สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การจัดการของเสียที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

1. คำนำ
การพัฒนา เพื่อการอยู่ดีกินดีของมนุษย์หากขาดมาตรการจัดการที่ดี ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของมนุษย์ การพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อผลิตของกินของใช้ อุปกรณ์หรือเครื่องจักร ย่อมก่อให้เกิดปัญหามลพิษ ตั้งแต่ขั้นจัดหาวัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิตหรือหลังจากการเลิกใช้ ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนั้นๆ แล้ว และหากผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีการใช้สารเคมี โลหะหนัก นํ้ามัน (สารประกอบไฮโดรคาร์บอน) หรือสารสังเคราะห์ที่ซับซ้อนด้วยแล้วโอกาสที่จะทิ้งของเสียที่อันตราย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ และทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อม ก็จะเพิ่มมากขึ้นตามส่วน

การจัดการที่ดี นับตั้งแต่การป้องกัน การปัดกวาด รวบรวม ตลอดจนการกำจัดทำลายฤทธิ์อย่างเหมาะสม จึงเป็นมาตรการที่สามารถช่วยลดอัตราเสี่ยง (Risk) ต่อสุขภาพอนามัยและผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อม นั่นหมายถึง การมีชีวิตที่แข็งแรงและยืนยาวขึ้น ของคนไทยเราด้วย

ดังนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นจะต้องมีมาตรการบริหารจัดการที่เหมาะสม และ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยเฉพาะการจัดการทางด้านสารมลพิษที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของมนุษย์

2. ปริมาณของเสียที่อันตราย
โดยปกติหลายคนมักจะเข้าใจกันว่า การป้องกันที่เหมาะสม หรือการอนุรักษ์ที่ดี ก็จะไม่มีสารมลพิษเกิดขึ้นเลย จนแทบจะเชื่อคำที่มักกล่าวกันว่า ไม่มีของเสียทิ้ง (Zero discharge) นั้นเป็นจริงได้ ซึ่งโดยข้อ เท็จจริงแล้ว เราจะไม่มีวันกำจัดของทุกอย่างได้หมดจด เช่น การบำบัดน้ำเสีย ก็ยังมีการปล่อยก๊าซมีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์ ออกสู่บรรยากาศ รวมทั้งการทิ้งน้ำที่ยังมีความสกปรกเหลืออยู่บางส่วน หรือตะกอนจุลชีพออกสู่แหล่งนํ้าหรือแผ่นดิน ดังนั้น การผลิตหรือการพัฒนาทุกรูปแบบ จะต้องมีของเสียเกิดขึ้น ส่วนจะเกิดขึ้นมากน้อย เท่าใดนั้น ย่อมแล้วแต่ทักษะ และความสามารถในการบริการของกลุ่มชนบทนั้น ของเสียที่อันตรายอาจเกิดได้ทั้งจากบ้านเรือนอาคารพาณิชย์และโรงงานอุตสาหกรรม หรืออาจกล่าวได้ว่า เราสามารถพบได้ตั้งแต่ในถังขยะของบ้านพัก เช่น นํ้ามันเครื่องเก่า ยารักษาโรคที่เสื่อมคุณภาพ กระป๋องสเปรย์เปล่า ถ่านไฟฉาย วิทยุ ทีวีเก่า ไปจนถึงกากของเสียที่ซับซ้อน เช่น กากกัมมันตภาพรังสี หรือชิ้นส่วนติดเชื้อจากโรงพยาบาล จากการศึกษาปริมาณของเสียที่อันตรายต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยบริษัท Engineering Science ซึ่งได้รายงานไว้ใน The National Hazardous Waste Management Plan” ในปี พ.ศ. 2532 ได้ระบุว่า ในปี 2535 จะมีของเสียอันตรายเกิดขึ้นทั่วประเทศ และจากทุกกิจกรรมรวมประมาณ ปีละ 2.8 ล้านตัน โดยร้อยละ 55 จะมาจากอุตสาหกรรมหลอมหรือถลุงโลหะ ร้อยละ 17 จะเกิดจากขบวนการผลิตของโรงงาน นอกนั้นก็จะมาจากด้านธุรกิจพาณิชย์การเดินเรือ โรงพยาบาล ห้องวิเคราะห์ หรือปนในขยะชุมชน และกิจกรรมทางเกษตร  สำหรับรายละเอียด โปรดดูในตารางที่ 1 และ 2

ตารางที่ 1  ปริมาณของเสียอันตราย แยกตามกลุ่มแหล่งกำเนิดและปี
health-0274 - Copy
*= ของ เสียที่ปนเปื้อนสาร PCB คาดว่ามีประมาณ 2468 ตัน และไม่มีการนำเข้าสาร PCB หลังจาก ปี พ.ศ 2518
อ้างอิง : ข้อมูลจากการปรับปรุงค่าของ Engineering Science/USTDP Study 1989

ตารางที่ 2 ปริมาณของเสียอันตราย แยกตามประเภท และปี

health-0275 - Copy

*= ไม่มีการนำเข้าสาร PCB หลังจาก ปี พ.ศ. 2518
อ้างอิง : ข้อมูลจากการปรับปรุงค่าของ Engineering Science/USTDP Study 1989

3. ผลกระทบจากของเสียอันตราย
มีเอกสารระบุกันเสมอๆ ว่า “70% – 90% ของมะเร็งมีสาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อม” [Environmental Protection, 2nd Edition by E.T. Chanlett, 1979] และยังระบุว่า ในแต่ละปีมีการค้นพบและนำสาร เคมีตัวใหม่ออกมาใช้งานอีกปีละประมาณ 1000 ชนิด ดังนั้น การผลิตหรือการนำมาใช้ทำให้จำเป็นต้องทิ้งของเสียออกสู่อากาศ นํ้าหรือดิน ของเสียเหล่านี้ก็จะเข้าสู่วัฏจักรของสารเคมีและชีววิทยาในธรรมชาติ หรือระบบนิเวศน์รอบตัวเรา เกิดการสะสมในวงจรอาหาร เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และในที่สุด ส่งผลกระทบต่ออายุขัยของคนเรา หากสิ่งแวดล้อมสะอาด นั่นหมายถึง อากาศหายใจที่สะอาด นํ้าดื่มที่สะอาด ตลอดจนอาหารที่สะอาด และถูกสุขลักษณะ จะทำให้คนเรามีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น

4. แนวทางจัดการของเสียอันตราย
แนวทางจัดการที่ถูกต้อง ควรคำนึงถึงการป้องกันและการลดปริมาณของเสียให้เหลือน้อยที่สุด มากกว่าที่จะมุ่งตรงหาทางจัดการกำจัดของ เสียนั้นเลยตั้งแต่ต้น และมาตรการจัดการนั้นๆ ต้องสามารถตามจัดการได้ตั้งแต่จุดกำเนิด ไปจนถึงการฝังกลบขั้นสุดท้าย

4.1 ลดปริมาณของเสียก่อน
การลดปริมาณของเสีย (Minimization) นั้นบางคนอาจเรียกการใช้เทคนิคในการผลิตที่สะอาด (Clean Technology) หรือการป้องกันมลพิษ (Prevention) หรือเรียกว่า เทคนิคในการผลิตที่มีของเสียน้อยหรือมีของเสียน้อย หรือไม่มีของเสียเกิดขึ้นเลย (Low and Nonwaste) อย่างไรก็ตาม การลดของเสียที่อันตราย อาจทำได้ในแนวทางใหญ่ๆ ได้ 2 แนวทาง คือ การลดที่แหล่งกำเนิด เช่น การเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบชนิดใหม่ เปลี่ยนวิธีการผลิต หรือปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และการนำของเสียกลับมาใช้งานใหม่ (Recycle) ซึ่งทำได้ทั้งในโรงงานหรือส่งไปจัดการที่อื่น (ดูรายละเอียด แผนภูมิเทคนิคในการลดของเสีย ในรูปที่ 1)

ตัวอย่างในการเปลี่ยนวัตถุดิบใหม่ก็เช่น การเปลี่ยนหมึกพิมพ์เขียน จากประเภทใช้ตัวทำละลายเคมี ไปเป็นการใช้นํ้าเป็นตัวทำละลาย หรือเลิกใช้หมึกพิมพ์ที่มีแคดเมียม ตลอดจนการไม่ใช้นํ้ายาไซยาไนด์หรือแคดเมียมในขบวนการชุบโลหะ เป็นต้น สำหรับการเปลี่ยนกรรมวิธีในการผลิตใหม่ก็อาทิเช่น ในอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์อิเลคโทรนิค สามารถเปลี่ยนกรรมวิธีในการล้างฟิล์มที่ต้องใช้นํ้าไปเป็นแบบแห้ง ตลอดจนการเลิกใช้น้ำล้างไขมันชิ้นงานหันไปใช้ตัวทำละลาย (Solvent) ทำความสะอาดแทน ส่วนการปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพของขบวนการผลิต ซึ่งนอกจากจะได้ผลิตภัณฑ์มากขึ้น เพราะผลิตภัณฑ์ที่เสียลดลงแล้ว ยังทำให้เกิดของเสียที่จะต้องจัดการกำจัดลดน้อยลงด้วย

การนำของเสียกลับมาใช้งานใหม่ (Recycle) ควรทำ ณ จุดกำเนิดมากกว่าการขนย้ายไปจัดการที่อื่น โดยเฉพาะของเสียที่เกิดจากการปน เปื้อนของวัตถุดิบ เช่นการกลั่นแยกตัวทำละลายที่ใช้ขจัดคราบไขมันขึ้นงาน หรือการแยกนํ้าเสียด้วยไฟฟ้า เพื่อแยกดีบุก ทองแดง หรือตะกั่ว กลับมาใช้งาน ซึ่งจะทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งลดอัตราเสี่ยงจากการปนเปื้อน ในระหว่างรวบรวมหรือขนถ่าย นอกจากนี้ในหลายขบวนการผลิต จะเกิดของเสียเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะคุ้มค่าต่อการหาทางนำกลับมาใช้งานใหม่ เช่น ในขบวนการใช้สีสเปรย์พ่นชิ้นงาน ซึ่งอาจสูญเสียสีถึงร้อยละ 50 อย่างไรก็ตาม เราจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การสกัดของมีค่าจากของเสียกลับมาใช้งาน จะไม่สามารถสกัดได้ทั้งหมด จะยังมีของเสียเหลืออยู่ ในบางกรณี ของเสียที่ปนเปื้อนอาจ เข้มข้นมากขึ้น และจะต้องจัดการต่อไป เช่น การกลั่นสารตัวทำละลาย (Solvent) ที่ปนเปื้อนกลับมาใช้งาน เราจะกลั่นได้คืนเพียงร้อยละ 90 เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะเป็นตะกอนนอนก้น (Bottom residue) ที่มีสารปนเปื้อนเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งจะต้องจัดการอย่างเหมาะสมต่อไป และในกรณีนี้ก็คือ การส่งไปเผาต่อทำลายในเตาเผาอุณหภูมิสูง ที่มีเวลาเผา
ไอของเสียอย่างพอ และมีเครื่องดักฟอกไอก๊าซ ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

health-0277 - Copy

รูปที่ 1 เทคนิคในการลดปริมาณของเสีย(Waste Minimization Techniques)

4.2 การทำลายฤทธิ์และฝังกลบ
เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า ไม่ว่าเราจะพยายามเลี่ยงไม่ให้มีของเสีย เกิดขึ้น หรือพยายามนำของเสียกลับมาใช้ใหม่แล้วก็ตาม ก็ยังคงต้องมีของเสียเหลืออยู่อีกจำนวนหนึ่ง ที่จะต้องนำไปจัดการต่อ ซึ่งประเทศเยอรมัน จะเลือกวิธีกำหนดมาตรการกำจัดที่เหมาะสม เป็นประเภทๆ ไป โดยของเสียบางประเภท จะกำหนดให้ส่งไปฝังกลบได้เลย ทั้งการฝังกลบแบบประเภทของเสียเดียว (Mono dispodal) หรือกลบฝังรวมกับของเสียอื่นได้ (Co-disposal) หรือกำหนดเป็นประเภทที่ต้องผ่านการจัดการขั้นต้น (Pre-1reatment) ก่อนนำไปกลบฝัง เช่น กำหนดให้ทำลายฤทธิ์ด้วยระบบเคมี-ฟิสิกส์ ตามหลักการทางเทคนิคที่ตกลงยอมรับกันไว้ หรือต้องเผาที่อุณหภูมิสูง จนเหลือแต่เฉพาะขี้เถ้าก่อน ทั้งนี้ ทั้งการเลือกกรรมวิธีการเดินระบบและการบริหารจัดการ จะต้องได้มาตรฐานสูงสุดตามหลักการที่ระบุไว้ โดยคณะทำงานทางวิชาการ

สำหรับของเสียที่อันตรายนั้น อาจแบ่งได้เป็น 7 กลุ่ม ตามแนวทางของประเทศออสเตรเลีย คือ ประเภทปนเปื้อน :1) นํ้ามัน (Oily Wastes) 2) ตัวทำละลาย (Solvents) 3) ยาฆ่าแมลง (Pesticides) 4) กรด (Acid) 5) ต่าง (Alkali) 6) โลหะหนัก (Heavy Metals) และ 7)
กลุ่มเจาะจงเฉพาะ (Special) ซึ่งแต่ละกลุ่ม ก็จะมีหลักการจัดการที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ การทำลายฤทธิ์ด้วยวิธีใช้สารเคมี หรือการใช้ความร้อนเผา แล้วนำไปฝังกลบตามหลักวิชาการ ให้เป็นที่เป็น ทางต่อไป โปรดดูรูปที่ 2

ก. หลักการทำลายฤทธิ์ด้วยวิธีเคมี-ฟิสิกส์
ก็คือการทำให้ของเสียเป็นกลาง (Neutralization) หรือทำให้หมดปฏิกิริยาทางเคมี (Not reactive) ให้กลายไปเป็นตะกอนหรือเกลือ ที่คงรูปไม่ละลายน้ำ (Inert salts, stable and insoluble) โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ คือทำให้กลายเป็นสารประกอบของเกลือแร่ ต่างๆ ที่คงรูป ทนต่อดินฟ้าอากาศ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิหรือความดัน เช่น การทำน้ำกรดให้เป็นกลาง ด้วยด่าง การทำสารละลายเกลือโลหะหนักให้ตกตะกอบด้วยการเติมสารประกอบ
ไฮดรอกไซด์ [OH- ] จำพวกปูนขาว ในบางกรณีอาจใช้วิธีแยกของเสียออกจากนํ้าเสีย โดยการเติมสารรวมตะกอน จำพวกสารส้ม แล้วแยกตะกอนออก ด้วยการทำให้ตกตะกอนแยกจากนํ้าใส แล้วกรองโดยใช้ลานตากตะกอน หรือผ้ากรองในบางกรณีอาจทำให้เป็นก้อน โดยการเดิมปูนซีเมนต์ หรือขี้เถ้า หลังจากนั้น ตะกอน เกลือ ที่คงรูปไม่มีฤทธิ์ และไม่ละลายนํ้าแล้ว ก็จะถูกนำไปฝังกลบตามหลักวิชาการต่อไป ดังนั้น การควบคุมคุณภาพของการทำลายฤทธิ์ จะต้องทำภายใต้การ เก็บตัวอย่าง เพื่อทำการวิเคราะห์ประสิทธิภาพทั้งก่อนและหลังการทำลายฤทธิ์อย่างใกล้ชิดโดยนักวิชาการ

ก่อนการนำตะกอนเกลือที่ผ่านการทำลายฤทธิ์แล้วไปกลบฝัง จะต้องมีการเก็บตัวอย่างตะกอน เพื่อทดสอบคุณสมบัติว่าได้ผ่านการทำลายฤทธิ์สมบูรณ์แล้ว คือไม่ละลายน้ำได้อีก โดยการนำตัวอย่างก้อนตะกอนไปบดและละลายในนํ้ากรดอ่อนๆ นาน 8 หรือ 24 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของการทดสอบ หลังจากนั้น ก็กรองเอาเฉพาะนํ้าใสไปตรวจวัดหาค่าสารประกอบต่างๆ ว่าเกินค่ามาตรฐานที่ยอมรับกันได้หรือไม่ ซึ่งสหรัฐฯ กำหนดให้ใช้ USEPA Leach Test โดยค่าสารต่างๆ ที่วิเคราะห์ได้จะต้องไม่เกิน 10 เท่าของค่าคุณภาพมาตรฐาน สำหรับน้ำดื่ม (US drinking water standard)

health-0279

รูปที่ ๒ ระบบการทำลายฤทธิ์ของเสียอันตรายและการฝังกลบ(Hazardous Waste Treatment and Disposal System)

ข. การทำลายฤทธิ์ด้วยเตาเผาอุณหภูมิสูง (Hi- Temp Incinerator)
ในการทำลายฤทธิ์ด้วยวิธีเคมี-ฟิสิกส์ตามที่กล่าวถึงในข้อ ก.นั้นจะไม่สามารถทำลายฤทธิ์ สารจำพวกนํ้ามัน ยาฆ่าแมลง สีสังเคราะห์ หรือสารทำละลายได้ดี เพราะจะไม่ทำปฏิกิริยากัน จึงจำเป็นต้องใช้ความร้อนเผาที่อุณหภูมิสูง เพื่อให้ของเสียถูกอ๊อกซิไดซ์ไปเป็นขี้เถ้า หรือเกลือที่คงรูป ซึ่งของเสียบางประเภทอาจให้พลังงานความร้อนเพียงพอที่จะลุกไหม้เอง แต่บางตัวก็ยังต้องอาศัยเชื้อเพลิงเข้าช่วย อย่างไรก็ตามปริมาณขี้เถ้า หรือกากตะกอนที่เกิดขึ้นมา แม้จะเหลือเพียงเล็กน้อยก็ยังต้องนำไปฝังกลบ และในบางกรณีอาจต้องทำให้คงรูปไม่ละลายน้ำ ก่อนนำไปกลบฝัง

เตาเผาของเสียที่อันตาายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ซึ่งนอกจากจะต้องเผาที่อุณหภูมิสูง ซึ่งอาจสูงถึง 1000 หรือ 1200 องศา เซลเซียสแล้ว ยังต้องมีเวลาเผาไอก๊าซได้นานกว่า 2 วินาที ด้วย ซึ่งส่วนมากนิยมใช้เตาที่มีส่วนเผาไอก๊าซต่อ (After Burner) และในทุกกรณีจะต้องให้ของเสียและไอก๊าซที่เกิดขึ้นถูกเผาไหม้ในทันทีและที่อุณหภูมิสูง และไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะใช้เตาเผาที่อุณหภูมิต่ำ และใช้ระบบค่อยๆ อบย่างของเสีย ให้ของเสียมิอุณหภูมิค่อยๆ สูงขึ้น เช่น การ เผาของเสียกลางแจ้งหรือขุดหลุมเผา หรือใช้เตาที่มิได้ออกแบบเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะทำให้ของเสียระเหยกลายเป็นไอ และลอยหนีออกไปก่อนที่จะถูกเผาไหม้ ซึ่งนับว่าอันตรายอย่างยิ่ง เพราะแทนที่จะทำลายพิษกลับเป็นการเร่งให้ของเสียระเหยสู่สิ่งแวดล้อมให้เร็วขึ้น ของเสียเมื่อถูกเผาอย่างถูกวิธีแล้ว จะเปลี่ยนเป็นสารประกอบที่ไม่ซับซ้อน เช่น สารประกอบไฮโดรคาร์บอน (HC) จะกลาย เป็น CO2และน้ำ หรือสารประกอบกำมะถัน จะถูกเพิ่มออกซิเจนกลายเป็น SO2 +SO3 ส่วนสารประกอบ CL, F หรือ Br จะกลายเป็นกรด เกลือ กรด HF หรือ กรด HBr ตามลำดับ และโลหะทั้งหลายจะกลายเป็นโลหะอ๊อกไซด์

จะเห็นได้ว่าไอก๊าซที่เกิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะเกิดฝุ่นหรือไอในรูปของ CO ที่ชี้ให้เห็นว่า เป็นการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์แล้ว ยังเกิดไอของ SO3 และไอกรดต่างๆ โดยเฉพาะไอกรด HF และ P2 O5 ที่สามารถกัดกร่อนอย่างรุนแรงด้วย ดังนั้น เตาเผาจึงจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องฟอกไอก๊าซที่มีประสิทธิภาพ เช่น เครื่องดักฝุ่น เครื่องชะไอกรด ไอด่าง เรซินดูดซับ dioxin เครื่องดูดซับกลิ่น ตัวถ่านกำมันต์ รวมทั้งเครื่องเผาเพิ่มอุณหภูมิของไอน้ำ ก่อนระบายออกทางปล่อง เพื่อให้ไอมองดูโปร่งใส แลดูไม่น่ากลัว นอกจากนี้ เตาเผานั้นๆ ยังต้องติดตั้งเครื่องตรวจวัด และจดบันทึกคุณภาพของอากาศที่ออกทางปล่องอย่างต่อเนื่องตลอด เวลา เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าตรวจสอบได้ทุกเวลา รวมทั้งการติดตั้งอุปกรณ์ปิดล็อคประตู เติมของเสียเข้าสู่เตาเผาแบบอัตโนมัติ เมื่อค่าของคุณภาพอากาศที่ระบายออกทางปล่อง เกินค่ามาตรฐานค่าใดค่าหนึ่งที่กำหนดกันไว้ เพื่อป้องกันการเติมของเสียเข้าเตาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วย โปรดดูรายละเอียดในรูปที่ 3 จะเห็นได้ว่า เตาเผาอุณหภูมิสูงที่มีเครื่องฟอกอากาศครบถ้วน จะมีราคาแพงมากจึงควรเลี่ยงการเผาของ เสียที่สามารถจัดการโดยวิธีอื่นได้ เช่น การใช้เผาเศษพลาสติก หรือพีวิซี เศษยาง เพราะการนำไปฝังเลยอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ จะมีราคาถูกกว่ากันมากยกเว้น เมื่อการขนส่งมีราคาแพงขึ้น และไม่มีที่ฝังกลบแล้ว หรือในกรณีที่ไม่มีวิธีอื่นให้เลือกอีกแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า เตาเผาไม่เหมาะสมที่จะเผาของเสียบางชนิด เช่น ของเสียที่มีปรอท ตะกั่ว แคดเมียม หรืออาร์เซนิค ปนเปื้อน เพราะระบบฟอกอากาศอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ที่จะดักจับไอควันของสาร เหล่านี้ออกได้หมด รวมทั้งการเลือกสถานที่ตั้งเตาเผา ก็ยังคงต้องมีปัญหากันต่อไปอีก ทั้งนี้ เพราะไม่มีใครอยากให้เตาเผามาตั้งใกล้ที่ดินของตน ที่สากลเขานิยม เรียกกันว่า NIMBY หรือยังไม่เข้าใจว่า การจัดการของเสียที่ถูกวิธีนั้น เป็นมาตรการที่ปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก หรือยอมเข้าใจว่าปัญหาของเสียที่อันตราย เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องหันหน้าเข้าหากัน เพื่อร่วมกันหาทางจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อลดอัตราเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของทุกคนให้ เหลือน้อยที่สุด

health-0281

รูปที่ ๓  เตาเผาของเสียอุตสาหกรรม แบบหมุนในแนวนอน (Industrial Rotary Kiln Incineration Facility)

ค. การฝังกลบ (Secured Landfill)
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ ก.และข้อ ข. ว่า การทำลายฤทธิ์ด้วยวิธี เคมี-ฟิสิกส์หรือด้วยเตาเผาอุณหภูมิสูงก็ตาม ก็ยังมีตะกอนเกลือที่คงรูป ไม่ละลายน้ำ หรือขี้เถ้า กากตะกอนที่จะต้องจัดการนำไปฝังกลบให้กลบถูกต้องตามหลักวิชาการอยู่อีก ดังนั้น สถานที่ฝังกลบที่ถูกต้องตามหลักวิขาการจึงจำเป็นที่จะต้องจัดเตรียมไว้ ซึ่งส่วนมากมักเลือกบริเวณที่น้ำมันไม่ท่วมถึง ไกลแหล่งน้ำผิวดิน ไม่มีชั้นน้ำบาดาลที่ดีหรือน้ำใต้ดินไหลผ่าน ไม่เป็นจุดนํ้าซึมลงสู่ชั้นนํ้าบาดาล ชั้นดินควรเป็นดินที่นํ้าซึมผ่านได้ยาก หรือใช้วิธีปูชั้นดินเหนียวกันน้ำซึมผ่านเข้าออก และไม่ไกลแหล่งกำเนิดของเสีย

ในปัจจุบันมักนิยมปูด้วยชั้นกันซึมหลายชั้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ประกอบกับราคาก็ไม่แพงนัก เช่น ปูเพิ่มทับชั้นดินเหนียวด้วยแผ่นยางสังเคราะห์ หรือปรับคุณสมบัติของชั้นดินกันและผนังหลุมให้กันซึมได้ดีขึ้น โดยใช้ซีเมนต์ ยางมะตอย หรือเบนโทไนท์ผสม นอกจากนี้เมื่อฝังตะกอนหรือเถ้าที่คงรูป ไม่ละลายน้ำจนเต็มแล้ว ก็จะต้องปิดหลุมด้วยวัสดุกันซึมอีก รวมทั้งปูทับด้วยดินดีอีกชั้นหนึ่ง เพื่อปลูกหญ้า หรือไม้พุ่มกันฝนกัดเซาะดินคลุมหลุมฝัง ซึ่งตามหลักการแล้ว นํ้าฝนจะไม่สามารถซึมผ่านลงไปในหลุมได้อีก แต่คงป้องกันไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้น หากที่นํ้าฝนไหลซึมผ่านตะกอนหรือเถ้าที่คงรูปไม่ละลายในหลุมฝังนํ้าฝน ก็จะไหลซึมลงส่วนล่าง ไปรวมกันที่ก้นหลุม ซึ่งที่ก้นหลุมจะมีระบบท่อรวบรวมนํ้าพร้อมบ่อเก็บตัวอย่างน้ำ เพื่อนำไปตรวจสอบคุณภาพ เป็นระยะๆ ได้ตลอดไป และยาวนาน ไม่ว่าจะเป็น 2 หรือ 5 หรือแม้ แต่ 20 ปีหลังการปิดหลุมฝัง และหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ก็สามารถรู้ได้ทันที และอาจแก้ไขได้ โดยการสูบนํ้านั้นไปบำบัดต่อ หรือหากจำ เป็นก็สามารถขุดตะกอนหรือขี้เถ้าเหล่านั้นขึ้นมาทำลายฤทธิ์ใหม่ได้ นอกจากนี้ ในบริเวณรอบๆ หลุมฝังกลบ ก็นิยมขุดบ่อบาดาล เพื่อติดตามผลกระทบโดยการวัดคุณภาพน้ำใต้ดิน อย่างต่อเนื่องและตลอดไป

5. สรุป
ของเสียที่อันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ซึ่งพบได้ทั้งในขยะชุมชน ของทิ้งจากภาคธุรกิจพาณิชย์ และในของเสียจากขบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมปีละประมาณ 1 ล้านตันเศษ และจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2.8 ล้านตันต่อปี ในอีก 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2544) ซึ่งแนวทางจัดการที่เหมาะสมก็คือการป้องกันหรือหาทางลดให้เกิดของเสียน้อยที่สุด และไม่ว่าจะป้องกันหรือเลี่ยงไม่ให้เกิดด้วยวิธีการใดๆ ก็ยังจะต้องมีของเสียเกิดขึ้นอยู่อีก ที่จะต้องหาทางจัดการให้ เหมาะสมและประหยัดต่อไป ซึ่งการจัดการก็อาจจะใช้วิธีฝังกลบอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ หากของเสียนั้นคงรูปและไม่ละลายนํ้า และหากเป็นของเสียที่ยังมีฤทธิ์เหลืออยู่ก็จะต้องใช้สารเคมี หรือความร้อน ทำให้เป็นสารประกอบเกลือที่เป็นกลาง ซึ่งคงรูปและไม่ละลายนํ้า ก่อนนำไปกลบฝังในหลุมที่มีผนังกันซึม และมีระบบท่อรวบรวมนํ้าที่ก้นหลุม เพื่อตรวจติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของของเสียที่ฝังอยู่ในหลุม ตลอดจนการขุดบ่อสังเกตุการณ์รอบๆ บริเวณหลุมฝัง เพื่อดูการ เปลี่ยนของคุณภาพนํ้าบาดาลใต้หลุมฝัง

หากเราสามารถร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาแนวทางจัดการของเสียที่อันตรายเหล่านี้ให้ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ และเป็นมาตรการที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนเราที่ทุกฝ่ายยอมรับกันได้แล้ว การพัฒนา เพื่อความอยู่ดีกินดีของคนไทยควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เพื่อลูกหลาน และเพื่อสุขภาพอนามัยของทุกคน รวมทั้งการมีอายุขัยที่ยาวนานขึ้นของทุกท่าน ก็จะสัมฤทธิ์ผล

ที่มา: ดร.ประเสริฐ ตปนิยางกูร
กองสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า