มแม้จะยังอธิบายไม่ได้แน่นอนว่าทำงานอย่างไร แต่ดร.บรูซ โพเมอแรนซ์ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยโตรอนโตก็ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องปฏิกิริยาทางสรีรวิทยาที่ร่างกายมีต่อการฝังเข็ม และได้พบว่า การฝังเข็มทำให้ร่างกายมีการหลั่งสารเอ็นโดร์ฟินออกมา และมีสารที่ชื่อว่า คอร์ทิโซล ก็ถูกหลั่งออกมาพร้อมๆ กัน ซึ่งคอร์ทิโซลนี้เป็นยาแก้อักเสบตามธรรมชาติในร่างกาย การระงับปวดและลดการอักเสบต่างก็ช่วยกันส่งเสริมรักษาให้หายจากโรคต่างๆ ผลการวิจัยนี้ดูจะอธิบายว่า ทำไมการฝังเข็มจึงใช้กับความผิดปกติที่ข้อต่อและโครงสร้างได้ผลดี

เข็มที่ใช้ในการฝังเข็มมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงสามเท่าของเส้นผมซึ่งมีขนาดเล็กและบางมาก ทำจากเหล็กที่ไม่เป็นสนิม ไม่กลวงเหมือนเข็มฉีดยา ไม่มีการฉีดสารใดๆ เข้าไปในร่างกาย มีการกำหนดให้ฆ่าเชื้อเข็มที่ใช้ในการฝังเข็มชนิดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ในสหรัฐอเมริกาตามวิธีการที่หน่วยงานของแต่ละมลรัฐและรัฐบาลกลางกำหนด แต่หมอฝังเข็มส่วนใหญ่ก็หันมาใช้เข็มชนิดที่ใช้แล้วทิ้งกันไปเมื่อมีไวรัสเอดส์แพร่ระบาดขึ้น

เป็นเวลานับร้อยๆ ปีที่เทคนิคการฝังเข็มได้รับการปรับปรุงแก้ไขเรื่อยมา เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายมากขึ้น ผู้ป่วยแทบจะไม่รู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัวเลยถ้าได้รับการฝังเข็มจากหมอที่เชี่ยวชาญ

ในประเทศจีน การแพทย์แผนโบราณถูกนำมาใช้ประสานกันระหว่างของตะวันออกและตะวันตก ซึ่งในโรงพยาบาลจีนทั่วไปมักจะมีส่วนหนึ่งที่จัดไว้สำหรับการฝังเข็ม และอีกที่หนึ่งจัดไว้สำหรับการแพทย์แผนปัจจุบัน และเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการแพทย์ทั้งสองแบบก็จะมีการย้ายผู้ป่วยไปมาระหว่างสองส่วนนี้

การฝังเข็มรักษาโรคมีกันอย่างกว้างขวางทั่วเอเชียในทุกวันนี้ และตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา การฝังเข็มก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในสาธารณรัฐต่างๆ ของอดีตสหภาพโซเวียตและในยุโรป ในสหรัฐฯ ปัจจุบันนี้หมอฝังเข็มที่เริ่มให้การบำบัดรักษาด้วยวิธีนี้เพิ่มขึ้นมาใหม่ปีละเป็นร้อยๆ คน

มีโรงเรียนสอนการฝังเข็มอยู่กว่า 30 แห่งในสหรัฐฯ เงื่อนไขการสมัครเข้าเรียนในสถาบันการฝังเข็มประกอบไปด้วยหลักสูตรวิทยาศาสตร์ของทางตะวันตก เช่น กายภาควิทยา สรีรวิทยา และเคมี ระยะเวลาในการเรียนการสอนประมารณ 2,400 ชั่วโมง ซึ่งปกติแล้วจะใช้เวลาเรียน 3-4 ปี

ในแต่ละมลรัฐของสหรัฐฯ จะมีระเบียบและการให้ใบอนุญาตของนักวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่แตกต่างกันไป บางรัฐก็ไม่มีระเบียบเรื่องการให้การบำบัดรักษาด้วยการฝังเข็ม ซึ่งในหลายรัฐก็มีการให้ใบอนุญาตแก่หมอฝังเข็ม แต่บางรัฐก็อนุญาตให้แต่เฉพาะแพทย์ที่มีใบอนุญาตเท่านั้นที่จะใช้วิธีการฝังเข็มในการบำบัดรักษาได้

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า