สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การจัดระบบของร่างกายแบบโรล์ฟฟิ่ง

โรล์ฟฟิ่ง(Rolfing)
โรล์ฟฟิ่ง หรือการรวมโครงสร้าง(Structural Integration) ตามสำนวนของไอดา พี. โรล์ฟ เป็นเทคนิคเฉพาะที่ซับซ้อน สำหรับจัดการกับระบบกล้ามเนื้อและพังผืดของร่างกาย พังผืดนั้นเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ล้อมรอบและแทรกซึมเข้าไปถึงกล้ามเนื้อและโครงสร้างอื่นๆ ทั้งหมดของร่างกาย

วิธีการนี้ไม่เหมือนกับระบบอื่นๆ ที่เป็นของตะวันออกหรือตะวันตก เป็นระบบเดียวที่คิดขึ้นมาเพื่อจัดระบบของร่างกายทั้งหมดในภาวะของแรงโน้มถ่วง และประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายนั้น

ดร.ไอดา พี.โรล์ฟ เป็นผู้ที่พัฒนาโรล์ฟลิ่งขึ้นมา เธอเกิดในนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ได้รับปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์จากวิทยาลัยเบอร์นาร์ดของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เมื่อปี ค.ศ.1916 โดยได้รับปริญญาเอกในสาขาวิชาเคมีชีวภาพจากวิทยาลัยแพทย์และศัลยแพทย์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในปี ค.ศ. 1920 หลังจากนั้น เธอก็ได้ทำงานให้กับสถาบันร็อกกี้เฟลเลอร์ หรือร็อกกี้เฟลเลอร์ อินสติติวท์(Rockefeller) ในตำแหน่งนักเคมีอินทรีย์ เธอจำเป็นต้องออกจากงานเพราะปัญหาครอบครัวในปลายทศวรรษที่ 1920

ดร.โรล์ฟ ได้ค้นหาความสัมพันธ์ของโครงสร้างร่างกายกับสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคลจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอาการบาดเจ็บที่มือของครูสอนเปียโนของลูกๆ ของเธอ โดยที่เธอได้สอนวิธีการออกกำลังกายบางท่าให้กับครูเปียโนเพื่อช่วยให้มือกลับสู่สภาพที่เป็นปกติ

โรล์ฟสำรวจเทคนิคแบบอเล็กซานเดอร์ ต่อมาก็ศึกษาอ็อสทีโอพาธี หรือความสัมพันธ์ระหว่างกระดูกกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เพราะรู้ว่าการทำงานของร่างกายถูกกำหนดมาจากโครงสร้าง เธอจึงสังเกตพบว่าปัญหาโครงสร้างที่ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งจะทำให้ร่างกายทั้งหมดเสียสมดุล และได้ทราบด้วยว่า หากร่างกายบิดเบี้ยว มันก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ในแง่สรีรวิทยาได้อย่างเหมาะสม โรล์ฟจัดการเอาเรื่องวิธีการออกกำลังกายแบบต่างๆ มารวมประกอบเข้าด้วยกันเป็นการเพิ่มเติมงานของเธอต่อเข้าไปอีกจากที่เคยเรียนมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านออสทีโอพาธีคนหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย

โรล์ฟสอนสิ่งที่เธอเรียกว่า การรวมประสานโครงสร้าง หรือ Structural Integration ในช่วงทศวรรษที่ 1950 ที่สหรัฐอเมริกา รวมทั้งในแคนาดาและอังกฤษ มีผู้ให้การบำบัดหลายคนที่เรียนวิธีการของเธอแล้วอยากจะใช้เทคนิคนี้เพียงบางอย่างเท่านั้น แต่สิ่งที่เธอสอนนั้นมุ่งที่จะให้เป็นวิธีการที่เป็นระบบเพื่อสร้างสมดุลให้แก่ร่างกายทั้งหมด มิใช่เพียงแค่ซ่อมส่วนใดส่วนหนึ่งโดยเฉพาะ

หลังจากที่ทำงานกับฟริต เพิร์ลส์(Frit Perles) ซึ่งเป็นผู้วางรากฐานของการเยียวยาบำบัดแบบเกสตัลต์(Gestalt) งานของโรล์ฟก็เด่นดังขึ้นมา ซึ่งในระหว่างที่เขาทำงานอยู่ในสถาบันอีซาเลน ในเมืองบิ๊กซอร์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐอเมริกา สภาพหัวใจของเพิร์ลส์ดีขึ้นหลังจากที่ได้รับการประสานโครงสร้างตามแบบของโรล์ฟแล้ว หลังจากนั้นเขาก็ได้เขียนเล่าถึงประสบการณ์เรื่องนี้ไว้ในหนังสือที่มีชื่อว่า ในและนอกถังขยะ หรือ In and Out of Garbage Pail

นับแต่นั้นมาไอดา โรล์ฟ ก็ได้ไปทำงานสอน และใช้วิธีการประสานโครงสร้างของเธอเป็นประจำทุกฤดูร้อน ที่สถาบันอีซาเลน ความเกี่ยวพันกับอีซาเลนชักนำให้เธอเข้าไปมีส่วนอยู่ในการประชาสัมพันธ์สถาบัน รวมทั้งขบวนการที่เกี่ยวกับศักยภาพของมนุษย์ที่กำลังดำเนินอยู่ในตอนนั้น

ในปี ค.ศ.1970 สถาบันโรล์ฟ ก็ได้ก่อตั้งขึ้น เพื่อแบ่งเบาภารกิจที่ไม่เกิดดอกออกผลของไอดา โรล์ฟ ทำให้เธอมีเวลาว่างพอที่จะไปฝึกนักศึกษาในขั้นก้าวหน้า และเขียนหนังสือ และไปบรรยายตามที่ต่างๆ เธอได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มเล็กๆ ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1975 ซึ่งมีชื่อเรื่องว่า โรล์ฟฟิ่งมันคืออะไรกันแน่ หรือ What in the World is Rolfing และมีงานใหญ่อีกชิ้นหนึ่งที่บรรยายถึงแบบฉบับของเธออย่างละเอียดในปี 1977 หนังสือนี้มีชื่อว่า Rolfing: The Integration of the Human StructureZโรล์ฟฟิ่งคือการรวมประสานโครงสร้างของมนุษย์)

ไอดา พี. โรล์ฟ เป็นนักคิดนักนักสร้างนวัตกรรมแท้ๆ ความเป็นต้นแบบของหลักการของโรล์ฟฟิ่ง คือพื้นฐานของแบบอย่างการนวดที่เรียกกันว่า นิวเอจ(New Age)ที่บรรดาลูกศิษย์ของเธอได้พัฒนาขึ้นมากมายหลายแบบ และใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในปัจจุบันนี้

ตัวอย่างหนึ่งก็ได้แก่เฮลเลอร์เวิร์ค(Hellerwork) ซึ่งโจเซฟ เฮลเลอร์ ลูกศิษย์คนหนึ่งของเธอได้พัฒนาขึ้น เฮลเลอร์ผู้นี้ได้เป็นผู้อำนวยการคนแรกของสถาบันโรล์ฟด้วย

หลักการของโรล์ฟ มีอยู่ว่า ร่างกายคนเราจะต้องรับมือกับผลกระทบจากแรงโน้มถ่วงหรือแรงดึงดูดของโลกเหมือนกับโครงสร้างทุกอย่างในโลก ตัวอย่างเช่น หอเอนที่เมืองพิซ่า ประเทศอิตาลี ซึ่งได้มีการดำเนินการด้านวิศวกรรมและการก่อสร้างกันไปมากแล้วเพื่อจะทำให้หอเอียงนี้ตั้งอยู่ได้ เนื่องจากหอนี้ไม่สมดุลแรงโน้มถ่วงจึงพยายามฉุดให้ล้มลงอยู่ตลอดเวลา

เมื่อร่างกายของมนุษย์เสียสมดุลก็เช่นเดียวกัน แรงโน้มถ่วงก็กลายมาเป็นแรงฉุด พลังงานก็จะถูกใช้ไปเพื่อต้านแรงโน้มถ่วงนี้ ในขณะที่โครงกระดูกไม่ได้ตั้งตรงร่างกายก็อาจเสียสมดุลได้ เพราะแรงดึงหรือแรงตึงของกล้ามเนื้ออย่างเรื้อรัง และเพราะโครงสร้างของพังผืดมีการหดตัวสั้นลง เนื่องมาจากท่าทรงตัวที่ไม่ดีจนเป็นนิสัย หรืออาจจะเนื่องมากจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือการได้รับบาดเจ็บ การใช้สรีระในแบบที่ซ้ำซาก การผ่าตัด ความหม่นหมองทางอารมณ์ และปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม เช่น รองเท้า เก้าอี้ และโต๊ะ

ร่างกายจะมีความขัดแย้งกับแรงโน้มถ่วงถ้าไม่มีความสมดุล เหมือนการทำสงครามกันอยู่ตลอดเวลา ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ ทำให้ร่างกายประสบกับความเจ็บปวด ความเครียด และไม่มีแรงหรือพลังงาน ที่พอจะมองเห็นได้จากลักษณะภายนอกก็อย่างเช่น ร่างกายที่คุ้มงอ ศีรษะยื่นไปข้างหน้ามากเกินไป ตัวที่ตรงเกินไป มีการเบียดเอนไปข้างหลัง เท้าแปหรือแบ ส่วนโค้งที่ฝ่าเท้าแอ่นโค้งสูงมากเกินไป หรือกระดูกสันหลังโค้งมากเกินไป เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความตึงเกร็ง เครียด ที่มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อและพังผืดมีความตึงและหนาขึ้น

การมองร่างกายของผู้ให้การบำบัดตามระบบประสานโครงสร้างของโรล์ฟ ที่เรียกกันว่า โรล์ฟเฟอร์(Rolfer) จะมองว่าตั้งแต่ศีรษะ ลำตัว สะโพกถึงขา เป็นส่วนที่ประสานเข้าด้วยกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว ร่างกายจะสมดุลและใช้พลังงานได้อย่างประหยัดที่สุดได้เมื่อศูนย์กลางของแรงโน้มถ่วงของส่วนใหญ่ๆ ของร่างกายเหล่านี้วางซ้อนและทับกันและกันเป็นแนวเส้นตรง ผ่านศูนย์กลางทั้งหมดลงมาในแนวที่ค่อนข้างจะเป็นแนวดิ่ง

การจัดแนวของส่วนต่างๆ เหล่านี้ของร่างกายตามระบบการประสานโครงสร้างแบบโรล์ฟฟิ่ง เพื่อให้อยู่ในแนวดิ่งตรงกันภายในสนามแรงดึงดูดของโลกจะให้ดีที่สุดแล้ว ส่วนต่างๆ ที่วางซ้อนกันโดยมีศูนย์กลางความโน้มถ่วงทับกันเป็นตั้งนั้นควรตั้งอยู่ในแนวเส้นตรงโดยประมาณ เป็นเส้นที่ลากผ่านหูข้อต่อตรงหัวไหล่ สะโพก เข่าและข้อเท้า

โรล์ฟเฟอร์หรือผู้ให้การบำบัดแบบโรล์ฟฟิ่งจะใช้นิ้วมือ ฝ่ามือ กำหมัดและเข่า ในการจัดการนวดคลึงกับกลุ่มกล้ามเนื้อและพังผืดเพื่อทำให้ร่างกายอยู่ในแนวตรงกันเช่นนั้นได้

แผ่นเนื้อเยื่อที่ระบบพังผืดจะเชื่อมต่อทอร้อยเข้าด้วยกันหนาทึบ มันจะบุและคลุมกล้ามเนื้อ กระดูก ประสาท เส้นโลหิต เกือบทุกส่วน รวมทั้งอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ปอด สมอง และไขสันหลัง

พังผืดเป็นโครงสร้างผืนเดียวที่ยืดขยายมาจากส่วนบนสุดของศีรษะไปจนจรดปลายนิ้วเท้า มิใช่สิ่งที่ปกคลุมส่วนต่างๆ โดยแยกกัน มันมีบทบาทสำคัญในการค้ำจุนร่างกาย มีเส้นใยอยู่ 2 ชนิดที่ประกอบอยู่ในพังผืดคือ เส้นใยที่เป็นเอ็น มีความเหนียวและมีความสามารถในการยืดน้อย กับเส้นใยชนิดยืดหยุ่นที่สามารถยืดหยุ่นได้มากกว่า

ในภาวะที่สุขภาพดีเป็นปกติ พังผืดจะผ่อนคลายและมีความสามารถในการเคลื่อนที่ได้ แต่เมื่อร่างกายประสบกับปัจจัย เช่น การทรงตัวที่ไม่ดีนานจนเป็นนิสัย รวมทั้งสิ่งอื่นๆ ดังที่กล่าวแล้ว มันก็จะส่งผลกระทบต่อพังผืด และจะสะสมมากขึ้นตามกาลเวลา และในที่สุดพังผืดก็จะหมดความยืดหยุ่นคล่องตัว โดยที่มันจะหนาและแข็งขึ้น

แรงกดดัน แรงเสียดทานไปตามกลไกและความร้อนจากมือของโรล์ฟเฟอร์ จะทำให้พังผืดที่แข็ง หนา กลับมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนรูปทรงได้ง่ายขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง สามารถทำให้กล้ามเนื้อยืดยาวออกไปได้และกลับสู่ภาวะปกติได้ ร่างกายจะปรับตัวให้เข้ากับแรงโน้มถ่วงได้เองเมื่อกล้ามเนื้อยืดออกโดยไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ

ผลลัพธ์ของโรล์ฟฟิ่งมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยทั่วไปแล้วเมื่อศีรษะและหน้าอกยกสูงขึ้นและลำตัวยืดยาวขึ้นร่างกายก็จะเบา เมื่อเชิงกรานจัดแนวตามขวาง พุงกับก้นก็จะถูกรั้งเข้ามา ขาและเท้าก็จะเป็นแนวทางตรงไปข้างหน้ามากขึ้น และส้นเท้าก็จะวางตรงลงกับพื้นได้โดยไม่เอียง

ประโยชน์ของโรล์ฟฟิ่งจะทำให้คลายจากความปวด ข้อต่อเคลื่อนไหวได้อย่างมีอิสระมากขึ้น และมีพลังงานเหลือไว้สำหรับวัตถุประสงค์อื่นๆ มากขึ้น แม้ว่าโรล์ฟฟิ่งจะเป็นวิธีการรักษาโรคหรือปัญหาทางสรีระเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เมื่อพลังงานทางอารมณ์ที่ถูกปิดกันเอาไว้ถูกระบายออกไปจากร่างกาย ความเจ็บปวดที่เกิดจากบาดแผลทางอารมณ์ ความโกรธ และความไม่พอใจก็จะหายไปได้เช่นกัน

การบำบัดด้วยเทคนิคโรล์ฟฟิ่งมีอยู่ด้วยกัน 10 ขั้นตอน ในแต่ละขั้นจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง และมีระยะห่างกัน 1 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นการเพียงพอสำหรับคนส่วนใหญ่ หลังจากที่ผ่านการบำบัดไปแล้วไม่กี่เดือน หรือ 1 ปี หากมีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดเพิ่มเติมก็มีโรล์ฟฟิ่งแบบก้าวหน้าเอาไว้สนองความต้องการเฉพาะบุคคล

ผู้ที่จะเป็นผู้ให้การบำบัดแบบโรล์ฟฟิ่งได้จะต้องผ่านการฝึกมาจากสถาบันโรล์ฟ และได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันนี้ หากผู้ใดสนใจที่จะเข้ารับการฝึกสามารถติดต่อได้ตามที่อยู่ดังนี้
International Rolf Institute,
P.O. Box 1868
Boulder, CO 80306,
USA.

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า