สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การบำบัดแบบไม่รู้ตัว(Subliminal Therapy)

เป็นเครื่องมือการช่วยตัวเองที่ใช้การสำเหนียกด้วยภาพและเสียง ในระดับที่ไม่ได้อยู่ในจิตสำนึกเพื่อการเยียวยาและส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น และเพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย

วิธีธรรมชาติที่คนเราจะทำกับสิ่งแวดล้อมโดยการสำเหนียกหรือซึมซับข้อมูลเข้าไปโดยไม่รู้ตัวนั้น เราอาจจะจงใจหรือไม่ใส่ใจกับสิ่งที่แวดล้อมเราอยู่ แต่เสียงนานาชนิดก็ยังคงกระหน่ำลงมาหาเราอยู่ตลอดเวลา จิตที่ละเอียดอ่อนที่อยู่ใต้สำนึกจะรับได้ไวมากโดยการซึมซับหรือสำเหนียกเข้าไป อย่างเช่น เสียงการจราจร เสียงนกร้อง เสียงปิดประตู หรือเสียงคนไอ เป็นต้น

ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษหลังจากที่ซิกมันด์ ฟรอยด์(Sigmund Freud) จิตแพทย์ชาวออกเตรียผู้ก่อตั้งศาสตร์ด้านการวิเคราะห์จิต ได้นำเอาความคิดที่ปฏิวัติขึ้นมาเสนอให้โลกได้รู้จักว่า คนทุกคนล้วนมีความคิดที่ซุกซ่อนอยู่โดยไม่รู้สึกตัว ความสนใจเรื่องการสื่อสารที่ใต้จิตสำนึกก็ได้พัฒนาขึ้น

ในปี ค.ศ.1917 มีคนร่วมสมัยกับฟรอยด์อีกคนหนึ่งชื่อ ดร.โอ. โพเอ็ตเซล(O.Poetzel) เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ได้สาธิตให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างแรงกระตุ้นที่จิตใต้สำนึกและผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังจากการสะกดจิต โดยได้ค้นพบว่า การสำเหนียกในจิตใต้สำนึกจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความฝันและมีการกระทำขึ้นมาหลังจากหลายวันหรือหลายสัปดาห์ที่ได้ซึมซับเข้าไปโดยไม่รู้ตัว

ในปี ค.ศ.1957 ได้มีการทดลองจัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งในฟอร์ต ลี นิวเจอร์ซี ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์กันอย่างครึกโครม คือ มีการสื่อข้อความแบบที่ไม่ให้คนดูรู้ตัวในระหว่างที่ภาพยนตร์กำลังฉายอยู่ ด้วยการฉายข้อความให้ปรากฏบนจอเป็นเวลาเพียงเสี้ยววินาที ว่า “หิวหรือ? กินข้าวโพดคั่วสิ กระหายหรือ? ดื่มโคคาโคล่าสิ” ระหว่างที่ฉายภาพยนตร์เวลาที่โฆษณานี้ปรากฏอยู่บนจอน้อยจนคนดูไม่รู้ตัวว่าได้เห็น แล้วผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ ในระยะ 6 สัปดาห์ ที่มีการฉายข้อความที่ไม่ให้รู้ตัวพวกนี้ ข้าวโพดคั่วกับโคล่ามียอดขายเพิ่มสูงขึ้นอย่างลิบลิ่ว

ข่าวสารที่สื่อโดยไม่ให้รู้ตัวนั้นในปีต่อๆ มา ก็ได้เรียนรู้กันว่าสามารถซุกซ่อนเอาไว้ในเสียงดนตรีหรือในเสียงอย่างอื่นๆ ได้ ต่อมาก็ได้ใช้การสื่อความแบบไม่ให้รู้ตัวกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดอัตราการขโมยสินค้าและการขโมยของลูกจ้างในห้างสรรพสินค้า ของประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา

เมื่อมีการกระจายเสียงที่บอกกล่าวแบบไม่ให้รู้สึกตัวเกี่ยวกับเรื่องความซื่อสัตย์ในซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีเครือข่ายสาขากว้างขวาง ก็ได้พบว่าการขโมยสินค้าลดลงอย่างฮวบฮาบ และเงินสดรับที่ขาดก็ลดจำนวนลงมากอย่างน่าทึ่ง

ในช่วงเวลาหลายสิบปีได้มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากจนนับไม่ถ้วนที่ได้ทำกันในระหว่างการวิจัย ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่า การสำเหนียกในจิตใต้สำนึกมีเกิดขึ้นจริงๆ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ซึมซับเข้าไปโดยไม่รู้สึกตัวนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อจิตใต้สำนึกหรืออนุสติของคนเราได้

การวิจัยได้ชี้ว่า เมื่อจิตในส่วนที่อยู่ในอนุสติหรือในจิตใต้สำนึกเปิดรับข่าวสารในระดับที่ต่ำกว่าความรับรู้ของจิตสำนึกก็จะทำให้การสำเหนียกโดยไม่รู้สึกตัวเกิดขึ้น

นักจิตวิทยาได้พบว่า จะช่วยปรับปรุงพฤติกรรมของคนเราได้อย่างกว้างขวางจากการใช้ข่าวสารที่ไม่รู้สึกตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ต้องการเลิกสุรายาเสพย์ติด หรือบุหรี่

โดยทั่วไปแล้วโปรแกรมการเยียวยาด้วยจิตใต้สำนึกหรือโดยไม่รู้ตัวนี้จะใช้เนื้อความที่เป็นข่าวสารในทางบวกอย่างมาก และจะปกปิดเอาไว้ด้วยเสียงดนตรี หรือเสียงที่มาจากธรรมชาติ เช่น เสียงคลื่นในทะเล เสียงพายุฟ้าคะนอง เสียงนกร้อง หรือเสียงใบไม้ไหวในสายลม เป็นต้น

วิธีการส่งข่าวสารไปแทรกตามร่องเสียงภายในเสียงดนตรีด้วยการใช้เทคโนโลยีอีเล็คทรอนิคที่ซับซ้อน ทำให้เราไม่ได้ยินในระดับของจิตสำนึกหรือจิตที่รู้ตัว หรือผู้ฟังจะรู้สึกว่าไม่ได้ยิน โดยจะซ่อนเสียงที่เป็นข่าวสารไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประสิทธิภาพดังกล่าวเกิดขึ้นได้เพราะข่าวสารจะเดินทางไปยังจิตใต้สำนึกเลยโดยตรง

โปรแกรมการเยียวยาที่จิตใต้สำนึกหรือโดยไม่รู้ตัวเป็นวิธีการช่วยตัวเองที่ได้รับความนิยมมากในทุกวันนี้ เพื่อจัดการกับปัญหาด้านพฤติกรรมและด้านสุขภาพต่างๆ อย่างกว้างขวาง วิธีการนี้มีประสิทธิภาพในด้านบรรเทาความเจ็บปวด ทำให้ผ่อนคลาย ช่วยกำจัดความเครียด ช่วยเพิ่มความแข็งแรงต่อระบบภูมิคุ้มกัน ให้ความเบิกบานเมื่อออกกำลังกาย เร่งให้ฟื้นจากการเจ็บป่วยได้เร็วขึ้น แก้ปัญหานอนไม่หลับ และช่วยในการลดน้ำหนักได้ด้วย

หนังสือที่บรรยายถึงเทปบันทึกเสียงสำหรับการฟังแบบไม่รู้ตัวและประเมินคุณค่าของเทปประเภทนี้ มีจำหนายตามร้านขายหนังสือทั่วไป ซึ่งมีชื่อเรื่องว่า Subliminal: The New Channel to Personal Power ของ ดร.ลี เอ็ม. ชุลแมน (Lee M. Schuman) ดร.จอยซ์ ชุลแมน(Joyce Schulman) และเจรัลด์ พี. แรฟเฟอร์ตี้(Gerald P. Rafferty)

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า