สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การทำสมาธิ(Meditation)

คือการหันเหความเอาใจใส่ไปสู่แง่มุมที่กระจ่างชัดของธรรมชาติภายในของตัวเราเองด้วยความตั้งใจ ซึ่งนี่คือคำจำกัดความของ รอย ยูจีน เดวิส(Roy Eugene Davis) เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการทำสมาธิที่ได้รับการยอมรับนับถือในสหรัฐอเมริกา แม้คำจำกัดความนี้จะถูกต้อง แต่การทำสมาธิไม่สามารถนิยามอย่างแน่นอนลงไปได้ง่ายๆ และมิใช่แนวปฏิบัติเพียงอย่างเดียว

มิใช่สิ่งใหม่ในเรื่องของการทำสมาธิเพื่อการเยียวยารักษาโรค เทคนิคการทำสมาธินี้เป็นผลิตผลของวัฒนธรรมที่หลากหลายของประชาชาติต่างๆ ทั่วโลก คุณค่าของการทำสมาธิเป็นที่ทราบและปฏิบัติกันมาเป็นเวลานับพันๆ ปีแล้วว่าเพื่อบรรเทาความทุกข์และส่งเสริมการหายจากโรค

ในปัจจุบันนี้การทำสมาธิมีอยู่มากมายหลายประเภท และตั้งอยู่บนหลักการที่มีพื้นฐานต่างๆ กัน ซึ่งได้ถูกจัดจำแนกอย่างหยาบๆ ออกเป็น 4 ประเภท ขึ้นอยู่กับว่าทำอยู่กับส่วนไหนของร่างกายหรือจิตใจ และใช้กลไกการควบคุมและปล่อยวางเป็นปัจจัยในการบรรลุถึงภาวะสมาธิหรือไม่

ประเภทแรก มีพื้นฐานที่การควบคุมร่างกาย ได้มีการนำสมาธิประเภทนี้ไปรวมเข้ากับโยคะบางประเภท เพื่อการรวมร่างกายและจิตใจให้เข้ากันเป็นหนึ่งเดียว การทำสมาธิชนิดนี้จะมีการวางท่าทางของร่างกายที่แน่นอน กระดูกสันหลังจะต้องอยู่ในแนวตรง ร่างกายต้องนิ่งไม่มีการเคลื่อนไหว ท่านี้จะช่วยลดระดับเมตาโบลิซึ่มและลดความเครียดลงได้

ประเภทที่ 2 ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการควบคุมความคิดเพื่อให้บรรลุถึงภาวะสมาธิ โดยใช้การเพ่ง(concentration) การครุ่นคำนึง(contemplation) และการนึกภาพ(visualization)

การเพ่ง เป็นการเพ่งความคิดจิตสำนึกไปที่วัตถุที่เรียบง่ายเพียงอย่างเดียว เช่น วงกลมสีดำ

การครุ่นคำนึง เป็นการใช้การกล่าวย้ำคำหรือวลีเดิมๆ ซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง

การนึกภาพ เป็นการใช้ฉากที่ซับซ้อนมากพอที่จะทำให้เกิดจุดรวมความเอาใจใส่ของผู้ทำสมาธิ

ในวัฒนธรรมมากมายที่ใช้การควบคุมความคิดเพื่อการทำสมาธิของตน และในบางวัฒนธรรมก็มีท่วงทำนองของศาสนาด้วย เช่น การกล่าวคำที่เป็นเสียงของสระซ้ำๆ การสวดมนต์ของพระในศาสนาพุทธ การกล่าวคำสวดวิงวอนอย่างเช่นคำว่า เฮล มารี(Hail Mary) ซ้ำๆ และการท่องมนต์สงครามของชาวอเมริกันพื้นเมือง

ประเภทที่ 3 มีพื้นฐานอยู่ที่การปล่อยวางร่างกาย เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการตั้งใจผ่อนคลายความตึงของกล้ามเนื้อ

เทคนิคการปล่อยวางอย่างอื่นๆ ส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ และทำไปเองตามที่รู้สึกอยากทำ ซึ่งสามารถนำมาใช้กับหลักไบโอฟีดแบ็ค(biofeedback)เพื่อส่งเสริมการควบคุมการทำงานของร่างกาย เช่น ระดับความดันโลหิต การควบคุมอุณหภูมิ ฯลฯ

อีกเทคนิคหนึ่งที่ไม่เคลื่อนไหว โดยที่ผู้ทำสมาธิจะเพียรพยายามที่จะไม่กระทำ เช่น การนั่งนิ่งๆ และไม่ทำอะไรเลย

ประเภทที่ 4 มีพื้นฐานตั้งอยู่บนการปล่อยวางความคิด โดยที่ความคิดจิตใจจะนิ่งและเปิดรับสิ่งใดก็ตามที่เข้ามา จะทำให้สามารถรับรู้เข้าไปถึงปัญหาโดยเฉพาะ หรือหยั่งเข้าไปถึงคำตอบของคำถามที่เกี่ยวกับสุขภาพได้

จากการวิจัยก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การทำสมาธิที่ได้ทำให้คลื่นสมองอยู่ในภาวะอัลฟ่า(alpha) จะเกิดคุณประโยชน์ที่สามารถทำให้เกิดความสุขสบายในด้านสรีระและจิตวิทยาของบุคคลได้

จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บอกว่า สามารถลดความดันโลหิตได้ ช่วยคลายความเจ็บปวดและความเครียดได้ ด้วยการทำสมาธิ และการทำสมาธิจะส่งเสริมประสิทธิภาพของไบโอฟีดแบ็คอีกทีหนึ่งเมื่อใช้ประกอบเข้าด้วยกัน

แนวปฏิบัติสำหรับช่วยเหลือตัวเองด้วยการทำสมาธิ หากมีความสนใจสามารถหาอ่านได้จากหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งมีอยู่มากมาย และยังมีเทปคลาสเซ็ตที่สอนเทคนิคการทำสมาธิ หรือช่วยชักนำให้เกิดสมาธิจำหน่ายด้วย และมีชั้นเรียนสอนเทคนิคการทำสมาธิอยู่ด้วยเช่นกัน

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า