สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กล้ามเนื้อบำบัดแบบบอนนี พรุดเดน(Bonnie Frudden Myotherapy)

หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เทคนิคบอนนี พรุดเดน(Bonnie Prudden Technique) เป็นวิธีการกดลงที่บริเวณภายในกล้ามเนื้อที่รู้จักกันในนามของ “จุดทริกเกอร์” ที่สามารถพบได้ทั่วร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้า เพื่อทำให้ความเจ็บปวดทุเลาลง

จุดพวกนี้แม้จะยังไม่เข้าใจกันได้ดีแต่มันก็มีอยู่จริง บริเวณกล้ามเนื้อที่ได้รับความเสียหาย หรือได้รับความกระทบเทือน หรือบอบช้ำ จะสามารถพบจุดพวกนี้ได้ ซึ่งเหตุการณ์กระทบกระเทือนนี้ก็สามารถเกิดได้ทุกเวลาในชีวิตแม้ในขณะที่อยู่ในครรภ์มารดาก็ตาม

ในกล้ามเนื้อกลุ่มหนึ่งอาจจะมีจุดทริกเกอร์ที่นอนนิ่งอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง หรืออาจเป็นปีๆ มาแล้ว และเมื่อร่างกายถูกกระตุ้นด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพราะความเครียดทางอารมณ์ ก็จะทำให้จุดทริกเกอร์ในกล้ามเนื้อตึงตัวเกิดความบาดเจ็บ แม้จะทำให้จุดทริกเกอร์สงบลงและความเจ็บปวดหายไปได้ แต่จุดนี้ก็ยังคงอยู่ที่เดิม และเมื่อมีระดับความเครียดที่สูงขึ้นมาอีก หรือมีปัจจัยเกื้อหนุนก็จะทำให้เกิดอาการปวดขึ้นมาใหม่ได้

มีการค้นพบวิธีการรักษาที่เรียกว่า กล้ามเนื้อบำบัด หรือไมโอเทราพี โดยบอนนี พรุดเดน โดยบังเอิญ ซึ่งเดิมนั้น พรุดเดน เป็นผู้รู้ในเรื่องการสร้างความสมบูรณ์ของร่างกายในระดับแนวหน้าของโลกอยู่แล้ว และยังเป็นผู้ที่แต่งหนังสือและบทความมากมายที่เกี่ยวกับการออกกำลังกายและสุขภาพ

วิธีการของ บอนนี พรุดเดน อาศัยจากหลักการหลายแหล่ง รวมทั้งจากหลักคำสอนของฮวง ฟู(Huang Fu) ในปี ค.ศ. 300 เกี่ยวกับการสอดเข็มลงในกล้ามเนื้อใต้ผิวหนัง ในต้นทศวรรษที่ 1930 ซึ่งระบุบริเวณที่มีการต้านทานของกล้ามเนื้อ และในทศวรรษที่ 1940 งานด้านคลินิคเกี่ยวกับจุดทริกเกอร์ของ ดร. เจเน็ต แทรเวล(Janet Travel) ก็ได้ดำเนินไปอย่างกว้างขวาง

ดร.เจเน็ต แทรเวล เคยรักษาอาการปวดหลังให้ จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ สมัยที่เขาเป็นวุฒิสมาชิก และเป็นแพทย์ประจำตัวให้เขาตอนที่เป็นประธาธิบดีแล้ว ดร.เจเน็ต แทรเวล จึงมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้กันดี

การที่พรุดเดน มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้ที่ทำงานบุกเบิกเกี่ยวกับจุดทริกเกอร์ 3 คน คือ ดร.ฮันส์ เคราส์(Han Kraus) ดร.เดสมอนด์ ไทวี(Desmond Tivy) และ ดร.เจเน็ต แทรเวล จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการพัฒนาไมโอเธราพีเช่นกัน

จากการที่พรุดเดน ได้ปีนเขา และเมื่อตื่นขึ้นมามีอาการปวดคอมากเพราะเคยตกม้าเมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น นักปีนเขาคนหนึ่ง คือ ดร.เคราส์ เอานิ้วหัวแม่มือกดลงที่ต้นคอของเธออย่างแรงจนรู้สึกปวดมาก แต่เมื่อปล่อยมือคอของเธอก็หายปวดเป็นปลิดทิ้ง เธอจึงได้มองเห็นอย่างลึกซึ้งเข้าไปถึงสิ่งที่กลายมาเป็นไมโอเธราพี หรือกล้ามเนื้อบำบัดเป็นครั้งแรก

ดร.แทรเวล เป็นผู้บุกเบิกหลักการแพทย์ ที่มีชื่อว่า การบำบัดด้วยการฉีดยาลงที่จุดทริกเกอร์(Trigger Point Injection Therapy) ซึ่งแพทย์จะคลำหาจุดนุ่มๆ ที่บ่งชี้ว่าเป็นจุดทริกเกอร์ แล้วก็ฉีดยาชนิดหนึ่งลงไปตรงนั้น และมีการเหยียดกล้ามเนื้อเบาๆ แล้วใช้ของเหลวที่ทำให้รู้สึกเย็นประพรมที่บริเวณนั้น กรรมวิธีนี้เป็นที่รู้จักกันในนามของการพรมน้ำแล้วยืด(spray & stretch) ซึ่งใช้กันอยู่อย่างกว้างขวางในด้านกายภาพบำบัด จากงานของ ดร.แทรเวล ในครั้งนี้ทำให้พรุดเดน ได้เห็นสรรพคุณของมันอย่างชัดแจ้งเป็นครั้งที่สอง

พรุดเดน ทำงานเกี่ยวกับการออกกำลังกายแบบชนิดแก้ไขข้อบกพร่องกับผู้ป่วยมาเป็นเวลาปลายปีแล้ว โดยที่แพทย์จะแนะนำคนไข้มาให้หลังจากที่ได้รับการผ่าตัด หรือผ่านการบำบัดรักษาด้วยการฉีดยาลงที่จุดทริกเกอร์มาแล้ว โดยหมอไทวี จะฉีดยาลงที่จุดทริกเกอร์ให้กับคนไข้ก่อนที่จะส่งมาให้พรุดเดนทำการรักษาต่อเป็นส่วนใหญ่

ในปี 1976 พรุดเดนทำหน้าที่เป็นผู้คลำหาจุดทริกเกอร์ที่ตัวคนไข้ แล้วทำเครื่องหมายเอาไว้ จากนั้นก็ส่งคนไข้ไปหา ดร.ไทวี เพื่อทำการฉีดยา มีอยู่วันหนึ่งในขณะที่พรุดเดนคลำหาจุดสำคัญนั้นให้กับสตรีคนหนึ่ง เมื่อพบจุดดังกล่าวสตรีคนนั้นก็ส่งเสียงร้องลั่นออกมา แล้วที่คอของสตรีคนนั้นก็หายบิดเบี้ยวและหายขัดไปแล้ว ทำให้พรุดเดนประหลาดใจมาก

พรุดเดนจึงคิดว่า เฉพาะแรงกดอย่างเดียวก็สามารถทำให้จุดทริกเกอร์หายไปได้โดยไม่ต้องฉีดยา และเพื่อค้นหาถึงความเป็นจริงเกี่ยวกับสิ่งนี้เธอจึงได้ใช้วิธีการนี้กับคนไข้อื่นๆ และก็ประสบผลสำเร็จ จนทำให้เธอรู้สึกว่านี่เป็นการค้นพบที่สำคัญของเธอ

พรุดเดนได้พบว่า เพียงแค่กดลงที่จุดทริกเกอร์เพียงครั้งเดียว หรือสองครั้ง ก็สามารถทำให้ความเจ็บปวดทุเลาลงได้ จากเดิมที่ต้องใช้การออกกำลังกายและฉีดยาติดต่อกันนานนับสัปดาห์ๆ

พรุดเดนคิดว่า เมื่อจุดทริกเกอร์ถูกกระตุ้น มันจะทำให้กล้ามเนื้อกระตุก และเกิดความเจ็บปวดขึ้น และในทางกลับกัน ความเจ็บปวดนี้ก็เป็นสาเหตุให้กลไกการคุ้มครองตนเองของร่างกายเข้ากระตุ้นกล้ามเนื้อต่อไปอีกเพื่อปกป้องกล้ามเนื้อ วงจรความเจ็บปวดและการกระตุกที่ดำเนินซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปมา และสิ้นสุดลงเมื่อกล้ามเนื้อคลายตัว และยังคงอยู่ในภาวะผ่อนคลายอยู่หลังจากที่กดลงที่จุดทริกเกอร์นานสัก 7 วินาที จุดทริกเกอร์ก็จะหมดความสามารถในการก่อให้เกิดความเจ็บปวดอีก และนี่คือเหตุผลที่ทำให้อาการเจ็บปวดหายไป

หลังจากที่ความเจ็บปวดทุเลาลงด้วยวิธีการทำลายวงจรความเจ็บปวด-การกระตุกความเจ็บปวด ด้วยวิธีอื่นๆ มากมาย รวมทั้งการใช้ยาแก้ปวดชนิดต่างๆ การใช้ความร้อนอัง ใช้ความเย็นประคบ การใช้น้ำมันนวด การพักผ่อน ฯลฯ แต่จุดทริกเกอร์ก็ยังคงอยู่ที่เดิม เมื่อมีการกระตุ้นก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดได้อีก แต่การใช้เทคนิคบอนนี่ พรุดเดน จะได้ประโยชน์ที่แท้จริง คือ มันจะกำจัดจุดทริกเกอร์ ไม่ใช่แค่เพียงทำให้หายจากความเจ็บปวดที่เป็นแค่อาการเท่านั้น

การเกิดจุดทริกเกอร์ มีสาเหตุการเกิดใหญ่ๆ ได้แก่ กระบวนการเกิดอุบัติเหตุทุกชนิด บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา โรคข้ออักเสบและมัลติเพิล สเคลอโรซิส และจากอาชีพต่างๆ ที่มีการใช้ร่างกายอย่างผิดๆ ผู้ที่เป็นนักกีฬา นักดนตรี นักร้อง นักระบำ รวมทั้งบุคคลทั่วไปก็สามารถใช้ประโยชน์จากกล้ามเนื้อบำบัด หรือไมโอเทราพีนี้ได้เช่นเดียวกัน

หนังสือที่บอนนี พรุดเดน เขียนเอาไว้ 2 เล่ม ซึ่งเป็นหนังสือที่ดีเยี่ยม มีชื่อเรื่องว่า Pain Erasure: The Bonnie Prudden Wary กับเรื่อง Myotherapy: Bonnie Prudden’s Complete Guide to Pain-Free Living ซึ่งมีจำหน่ายตามร้านขายหนังสือทั่วไป หรือสามารถหาอ่านได้ตามห้องสมุดต่างๆ

บอนนี พรุดเดน ได้ก่อตั้งสถาบันบอนนี พรุดเดนขึ้น ในปี 1979 มีชื่อว่า Bonnie Prudden School for Physical Fitness and Myotherapy ปัจจุบันมีหลักสูตรการสอนวิชากล้ามเนื้อบำบัดที่สถาบันนี้ ผู้ที่เรียนจบจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองว่าเป็นผู้สามารถให้การบำบัดรักษาตามแบบบอนนีพรุดเดนได้ ที่อยู่ของสถาบันฯ และผู้มีคุณวุฒิในการรักษาแบบบอนนี พรุดเดนในสหรัฐฯ และแคนาดา สามารถขอได้ตามที่อยู่ดังนี้
Bonnie Prudden Institute for Physical Fitness and Myotherapy
3661 N. Campbell Avenue
P.O. Box 102
Tucson, AX 85719
USA.
(602) 529-3979

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า