สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การทำจิตบำบัดในระยะกลางของการรักษา

การทำจิตบำบัดในระยะกลางของการรักษานี้ ผู้เขียนแปลมาจากคำในภาษาอังกฤษ คือ The Middle Course of Psychotherapy ซึ่งหมายถึงระยะของการทำจิตบำบัด ตั้งแต่นักจิตบำบัดเริ่มใช้ Interpretation ครั้งแรก ไปจนถึงเมื่อเข้าสู่ระยะจบการรักษา ที่เรียกเป็น ภาษาอังกฤษว่า Ending the Psychotherapy

ในทางทฤษฎี การที่นักจิตบำบัดกระทำดังกล่าวนี้ จะช่วยให้ Ego ของคนไข้เป็นอิสระจากสิ่งที่เรียกว่า “Symptom-Producing Neurotic Conflicts” ในทางปฏิบัติ ผู้รักษาจะใช้ Interposition และ Interpretation เป็นเครื่องมือในการกระทำดังกล่าว ต่อไปนี้จะอธิบายเรื่อง Interpretation ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการทำจิตบำบัดในระยะกลาง

Interpretation หมายถึงการที่นักจิตบำบัด ใช้การพูดในหลายรูปแบบและหลายวิธี เพื่ออธิบายหรือชี้แจงให้ผู้ป่วยทราบความหมายของคำพูด ความรู้สึก ความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้ป่วย ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ป่วยไม่เข้าใจ หรือไม่ทราบความหมายของสิ่งดังกล่าว เพราะว่าความหมายของสิ่งเหล่านี้ อยู่ในระดับจิต “ไร้สำนึก” การใช้ Interpretation นี้ ถือว่าเป็นการ “เผชิญหน้า” กับผู้ป่วยด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่า การกระทำดังกล่าวทำให้สิ่งที่เป็น Unconscious กลายเป็น Conscious

Interpretation มีอยู่หลายชนิด ตำราต่างๆ ก็อธิบายแตกต่างกันไปในรายละเอียดปลีกย่อย แต่ว่าเนื้อหานั้น ไม่แตกต่างกันมาก ที่ผู้เขียนเลือกเอามาเป็นตัวอย่างนี้ นำมาจากตำราของนายแพทย์ Colby ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
1. Clarification Interpretation
2. Comparison Interpretation
3. Wish-Defense Interpretation

Clarification Interpretation
หมายถึงการที่นักจิตบำบัดใช้การพูด การอธิบาย หรือชี้แจงให้คนไข้ “ทราบ” “เข้าใจ” “ประจักษ์แจ้ง” ถึงความคิด ความรู้สึก ทัศนคติ จินตนาการ และพฤติกรรมของคนไข้ และบางครั้งที่ข้อมูลยังไม่เพียงพอ นักจิตบำบัดจะใช้วิธีชักนำให้คนไข้สนใจในสิ่งที่สำคัญ ทำให้คนไข้จำเหตุการณ์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ในการเข้าใจตนเองเพิ่มขึ้น หรือกระจ่างชัดยิ่งขึ้น สรุปความว่า อธิบายให้คนไข้เข้าใจตนเอง ในสิ่งที่เขาไม่ทราบมาก่อน

ในทางปฏิบัติ นักจิตบำบัดอาจจะใช้การถาม การอธิบาย การอธิบายในเชิงบังคับนิดๆ นำคำพูดครั้งก่อนๆ ของคนไข้มาอธิบายซ้ำใหม่ ฯลฯ

ตัวอย่างที่หนึ่ง
ผู้ป่วยเป็นหญิง อายุ 28 ปี มารับการทำจิตบำบัดเพราะมีปัญหากับสามี ขณะนี้ ผู้ป่วยได้เข้าสู่ระยะกลางของการทำจิตบำบัด ผู้ป่วยเล่าว่า มีอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า และเบื่ออาหาร ในชั่วโมงที่แล้วมา ผู้ป่วยได้เล่าถึงความสัมพันธ์กับสามีอย่างละเอียด ทั้งคู่เคยเป็นนักศึกษาวิชาเดียวกัน แข่งขันกันเรียน ผู้ป่วยสามารถเอาชนะสามีในทุกๆ ด้าน ระยะหลัง ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัวว่า มีความรู้สึกต่อสามีคล้ายกับเขาเป็นลูกของเธอ ผู้ป่วยมีความรู้สึกว่า จะต้องปกป้อง คุ้มครอง บังคับ และควบคุมสามีตลอดเวลา อาการไม่สบายของผู้ป่วยที่เล่าให้นักจิตบำบัดฟัง ตอนต้นชั่วโมงนี้ เกิดขึ้นในขณะที่ผู้ป่วยไปเที่ยวตามลำพัง สามีผู้ป่วยขอไปด้วย แต่ผู้ป่วยไม่อนุญาต

ขณะเดินทางตามลำพัง ผู้ป่วยรู้สึกสลดใจ และไม่สบายใจ ที่ทิ้งสามีไว้ที่บ้าน ผู้ป่วยได้เล่ารายละเอียดว่า ระหว่างเดินทางได้ทำอะไรบ้าง ในขณะนั้น ผู้รักษามีความรู้สึกว่า ควรจะใช้ Clarification Interpretation เพื่อให้ผู้ป่วยเห็นความสัมพันธ์ระหว่างอาการป่วยที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมของผู้ป่วย

ผู้รักษาจึงพูดขึ้นว่า “ผมคิดว่า คุณคงรู้สึกผิดขึ้นมาในใจ ที่ทิ้งสามีไว้ตามลำพัง”

ผู้ป่วยตอบว่า “ใช่ค่ะ ความจริงถ้าเอาเขาไปด้วย ก็คงไม่มีปัญหาอะไร เขารู้สึกผิดหวังและเสียใจมาก”

ผู้รักษาจึงถามว่า “คุณคิดว่า เป็นไปได้ไหม ที่อาการป่วยของคุณในขณะนั้น อาจจะเกี่ยวข้องกับการที่คุณทิ้งเขาไป ?”

ข้อสังเกต
นักจิตบำบัดไม่ได้ “กล่าวหา” ผู้ป่วยโดยตรง แต่พูดถึงความเป็นไปได้ ว่าอาการที่เกิดขึ้นอาจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของผู้ป่วยเอง แล้วให้ผู้ป่วยกลับไปคิดพิจารณาด้วยตนเอง

ตัวอย่างที่สอง
ผู้ป่วยเป็นชายวัยหนุ่ม ได้รับการทำจิตบำบัดมานานพอสมควร ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่า ได้อยู่ร่วมกับผู้หญิงหลายคน แต่ไม่เคยมีความสุขแม้แต่ครั้งเดียว จะต้องมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง และเลิกร้างกันไป

ชีวิตในวัยเด็กของผู้ป่วยที่สำคัญ คือ มีความรู้สึกและทัศนคติไม่ดีต่อมารดาและพี่สาว ในขณะกำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ ผู้ป่วยมักจะเข้ากับเพื่อนนักเรียนที่เป็นหญิงไม่ได้ การที่ผู้ป่วยมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงหลายคนนั้น นักจิตบำบัดคิดว่าเป็น Defense ของผู้ป่วย ในขณะนี้ ผู้รักษาคิดว่า ผู้ป่วยเริ่มเข้าใจพฤติกรรมของตัวเองพอสมควรแล้ว จึงลองใช้ Interpretation โดยพูดขึ้นว่า “ตามที่คุณเล่ามา รู้สึกว่าทุกครั้งที่คุณยุ่งกับผู้หญิง ทำให้คุณหัวเสีย”

ผู้ป่วยหยุดคิดแล้วพูดว่า “ครับ ผมเคยคิดเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร?”

ผู้รักษาจึงอธิบายเป็นเชิงถามว่า “ตามที่คุณเล่ามา คุณไม่เคยเข้ากับผู้หญิงคนไหนได้เลย คุณมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ไปด้วยกันไม่ตลอด คุณคิดถึงเรื่องนี้อย่างไร?”

ผู้ป่วยพูดว่า “ก็จริงอย่างที่คุณหมอพูด คุณแม่กับผมก็ทะเลาะกันเสมอ พี่สาวก็ไม่ถูกชะตากัน….(แล้วผู้ป่วยก็หยุดพูด ผู้ป่วยทำคิ้วขมวดคิดประมาณ 2-3 นาที่ แล้วพูดต่อว่า) ตอนผมเรียนหนังสือ ผมก็ไม่เคยชอบเพื่อนนักเรียนที่เป็นผู้หญิง แปลกเหมือนกัน…..” (ผู้ป่วยหยุดคิดอีก)

ผู้รักษารออยู่ครู่หนึ่ง แล้วจึงถามผู้ป่วยว่า “เดี๋ยวนี้ คุณรู้สึกอย่างไรกับเรื่องราวของคุณที่ผ่านมา?”

หมายเหตุ
ผู้รักษาพยายามอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจพฤติกรรมของตนเองก่อน โดยยังไม่แตะต้อง Defense ของผู้ป่วย การที่จะแตะต้อง Defense ของผู้ป่วย จะต้องให้ผู้ป่วยเข้าใจพฤติกรรม ขั้นมูลฐานก่อนเสมอ มิฉะนั้น จะไม่ได้ผล

ตัวอย่างที่สาม
ผู้ป่วยเป็นทหารวัยหนุ่ม มารับการทำจิตบำบัดหลายครั้งแล้ว ในระยะหลังๆ นี้ ผู้ป่วยได้พูดถึงความกลัวของตนเอง ที่มีต่อผู้ชายประเภทแข็งแรงบึกบึนและก้าวราว มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผู้รักษาสามารถแสดงให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า ผู้ป่วยเองมักจะเป็นคนยั่วยุให้ผู้อื่นทำร้ายตน ผู้ป่วยยอมรับการอธิบายในครั้งนั้น แต่คราวนี้ ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงและบ่ายเบี่ยง แล้วผู้ป่วยก็พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนมาพบผู้รักษาในครั้งนี้ ผู้ป่วยแสดงความแปลกใจ และไม่เข้าใจพฤติกรรมของตนเอง

ผู้ป่วยพูดว่า “ผมไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมผมถึงกลัวมันไม่มีเหตุผลเลย ผมเองก็ไม่เคยสู้รบตบมือกับใคร ผมเข้ากับคนได้ง่าย ไม่มีปัญหากับใคร ผมเองก็งงไปหมด”

ผู้รักษาจึงพูดขึ้นว่า “ครั้งก่อน เราเคยพูดเรื่องนี้กันแล้ว ดูเหมือนว่าคุณเองต่างหากที่กลัวว่า คุณจะยั่วยุให้คนอื่นทำร้ายคุณ คุณมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร ?”

ข้อสังเกต
ผู้รักษานำเอา Interpretation ในครั้งก่อนมาพูดใหม่อีก เพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปคิดทบทวนใหม่ ตามความเป็นจริงนั้น เราพบว่า Interpretation ต้องใช้หลายๆ ครั้ง ในหลายรูปแบบ จึงจะได้ผล

Comparison Interpretation
หมายถึงการที่นักจิตบำบัดใช้คำพูด หรืออธิบาย “เปรียบเทียบ” เหตุการณ์ ความคิด ความรู้สึก จินตนาการ พฤติกรรม ฯลฯ สองอย่างหรือมากกว่านั้น ในการกระทำดังกล่าว อาจจะเป็นการ “เปรียบเทียบ” ในเรื่องเดียวกัน หรือแตกต่างกันก็ได้ นักจิตบำบัดมักจะนิยมใช้การ “เปรียบเทียบ” พฤติกรรมในอดีตกับปัจจุบัน จินตนาการของคนไข้ กับ สภาวะความเป็นจริง ตัวคนไข้กับคนอื่นๆ ในอดีตกับปัจจุบัน ความรู้สึกที่มีต่อบิดามารดา กับเพื่อน คู่ครอง และผู้รักษา ฯลฯ ในการใช้คำพูดเปรียบเทียบนี้ นักจิตบำบัดจะต้องสามารถพูดในหลายรูปแบบ โดยไม่ทำให้เกิดความจำเจ หรือเบื่อหน่าย

ตัวอย่างที่หนึ่ง
ผู้ป่วยเป็นชายวัยหนุ่ม มีลักษณะเฉพาะตัว คือ ต่อต้านบิดาและสังคม ในการพบกับนักจิตบำบัดครั้งก่อนๆ ผู้ป่วยได้เล่าถึงความรู้สึกของเขาที่ต่อต้านบิดาอย่างรุนแรง

วันนี้ผู้ป่วยเล่าว่า ได้ไปเที่ยวบาร์แห่งหนึ่ง ได้รับความสนุกสนานมาก ผู้ป่วยเคยไปเที่ยวที่แห่งนี้หลายครั้ง และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเที่ยวด้วยกัน ผู้ป่วยเล่าว่า ได้รับการต้อนรับอย่างดีทั้งจากพนักงานและคนที่ไปเที่ยว ผู้ป่วยเดินไปตามโต๊ะต่างๆ ทักทายกัน คุยกันอย่างมีความสุข สนุกสนาน ผู้ป่วยมีความภูมิใจ ที่ตนเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่ นักจิตบำบัด จำได้ว่า ผู้ป่วยเคยด่าว่าบิดาของตน ชอบทำตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ในหมู่เพื่อนฝูง นักจิตบำบัด จึงเปรียบเทียบพฤติกรรมของผู้ป่วยกับบิดาว่า “รู้สึกว่า คุณทำตัวคล้ายคุณพ่อคุณนะ”

ผู้ป่วยงง และถามว่า “คล้ายยังไง?”

นักจิตบำบัดอธิบายว่า “คุณเคยเล่าว่า คุณพ่อของคุณชอบทำตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และเดี๋ยวนี้คุณบอกว่า คุณมีความสุขกับการเป็น ผู้ยิ่งใหญ่ เหมือนกัน ผมพูดอย่างนี้ คุณรู้สึกอย่างไร?”

ตัวอย่างที่สอง
ผู้ป่วยเป็นหญิงสาว ได้เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งยังเป็นเด็กว่า มารดาทำให้เธอต้องอับอายขายหน้า โดยมารดาเลิกกระโปรง และโชว์กางเกงในของเธอต่อหน้าแขกหลายคน ผู้ป่วยรู้สึกขายหน้าอย่างยิ่ง และจำเหตุการณ์ดังกล่าวมาตลอด วันนี้ผู้ป่วยเล่าว่าได้นอกใจสามี เพราะสามีไม่อาจให้ความสุขกับเธอได้ แต่ชู้รักสามารถทำได้ ผู้ป่วยแสดงอาการลังเลใจ และละอายมาก ที่ได้เล่าเรื่องนี้ให้ผู้รักษาฟังว่า ผู้ป่วยพูดว่า “หนูไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมหนูจึงไม่กล้าพูดเรื่องนี้ให้คุณหมอทราบตั้งแต่แรก ความจริงคุณหมอควรจะทราบมานานแล้ว แต่อาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวเกินไป”

ผู้รักษาจึงพูดอย่างเรียบๆ ว่า “คุณคงจะมีความรู้สึกเหมือนกับตอนที่คุณแม่ของคุณโชว์กางเกงในของคุณกับคนแปลกหน้า”

ตัวอย่างที่สาม
ผู้ป่วยเป็นหญิงสาว ครั้งหนึ่งมาพบผู้รักษาช้าไปมาก และอ้างว่าไม่มีนาฬิกา ผู้ป่วยเล่าว่าเธอใช้วิธีดูเวลาตามห้างร้านต่างๆ ที่เดินผ่าน หรือฟังจากวิทยุ เมื่อมารับการรักษาหลายครั้งแล้ว ผู้ป่วยเล่าว่า เธอเป็นคนที่มีความสามารถจัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังเล่าว่า เธอเป็นคนตรงต่อเวลาอย่างยิ่ง ถ้าผิดนัดแล้ว จะหงุดหงิดและอารมณ์เสียทันที เมื่อเล่ามาถึงตอนนี้ ผู้รักษาจึงพูดว่า “แต่คุณพูดว่า คุณไม่มีนาฬิกา”

ผู้ป่วยตอบว่า “ใช่ค่ะ หนูไม่เคยมีมาหลายปีแล้ว”
ผู้รักษาจึงพูดว่า “คุณรู้สึกอย่างไร ที่คุณบอกว่า คุณเป็นคนตรงต่อเวลา แต่ขณะเดียวกัน คุณไม่มีนาฬิกา”

ตัวอย่างที่สี่
ผู้ป่วยเป็นหญิงสาว มีเพื่อนชาย และอ้างว่าต้องการทดลองอยู่กินด้วยกันก่อน ไม่ต้องการจดทะเบียนสมรสหรือพันธะใดๆ แต่ในตอนหนึ่ง ผู้ป่วยเล่าว่า ผู้ป่วยกับเพื่อนชาย ฝากเงินที่ธนาคารโดยใช้บัญชีร่วมกัน
ผู้รักษาจึงพูดว่า “คุณไม่ต้องการพันธะผูกพัน แต่ทำไมจึงฝากเงินในบัญชีร่วมกัน ?”

ผู้ป่วยทำท่างง และพูดว่า “ฮื่อ ! หนูก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน”

ตัวอย่างที่ห้า
ผู้ป่วยเป็นหญิงสาว เล่าว่าเธอเป็นคนใจร้อน รออะไรไม่ได้ ถ้าไม่ได้อย่างใจจะทำลายข้าวของ หรือทำร้ายตัวเอง ผู้ป่วยจะใช้วิธี บีบ เอาทุกสิ่งทุกอย่างจากบิดามารดา และญาติพี่น้อง ฯลฯ ขณะนี้ ผู้ป่วยกำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ผู้ป่วยต้องการกลับบ้าน แต่ผู้รักษาเห็นว่า ยังไม่สมควร

ผู้ป่วยรบเร้าว่า “คุณหมอต้องให้หนูไป หนูบอกแล้วว่า หนูเป็นคนใจร้อน ถ้าคุณหมอไม่ยอม หนูจะฆ่าตัวตาย”

ผู้รักษายิ้มนิดๆ และกล่าวว่า “คุณกำลังจะบีบผม อย่างเดียวกับที่คุณเคยทำกับคุณพ่อคุณแม่ และพี่น้องของคุณหรือ?”

Wish-Defense Interpretation
หมายถึงการที่นักจิตบำบัดแปลความหมายของ Wish-Defense Components ของสิ่งที่เรียกว่า Neurotic Conflicts ของคนไข้ ในทางทฤษฏีนั้น Wish กับ Defense แยกจากกันได้ แต่ในทางปฏิบัติ แยกจากกันได้ยาก เพราะว่า Ego เป็นผู้จัดการตอบสนอง หรือแก้ไข ทั้ง Wish และ Defense

มีข้อแนะนำสำหรับนักจิตบำบัดใหม่ คือ ควรจะแปลความหมายเฉพาะ Defense ก่อน เพราะว่าเป็นการ “เผชิญหน้า” กับคนไข้ ที่ไม่รุนแรงนัก การแปลความหมายของ Wish เป็นการกระทบกระเทือน และ “เผชิญหน้า” มากเกินกว่าที่คนไข้จะทนได้ ผลร้ายที่ตามมา ก็คือ คนไข้จะมีความวิตกกังวล หรือรู้สึกว่าตนเองได้กระทำผิดอย่างมหันต์ อาจจะทำให้เกิด สภาวะ “วิกฤต” ในคนไข้เกินกว่าที่จะแก้ไขได้

ตัวอย่างที่หนึ่ง
ผู้ป่วยเป็นชายวัยหนุ่ม มารับการรักษาด้วยอาการวิตกกังวลจัด ผู้ป่วยเป็น Homosexual

การรักษาได้ดำเนินมาจนถึงขั้นที่นักจิตบำบัดทราบว่า สิ่งที่ผู้ป่วยกลัวมากที่สุด คือ ผู้ชายที่มีรูปร่างใหญ่โตบึกบึน และเหี้ยมเกรียม โดยกลัวว่าเวลาโกรธขึ้นมา อาจจะทำร้ายผู้ป่วยได้

เมื่อได้รับการรักษามานานพอสมควรแล้ว ผู้ป่วยได้พบผู้ชายชนิดนี้ ในขณะที่เขากำลังเมามากและทำอะไรผู้ป่วยไม่ได้ ผู้ป่วยจึงถือโอกาสร่วมเพศทางทวารหนักกับชายคนนี้ โดยที่ผู้ป่วยไม่มีความหวาดกลัวเลย พอชายคนนี้สร่างเมา และบังคับให้ผู้ป่วยลงนอนบ้าง ผู้ป่วยหวาดกลัวจนสุดขีดและรีบหนีไปโดยเร็ว

ผู้รักษาได้ข้อมูลเพียงพอแล้วว่า ผู้ป่วยมีความปรารถนาในระดับ “จิตไร้สำนึก” ที่อยากเป็นผู้หญิงและต้องการให้ถูก “ร่วมเพศ” โดยผู้ชาย ความปรารถนานี้ถูก “เก็บกด” เอาไว้ ผู้รักษาไม่ต้องการ “แตะต้อง” ความปรารถนานี้ เพราะจะเป็นการเผชิญหน้าผู้ป่วยมากเกินไป จนทนไม่ได้ ผู้รักษาจึงเลือก “แปลความหมาย” ของ Defense ของผู้ป่วยแทน โดยพูดว่า

“คุณกลัวเขาเมื่อเขาสร่างเมา และจะสามารถเอาชนะคุณได้ คุณกลัวว่าเขาจะทำอะไร?”

หมายเหตุ
ถ้าจะแปลความหมายของความปรารถนาก็คือ ต้องอธิบายว่า ความจริงผู้ป่วยต้องการจะเป็นผู้หญิง ต้องการร่วมเพศกับผู้ชาย แต่ Ego ของผู้ป่วยใช้กลไกของจิตใจ “เก็บกด” ความรู้สึกดังกล่าวไว้  ในทางปฏิบัติ การแปลความหมายของ Wishes นั้น นิยมทำในการทำ “จิตวิเคราะห์” ซึ่งต้องการประสบการณ์มาก ในการทำจิตบำบัดชั้นสูงชนิดอิงทฤษฎีจิตวิเคราะห์นี้ ถ้าผู้รักษามีประสบการณ์มากพอ ก็อาจจะนำมาใช้ได้ แต่ผู้เขียนไม่แนะนำให้นักจิตบำบัดหัดใหม่ทำ เพราะว่า ประสบการณ์ยังไม่เพียงพอ และยังไม่แน่ใจว่า จะรักษาความเป็น “One-Up” ได้

ตัวอย่างที่สอง
ผู้ป่วยเป็นหญิง ได้เล่าให้ผู้รักษาฟังว่า สามีกล่าวหาเธอว่าขี้บ่น จุกจิกจู้จี้เป็นประจำ ราวกับว่าเธอเป็นมารดาของเขา และยังกล่าวว่า เธอเป็นตัวการที่ทำให้เขาดื่มเหล้าเป็นประจำ แต่ผู้ป่วยกลับคิดว่า เธอกระทำดังกล่าวก็เพื่อให้เขาเป็นคนดี และมีสุขภาพแข็งแรง

ผู้รักษาได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ พบว่า การที่ผู้ป่วยกระทำดังกล่าวนั้น เป็น Defense ของผู้ป่วยเอง ที่มีต่อ Sadistic Impulse กับสามี แต่ถ้าจะแปลความหมายในเรื่องนี้โดยตรงจะเป็นการ “เผชิญหน้า” ที่ผู้ป่วยอาจจะทนไม่ได้ ผู้รักษาจึงเลือกแปลความหมายของ Defense แทน โดยพูดว่า “คุณรู้สึกอย่างไร เมื่อเขากล่าวหาคุณอย่างนี้?”

ผู้ป่วยคิดแล้วตอบว่า “อาจจะจริงเป็นบางครั้ง…. (ผู้ป่วยหยุดคิด แล้วพูดต่อว่า)…. เช่น ถ้าฝนตก หนูก็เป็นห่วงว่า เขาจะไปติดฝนอยู่ที่ไหน….(ผู้ป่วยหยุดคิดอีก)….รู้สึกว่าไม่มีเหตุผลเลย เรื่องแค่นี้เขาคงช่วยตัวเองได้”

ผู้รักษาพูดต่อว่า “และเขาก็ไม่พอใจ เมื่อคุณจู้จี้กับเขา”
ผู้ป่วยพูดว่า “เขาว่า หนูยุ่งกับเขามากเกินไป ราวกับว่าหนูเป็นแม่ของเขา แต่หนูไม่เห็นว่ามันจะไม่ดีตรงไหน”

ผู้รักษาพูดว่า “จะว่าดีหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่ผมอยากจะให้ข้อคิดกับคุณในวันนี้ คือ คุณเป็นห่วงเขามากเกินไป คล้ายๆ กับว่า เขาจะต้องตกอยู่ในอันตรายเสมอ คุณคิดถึงเรื่องนี้อย่างไร?”

หมายเหตุ
ถ้าผู้รักษาต้องการแปลความหมายของ Wish ของผู้ป่วย ก็ต้องอธิบายว่า เพราะผู้ป่วยอยากทำร้ายสามี แต่ Ego และ Superego ของผู้ป่วย ยอมให้ทำเช่นนั้นไม่ได้ ผู้ป่วยจึงใช้การกระทำตรงกันข้าม คือ เป็นห่วง และวิตกกังวล กลัวว่าอันตรายจะเกิดขึ้นกับเขาตลอดเวลา

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า