สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การนวดด้วยวิธีโรเซน(Rosen Method)

เป็นการนวดที่ใช้การสัมผัสอย่างนุ่มนวลประกอบกับการสื่อสารด้วยวาจาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด เพิ่มความมีชีวิตชีวา เพิ่มความมีสุขภาพที่ดี และเพื่อให้ตระหนักรู้ถึงภาวะทางกายและอารมณ์ด้วย

คนที่กำลังมีความเจ็บปวดอย่างรุนแรงจะไม่เหมาะกับการนวดด้วยวิธีนี้ แต่ในการบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ หรืออาการป่วยอย่างอื่นๆ ที่เกิดจากความเครียดจะมีประสิทธิภาพมาก

แมเรียน โรเซน(Marion Rosen) เกิดในปี ค.ศ.1914 ที่เมืองนูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ครอบครัวของเขามีความมั่งคั่งพอสมควร ซึ่งเธอได้เป็นผู้พัฒนาการนวดตามวิธีโรเซนขึ้นมา

เธอไม่อาจเข้ารับการศึกษาได้เนื่องจากเป็นชาวยิว เพราะในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ชาวยิวถูกรังเกียจจากคนทั่วไป โดยเฉพาะคนที่นับถือศาสนาคริสต์ในยุโรป ด้วยเหตุผลที่ว่า ชาวยิวเป็นผู้ที่ทำให้พระเยซูต้องถูกตรึงกางเขน แต่อีกเหตุผลก็ว่ากันว่า เพราะชาวยิวร่ำรวยกว่าชาวคริสต์และมีการคุมอำนาจทางเศรษฐกิจเอาไว้โดยที่ไม่อาจจะเบียดแทรกเข้าไปได้ ความอิจฉาจึงบังเกิดขึ้น เหตุผลหลายๆ อย่างที่ประกอบกันเข้ากับจิตวิทยากลุ่มที่มีการปลุกปั่นยุยงให้เกิดความเกลียดชัง จึงทำให้การต่อต้านชาวยิวกลายเป็นนโยบายของประเทศเยอรมนีไปด้วยในสมัยนั้น

โรเซนได้หันมาสมัครเป็นลูกมือของลูซี่ เฮเยอร์(Lucy Heyer) เมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ได้ โดยระหว่างที่เฮเยอร์สอนวิธีการหายใจและการนวดเธอก็จะคอยเป็นผู้ช่วย เฮเยอร์เคยเป็นลูกศิษย์ของเอลซ่า กินด์เลอร์(Elza Gindler) มาก่อน ในสมัยต้นทศวรรษที่ 1900 กินด์เลอร์เป็นคนสำคัญของยุโรปที่ได้สอบสวนถึงความสัมพันธ์ระหว่างความคิดจิตใจกับร่างกาย

โรเซนได้ไปเรียนและทำงานเป็นนักกายภาพบำบัดที่ประเทศสวีเดนระหว่างรอการอพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกา และได้ทำงานเป็นนักกายภาพบำบัดอยู่ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกาในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาได้เข้าเรียนเพิ่มเติมที่คลินิกเมโย ในเมืองรอชส์เตอร์(Rochester) รัฐมินเนโซต้า ในหลักสูตรกายภาพบำบัดชั้นสูง และได้มาเปิดสถานกายภาพบำบัดขึ้นเองที่ย่านเบย์ แอเรีย ในเมืองโอ๊คแลนด์

โรเซนได้เริ่มตระหนักในระหว่างที่ทำงานเป็นนักกายภาพบำบัดว่า คนบางคนไม่มีการตอบสนองต่อกายภาพบำบัด หรือมาทำกายภาพบำบัดไม่ครบตามเวลาที่กำหนด ส่วนในรายที่ดีขึ้นก็จำเป็นต้องมารับการบำบัดเพิ่มเติมบ่อยๆ เพื่อรักษาภาวะที่ดีเอาไว้

เธอได้มองหาสาเหตุของปัญหาที่ว่า คนไข้ที่หายป่วยแล้วทำไมอาการจึงได้แย่ลงไปอีก แทนที่จะคิดอยู่เพียงแค่ระดับของอาการที่ปรากฏ

เธอได้พบกับการฝึกและการเรียนที่ผ่านมาจนถึงตอนต้นทศวรรษที่ 1970 ทำให้ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการผ่อนคลาย เพราะเวลาที่เธอนวดหรือทำกายภาพบำบัดให้แก่ผู้ป่วยก็จะทำให้กล้ามเนื้อของผู้ป่วยได้ผ่อนคลาย และในระหว่างภาวะผ่อนคลาย ก็จะเริ่มพูดออกมาถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์อย่างลึกซึ้งที่ไม่เคยบอกใครมาก่อน

โรเซนอยากรู้ว่าอะไรเป็นตัวเชื่อมให้ผู้ป่วยพูดจาอย่างเปิดอกกับเธอ และเกี่ยวข้องอะไรกับการปรับปรุงภาวะร่างกายของเขาเหล่านั้น และได้รู้ว่า ระหว่างที่รับกายภาพบำบัดผู้ป่วยจะกำจัดความเจ็บปวดของตนและมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวกด้วยพร้อมๆ กัน จากประสบการณ์นี้ทำให้เธอประมวลความคิดต่างๆ เข้าด้วยกัน และมันก็ได้กลายมาเป็นรากฐานของวิธีการนวดแบบโรเซนในเวลาต่อมา

การเอื้ออำนวยให้มีการเชื่อมโยงกันระหว่างกาย ความคิด จิตใจ ด้วยการปล่อยให้มีการผ่อนคลาย โดยมีการหายใจอย่างสบายๆ และเต็มที่ คือหัวใจของการนวดแบบโรเซน

ผู้ให้การบำบัดแบบโรเซน มิใช่เพียงแต่เป็นผู้รับการนวดเหมือนในกรณีของการนวดธรรมดาๆ แต่จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่จะทำให้ลูกค้าได้รู้จักตัวเองในลักษณะที่ลึกซึ้งที่ทำให้กาย ความคิด และจิตใจมาบรรจบกันได้

วิธีการนวดแบบโรเซน มุ่งหมายเพียงแต่ให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในร่างกายและนำไปสู่การหายป่วย โดยจะปล่อยให้บุคคลเป็นไปอย่างที่ตัวเองเป็นจริงๆ มิได้มุ่งเพื่อแก้ไขซ่อมแซมสิ่งใดในร่างกาย

ความทรงจำและประสบการณ์ต่างๆ ถูกเก็บไว้ในร่างกายเช่นเดียวกับความเครียด ลักษณะความตึงและความเครียดนี้ต่างก็มีในแบบของตนโดยเฉพาะ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต ผู้ให้การบำบัดด้วยวิธีโรเซนจะใช้การสัมผัสที่นุ่มนวลไม่สร้างความเจ็บปวด เพื่อชักนำให้กล้ามเนื้อที่เคยตึงเกร็งมาอย่างเรื้อรังได้มีโอกาสผ่อนคลาย

เมื่อมีการผ่อนคลายเกิดขึ้น ข้อมูลจากจิตใต้สำนึกก็จะเคลื่อนย้ายมาที่จิตสำนึกที่รู้สึกตัว ที่เป็นความรู้สึกทางกาย ทางภาพในความคิด และในความทรงจำ

สิ่งที่ถูกลืมเลือนที่อยู่ใต้จิตสำนึกนี้ จริงๆ แล้วมันจะซุกซ่อนอยู่ลึกๆ ซึ่งบางครั้งเราก็อาจจะนึกขึ้นได้เมื่อมีอะไรไปสะกิดหรือกวนให้มันกลับมาใหม่ แต่บางอย่างก็จะลืมมันไปเลย จิตใต้สำนึกนี้สามารถส่งผลต่อการกระทำของเราในปัจจุบันและอนาคตได้โดยที่เราไม่รู้ตัว เรียกว่า มันมีส่วนบงการเราอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัวเหมือนกัน

คนเราจะได้พบองค์ประกอบของตัวเองซึ่งเราไม่รู้ว่ามีอยู่ หรือลืมไปแล้วว่ามีอยู่ด้วยวิธีการนวดแบบโรเซน ซึ่งจะทำให้เราได้รู้สึกเข้าไปถึงตัวตนของเรา สามารถทำให้กล้ามเนื้อที่หดเกร็งอยู่กลับคืนสู่ภาวะผ่อนคลายได้ ซึ่งจะส่งผลให้ความกระวนกระวายลดลง และการเคลื่อนไหวของร่างกายก็เป็นไปอย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

ผู้ให้การบำบัดด้วยวิธีโรเซน สามารถสังเกตการหายใจของลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่บอกถึงการเปลี่ยนแปลงหรือการระบายออก สามารถสังเกตและตอบสนองต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่ร่างกายลูกค้าด้วยการสัมผัสหรือคำพูด หรือใช้ทั้งสัมผัสและคำพูด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะสัมพันธ์อยู่กับประสบการณ์ในส่วนลึกของลูกค้า

การบำบัดด้วยวิธีโรเซน จะเริ่มต้นนวดที่บริเวณกะบังลมและกล้ามเนื้อรอบๆ กะบังลม เพราะการหายใจจะทำได้ไม่เต็มที่ และความสามารถในการพาเอาออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ ก็ลดน้อยลงด้วยถ้ากะบังลมเกร็งตึงอย่างเรื้อรัง

วิธีการโรเซน มิใช่สิ่งที่จะนำมาใช้แทนที่จิตบำบัด แต่ก็สามารถนำมาใช้เป็นส่วนเสริมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวิธีนี้เป็นกระบวนการแสดงให้คนได้ประจักษ์ความเป็นตัวของตัวเองอย่างนุ่มนวล และคนที่มีความปั่นป่วนทางอารมณ์อย่างรุนแรงควรไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตบำบัด ไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้

ผู้ที่ศึกษาวิธีโรเซน จะต้องผ่านกระบวนการแบบเดียวกับลูกค้า โดยจะได้รับการนวดจากครูและเพื่อนร่วมชั้นเรียน เพราะการนวดจะทำให้มีความรู้และความรับรู้เพิ่มขึ้น และช่วยระบายสิ่งที่เป็นอุปสรรคที่สร้างขึ้นมาเองในร่างกายให้ออกไป

ผู้ที่ผ่านการเรียนการสอนในชั้นเรียน 250 ชั่วโมง รวมทั้งผ่านการฝึกปฏิบัติจริงอีกระยะหนึ่งก็จะได้เป็นผู้ให้การบำบัดด้วยวิธีโรเซนที่มีประกาศนียบัตร

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า