สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การตัดสินใจ (Decision Making)

มนุษย์เราต้องตัดสินใจตลอดเวลา ต้องตัดสินใจว่าจะกินอะไร กินอย่างไร กินที่ไหน ใส่เสื้อตัวใด ใช้สบู่ตราอะไร วันนี้จะทำอะไร จะลงทุนซื้อหุ้นดีหรือไม่ จะแต่งงานกับใคร ฯลฯ การตัดสินใจเหล่านี้บางอย่างง่ายและบางอย่างก็ยาก ต้องลังเลเป็นเวลายาวนาน และอาจต้องปรึกษาคนโน้นคนนี้ก่อนที่จะตัดสินใจได้

(1) ทฤษฎีการตัดสินใจ ทฤษฎีอธิบายการตัดสินใจของมนุษย์เท่าที่มีผู้เสนอไว้ พอจะจำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ ทฤษฎีบรรทัดฐาน (Normative Theory) และทฤษฎีพรรณนา (Descriptive Theory) ทฤษฎีบรรทัดฐานเสนอกระบวนการตัดสินใจที่มนุษย์ควรยึดถือเป็นหลักปฏบัติเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายที่ต้องการ ส่วนทฤษฎีพรรณนามุ่งอธิบายกระบวนการตัดสินใจของมนุษย์ตามที่เกิดขึ้นในมนุษย์ทั่วไป การตัดสินใจตามที่เกิดขึ้นจริงอาจไม่ตรงกับที่ควรจะเป็น แต่คนเราบางคนก็พยายามที่จะตัดสินใจตามทฤษฎีบรรทัดฐานเพื่อให้มีการผิดพลาดน้อยที่สุด การตัดสินใจทางธุรกิจที่มีผลได้เสียสูงมากเป็นไปตามทฤษฎีบรรทัดฐาน ส่วนการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน แม้ของนักธุรกิจเองก็เป็นไปตามทฤษฎีพรรณนาเป็นส่วนใหญ่

ทฤษฎีการตัดสินใจเริ่มต้นในบรรดานักคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะนักคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพนันในราชสำนักฝรั่งเศส นักคณิตศาสตร์เช่น คาร์ดาโน (Cardano) และปาสกาล (Pascal) ได้สร้างทฤษฎีความน่าจะเป็นเพื่อคำนวณหา ค่าคาดหวัง (Expected Value) ของการพนัน เชื่อว่ามนุษย์จะเลือกเล่นพนันเมื่อค่าคาดหวังเป็นบวก และจะเลือกไม่เล่นหากค่าคาคหวัง เป็นลบ ค่าคาดหวังคำนวณจากสูตร

EV = P1 V1 + P2V2 + P3V3 +…+ PnVn                  (5)

เมื่อ EV     = ค่าคาคหวัง

Pi     = โอกาสที่จะเกิดผล i

Vi           = ค่าของผล i

เช่นในการเล่นลูกเต๋า เจ้ามือปั่นลูกเต่า 1 ลูก ให้แทงเลข 1 ถึง 6 เพียง 1 เลข ครั้งละ 10 บาท หากลูกเต๋าหงายหน้าที่ตรงกับเลขที่แทง ผู้แทงจะ ได้เงิน 40 บาท หากไม่ตรงผู้แทง ก็เสียเงินเพียง 10 บาท กล่าวสั้นๆ ก็คือ แทง 1 จ่าย 4 ท่านจะเล่นหรือไม่

นักพนันที่ฉลาดจะคำนวณค่า EV ของการพนันครั้งนี้ทันที ในการพนันครั้งนี้ ผลที่จะเกิดมี 2 อย่างคือ

ผลที่ 1 แทงถูก : โอกาสที่จะถูก = 1/6

ค่าของแทงถูก = 40 บาท

ดังนั้น P1 = 1 /6; V1 = 40

ผลที่ 2 แทงผิด : โอกาสที่จะผิด    = 5/6

ค่าของแทงผิด    = -10 บาท

ดังนั้น P 2 = 5/6 ; V2=- 10

ตามทฤษฎีค่าคาดหวัง

EV    = (1/6) (40) + (5/6) (-10)

= – 1.67

ค่า EV ออกมาเป็นลบ แสดงว่าผู้แทงเป็นผู้เสียเปรียบ ในการพนันครั้งนี้ นักพนันที่ฉลาดจะเลือกไม่เล่น

อย่างไรก็ดี การพนันทำนองนี้มีปรากฎในสถานการณ์ทั่วไป แต่ก็ยังมีคนเล่นกับเจ้ามือ การซื้อลอตเตอรี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ EV ของผู้ซื้อเป็นลบ เพราะรัฐบาลได้กำไรทุกครั้ง แต่ก็มีคนซื้อ การซื้อประกันภัยก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ EV ของผู้ซื้อเป็นลบ เพราะบริษัทประกันภัยมี รายรับมากกว่ารายจ่าย แต่คนก็ยังซื้อประกัน ประกันทุกสิ่ง แม้แต่สุขภาพและชีวิตของตนเอง ปรากฎการณ์เหล่านี้แสดงว่ามนุษย์ปราศจากเหตุผลใช่หรือไม่

ในปี ค.ศ. 1738 นักคณิตศาสตร์ชื่อ แดเนียล เบอร์นูลลี (Daniel Bernoulli) ได้เสนอว่า ในการตัดสินใจของมนุษย์สิ่งที่มนุษย์พิจารณาหาใช่ค่าของผลที่เกิดขึ้นไม่ แต่พิจารณาอรรถประโยชน์ (utility) ของผลที่เกิดขึ้นต่างหาก (von Neumann and Morgenstern, 1944) อรรถประโยชน์หมายถึงค่าตามความรู้สึก เงิน 10 บาทมีค่าตามความรู้สึกมากสำหรับเด็กเร่ขายหนังสือพิมพ์บนท้องถนน ถึงกับต้องวิ่งตามเก็บเสี่ยงกับการถูกรถชนเมื่อธนบัตร 10 บาทหล่นปลิวไปตามลม แต่สำหรับผู้มีเงินมาก เงิน 10 บาทจะมีค่าตามความรู้สึกเพียงน้อยนิด หากหล่นปลิวไปตามลมก็ไม่รู้สึกเสียดาย ทฤษฎีของเบอร์นูลลีเป็นที่รู้จักกันในชื่อ อรรถประโยชน์คาดหวัง (Expected Utility) ซึ่งเขียนเป็นสูตรดังนี้

EU = P1U1 + P2U2+ P3U3+ … + PnUn                         (6)

เมื่อ   EU = อรรถประโยชน์คาดหวัง

Pi = โอกาสที่จะเกิดผล i

Ui = อรรถประโยชน์ของผล i

ตามทฤษฎี EU คนเราซื้อลอตเตอรี่หรือซื้อประกันภัยก็เพราะเงินที่จ่ายไปเพื่อซื้อลอตเตอรี่หรือประกันภัยมีอรรถประโยชน์น้อย เป็นเงินเหลือกินเหลือใช้ ส่วนเงินก้อนที่อาจจะได้รับนั้นมีจำนวนมากและมีอรรถประโยชน์มากกว่ามาก เช่นอรรถประโยชน์ของเงิน 10 บาทที่ซื้อ ลอตเตอรี่มีอรรถประโยชน์น้อยมาก เมื่อเทียบกับอรรถประโยชน์ของเงินรางวัลที่อาจได้รับ เมื้อคำนวณตามสูตรแล้ว EU อาจเป็นบวก ผู้ที่คิดว่า EU ของการซื้อลอตเตอรี่เป็นบวกก็จะเลือกซื้อ ส่วนผู้ที่คิดว่า EU ของการซื้อลอตเตอรี่เป็นลบก็จะไม่ซื้อ

ทฤษฎีอรรถประโยชน์คาดหวังที่เสนอโดยเบอร์นูลลี และเผยแพร่อย่างกว้างขวางโดยหนังสือของฟอนนิวแมนน์และมอร์เกนสเตอร์น ในปี 1944 มีอิทธิพลต่อแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์มาก อย่างไรก็ดีการวิเคราะห์การตัดสินใจของคนโดยเฉพาะในกลุ่มนิสิตนักศึกษาพบว่ามิได้เป็นไปตามทฤษฎีอรรถประโยชน์คาดหวัง (Edwards, Lindman and Phillips, 1965) และตามความรู้สึกของคนซื้อลอตเตอรี่ เงินที่ซื้อหาใช่ว่าจะมีอรรถประโยชน์น้อยมากเสมอไปไม่ บางคนเอาเงินที่จะซื้ออาหารไปแทงหวย บางคนจำนำข้าวของไปแทงหวย เงินสำหรับซื้ออาหารและเงินที่ได้จากการจำนำข้าวของย่อมมีอรรถประโยชน์สูงสำหรับเจ้าของเงินแน่ๆ

นักจิตวิทยามหาวิทยาลัยมิชิแกนกลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของเอ็ดเวิร์ดสที่เพิ่งได้อ้างถึง จึงได้เสนอว่า ในการตัดสินใจคนเรามิได้พิจารณาเพียงค่าตามความรู้สึกซึ่งเรียกว่าอรรถประโยชน์เท่านั้น หากยังพิจารณา โอกาสตามความรู้สึก (Subjective Probability) ด้วย โอกาสตามความรู้สึกแตกต่างจากโอกาสที่เป็นจริง เช่นในการแทงหวยใต้ดินเลข 2 ตัว โอกาสที่จะถูกตามความเป็นจริงคือ 1 ในร้อย แต่สำหรับบางคนจะรู้สึกว่าตนมีโอกาสที่จะถูกมากกว่า 10 ในร้อย และถ้าได้เลขดีๆ มาจากอาจารย์ที่ตนเลื่อมใส ก็ยิ่งจะรู้สึกว่ามีโอกาสถูกมากขึ้น อาจมากถึง 60 ในร้อย หรือ 80 ในร้อย ในกรณีหลังนี้การจำนำข้าวของเพื่อแทงหวยจึงเป็นเรื่องธรรมดามาก ทฤษฎี การตัดสินใจที่คำนึงทั้งค่าตามความรู้สึกและโอกาสตามความรู้สึกนี้เรียกว่า อรรถประโยชน์คาดหวังตามความรู้สึก (Subjective Expected Utility) เขียนเป็นสูตรว่า

SEU =      SP1 U1 + SP2 U2 + SP3U3 + …+ SPnUn    (7)

เมื่อ   SEU =      อรรถประโยชน์คาดหวังตามความรู้สึก

SPi   =      โอกาสตามความรู้สึกที่จะเกิดผล i

Ui     =      อรรถประโยชน์ของผล i

สมมตินาย ก. ต้องการเงินก้อนหนึ่ง แต่ไม่มีทางที่จะหาได้อย่างสุจริต จึงคิดจะปล้นร้านขายทองที่สี่แยกสามย่าน นาย ก. ได้คิดถึงผลที่จะเกิดขึ้น  และโอกาสที่จะเกิดผลแต่ละอย่าง ดังนี้

ผลที่ 1 ปล้นสำเร็จ : โอกาสที่จะสำเร็จ  =      ½

อรรถประโยชน์ของทอง               = 1,000 หน่วย

(1,000 เป็นเลขแสดงค่าตามความรู้สึก)

ดังนั้น SP1 = ½  ; U1 = 1,000

ผลที่2 ถูกจับติดคุก 10 ปี :โอกาสที่จะถูกจับ = ¼

อรรถประโยชน์ของการติดคุก               = -100 หน่วย

(ตามความรู้สึกของนาย ก การติดคุกเป็นเรื่องเล็กกว่าทองถึง 10 เท่า)

ดังนั้น SP2 = ¼  ; U2 = -100

ผลที่ 3 ถูกยิงตาย : โอกาสที่จะถูกยิงตาย      = ¼

อรรถประโยชน์ของการตาย = -1,500 หน่วย

(ตามความรู้สึกของนาย ก ความตายสำคัญกว่าทองประมาณ 50%)

ดังนั้น SP3 = ¼ ; U3 = -1,500

เมื่อแทนค่าในสมการ (7) ได้ค่าดังนี้

SEU = (½ ) (1,000) + (¼) (-100) + (¼) (-1,500)

= 100

SEU ของนาย ก. เป็นบวก ดังนั้นนาย ก. จะตัดสินใจปล้น หากค่า SEU ของนาย ก. เป็นลบ นาย ก. ก็จะไม่ปล้น กล่าวได้ว่าผู้ปล้นทองล้วนมี SEU ในการปล้นทองเป็นบวกทั้งสิ้น

ทฤษฎี SEU มีความสอดคล้องกับการตัดสินใจของมนุษย์มาก หากเราทราบอรรถประโยชน์ของผลหนึ่งๆ ที่มีต่อนาย ก. และถ้าทราบโอกาสตามความรู้สึกของนาย ก. เกี่ยวกับผลนั้นๆ เราก็สามารถคำนวณค่า SEU และพยากรณ์ได้ว่า นาย ก. จะตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำ

(2) ความขัดแยง (Conflict) การตัดสินใจในชีวิตประจำวันมักประสพปัญหาเสมอ ปัญหาที่พบบ่อยคือ การตัดสินใจไม่ได้กลายเป็นความขัดแย้งในใจ ความขัดแย้งนี้พอจะแยกเป็น 3 ประเภทตามแนวความคิดของเคิร์ท ลูวีน (Kurt Lewin) นักจิตวิทยาสังคมที่มีอิทธิพลมากคนหนึ่งของอเมริกา คือ

ก. ความขัดแย้งบวก-บวก (Approach-Approach Conflict) เกิดขึ้นเมื่อมีทางเลือก 2 ทาง แต่ละทางมี SEU เป็นบวกทั้งคู่ และบวกเท่ากันด้วย หากทางหนึ่งมากกว่าทางหนึ่ง การตัดสินใจจะง่ายขึ้นอีกมาก ความขัดแย้งก็อาจไม่เกิด ตัวอย่างความขัดแย้งบวก-บวกมีอาทิ ไปดูภาพยนตร์หรือไปเที่ยวดี แต่งงานกับ ก. ดีหรือกับ ข. ดี ฯลฯ

ความขัดแย้งบวก-บวก สามารถแก้ได้ โดยการหาข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกแต่ละทางเพิ่มเติม เมื่อได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น ค่า SEU ก็จะเปลี่ยนไป หากทางหนึ่งมีค่า SEU มากกว่าอีกทางหนึ่งก็ตัดสินใจเลือกทางนั้น หากยังเท่ากันอีก ทางออกคือการโยนเหรียญ ถ้าให้ศักดิ์สิทธิ์ไปโยนต่อหน้าพระพรหมก็ได้ ขึ้นหัวเลือกทางที่1 ขึ้นก้อยเลือกทางที่ 2 และในหลายๆ กรณีเมื่อโยนเหรียญเลือกทางหนึ่งได้แล้ว เกิดลังเลใจขึ้นมา ความลังเลใจที่เกิดขึ้นนี้แสดงว่าเรายังคิดอีกทางหนึ่งไม่ได้ SEU ของอีกทางเลือกหนึ่งจะต้องมากกว่าแน่ๆ ท่านว่าให้เปลี่ยนใจเลือกอีกทางหนึ่งทันที

ข. ความขัดแย้งลบ-ลบ (Avoidance-Avoidance Approach) เกิดขึ้นเมื่อมีทางเลือก 2 ทาง แต่ละทางมี SEU เป็นลบทั้งคู่ และลบเท่ากันด้วย เช่นต้องเลือกระหว่างไปเที่ยวกับเสี่ยที่แม่เลือกให้กับการขัดใจแม่ ต้องเลือกระหว่างการถอนฟันกับการปวดฟัน ฯลฯ

การแก้ความขัดแย้งลบ-ลบ ทำเช่นเดียวกันกับความขัดแย้งบวก-บวก กล่าวคือโดยการหาข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อได้ข้อมูลเพิ่มเติม SEU ก็จะเปลี่ยนแปลงไปทำให้ตัดสินใจได้ เช่นทราบว่าเสี่ยที่แม่เลือกให้เป็นคนดี จบจากเมืองนอก ยังเป็นโสด ทราบว่าการถอนฟันสมัยปัจจุบัน ไม่หวาดเสียวและไม่เจ็บปวด ฯลฯ การทราบเช่นนี้ทำให้ความขัดแย้งหมดไปทันที แต่ถ้าหากหาข้อมูลแล้วยังตัดสินใจไม่ได้อีก การโยนเหรียญเป็นทางออกหนึ่ง อีกทางออกหนึ่งคือการออกอุบาย ไม่เลือกทั้งคู่ เช่นสุนัขจิ้งจอกในนิทานอีสป ไม่เลือกระหว่างการพูดจริงว่าราชสีห์ปากเหม็นแล้วอาจตาย กับการพูดเท็จว่าราชสีห์ปากไม่เหม็นซึ่งขัดมโนธรรมของตน จึงออกอุบายว่าตนเป็นหวัด ไม่อาจดมกลิ่นได้

ค. ความขัดแย้งบวก-ลบ (Approach-Avoidance Conflict) เกิดขึ้นเมื่อทางที่จะเลือกนั้นมีทั้งผลทางบวกและทางลบ อยากได้รถยนต์ใหม่แต่ก็ไม่อยากมีหนี้สินมากมาย อยากเข้าไปชวนสาวคนนั้นคุยแต่ก็กลัวเขิน ฯลฯ

ความขัดแย้งบวก-ลบ มีมากที่สุดในชีวิตมนุษย์ เพราะสังคมได้สร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ให้อยู่ในทำนองคลองธรรม ในทรรศนะของฟรอยด์และนักคิดอีกหลายคน กฎเกณฑ์เหล่านี้สวนทางความต้องการของมนุษย์เสมอ ดังนั้นการขัดกันระหว่างความต้องการ และกฎเกณฑ์ของสังคมทำให้เกิดความขัดแย้งบวก-ลบ

ความขัดแย้งบวก-ลบแก้ยากที่สุดด้วย มนุษย์มีความต้องการ ความต้องการเป็นแรงผลักดัน ในขณะเดียวกันสิ่งที่มนุษย์ต้องการก็อาจมีผลทางลบรวมอยู่ด้วย การระงับความต้องการทำได้ยาก การระงับผลทางลบก็ทำได้ยาก และในหลายกรณี แรงผลักดันจากความต้องการและ แรงระงับจากผลทางลบก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์ ในบางขณะแรงผลักดันมีมากกว่าแรงระงับทำให้ตัดสินใจทำในสิ่งที่เดิมยังมีความลังเลใจ แต่เมื่อทำไปแล้วและในเวลาต่อมาแรงระงับเกิดมีมากกว่าแรงผลักดัน ทำให้เกิดความเสียใจที่ได้ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ และเสียใจอย่างสุดซึ้งในหลายๆ กรณี เพราะเรื่องที่ได้ทำไปนั้นแก้ไม่ได้เสียแล้ว

ความขัดแย้งบวก-ลบสามารถพัฒนาเป็นปมแก้ไม่ตก ยังผลให้มีอาการโรคประสาท และโรคจิตได้ในที่สุด

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า