สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การทำสมาธิแบบล่วงพ้น(Transcendental Meditation)

เป็นการลดความเครียด ขยายการรับรู้ของจิตสำนึก ด้วยเทคนิคตามธรรมชาติ มันมิใช่ศาสนา ปรัชญา หรือวิถีชีวิต

การทำสมาธิเพื่อเยียวยารักษาอาการป่วยไม่ใช่ของใหม่ เป็นที่ทราบและปฏิบัติกันมานานนับพันๆ ปีแล้ว ว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในการลดความทุกข์ทรมาน และส่งเสริมกายหายจากอาการป่วย

ครูชาวอินเดียตะวันออก ที่มีชื่อว่ามหาริชชี มะเหศ โยคี(Maharishi Mahesh Yogi) หรือโยคีมหาฤาษี ผู้มีนามว่ามะเหศ เป็นคนแรกที่ได้นำเอาเทคนิคการทำสมาธิแบบล่วงพ้นมาเผยแพร่ให้โลกได้รู้จัก

มหาริชชี มะเหศ เป็นบุตรชายของคนทำป่าไม้อยู่ในอินเดีย เกิดในปี ค.ศ.1918 ซึ่งตอนนั้นอินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่ ในปี ค.ศ.1942 เขาได้เรียนจบจากมหาวิทยาลัยอัลลาฮาบัด ได้รับปริญญาในสาขาฟิสิกส์ ครอบครัวของเขาอยู่ในวรรณะไวศยะ หรือแพศย์ ซึ่งกำหนดไว้ว่าเขาจะต้องเป็นพ่อค้า เสมียน หรือไม่ก็อาลักษณ์

ในทศวรรษที่ 1940 เขาได้พบกับผู้นำทางศาสนาที่สำคัญคนหนึ่งของอินเดียในสมัยนั้น คือ สวามี พราหมณันทะ สาระ สวัสดิ(Swami Brahmananda Saraswati) ผู้เป็นจักกัฎกุระ ภัควัน สังฆาจารย์(Jagadguru Bbhagwan Shankaracharya) หรือเรียกสั้นๆ ว่า คุรุเทพ(Guru Dev) หมายถึงครูผู้เป็นเทพ(divine teacher) หรือเทพที่จุติมาเป็นครู ด้วยความประสงค์ที่จะเป็นสาวกของคุรุเทพ มหาริชชี มเหศ โยคี หรือในชื่อว่า มาหุต จึงได้ขออนุญาตจากบิดามารดา และได้รับการยอมรับจากคุรุเทพ เขาได้กลายลูกศิษย์คนโปรดอย่างรวดเร็ว และตลอดเวลากว่า 13 ปีที่เขาได้ติดตามคุรุเทพไป

ในปี ค.ศ. 1953 คุรุเทพได้ขอให้มาหุตสืบทอดงานของตนในเรื่องการพัฒนาการทำสมาธิในรูปแบบง่ายๆ ที่ทุกคนจะเรียนรู้และนำไปใช้ได้ก่อนที่เขาจะสิ้นชีพ มาหุตได้ไปใช้ชีวิตอยู่ลำพังอย่างฤาษีเป็นเวลา 2 ปี ในอุตเตอร์ คาชา(Utter Kasha) ในเทือกเขาหิมาลัยหลังจากที่ตกลงจะสืบทอดงานของคุรุเทพแล้ว เมื่อกลับออกมาเขาก็ได้ตั้งชื่อระบบของเขาที่เรียกว่า การทำสมาธิแบบล่วงพ้น หรือทรานเซ็นเดนทัล เมดิเทชั่น ขึ้น

ได้มีการจัดพิธีรำลึกฉลองวันเกิดปีที่ 89 ของคุรุเทพ ขึ้นในปี ค.ศ.1958 ที่เมืองมัดราส(Madras) ประเทศอินเดีย ในงานนี้ มาหุตได้กล่าวสุนทรพจน์เป็นที่เลื่อมใสจับใจผู้คนเป็นอย่างมาก โดยได้กล่าวถึงความตั้งใจของตนเองที่ต้องการสอนให้โลกได้รู้ถึงคุณประโยชน์ของการทำสมาธิแบบล่วงพ้น

เขาได้สถาปนาสมาคมการทำสมาธินานาชาติ หรือ International Meditation Society ขึ้นที่ลอนดอนในปี ค.ศ.1959 และได้เริ่มสอนการทำสมาธิแบบล่วงพ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากที่วงดนตรีเพลงร็อกเดอะบีทเทิลได้ฟังครูชาวอินเดียกล่าวปราศรัยในลอนดอน และหลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้สมัครเข้าเป็นสานุศิษย์วิธีการทำสมาธิแบบล่วงพ้นก็ได้มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมา และในเดือนเมษายนของปีเดียวกันนั้น มหาฤาษีก็ได้เดินทางไปซานฟรานซิสโก เพื่อเผยแพร่วิธีการนี้ให้เป็นรู้จักก็เริ่มขึ้นในสหรัฐฯ

ในปีต่อมา สื่อมวลชนก็ได้มีการทำข่าวกันอย่างกว้างขวาง นิตยสารทั้งหลายพากันลงบทความที่เกี่ยวกับขบวนการนี้กันเป็นการใหญ่ รวมทั้งเรื่องราวที่เกี่ยวกับมหาริชชี มเหศ โยคี ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งขบวนการนี้ด้วย

มหาริชชี มเหศ โยคี ได้เริ่มวางหลักสูตรการสอนครูการทำสมาธิแบบล่วงพ้นขึ้นในอินเดียในปี ค.ศ. 1961 ขณะนั้นในสหรัฐอเมริกามีครูสอนสมาธิด้วยวิธีนี้อยู่เพียงคนเดียวมาจนกระทั่งในปี ค.ศ.1966 มีครูเพิ่มขึ้นประมาณ 30 คน มหาริชชีเริ่มออกเดินทางท่องไปทั่วสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.1967 และได้ไปกล่าวบรรยายที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในฮาร์วาร์ด เยล เบิร์คลีย์ และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในลอสแองเจลีส ความสนใจของนักศึกษาได้มีการเรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยจัดชั้นสอนฝึกสมาธิแบบล่วงพ้นขึ้น จนถึงปลายศตวรรษที่ 1960 ในสหรัฐอเมริกาก็มีคนที่ปฏิบัติสมาธิแบบล่วงพ้นนี้หลายแสนคน

ในตอนต้นทศวรรษที่ 1970 การทำสมาธิแบบล่วงพ้นได้รับการสถาปนาอย่างมั่นคงในสหรัฐฯ และกว่า 50 ประเทศทั่วโลกมีการสอนวิธีนี้อยู่ จากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สถาบันวิจัยสแตนฟอร์ดและสถาบันแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้แสดงให้เห็นว่า คนที่ฝึกสมาธิแบบนี้ในระหว่างที่ทำสมาธิจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระอย่างลึกซึ้ง

ปัจจุบันนี้การทำสมาธิแบบล่วงพ้นเป็นรูปแบบของการทำสมาธิที่มีชื่อเสียงรู้จักกันมากที่สุดและทำกันมากที่สุดในสหรัฐฯ

การทำสมาธิแบบล่วงพ้น หรือทีเอ็ม.เป็นแนวปฏิบัติแบบเฉพาะที่แผกพิเศษ ไม่ใช่ทฤษฎีหรือความคิด เป็นเทคนิคที่ง่ายเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องใช้ความพยายาม มีลักษณะของการสร้างประสบการณ์ ทีเอ็ม.จะปล่อยให้ความคิดในจิตใจสงบลง ในขณะที่นั่งหลับตาสบายๆ จะทำให้ความคิดจิตใจไปถึงระดับการคิดที่ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น จนผ่านพ้นกระบวนความคิดนั้นไป และความคิดก็ได้ไปสัมผัสกับแหล่งของความคิดอีกทีหนึ่ง

ทีเอ็ม.จะทำให้เกิดประโยชน์ในแง่ของการรักษาอาการป่วยได้ถ้ามีการฝึกทุกเช้าทุกเย็น เป็นเวลาครั้งละ 15-20 นาที ร่างกายจะได้พักผ่อนอย่างลึกซึ้ง และความคิดจิตใจก็ได้ขยายการรับรู้ของมันออกไประหว่างการฝึก ประโยชน์ของทีเอ็ม. อาจแบ่งงได้เป็น 3 ประเภท คือ ทางความคิด ทางร่างกาย และที่ได้รับจากการประสานการทำงานของร่างกายและความคิด

สำหรับคนที่ยังเรียนอยู่ จะได้ประโยชน์ทางความคิด คือ มีความสามารถในการเรียนเพิ่มขึ้น สามารถทำโจทย์เลขได้รวดเร็วและถูกต้องขึ้น ผลการเรียนดีขึ้น

ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำงาน คือ มีผลงานเพิ่มขึ้น มีความพอใจในงานเพิ่มขึ้น มีความสัมพันธ์กับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานดีขึ้น เป็นต้น

ประโยชน์ต่อร่างกาย คือ ระบบประสาทอัตโนมัติมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น มีปฏิกิริยาตอบสนองที่เร็วขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจต่ำลง ความดันโลหิตลดลง หูสามารถแยกแยกเสียงได้มากขึ้น ความเครียดลดลง ความกระวนกระวายลดลง ช่วยแก้ปัญหาการนอนไม่หลับและอื่นๆ

การประสานการทำงานของร่างกายและจิตใจ ช่วยให้มีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น มีความเข้าใจที่กว้างขวางขึ้น มีสมาธิในการทำงานเพิ่มขึ้น รู้จักตัวเองมากขึ้น

เทคนิคต่างๆ ของทีเอ็ม. ไม่อาจจะเรียนจากหนังสือได้แม้ว่าจะมีหนังสือหลายเล่มที่ได้อธิบายและพิจารณาว่ามันส่งผลอย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องได้รับการสอนฝึกทีเอ็ม.โดยส่วนตัวจากครูทีเอ็ม.ที่ผ่านการฝึกมาแล้ว

ทุกวันนี้ ตามเมืองใหญ่ๆ เกือบทุกเมืองในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งในประเทศอื่นๆ ก็มีชั้นเรียนสอนทีเอ็ม.กันอยู่มากมาย

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า