สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การบำบัดด้วยน้ำมันหอม(Aromatherapy)

เครื่องหอมจะส่งผลถึงสุขภาพทางใจได้รวดเร็ว ซึ่งมนุษย์เราจะรับรู้ได้โดยสัญชาตญาณและความรู้สึก การใช้ของหอมเพื่อวัตถุประสงค์นี้ทั้งโดยรู้สึกตัวและไม่รู้สึกตัวก็มีทำกันโดยทั่วไปน้ำมันหอม

เครื่องหอมที่สกัดจากไม้หอมทั้งหลายยังมีคุณสมบัติต่อร่างกายในทางสรีระด้วย ในปัจจุบันมีตำราและเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้เครื่องหอมเพื่อรักษาโรคทั้งทางกายและทางใจอย่างมากมาย จนแทบกล่าวได้ว่า เป็นการบำบัดอาการป่วยด้วยน้ำมันหอม ซึ่งเป็นศาสตร์สาขาหนึ่ง แม้จะสามารถจะทำได้เองโดยง่ายในวิธีการใช้แบบพื้นๆ แต่การใช้อย่างซับซ้อนเพื่อเป็นยา รวมทั้งขนาดของการรับประทานเพื่อเป็นยา ก็ถือว่าเป็นเรื่องอันตรายที่ต้องอาศัยผู้รู้และเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ

การบำบัดด้วยน้ำมันหอมหรืออโรมาเธราพี เป็นการใช้น้ำมันหอมหรือกลิ่นหอมในการบำบัดรักษาโรค โดยใช้น้ำมันที่มีความเข้มข้นที่สะกัดมาจากดอกไม้ ใบไม้ ก้านใบและดอก ราก หรือผลของต้นไม้ หัวน้ำมันหอมหรือน้ำมันเข้มข้นเป็นสมุนไพรในรูปแบบที่มีพลังมากที่สุด มีประโยชน์ในด้านร่างกายและจิตใจโดยการซึมซับเข้าทางผิวหนังและด้วยการสูดดมไอที่ได้จากการระเหยของหัวน้ำมันตามธรรมชาติ หรือโดยใช้อุปกรณ์ในการพ่นก็ได้

สืบย้อนกลับไปถึง 5,000 ปี มีหลักฐานที่บ่งบอกถึงการใช้ดอกไม้และพืชโดยหวังผลจากกลิ่นของมันนั้นว่า มีการใช้เครื่องหอมธรรมชาติของคนอียิปต์ยุคโบราณเพื่อรักษาศพไม่ให้เน่าเปื่อย ใช้ทำเป็นเครื่องสำอาง ทำยา และใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา และการบำบัดรักษาโรคด้วยเครื่องหอมก็ได้แพร่จากอียิปต์ไปยังกรีซ โรม และส่วนอื่นๆ ในแถบเมดิเตอเรเนียน

ในบางตำรากล่าวว่า เมื่อ 3,000 ปีก่อนชาวจีนได้ใช้เครื่องหอมเพื่อการบำบัดรักษาอาการป่วยเป็นพวกแรก และได้ส่งทอดความรู้นี้มาถึงผู้คนทางตะวันตกโดยผ่านทางกรีกและโรมัน

ในคริสต์ศตวรรษที่ 10 อาวิเซ็นนา แพทย์และนักปรัชญาชาวเปอร์เซียคนหนึ่ง ได้พัฒนากระบวนการกลั่นสกัด และผลิตหัวน้ำมันจากพืชที่มีกลิ่นหอมให้มีความบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานสำหรับการบำบัดรักษาโรคด้วยเครื่องหอมสมัยใหม่

ได้มีการจัดจำพวกเครื่องหอมต่างๆ ตามคุณสมบัติในการประเทืองโฉมและการบำบัดรักษาโรคเอาไว้อย่างเป็นระบบในคัมภีร์พระเวทของอินเดีย เครื่องหอมดังกล่าว ได้แก่ อบเชย ขิง มดยอบ ไม้จันทน์ และอื่นๆ

ในประเทศอังกฤษ ปี ค.ศ.1651 ได้มีหนังสือที่มีชื่อเรื่องว่า The Complete Herbal ของนิโคลาส คัลพีเพอร์ บันทึกรายละเอียดของคุณสมบัติยาสมุนไพรหลายร้อยชนิดเอาไว้ ในสมัยศตวรรษที่ 19 ความนิยมในการบำบัดรักษาโรคด้วยเครื่องหอมก็ลดน้อยลงไป เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์เริ่มแยกสารตัวสร้างปฏิกิริยาในพืช และเริ่มสังเคราะห์สารเหล่านี้ในห้องแล็บได้

การบำบักรักษาโรคด้วยเครื่องหอมก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่อีกครั้งในช่วงต้นๆ ของศตวรรษนี้ ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของการบำบัดรักษาด้วยเครื่องหอมสมัยใหม่ คือนักเคมีชาวฝรั่งเศส ชื่อ เรอเน เอ็ม กาตต์ฟอสเซ่(Rene M.Gattefosse’) ในทศวรรษที่ 1930 เขาได้เป็นผู้บัญญัติคำว่า “การบำบัดรักษาโรคด้วยเครื่องหอม” หรืออาโรมาเธอราพี(Aromatherapy) ซึ่งเป็นตอนที่เขาใช้มันเป็นชื่อหนังสือของเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้

ดร.ชอง วาล์เน่ต์ นายแพทย์ชาวฝรั่งเศส รู้สึกประทับใจกับการค้นพบของศาสตราจารย์กาตต์ฟอสเซ่ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาจึงได้รับรักษาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากสงครามในสนามรบด้วยหัวน้ำมันหอมอย่างกว้างขวาง วาล์เน่ต์ได้ทำงานของเขาไปอย่างต่อเนื่อง และได้เขียนหนังสือเรื่องเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า อาโรมาเตราปี(Aromatherapie) ต่อมาในปี 1977 ก็ได้ตีพิมพ์ออกเป็นภาษาอังกฤษ โดยสำนักพิมพ์ซีดับบลิว ดาเนียล(C.W.Daniel)ในชื่อเรื่องว่า The Practice of Aromatherapy

ผู้ที่สร้างคุณูปการที่สำคัญให้แก่การบำบัดรักษาโรคด้วยเครื่องหอมอีกคนหนึ่งคือ มาร์เกอริต โรรี โดยที่เขาได้รื้อฟื้นแนวคิดในการใช้หัวน้ำมันหอมร่วมกับการบำบัดรักษาด้วยการนวด

มีวิธีการสกัดหัวน้ำมันหอมจากพืชต่างๆ อยู่ด้วยกันหลายวิธี แต่วิธีที่ใช้กันมากที่สุด คือ วิธีการกลั่นด้วยไอน้ำ หัวน้ำมันหอมจากพืชต่างๆ นั้นสกัดได้ยากมาก ซึ่งต้องใช้วัตถุดิบจากพืชเป็นจำนวนมากแต่เมื่อสกัดออกมาเป็นของเหลวก็ได้ออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น สกัดยูคาลิปตัสได้ 1 ปอนด์ เราจะต้องใช้ใบยูคาลิปตัสถึง 50 ปอนด์ ถ้าเป็นโรสแมรี่ก็ต้องใช้ใบของมันถึง 500 ปอนด์ หรือถ้าเป็นกุหลาบก็ต้องใช้ดอกของมันประมาณ 2,000-3,000 ปอนด์ เป็นต้น

มีความซับซ้อนอย่างที่สุดเกี่ยวกับกับที่เรียกว่าหัวน้ำมันหอม ผลกระทบก็มีหลากหลายมาก หัวน้ำมันหอมเหล่านี้ถ้านำไปใช้อย่างเหมาะสมก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ในทางบำบัดรักษาโรคได้หลายอย่าง เช่น ดอกคาโมไมล์จะช่วยในทางแก้อักเสบ เป็บเปอร์มินท์ใช้เป็นสารกระตุ้น ลาเวนเดอร์ใช้เป็นยากล่อมประสาท และไธม์ ช่วยในการฆ่าเชื้อโรค

ภายในร่างกายจะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเมื่อสูดดมเครื่องหอมเข้าไป เป็นผลต่อเนื่องเหมือนลูกโซ่ที่สลับซับซ้อน โมเลกุลที่มีสภาพเป็นก๊าซจะกระตุ้นตัวรับกลิ่นในกลีบของสมองส่วนที่ทำหน้าที่รับรู้กลิ่น และต่อจากนั้นจะกระตุ้นให้เกิดสัญญาณไฟฟ้าขึ้นในระบบลิมบิคหรือส่วนสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และแรงจูงใจ จะส่งอิทธิพลทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนและสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับประสาทออกมา ฮอร์โมนและเคมีเหล่านี้จะก่อให้เกิดความรู้สึกสุขกายสบายใจขึ้น

โครงสร้างของโมเลกุลในหัวน้ำมันหอมจะซึมแทรกเข้าไปทางผิวหนังได้ง่าย ซึ่งการวิจัยในเยอรมนีก็ได้แสดงให้เห็นว่า เราจะสามารถวัดปริมาณน้ำมันหอมได้จากลมหายใจเมื่อหายใจออกได้ ทันทีที่หัวน้ำมันหอมเหล่านี้เข้าสู่กระแสโลหิต และได้ทำหน้าที่ในการบำบัดรักษาแล้ว

มีการใช้หัวน้ำมันหอมเพื่อบำบัดรักษาความป่วยไข้ชนิดต่างๆ มากมายกันทั่วโลก เช่น ใช้รักษาอาการปวดเมื่อยบริเวณกล้ามเนื้อ ข้ออักเสบ ระบบย่อยอาหารผิดปกติ ระบบการหมุนเวียนโลหิตและน้ำเหลืองที่มีปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือน และปัญหาทางกายและอารมณ์อื่นๆ อีกมากมาย คุณสมบัติของหัวน้ำมันหอมบางชนิดมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อรา และชนิดที่สามารถฆ่าแบคทีเรียได้มีจำนวนมากกว่า 60 ชนิด

หัวน้ำมันหอมที่ใช้สำหรับการนวดนั้นมักจะเจือผสมด้วยน้ำมันพืชเพื่อเป็นพาหะ โดยมีอัตราส่วน คือ หัวน้ำมันหอม 20 หยด:น้ำมันพืช 1 ออนซ์ ระหว่างการนวดด้วยเครื่องหอมก็จะเกิดปฏิสัมพันธ์กันในเชิงรักษาเมื่อมีการสัมผัส และรู้สึกผ่อนคลายไปกับหัวน้ำมันหอม ซึ่งมีคุณสมบัติในการบำบัดรักษาหลายอย่าง

การบำบัดรักษาโรคด้วยเครื่องหอม เป็นศิลปะการเยียวยารักษาโรคที่มีความสลับซับซ้อนอย่างหนึ่ง มิใช่แค่เติมหัวน้ำมันหอมลงไปผสมกับน้ำมันที่นวดหรือน้ำสำหรับอาบ หรือแค่สูดดมจากขวด หรือทาลงที่ผิวโดยตรงเท่านั้น

แม้การบำบัดรักษาด้วยเครื่องหอมจะเป็นระบบในแบบที่ใช้ช่วยตัวเองเป็นหลัก แต่ความสลับซับซ้อนอยู่ที่การใช้หัวน้ำมันหอมหลายชนิดเพื่อให้ได้ผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญระดับมืออาชีพที่มีประสบการณ์ในด้านนี้อยู่ด้วย

เราสามารถที่จะรับประทานหัวน้ำมันหอมเข้าไปในร่างกายในปริมาณที่น้อยมากๆ ได้ด้วย แต่ก็ไม่แนะนำให้คนทั่วไปทดลองใช้ด้วยวิธีนี้ เนื่องจากมันมีฤทธิ์ตัวยาแรงมาก

หัวน้ำมันหอมและการบำบัดรักษาโรคด้วยเครื่องหอม อาจนำมารวมอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเกิดประโยชน์ในด้านการบำบัดรักษาโรคและประโยชน์ในด้านสุนทรียภาพ สำหรับคนที่สนใจที่จะดูแลตนเอง สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหนังสือหลายเล่มที่ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า