สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กวีนิพนธ์บำบัด(Poetry Therapy)

การเยียวยาด้วยบทกวี คือ การการเยียวยาความผิดปกติทางอารมณ์ด้วยการใช้บทกวีนิพนธ์ หรือเพื่อเกื้อหนุนในด้านจิตใจให้มีความเติบโตขึ้น กระบวนการนี้จะให้บุคคลสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ของตนเองขึ้นมา หรือตอบสนองต่อบทกวีที่คนอื่นเขียนขึ้นหลังจากที่ได้ฟังหรืออ่านกวีนิพนธ์นั้นๆ

การบำบัดเยียวยาอาการป่วยที่เรียกว่า บิบลิโอเธราพี(Bibliotherapy) ซึ่งมาจากคำว่า bibliography ก็เป็นการบำบัดที่ใกล้เคียงกับการใช้กวีนิพนธ์ ซึ่งจะขยายขอบข่ายของการใช้กวีนิพนธ์ออกไป รวมทั้งงานประพันธ์อย่างอื่น ทั้งที่เป็นเรื่องสั้น นวนิยายเรื่องยาว บทละคร ตำนาน นิทาน หรือแม้แต่โสตทัศนูปกรณ์ทั้งหลายก็จัดอยู่ใน บิบลิโอเธราพีเช่นกัน

การเยียวยารักษาอาการต่างๆ ด้วยการใช้บทกวีหรืองานประพันธ์ ไม่ได้เป็นนฤมิตรกรรมอย่างที่เราอาจจะคิดกันในยุคปลายศตวรรษที่ 20 แต่มันมีกำเนิดที่เก่าแก่ย้อนหลังไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสมัยที่ชามานยังใช้มนต์ที่มีจังหวะจะโคน และการวิงวอนอย่างเร่งเร้าเพื่อสื่อสารกับจิตที่อยู่ใต้สำนึกอยู่

ตั้งแต่สมัยกรีกยุคโบราณแล้วที่มีการนำเอาบทกวีนิพนธ์มาเชื่อมโยงเข้ากับการเยียวยารักษาอาการป่วยต่างๆ และมีวัตถุประสงค์ที่ชัดแจ้งว่าเป็นการเยียวยารักษาอาการด้านจิตวิทยาจากการชมการแสดงถวายเทพอพอลโลบนเวทีที่วิหารแอสเคิลพิอัส และแอริสโทเทิ้ล(Aristotle)ก็ได้เคยสาธยายถึงพลังของวรรณคดีที่กระตุ้นอารมณ์และขับไข่ความรู้สึกต่างๆ ที่ทำให้เกิดความไม่สบายออกไปเมื่อสมัยปี 330 ก่อนคริสตกาลมาแล้ว

จอห์น สจ๊วร์ต มิล ได้บรรยายถึงวิธีที่เขารักษาตัวเองให้หายป่วยโดยใช้บทกวีไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขา และบาทหลวงจอห์น คีเบิล(John Keble) ก็ได้แจกแจงถึงคุณงามความดีต่างๆ ของบทกวีเอาไว้ในสมัยกลางทศวรรษที่ 1800 โดยเขาเชื่อว่า กวีนิพนธ์เป็นเหมือนกลไกนิรภัยที่สามารถป้องกันโรคจิตได้

ซิกมันด์ ฟรอยด์(Sigmund Freud) ก็ได้ตระหนักถึงคุณค่าของบทกวีด้วยเช่นกัน โดยที่เขาเคยพูดไว้ว่า “ไม่ใช่ผม หากกวีต่างหาก ที่เป็นผู้ค้นพบจิตใต้สำนึก”

ผู้ที่ได้วางรากฐานของการรักษาอาการป่วยต่างๆ โดยใช้บทกวีในยุคสมัยใหม่ คือ กวีชื่อ อีไล กรีเฟอร์(Eli Greifer) เดิมนั้นเขาได้เรียนมาทางกฎหมายแต่ตอนหลังก็ได้หันมาเอาใจใส่กวีนิพนธ์ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1928 กรีเฟอร์ได้ก่อตั้งสโมสรกวีนิพนธ์และห้องแสดงภาพขึ้นหลายแห่งในกรีนิช วิลเลจ ของนิวยอร์ค กรีเฟอร์มักจะมียาขนานพิเศษแถมพกให้กับลูกค้าที่มาซื้อยาด้วยในระยะที่เขายังชีพด้วยการเป็นคนขายยา โดยยาขนานพิเศษนี้จะอยู่ในรูปของบทกวีชนิดที่ให้กำลังใจและส่งเสริมความศรัทธาในความสามารถของตัวเอง กรีเฟอร์จ่ายยาขนานพิเศษนี้พร้อมกับแนะนำให้อ่านดังๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนบทกวีนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของจิตใต้สำนึก ทุกวันนี้หลักการย้ำเตือนให้มีความคิดในทางบวกอย่างเดียวกันนี้ก็ยังใช้กันอยู่

สำหรับคนส่วนหนึ่งที่ติดขังอยู่ในค่ายกักกันของเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 การอ่านและเขียนบทกวีก็ได้กลายมาเป็นมนต์ช่วยชีวิตให้คนกลุ่มนี้ ในการรักษาจิตให้ปกติและความรู้สึกของการเป็นมนุษย์เอาไว้ได้ท่ามกลางความทารุณโหดร้ายของสงคราม

ในสมัยทศวรรษที่ 1940 ดร.สไมลีย์ แบลนตัน(Smiley Blanton) ได้มีงานสำคัญชิ้นแรกที่เกี่ยวกับการเยียวยารักษาอาการป่วยด้วยบทกวี ที่มีชื่อว่า อำนาจการเยียวยาของบทกวี(The Healing Power of Poetry)

ในปี ค.ศ.1958 อีไล กรีเฟอร์ ได้พบกับจิตแพทย์ชื่อ ดร. แจ๊ค เจ. ลีดี้(Jack J. Leedy)จากการที่เขาได้ไปทำงานอยู่ที่คลีนิคสุขอนามัยทางจิตที่โรงพยาบาลคัมเบอร์แลนด์ของบรุคลิน โดยที่เขาทั้งสองได้ร่วมกันตั้งกลุ่มการรักษาเยียวยาอาการป่วยด้วยบทกวีอย่างเป็นกิจจะลักษณะในสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ต่อมาก็ได้มีกลุ่มอื่นๆ ก่อตั้งขึ้นมาทั่วประเทศในไม่ช้า

กวีอาชีพเริ่มให้ความสนใจกับกลุ่มการเยียวยาด้วยบทกวีขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1960 ทำให้กลุ่มฯ ได้รับความเชื่อถือมากขึ้น ดร.ลีดี้ได้เริ่มทำงานกับผู้ติดยาเสพย์ติดในนิวยอร์คซิตี้ และได้รวบรวมผลงานกวีนิพนธ์ที่อยู่ในข่ายที่จะนำมาใช้ช่วยเยียวยาอาการป่วยต่อมาในภายหลัง แล้วจัดพิมพ์ขึ้นมาเป็นหนังสือสองเล่ม

ดร.ลีดี้ กับ ดร.มอริส มอริสัน ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมนักกวีนิพนธ์บำบัด(Association of Poetry Therapists) ขึ้นมาเมื่อในปี ค.ศ.1968 ซึ่งหลังจากนั้นไม่กี่ปี ก็ได้เปลี่ยนชื่อสมาคมไปเป็นสมาคมเพื่อการเยียวยาด้วยบทกวีนิพนธ์แห่งชาติ(National Association for Poetry Therapy)

การสื่อสารในรูปแบบที่แผกพิเศษและทรงพลังของบทกวี สามารถให้แรงบันดาลใจ ให้พลังกระตุ้น ปลุกเร้าอารมณ์ได้ทั้งในทางบวกและลบ สามารถเปลี่ยนทัศนะในการมองสถานการณ์หนึ่งๆ ได้ บทกวีสามารถสื่อความรู้สึกต่างๆ โดยผ่านการใช้จิตนาภาพและอุปมาอุปไมยในลักษณะที่ไม่มีสื่ออย่างอื่นใดจะทำได้ กวีนิพนธ์จึงเป็นเครื่องมือในการเยียวยารักษาอาการป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้

ในการเยียวยารักษาอาการป่วยอย่างเป็นกลุ่มหรือเป็นหมู่คณะ บทกวีที่นำมาใช้จะผ่านการเลือกสรรโดยคำนึงถึงคุณสมบัติเฉพาะของมัน บทกวีที่เลือกมาใช้โดยปกติจะมีลักษณะที่เร้าอารมณ์อย่างแรงกล้า มีการอุปมาอุปไมยที่แปลกเด่นเป็นพิเศษ และเข้าใจได้ง่าย มีจังหวะจะโคนที่ให้พลัง และสั้นพอที่จะดึงให้ผู้ป่วยตั้งใจฟังจนจบบทได้ และความแยบคายละเมียดละไมของบทกวีก็เป็นลักษณะที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งเช่นกัน

การใช้บทกวีในการเยียวยาอาการป่วยเป็นวิธีการที่ทรงพลัง ทำให้สามารถดึงเอาความรู้สึกที่ลึกซึ้งขึ้นมาในบรรยากาศที่ปลอดภัยและให้กำลังใจ การแสดงออกที่ระบายออกมาจากความรู้สึกเหล่านั้นจะออกมาในลักษณะเป็นที่ยอมรับได้ในสังคม การให้คนที่เข้ารับการบำบัดเขียนบทกวีขึ้นมาเองก็เพื่อทำให้พวกเขามีหนทางที่จะแสดงออกได้อย่างเหมาะสมและมีความหมาย มิได้มีเป้าหมายที่จะสอนให้พวกเขาเป็นกวี

การตอบสนองต่อการเยียวยาด้วยบทกวีนิพนธ์อย่างเป็นผลสำเร็จสามารถเกิดขึ้นได้กับคนมากมายหลายแบบ รวมทั้งผู้ป่วยวัยชราที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยที่เส้นโลหิตไปเลี้ยงสมองตีบตันหรือแตก ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้พิการทางสมอง ผู้มีปัญหาทางอารมณ์ ผู้ป่วยจิตเภทหรือสคีโซเฟรเนีย(Schizophrenia) ผู้ติดยาเสพติด ผู้ที่ผิดปกติเกี่ยวกับการกิน ทหารผ่านศึก ผู้ป่วยโรคหดหู่ซึมเศร้าและมีความรู้สึกอยากจะฆ่าตัวตาย รวมทั้งโรคที่ทำให้ไร้ความสามารถหรือพิการทางกายอื่นๆ

บทกวีนิพนธ์จะช่วยฟื้นความทรงจำและปลุกอารมณ์ที่เบิกบานขึ้นมาได้เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพให้กับชีวิตในคนชรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับความทรงจำ

โดยปกติแล้วการเยียวยาด้วยบทกวีเมื่อใช้ร่วมกับเทคนิคการบำบัดอย่างอื่นๆ หรือในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการรักษาที่ครอบคลุมที่เป็นโปรแกรมใหญ่ประกอบไปด้วยวิธีการหลายประเภท จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งไม่อาจใช้ได้โดยลำพัง

การจะเป็นนักบำบัดด้วยบทกวีหรือนักกวีนิพนธ์บำบัด จะต้องผ่านการฝึกที่ประกอบไปด้วยการศึกษาถึงกระบวนการเยียวยารักษาโรคในแบบต่างๆ การดำเนินงานในคลินิกโดยมีผู้ควบคุมดูแลและได้รับการสอนในเรื่องการเลือกสรรบทกวี หรืองานวรรณกรรมที่เหมาะสม

มีหนังสือที่เกี่ยวกับการเยียวยาด้วยบทกวีอยู่สองเล่ม คือ Poetry As Healer: Mending the Troubled Mind(กวีนิพนธ์ในฐานะผู้เยียวยารักษา: การซ่อมแซมความคิดจิตใจที่ว้าวุ้น) ซึ่งมีนายแพทย์ แจ็ค เจ. ลีดี้ เป็นบรรณาธิการ กับหนังสือเรื่อง Poetry in the Therapeutic Experience(บทกวีในประสบการณ์การบำบัดรักษา) โดย ดร.อาร์เธอร์ เลอร์เนอร์(Arthur Lerner) เป็นบรรณาธิการ

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า