สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การนวดแบบรีเฟล็กโซโลยี

รีเฟล็กโซโลยี(Reflexology)
บางครั้งเรียกว่า โซน เธราพี(zone therapy) หรือการบำบัดแบบเขตหรือแบบโซน เป็นการนวดรูปแบบที่ใช้หลักการที่ว่า ร่างกายของคนเรามีจุดสะท้อน หรือจุดรีเฟล็กซ์ ที่เป็นตัวแทน หรือตรงกับอวัยวะ หรือบริเวณที่สำคัญทุกแห่งของร่างกาย

พื้นฐานความคิดในเรื่องรีเฟล็กโซโลยีไม่ใช่ของใหม่ ซึ่งมีภาพแผนภูมิเก่าแก่กว่า 2,300 ปี ที่แสดงให้เห็นว่าชาวอียิปต์กำลังนวดเท้าของตัวเองอยู่ และจากตำราและภาพเขียนบรรยายเก่าๆ ของชาวจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ที่นวดเท้าของตัวเองเพื่อเสริมสุขภาพกันทั้งนั้น

แพทย์ชาวอเมริกัน ที่ชื่อ นายแพทย์วิลเลี่ยม เอช. ฟิตซ์เจอรัลด์ ได้คิดคำว่า “โซน เธราพี” ขึ้นมาในตอนต้นทศวรรษที่ 1900 เพื่อใช้พูดถึงทฤษฎีของเขาที่ว่า มีบางบริเวณของร่างกายที่ตรงกับบริเวณอื่นๆ และได้มีการเผยแพร่โซนเธราพีนี้ต่อไปโดยนายแพทย์เอ็ดวิน โบเวอร์ส(Edwin Bowers) เพื่อนร่วมงานของฟิตซ์เจอรัลด์ โดยสาธิตกับอาสาสมัครคนหนึ่งที่ไม่รู้สึกเจ็บเมื่อถูกเข็มแทงลงที่หน้า หากว่าเขากดลงตรงจุดหนึ่งที่มือที่ตรงกับบริเวณที่ใบหน้าตรงที่จะแทงเข็มเล่มนั้น

นักกายภาพบำบัดที่ชื่อ อูนิช อิงก์แฮม(Dunice Ingham) ได้ใช้วิธีการบำบัดแบบโซนเธราพี กับคนไข้ในระหว่างที่ทำงานอยู่กับแพทย์คนหนึ่งในทศวรรษที่ 1930 อิงก์แฮมได้สรุปว่า เท้าเป็นบริเวณที่มีการตอบสนองมากที่สุดและละเอียดอ่อนที่สุด เธอจึงได้จัดทำแผนภูมิร่างกายทั้งหมดตามที่สะท้อนออกมาจากเท้า

การใช้โซนเธราพี อย่างที่ ดร.ฟิตซ์เจอรัลด์ กับ ดร.โบเวอรส์ได้พัฒนาขึ้นมาในตอนนั้น ถูกจำกัดเพียงเพื่อลดความปวด และอิงก์แฮมได้ค้นพบในเวลาต่อมาว่า หากกดตรงจุดต่างๆ สลับกันจะทำให้ได้ผลในการบำบัดมากกว่าการใช้กดที่เดียว งานนี้ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นสิ่งที่เธอเรียกว่า วิธีการนวดประคบแบบอิงก์แฮมรีเฟล็กซ์(Ingham Reflex Method of Compression Massage) และในเวลาต่อมาก็รู้จักกันว่าเป็นวิธีการ รีเฟล็กโซโลยี ในปี ค.ศ.1938 อิงก์แฮมได้ตีพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวกับรีเฟล็กโซโลยีขึ้นเป็นเล่มแรก

หนังสือเล่มนี้ใช้ชื่อใหม่ในปัจจุบันว่า The Original Ingham Method of Reflexology โดยหนังสือเล่มนี้เป็นผลงานร่วมกันของ อูนิช อิงก์แฮม สต็อพเฟล(Eunice Ingham Stopfel)ผู้ล่วงลับไปแล้วกับหลานชายของเธอที่ชื่อ ดไวท์ ซี.ไบเออส์(Dwight Byers) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้รอบรู้แนวหน้าของโลกในเรื่องรีเฟล็กโซโลยี

ในแง่ของรีเฟล็กโซโลยีจะมองว่า ฝ่าเท้าของคนเราเป็นเหมือนกับกระจกขนาดย่อที่สะท้อนสภาพร่างกายทั้งหมด นอกจากนี้ที่ปลายและบริเวณด้านข้างของเท้า จุดที่อยู่ด้านข้างของขา ก็ยังมีจุดสะท้อนด้วย ซึ่งจุดทั้งหมดนี้มีแผนภูมิจัดทำไว้อย่างชัดเจน

รีเฟล็กโซโลยีประกอบด้วยการกดโดยใช้นิ้วและฝ่ามือลงที่จุดสะท้อนที่อยู่บนเท้าด้วยแรงกดที่สม่ำเสมอ ไม่ได้เป็นการนวดเท้า ไม่มีการใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือใดๆ

เชื่อกันว่ารีเฟล็กโซโลยีจะกระตุ้นที่จุดสะท้อนได้เป็นอย่างดีและส่งผลถึงอวัยวะหรือบริเวณต่างๆ ของร่างกายเพื่อปรับปรุงหรือบรรเทาปัญหาสุขภาพมากมาย แม้ว่าจะไม่ได้ใช้รักษาโรคโดยเฉพาะก็ตาม และยังช่วยส่งเสริมสุขภาพให้เกิดความสมดุลกลมกลืนกันทั้งด้านร่างกายและจิตใจในแบบที่เป็นธรรมชาติด้วย

รีเฟล็กโซโลยี ก็คล้ายคลึงกับหลักการของการกดจุดของทางตะวันออก ที่อาศัยการไหลเวียนของพลังงานในการสร้างความกระชุ่มกระชวยแก่ร่างกาย และกระตุ้นกลไกภายในตามธรรมชาติเพื่อให้ช่วยในการรักษาเยียวยาตัวเอง

จุดประสงค์สำคัญที่นำรีเฟล็กโซโลยีมาใช้ก็เพื่อลดความเครียดและช่วยให้เกิดความผ่อนคลายอย่างลึกซึ้ง ทุกระบบในร่างกายจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การหมุนเวียนของโลหิตและน้ำเหลืองดีขึ้นทำให้มีออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อมากขึ้น ช่วยกำจัดของเสียออกจากเมตาโบลิซึ่ม จึงทำให้ระบบของร่างกายทั้งหมดกลับสู่ภาวะปกติหรือมีความคงที่สมดุล

มีนักบำบัดจำนวนหลายพันคนที่เข้าเรียน-ฝึกวิธีการดั้งเดิมของอิงก์แฮมตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา และมีการจัดสัมมนาสองวันในเรื่องรีเฟล็กโซโลยีทั่วสหรัฐฯ ในปัจจุบันนี้ และมีสำนักอื่นๆ เหมือนกันที่สอนเรื่อง รีเฟล็กโซโลยี และโซน เธราพี แม้ว่าวิธีการดั้งเดิมของอิงก์แฮมจะเป็นรีเฟล็กโซโลยีในรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุดและรู้จักกันมากที่สุดก็ตาม

ผู้ให้การบำบัดส่วนใหญ่จะรับนวดในแบบอื่นๆ ด้วย และบางคนก็จะเชี่ยวชาญเฉพาะรีเฟล็กโซโลยี มีหนังสือมากมายเกี่ยวกับ รีเฟล็กโซโลยี เช่น หนังสือเรื่อง Better health Through Reflexology ของ ดไวท์ ซี. ไบเออส์ เรื่อง Feet First: A Guide to Reflexology ของ ลอร่า นอร์แมน (Laura Norman) และ Reflexology: Art, Science & History ของ คริสติน อิสเซล(Christin Essel) เป็นต้น

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า