สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การบำบัดด้วยการรับรู้ หรือการขจัดความเศร้าด้วยการเตือนตัวเอง(Cognitive Therapy)

เป็นวิธีการที่ใช้สำหรับแก้ไขอาการป่วยทางจิตใจซึ่งทำให้ไม่มีความสุขเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอาการหดหู่ซึมเศร้า กระวนกระวาย มองโลกในแง่ร้าย คิดว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่มีความสามารถ และความรู้สึกอื่นๆ ในทำนองเดียวกันนี้

วิธีการนี้ยังมีประโยชน์กับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดเรื้อรัง เช่น คนไข้รายหนึ่งมีอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ที่เรียกว่า ไฟโบรไมอัลเจีย(fibromyalgia) เมื่อได้เข้ารับการบำบัดเพื่อขจัดอาการหดหู่ซึมเศร้า ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองที่มีมาตลอด 52 ปีในชีวิตของเธอด้วยวิธีแบบค็อกนิทีฟเธราพี ผลปรากฏว่าอาการปวดกล้ามเนื้อเนื้อรังของเธอที่เป็นอยู่ก็พลอยหายไปด้วย

ดร.อารอน ที.เบ็ค(Aaron T. Beck) จิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงก้องโลก เป็นผู้ที่ได้พัฒนาค็อกนิทีพเธราพีขึ้นมา ซึ่งเขาได้ทำงานอยู่ที่ศูนย์การบำบัดเบ็ค(Beck Center for Cognitive Therapy) หรือศูนย์ที่รับรักษาอาการป่วยด้วยวิธีการขจัดความเศร้าด้วยการเตือนตัวเองหรือค็อกนิทีฟเธราพีโดยเฉพาะ ศูนย์นี้ตั้งอยู่ในเมืองฟิลาดิลเฟีย รัฐเพนซิลวาเนียของสหรัฐอเมริกา

กว่า 30 ปีมาแล้วที่ ดร.เบ็คได้พัฒนาวิธีการบำบัดด้วยการรับรู้นี้ขึ้นมา และวิธีการของเขาก็เป็นที่ยอมรับในด้านของการรักษาอาการป่วยทางจิตได้อย่างดีเยี่ยม และเป็นรูปแบบของจิตบำบัดที่ได้รับการทดสอบอย่างเป็นระบบมากที่สุดมาแล้ว

โดยปกติแล้วคนที่มารับการรักษาด้วยวิธีค็อกนิทีฟเธราพี จะเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง หรือคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถ เกิดมาโชคร้าย ฯลฯ เวลาทำอะไรก็จะในทางร้ายเอาไว้ล่วงหน้าว่ามันจะล้มเหลว วิธีการของค็อกนิทีฟเธราพี จึงเป็นการสอนเพื่อให้ผู้ป่วยคอยเตือนตัวเอง

ผู้ให้การบำบัดจะช่วยให้ผู้รับการบำบัดได้คิดถึงความผิดพลาดในการคิดของตนในระหว่างการบำบัด คือ การคาดคิดว่าอะไรๆ มันจะดำเนินไปในทางร้าย หรือลงเอยด้วยสิ่งที่ไม่ดี ทำให้ผู้ป่วยได้มองเห็นว่าความรู้สึกว่าชีวิตไม่ราบรื่นในอดีตนั้นในบางครั้งก็เป็นการมองการณ์ในทางร้ายที่เกินความเป็นจริง เหมาะรวมไปหมด โดยที่ไม่ได้พิจารณาถึงช่วงเวลาที่ชีวิตได้ดำเนินไปด้วยดีเลย

คนที่ต้องมารับการบำบัด มักเป็นผู้ที่มีความคิดขึ้นมาเองในแบบอัตโนมัติ โดยไม่ได้พิจารณาเหตุผลหรือความเป็นจริง ไม่คิดที่จะหาคำอธิบายอย่างอื่นสำหรับผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมา

เวลาในการบำบัดแบบค็อกนิทีฟเธราพี มักใช้เวลาสั้นๆ ส่วนใหญ่แล้วไม่ถึง 3 เดือน โดยที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการบำบัดสัปดาห์ละครั้ง ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นผลในระยะยาวหรือถาวร แต่อาจต้องกลับมาเข้ารับการบำบัดซ้ำได้ในบางราย แต่ก็มีอัตราที่น้อยกว่าการบำบัดด้วยวิธีอื่นมาก

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า