สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การผลิตของน้ำนมแม่

เต้านมอวัยวะมหัศจรรย์

“สงสัยจะเลี้ยงลูกไม่พอแน่ ถ้าเต้านมเล็กขนาดนี้”
“ลูกดูดจนหัวนมระบมไปหมดแล้ว เจ็บมากค่ะ”
“ลูกร้องอยู่เรื่อย เพราะมีน้ำนมน้อยไม่พอให้กิน”
“อยากให้มีน้ำนมมากๆ ต้องทำอย่างไรคะ”

ผู้ที่กำลังจะเป็นคุณแม่และต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จำนวนมาก ก็คงมีข้อสงสัยและปัญหาเหล่านี้อยู่ในใจ เกิดความกังวลขึ้น เนื่องจากยังไม่เข้าใจสรีรวิทยาและการทำงานของเต้านมดีพอ แต่ถ้าเข้าใจถึงพัฒนาการและการทำงานของเต้านมดีแล้ว คุณแม่ก็จะมีความมั่นใจว่าตนสามารถให้นมแม่แก่ลูกได้อย่างแน่นอน

การผลิตน้ำนม
เป็นการผลิตอาหารที่ยอดเยี่ยมสำหรับลูกอ่อน และมีปริมาณพอ ระบบการสร้างน้ำนมเป็นระบบอัตโนมัติ เมื่อทารกดูดนมจากเต้า เต้านมก็จะสร้างน้ำนมขึ้นมาใหม่ เท่ากับที่ทารกต้องการ

ประเพณีของชาวแอฟริกาบางเผ่า จะให้ทารกแรกเกิดดูดนมจากอกของแม่และยาย เพราะถ้าเกิดภัยพิบัติใดๆ ก็จะได้มีนมเหลือเฟือจากทั้งแม่และยาย จะเห็นได้ว่ายาย ผู้ที่ไม่ได้ให้นมแม่มานาน ก็ยังถูกกระตุ้นให้หลั่งน้ำนมได้อีก จึงไม่ต้องห่วงว่าผู้ที่เพิ่งคลอดใหม่ๆ น้ำนมจะไม่ไหล แม้สัปดาห์แรกยังไม่ได้ให้นมลูก แต่ก็ยังไม่สายถ้าจะกลับมาให้นมแม่แก่ลูก

ผู้หญิงที่ให้กำเนิดบุตรแล้วจะมีน้ำนมในเต้าทุกคน โรคใดๆ ก็ไม่อาจขัดขวางการให้นมของแม่ได้ถ้าแม่มีความพร้อม เว้นเสียแต่จะเป็นโรคติดเชื้อร้ายแรง หรือโรคจิตเภท

พัฒนาการของเต้านม
ตั้งแต่ระยะต้นๆ ของตัวอ่อน ก็จะเริ่มเกิดต่อมน้ำนมขึ้นตามแนว 2 แนว เรียก milk line ซึ่งลากลงไปตามส่วนกลางของลำตัว ต่อมน้ำนมในมนุษย์จะเกิดขึ้นบริเวณส่วนบนของ milk line คือ บริเวณทรวงอก จะเริ่มมีหัวนม ลานหัวนมหรือสีคล้ำรอบหัวนม และท่อน้ำนมเกิดขึ้น เมื่อตัวอ่อนมีอายุได้ 5 เดือน

เต้านมจะเติบโตตามปกติเช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ ในวัยเด็ก เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น รังไข่ของเด็กผู้หญิงจะเริ่มหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้มีการขยายขนาดของหัวนมและลานหัวนมขึ้น มีการเจริญเติบโตเพิ่มมากขึ้นของต่อม เนื้อเยื่อ และท่อน้ำนม รอบๆ ท่อน้ำนมจะมีไขมันพอกพูนอยู่รอบๆ เป็นรูปร่างเต้านมของวัยสาว

จริงหรือที่เต้านมเล็กจะเลี้ยงลูกได้ไม่พอ
ส่วนประกอบในเต้านมจะมีเนื้อต่อมนมอยู่รวมกันเป็นเหมือนพวงองุ่น เป็นกิ่งก้านที่เป็นท่อน้ำนมฝอยที่แตกแขนงย่อยเป็นจำนวนมาก แล้วมารวมกันเป็นกระเปาะท่อน้ำนม จะสะสมน้ำนมไว้ใต้ลานหัวนม ท่อน้ำนมจะตีบตัวลงไปเปิดรูเปิดบริเวณปลายหัวนม

เนื้อต่อมนมจะเป็นส่วนที่สร้างน้ำนม ภายในเป็นโพรงติดต่อกับท่อน้ำนมฝอย มีเซลล์หลั่งน้ำนมเรียงรายล้อมรอบโพรงนี้อยู่ชั้นเดียว จะทำหน้าที่หลั่งน้ำนมไปสู่โพรงให้ออกไปตามท่อน้ำนม

ก่อนการตั้งครรภ์ ขนาดของเต้านมที่เล็กหรือใหญ่ของบางคน จะขึ้นอยู่กับไขมันที่แทรกอยู่ระหว่างเนื้อต่อมนมและท่อน้ำนมฝอย หากมีไขมันมากขนาดก็จะใหญ่ ถ้ามีไขมันน้อยขนาดก็เล็กตามส่วน แต่จะมีเซลล์หลั่งน้ำนมที่เท่ากัน ไม่ว่าภายนอกจะดูว่าเต้านมเล็กหรือใหญ่ แต่ภายในนั้นสามารถสร้างน้ำนมได้มากพอเพียงสำหรับลูกได้เสมอ

ในระหว่างตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของเต้านมอย่างไร
ก่อนมีประจำเดือน 1-2 วัน ผู้หญิงบางคนจะมีรู้สึกเจ็บๆ ตึงๆ ที่เต้านมซึ่งเป็นอาหารปกติ ในสัปดาห์แรกๆ ที่ยังไม่รู้ว่าตั้งครรภ์จะมีอาการตึงของเต้านม และคิดว่าอาการจะหายไปเมื่อประจำเดือนมา แต่จะเริ่มแปลกใจเมื่อประจำเดือนขาดแต่ยังมีอาการตึงในเต้านมอยู่ เมื่อไปตรวจปัสสาวะดูจึงรู้ว่าตั้งครรภ์

ถ้าสังเกตบริเวณลานหัวนมในระยะนี้ ก็จะพบตุ่มนูนๆ เป็นตะปุ่มตะป่ำคล้ายกับหัวสิว ตุ่มเหล่านี้เป็นรูเปิดของต่อม Montgomery ที่อยู่ในผิวหนังใต้ลานหัวนม ต่อมนี้จะหลั่งสารหล่อลื่นหัวนมเพื่อให้ลานหัวนมมีความยืดหยุ่น เมื่อถูกดูดเข้าในปากลูกก็จะปรับรูปร่างได้มากขึ้น

ไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว จะสร้างฮอร์โมนกระตุ้นรังไข่ให้หลั่งฮอร์โมนที่ทำให้มดลูกหนาตัวขึ้นในระยะแรกของการตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมรับการฝังตัวของตัวอ่อน ท่อน้ำนมก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น 6 สัปดาห์หลังจากตั้งครรภ์ จะมีการพัฒนาของรกจนสามารถสร้างฮอร์โมนขึ้นได้ ทั้งเซลล์หลั่งน้ำนมและต่อมนมก็เพิ่มปริมาณขึ้นรอบๆ ท่อน้ำนมในระยะนี้ เมื่อเข้าเดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์ เต้านมมีการขยายขนาดมากขึ้นจนต้องเปลี่ยนขนาดยกทรงที่ใช้อยู่เดิม เนื่องจากการเพิ่มของเนื้อต่อมนมนี้เอง

รกจะเริ่มหลั่งโปรแลกตินในระยะหลังการตั้งครรภ์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเนื้อต่อมนมให้เจริญมากขึ้น ทำให้เซลล์หลั่งน้ำนมเริ่มทำงาน ตั้งแต่เดือนที่ 4-5 ของการตั้งครรภ์จึงมีน้ำนมในเต้านมแล้ว หลังจากช่วงนี้ไปถ้ามีการคลอดก่อนกำหนด ก็จะมีการหลั่งนมได้

อาจจะสงสัยกันว่า เหตุใดหญิงมีครรภ์จึงไม่มีการหลั่งน้ำนมออกมา ในเมื่อมีโปรแลกตินกระตุ้นการหลั่งน้ำนมและมีน้ำนมผลิตขึ้นมาแล้ว เหตุผลก็เพราะว่า เมื่อรกยังอยู่ในร่างกายก็ยังมีการสร้างฮอร์โมนขึ้นมายับยั้ง แต่เมื่อรกหลุดพ้นออกจากร่างกายแล้วโปรแลกตินก็จะหยุดการยับยั้งการหลั่งน้ำนม

การหลั่งน้ำนมของเต้านมจะเริ่มขึ้นทันทีหลังจากที่ทารกและรกคลอดออกมาแล้ว ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจบทแรกของแม่คนใหม่

การเริ่มต้นหลั่งน้ำนม
ทารกจะตื่นตัวในชั่วโมงแรกหลังจากคลอด ช่วงนี้เป็นเวลาที่เหมาะที่สุดที่จะเริ่มความสัมพันธ์ของแม่และลูก ทารกบางคนลืมตาจ้องแม่และพร้อมที่จะดูดนม เมื่อเอานมเข้าปากทารกจะมีสัญชาตญาณของการดูด การดูดนี้ก็จะไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน ซึ่งมีผลทำให้มดลูกหดตัว ลดอัตราการตกเลือดหลังคลอดได้ดี

ในทันทีที่คลอด น้ำนมแม่จะมีหัวน้ำนมสีเหลือง ที่ประกอบไปด้วยสารอาหารและภูมิคุ้มกันโรคแก่ทารก หัวน้ำนมมีประโยชน์กับลูกมากมายแม้จะได้รับเพียงมื้อเดียว และยังช่วยระบายอุจจาระที่ค้างในลำไส้เมื่อแรกเกิดที่เรียกว่า ขี้เทา ด้วย

การกระตุ้นฮอร์โมนโปรแลกติน
น้ำนมจะหลั่งมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนโปรแลกติน วิธีทำให้โปรแลกตินหลั่งมากและทำให้มีน้ำนมมาก ก็คือ การดูดของทารก เมื่อให้ดูดบ่อยๆ ก็จะกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนนี้และทำให้มีน้ำนมมากขึ้นด้วย ในวันแรกที่ให้นมควรให้ทารกดูดนมแม่ตามความต้องการบ่อยๆ ไม่ต่ำกว่าวันละ 9 ครั้ง การให้นมลูกถือเป็นการพักผ่อนไปในตัว โดยที่แม่อาจนอนให้ลูกดูดนมอยู่บนเตียงและงีบไปพร้อมกับลูกก็ได้ และมื้อกลางคืนก็ยิ่งสะดวกกว่าการให้นมขวดแน่นอน

ใน 2-3 วันแรกที่น้ำนมแม่ยังไม่ค่อยมี แม่บางคนอาจคิดว่าการให้นมแม่อย่างเดียวลูกคงได้รับน้ำและสารอาหารไม่เพียงพอ และพยายามให้นมขวดเสริมเข้าไป แต่การให้นมขวดในระยะนี้จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่สำเร็จ

เมื่อให้ทารกดูดนมขวดด้วย ก็จะทำให้ดูดนมแม่น้อยลง การกระตุ้นให้เกิดการหลั่งของโปรแลกตินก็น้อยตามไปด้วย ทำให้ยิ่งมีน้ำนมออกน้อย ทารกบางรายอาจไม่ยอมดูดนมแม่อีกเลยเมื่อได้ลองดูดนมขวด เพราะนมขวดจะไหลเข้าปากเอง ไม่ต้องดูดเหมือนนมแม่

ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคุณแม่ว่าจะต้องการให้ลูกได้รับอาหารที่ยอดเยี่ยมในชีวิตอย่างนมแม่หรือไม่ หากตั้งใจจะให้นมแม่จริงๆ ในช่วงแรกนี้ควรเลิกคิดถึงขวดนมไปเลย

ธรรมชาติได้ปรับนมแม่ให้เหมาะสมกับลูกที่สุดแล้ว ทารกจะต้องการน้ำและพลังงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้นใน 2-3 วันแรก เพราะมีการสะสมน้ำและไขมันไว้ในร่างกายมากพอแล้ว เด็กแรกเกิดจะมีไขมันใต้ผิวหนังมากจึงทำให้ผิวหนังเต่งตึง แขนขาก็กลมกลึง การให้นมแม่ในระยะแรกๆ จะมีโปรตีนสูงกว่าการให้ในระยะหลัง คุณแม่จึงมั่นใจได้ว่า การให้นมแม่อย่างเดียวก็เพียงพอสำหรับลูกแล้ว

ภายใน 24-36 ชั่วโมง หัวน้ำนม จะเปลี่ยนเป็นน้ำนมในระยะเปลี่ยนแปลง น้ำนมจะมากจนเกิดอาการคัดเต้านมในวันที่ 3 เต้านมมีน้ำเต็มจึงทำให้ตึง อาการคัดนี้จะบรรเทาลงถ้าให้ลูกดูด และต่อมาการผลิตน้ำนมแม่ก็จะปรับให้เข้ากับความต้องการของลูก นมแม่หลังจาก 2 สัปดาห์ก็จะเปลี่ยนเป็นนมแม่ในระยะหลัง เพื่อให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของทารก

ความสามารถการผลิตน้ำนมแม่
ปริมาณน้ำนมที่ถูกเอาออกจากเต้าก็จะมีการผลิตเพิ่มตามปริมาณที่ถูกเอาออกนั้น ต่อมน้ำนมเป็นทั้งที่เก็บน้ำนม และเป็นโรงงานผลิตน้ำนม ซึ่งจะมีการผลิตอยู่ตลอดเวลา การดูดนมนานๆ และบ่อยๆ ของทารกจะทำให้มีการผลิตเพิ่มมากขึ้นไปด้วยตามความต้องการของทารก และถ้าทารกดูดนมน้อย ก็จะทำให้มีการผลิตน้ำนมน้อยลงตามไปด้วย

การผลิตน้ำนมของผู้หญิงแต่ละคน จะทำได้ไม่เท่ากัน แม่สามารถให้นมลูกฝาแฝดได้ถ้ามีประสบการณ์ แม่ทั่วไปจะมีน้ำนมเลี้ยงทารกได้ 1 คนเสมอ เพราะความสามารถในการผลิตน้ำนมมักจะมากกว่าความต้องการเสมอ ด้วยเหตุนี้ ในสหรัฐอเมริกาจึงมีธนาคารนมแม่ โดยให้หญิงที่ผลิตน้ำนมได้มากบริจาคน้ำนมและเก็บแช่แข็งไว้ เพื่อใช้กับทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือทารกที่มีความเจ็บป่วย

แม้แม่จะมีน้ำนมเพียงเล็กน้อยในตอนแรก แต่ทุกคนก็สามารถให้นมแก่ลูกได้ การให้ลูกดูดนมแม่จะช่วยกระตุ้นให้เต้านมสร้างฮอร์โมนโปรแลกติน ทำให้มีน้ำนมเพิ่มมากขึ้น เมื่อให้ไปได้สักระยะหนึ่งและไม่ควรหันไปให้นมขวดเสียตั้งแรกเริ่ม

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิถีแห่งธรรมชาติ
โดย: พ.ญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า