สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การป้องกันโรคจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม

ด้วยโรคจากการทำงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นโรคที่ส่วนใหญ่เรื้อรัง รุนแรง รักษาไม่ค่อยได้ (Chronic, severe and uncurable) เนื่องจากการ เกิดพยาธิสภาพอย่างถาวร เช่นโรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง ซิลิโคซิส พิษตะกั่วระยะท้าย และพิษแมงกานีส ส่วนที่ไม่เรื้อรังก็มักรุนแรงและรอดได้ยาก กล่าวคือถึงแก่ชีวิตได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าไม่รู้ถึงสาเหตุจากงาน เช่น Heat stroke, Heat exhaustion and Carbonmonoxide poisoning ถึงแม้โรคในกลุ่มนี้จะรักษาไม่ค่อยได้แต่สามารถป้องกันได้ (Uncurable but preventable) ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นโรคที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง (Manmade diseases) มิใช่เกิดจากธรรมชาติ จะมีบ้างในส่วนโรคที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมบางประเภท

ในประเทศไทยได้มีรายงาน เรื่องการเกิดโรคจากการทำงานที่เป็นการระบาดในหมู่ผู้ทำงาน ซึ่งปรากฏรายงานต่อสาธารณชนและอื่นๆ ไม่ต่ำกว่า 10 กรณีในกรณีในแต่ละปีของ 10 ปีที่ผ่านมา และ โรคจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มีรายงานการเกิดโรคมากในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีรายงานปีละกว่า 10 ครั้ง เช่นกัน ในบางกรณี เป็นปัญหารุนแรงมาก เช่นกรณีสารเคมีแพร่กระจายที่บริเวณท่าเรือคลองเตย ในเดือน มีนาคม 2534 และระยะที่ผ่านมามีความพยายามทั้งในส่วนกลางได้แก่กองอาชีวอนามัย และกองอนามัย สิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ที่จะควบคุมสถานการณ์โรคในกลุ่มนี้อยู่มาก แต่เนื่องจากปัญหาโรคจากการทำงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่มีขนาดใหญ่ และยังมิได้กระจายงานแบบครบวงจรในพื้นที่ไปยังท้องถิ่นอย่างเต็มรูป ทำไห้ยังไม่สามารถควบคุมและป้องกันการเกิดโรคในกลุ่มนี้ได้

แนวทางในการป้องกันโรคจากการทำงาน และสิ่งแวดล้อม มีหลักการเช่น เดียวกับการป้องกันโรคติดต่อ และไม่ติดต่อที่เรารู้จักกันดีแล้ว และเนื่องจากกลุ่มโรคนี้มักมีสาเหตุมาจากมลภาวะเป็นพิษทั้งในการผลิต และที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปด้วย จึงมีหลักในการป้องกันใกล้เคียงกัน ที่สำคัญคือ

1. การรู้ถึงสาเหตุของการเกิดโรค
2. การรู้ถึงการกระจายของโรคที่เกิด
3. การรู้ระยะของโรค การดำเนินของโรค หรือธรรมชาติของโรคนั้นๆ
4. การรู้หลักการป้องกันโรคที่ดำเนินการที่ปัจจัยก่อโรค ในที่นี้หมายถึง Engineering Control
5. การรู้หลักการป้องกันโรคที่ดำเนินการที่บุคคลที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค
6. การรู้หลักการป้องกันโรคที่ดำเนินการที่สิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการ เกิดโรค
7. การรู้หลักการบริหารเพื่อป้องกันโรค

จะกล่าวถึงหลักการป้องกันแต่ละอย่างพอเป็นสังเขปดังนี้

1. การรู้สาเหตุของการเกิดโรค ได้แก่ ตัวอย่างที่รู้ว่าโรคปอดที่ทำให้คนงานและผู้อาศัยใกล้เคียงโรงงานโม่หินที่มีฝุ่นหินทรายฟุ้งกระจายนั้น เป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นซิลิกา จะป้องกันได้ต้องกำจัดฝุ่นหินนั้น ไม่ให้คนไปสัมผัส และปรับปรุงสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ฝุ่นมีมาก หรือคนที่เกี่ยวข้องต้องอ่อนแอ

2.การรู้การกระจายของโรค โดยใช้วิธีการทางระบาดวิทยา เพื่อให้ทราบกลุ่มบุคคลที่เกิดโรค พื้นที่เกิดโรค และเวลาในการเกิดโรค (person, place, time) จะทำให้สามารถกำหนดกลุ่มที่เป็นปัญหาสาธารณสุขได้ตามความรีบด่วนของปัญหา เช่นเดียวกับการกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการป้องกัน และระยะเวลาที่เหมาะสมอีกด้วย

3. การรู้ธรรมชาติของการเกิดโรค เนื่องจากโรคแต่ละโรค และกลุ่มโรค จะมีการดำเนินของโรคที่ต่างกันออกไป ซึ่งมีผลต่อการกำหนดวิธีการป้องกันที่เหมาะสม ได้แก่การป้องกันระยะที่เริ่มได้รับปัจจัย ก่อโรค ระยะสะสมที่ยังไม่แสดงอาการ ระยะปรากฏอาการเริ่ม ระยะโรครุนแรง และระยะหายของโรค ที่อาจตายหรือปรากฏความพิการ มีหลักการทั่วไปคือ

1. การป้องกันโรคชนิดปฐมภูมิ (Primary Prevention) เป็นการป้องกันระยะที่โรคยังไม่เกิด ได้แก่การส่งเสริมสุขภาพทั่วไปของผู้ทำงาน และผู้สัมผัสมลพิษ ได้แก่งานอนามัยด้านต่างๆ ส่งเสริม สุขภาพจิต ส่งเสริมอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัยที่ดี มีการสุขาภิบาลที่ดี มีโรงงานที่สะอาด และมีชุมชนที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี สร้างนิสัยที่ดี เช่นไม่เป็นผู้ผลิตขยะฟุ่มเฟือย ลดการผลิตขยะ และแยกขยะก่อนกำจัด

จัดให้มีอ่างล้างมือ ล้างหน้า ในและนอกบริเวณงาน ไม่ควรมีเพียงหน้าห้องสุขาอย่างเดียว ส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยที่ดีอื่นๆ

นอกจากนั้น การป้องกันระยะนี้ หมายรวมถึงการตรวจสุขภาพทางการแพทย์ เป็นระยะๆ โดยมีการตรวจสุขภาพทั่วไป และสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยที่สัมผัส เพื่อจะสามารถสืบค้นปัญหาสุขภาพได้ ตั้งแต่ระยะแรกของโรค และควรมีการตรวจทางอาชีว เวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในที่นี้มิใช่หมายถึงการตรวจพิเศษ หรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างเดียว เช่นการทำ audiogram หรือการตรวจระดับตะกั่วในเลือด หรือในปัสสาวะ และที่พบบ่อยคือการตรวจภาพรังสีทรวงอกโดยใช้ภาพเล็กแบบการถ่ายรูป ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถบอกถึงการเปลี่ยนแปลงในระยะเริ่มได้

ปัจจุบัน พบการตรวจสุขภาพแบบผิดๆ มาก เช่นการตรวจหาเชื้อมาเลเรีย แทนที่จะตรวจภาพรังสีทรวงอกในผู้ทำงานสัมผัสกับแอส เบสตอส ซึ่งไม่สอดคล้อง การตรวจหูแล้วไม่ทราบจะแปรผลอย่างไร ว่าเป็น Noise induced hearing loss หรือ Conductive type หรือ Sensorineural hearing loss ทำให้ไม่ทราบปัญหาที่แท้จริง ไม่สามารถวางแผนแก้ปัญหาได้ผล การ X-ray รูปเล็กก็ไม่สามารถพบ โรคนิวโมโคนิโอซิสได้ ยิ่งในระยะเริ่มแรกของโรค ทำให้ตรวจสุขภาพแต่ละครั้งไม่เคยพบโรคและไม่สามารถทราบปัญหา เพื่อประกอบวางแผนการป้องกันได้ ตัวอย่างเช่นผลการตรวจคน 400 คน ไม่พบผู้ใดป่วย ซึ่งเป็นตัวอย่างจริง ซึ่งข้อมูลนี้ผิดจากข้อเท็จจริง เป็นอย่างมาก เพราะแม้ในประชากรปกติทั่วไปยังพบโรคได้มากกว่านี้มาก อีกกรณีที่พบก็คือการตรวจเลือดพบ Eosinophil ในประชากรคนทำงานสูงจำนวนมาก และมี Hemogolbin ต่ำ จำนวนไม่น้อย ก็ได้รับการแจ้งผลการตรวจมาว่าปกติ ทำให้หลงทางได้

2. การป้องกันโรคทุติยภูมิ (Secondary Prevention) เป็นการป้องกันในระยะเกิดโรคแล้ว และป้องกันเพื่อไม่ให้รุนแรงขึ้น หรือตายได้ ประกอบด้วยการรักษาทางอาชีวเวชศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม รักษาเมื่อป่วยแล้ว ในที่นี้เรื่องการรักษาทั้งด้านภาวะฉุกเฉิน Mass casaulty และการรักษายามปกติล้วนต้องได้รับการพิจารณา เตรียมการทั้งสิ้น เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่เป็นตัวอย่าง เช่นผู้ป่วยโรคซิลิโคซิส ได้รับการรักษาแบบวัณโรคอย่าง เดียวนานติดต่อ 9 ปี กว่าที่จะทราบว่าเป็นโรคซิลิโคซิส เพื่อนร่วมงานก็ต้องป่วยกันต่อไป รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมใกล้โรงงานที่ก่อมลภาวะที่เป็นฝุ่นหินนั้นๆ เป็นจำนวนไม่น้อย และบางรายรุนแรง โดยที่ไม่ได้ป้องกันกันตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว ผู้ป่วย Heat Exhaustion or Heat Stroke ซึ่งไม่ได้รับการทำงาน พิจารณาโดยรอบคอบ นอกจากนั้นยังหมายรวมถึงการตรวจติดตามอีกด้วย

3. การป้องกันตติยภูมิ (Tertiary Prevention) เป็นการป้องกันหลังได้รับการรักษาแล้ว คือ ระยะหายของโรค ป้องกันความพิการ ฟื้นฟูสมรรถภาพก่อนเข้างาน ตรวจความพร้อมก่อนกลับประจำการ หรือ กลับไปอยู่ในสิ่งแวดล้อม และการตรวจติดตาม

4. การรู้หลักการป้องกันโรคโดยวิธีทางวิศวกรรม กระหำที่ปีจจัยก่อโรค
Engineering Control เป็นศาสตร์ที่สำคัญในการป้องกันโรคจากการทำงาน และสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะมีประสิทธิภาพสูง แก้ที่ปัจจัยก่อโรค ป้องกันที่แหล่งผลิตมลภาวะ เช่น

-เลือกใช้กระบวนการผลิตที่ไม่ก่อมลภาวะ หรือมีมลภาวะน้อย
-ใช้วัสดุที่ไม่มีปัญหา เรื่องความเป็นพิษต่อสุขภาพ ทดแทนวัสดุที่ เป็นพิษมาก
-ระบบกำจัดฝุ่นจากแหล่ง (ดังระบบการกำจัดฝุ่น ควัน และฟูมในรูปที่ 1)

health-0312 - Copy

รูปที่ 1 ระบบการกำจัดฝุ่น ฟูม และควัน ที่แหล่ง ต้องเลือกให้เหมาะสม

health-0312 - Copy1

รูปที่ 2 เครื่องมือที่มีการกำจัดฝุ่นด้วย

-การลดเสียงดังของเครื่องจักร
-ระบบกั้นเครื่องจักร ระบบแยกผู้ทำงาน
-ระบบเครื่องกั้นเครื่องจักร เครื่องกั้นรังสี
-ระบบ Maintainace เครื่องจักร
-ระบบการกำหนด Specificetion ของเครื่องจักร
-การเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมไม่ก่อปัญหามลภาวะ (ดังรูปที่ 2 )
-การปรับกระบวนการผลิต และกระบวนการทำงาน เพื่อส่งเสริมอาชีวอนามัย และอื่นๆ
-มีระบบกำจัดมลภาวะจากแหล่งของชุมชนที่เหมาะสม และมีการ Maintain ระบบ
-พัฒนาเทคโนโลยีที่ก่อมลภาวะน้อย และเทคโนโลยีทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เหมาะสม

5. การรู้ เรื่องการป้องกันโรคที่บุคคลผู้เสี่ยงต่อการเกิดโรค

นอกจากการตรวจสุขภาพประจำปีก่อนการเกิดโรคแก่บุคคลแล้ว ยังได้แก่ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมอนามัย ตลอดจนถึงการใช้ที่ป้องกันสุขภาพในการทำงานซึ่งเป็น Behavioral Science

ในการป้องกันโรคในกลุ่มนี้นั้น สิ่งหนึ่งที่ยังขาดไปในเรื่องอนามัยและความปลอดภัยในงานคือการขาดการเข้ามามีส่วนร่วมตามความรู้ และความเหมาะสมของสภาพงานในแต่ละที่ของผู้ทำงานระดับปฏิบัติ ผู้เชี่ยวชาญทางอาชีวเวชศาสตร์หลายท่านได้กล่าวว่า ผู้ทำงานเท่านั้นที่รู้เรื่องงานกับสุขภาพของเขาดีที่สุด เป็นสิ่งที่นักวิชาการที่เกี่ยวข้องละเลยไม่ได้ จะรักษา จะวินิจฉัย จะป้องกัน ล้วนต้องเริ่มจากการที่ต้องให้รู้เรื่องดังกล่าวจากผู้ทำงานให้ชัดเจน เช่นการซักประวัติการทำงาน ถึงแม้ผู้ทำงานระดับปฏิบัติจะไม่รู้งาน ทั้งระบบทั้งในด้านการบริหารจัดการ การผลิต หรือวิชาการทางด้านอนามัยและความปลอดภัย แต่ผู้ทำงานจะรู้เรื่องในสิ่งที่เขาปฏิบัติจริงทุกๆ วันได้ดียิ่ง การเปิดโอกาสให้ผู้ทำงานได้รับรู้และ เข้าใจเรื่องราวทางด้านสุขภาพเกี่ยวข้องกับตนเองจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำมาก แต่เนื่องจากผู้ทำงานนั้นอยู่ในระบบการผลิตที่มักมีระบบการบริหารจัดการระดับหนึ่งจนกระทั่งดีมาก การที่จะจัดอบรมเผยแพร่ความรู้แก่ผู้ทำงานให้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุข เต็มที่เช่นที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการในระดับหมู่บ้านก็ไม่น่าที่จะสอดคล้อง และปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพผู้ทำงานคือระบบบริหารจัดการของหน่วยงาน โรงงาน และบริษัทนั่นเอง จึงควรที่จะได้ผสมผสานแนวคิดการป้องกันโรคที่ระดมเอาประสบการณ์จริงของผู้ทำงาน เข้ากับประสบการณ์ในด้านระบบงานของการบริหารจัดการ และความรู้ในทางวิชาการ เข้าที่สะสมด้วยกัน และนำไปใช้ในหลักการให้ เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของแต่ละโรงงาน หน่วยงาน และบริษัทกับสภาพบุคคลากร โรงงาน และโรคต่อไป เช่น พนักงานป้องกันโรคจากการทำงานนี้

ในด้านโรคจากสิ่งแวดล้อม ควรที่จะได้ระดมความมีส่วนร่วมของชุมชนอีกด้วย

6. การรู้ เรื่องการป้องกันโรคจากการทำงานที่สิ่งแวดล้อมในงานและนอกงานอื่นๆ

เป็นการใช้ความรู้เรื่อง Occupational and Environmental Hygeine ได้แก่การ Monitor สิ่งแวดล้อม เสียง ฝุ่น รังสี ความร้อน และอื่นๆ กระบวนการทำงานที่ปลอดภัยและถูกต้องทางอาชีวอนามัย และเรื่องเออร์โกโนมิค การจัดทำโปรแกรมการใช้อุปกรณ์ป้องกันสุขภาพในการทำงาน และการเข้าไปใน สิ่งแวดล้อมที่อาจมีอันตรายได้ เป็นศาสตร์หนึ่งที่มีเนื้อหาเฉพาะ ผู้รับผิดชอบในด้านนี้ควรดำเนินงาน เป็นคณะดำเนินงานโดยการประสานกับวิศวกรในเรื่อง Engineering Control และแพทย์โดยเฉพาะการให้ใช้ อุปกรณ์ป้องกันสุขภาพ ผู้ทำงานและสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่ เป็นปัญหา ควรได้รับการตรวจร่างกายก่อนใช้และจัดให้เหมาะสมโดยแพทย์

7. การรู้เรื่องการป้องกันโดยการบริหาร (Administrative Prevention and Control) ได้แก่การพิจารณา ตัดสินใจ กำหนดนโยบาย งบประมาณ และการบริหารจัดการทรัพยากร ทั้งในด้านบุคคล ประสานงาน และอื่นๆ เพื่อให้การป้องกันที่กล่าวให้ไปสู่การปฏิบัติ เช่น

-การจัดกำหนดการทำงาน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงการมอบหมายงาน
-การลดชั่วโมงการ เดิน เครื่องจักรที่มีเสียงดัง ฝุ่น หรือสารอันตรายในเงื่อนไขที่ทำได้ในกรณีที่เครื่องจักรไม่ได้ทำตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อลดการสัมผัสกับปัจจัยก่อโรค
-การเดินเครื่องจักรที่เสียงดัง หรือมีอันตรายอย่างอื่นในขณะที่มีผู้ทำงานไม่มากในกรณีที่ทำได้ คือ การลดกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค
-การจัดซื้อ เครื่องจักร ให้มีคุณสมบัติที่เสี่ยงไม่ดังเกิน มีระบบการกำจัดฝุ่น หรืออื่นๆ ตลอดจนการวางแผนก่อสร้างโรงงาน การขยายการผลิต ให้มีการพิจารณาในเรื่องการป้องกันโรคจากการทำงานไว้ในระยะเริ่มแรก
-การจัดแยกพื้นที่อยู่อาศัย จากพื้นที่อุตสาหกรรม
-การจัดให้มี green belt ที่เพียงพอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมลภาวะต้นแหล่ง และเป้าหมายของการบริหารงานเกี่ยวกับสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อม
-การมีระบบเตือนภัย เฝ้าระวังปัญหา
-การจัดหาอุปกรณ์จำเป็นในการดำเนินงานในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาสิ่งแวดล้อม
-การประกาศ เตือนภัย และการบริหารระบบโทรคมนาคมที่ดี
-การมีระบบ Emergency Response Team ที่มีประสิทธิภาพ และ เครือข่ายครอบคลุมปัญหาสิ่งแวดล้อม พื้นที่ และการบริหารอื่นๆ

ที่มา:อรพรรณ์  เมธาดิลกกุล พบ.,สม.
อว. เวชศาสตร์ป้องกัน, ป.ระบาดวิทยา
ป.อาชีวเวชศาสตร์, ป.เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม
สำนักงานอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า