สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กลุ่มอาการ Croup

กลุ่มอาการ Croup
เป็นกลุ่มอาการร่วมที่ประกอบด้วยอาการหลายอย่างรวมกัน ซึ่งอาการและการตรวจพบจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็ว และเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ ภายในระยะเวลาอันสั้น กลุ่มอาการของ croup ประกอบด้วย

stridor เวลาหายใจเข้า
ไอเสียงก้อง
เสียงแหบ

ซึ่งเป็นผลจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจกล่องเสียง

สาเหตุที่สำคัญของ croup ก็คือการติดเชื้อ สำหรับในที่นี้จะกล่าวถึงสาเหตุ การติดเชื้อ ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบ และการหดเกร็ง (spasm) ที่สำคัญได้แก่

Acute laryngotracheobronchitis (viral croup)
Acute epiglottitis
Bacterial tracheitis

Acute laryngotracheobronchitis (viral croup)
เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดของกลุ่มนี้ และยังเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนในเด็ก เกิดจากเชื้อไวรัส ที่พบบ่อยคือ Parainfluenza virus type 1,2,3 ตัวอื่นที่อาจพบได้คือ Respiratory Syncytial virus, adenovirus เป็นต้น

ลักษณะทางคลินิก พบมากในเด็กช่วงอายุ 6 เดือน – 3 ปี ชายมากกว่า หญิง มักจะมีประวัติไข้หวัด น้ำมูกไหล หลังจากนั้นอีก 2-3 วันก็จะเริ่มมีอาการหายใจเสียงดัง ไอเสียงก้อง หายใจลำบาก ไข้มักจะลดลง อาการอาจจะค่อยๆ หายไปภายใน 2-3 วันหรืออาจเลวลง อาการมากหรือน้อยขึ้นกับพยาธิสภาพ ซึ่งเกิดขึ้นที่บริเวณ sub- glottic area แล้วลุกลาม และมีการทำลายเยื่อบุผิวของหลอดคอและหลอดลม โรคนี้พบ ได้ตลอดปี ขึ้นกับการระบาดของไวรัส ในประเทศไทยพบบ่อยในต้นฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม

การวินิจฉัย
1. ได้จากประวัติ การตรวจร่างกาย
2. ในกรณีที่เด็กไม่หนักจนเกินไป การส่งทำรังสีปอด และ lateral neck x-ray อาจช่วยวินิจฉัย โดยจะพบว่ามี subglottic narrowing    ที่เรียกว่า “Steeple sign” หรือ “Pencil sign”

การรักษา ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถให้การรักษาที่บ้านได้ โดยแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ และให้อาหารให้เพียงพอ ถ้ามีอาการมากให้รีบพามาโรงพยาบาล

ข้อบ่งชี้ในการรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
1. ถ้าเด็กมีอาการต่อไปนี้ขณะพัก
1.1 stridor
1.2 กระวนกระวาย กวนมากกว่าปกติ
1.3 เขียว (cyanosis)
1.4 Retraction ของ suprasternal notch
2. มีอาการและอาการแสดงของภาวะหายใจวาย
3. เด็กที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ร่วมด้วย
4. เด็กที่บ้านอยู่ไกลจากโรงพยาบาล และการเดินทางทำได้ลำบาก และหรือ พ่อแม่อาจดูแลได้ไม่ดีพอ

Acute epiglottitis
เป็นโรคที่พบได้น้อยกว่า Acute laryngotracheobronchitis แต่เป็น โรคที่มีความรุนแรงมากที่สุดในกลุ่มของภาวะอุคกั้นของทางเดินหายใจส่วนบนที่ต้องรีบให้การรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะอาจจะมีอาการขาดออกซิเจนและเสียชีวิตได้

Epiglottitis เป็นภาวะที่เกิดมีการอักเสบบวมของส่วนของกล่องเสียง บริเวณตอนบน (supraglottic) ซึ่งได้แก่ส่วนของ epiglottis และส่วนของ aryepiglottic fold

เชื้อที่เป็นสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยคือ Hemophilus influ-enzae type B

ลักษณะทางคลินิก โรคนี้พบมากในเด็กอายุระหว่าง 3-7 ปี อาการมักจะรวดเร็วและเฉียบพลัน มักจะเริ่มด้วยอาการไข้สูง ซึม เจ็บคอ กลืนลำบาก อาการจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง เด็กจะมีอาการกระวนกระวาย หน้าตาซีด หายใจเสียงดัง หอบมากขึ้น มักนั่งอยู่ในท่าโน้มตัวไปข้างหน้า มือยันพื้น และแหงนคอขึ้น ดังนั้นใน รายที่สงสัยภาวะนี้ไม่ควรใช้ไม้กดลิ้นตรวจดูคอ หรือกระตุ้นทำให้เด็กร้องไห้ เพราะอาจทำให้เกิดการหยุดหายใจอย่างเฉียบพลัน

การวินิจฉัย อาศัยจากการซักประวัติ และลักษณะทางคลินิก ตรวจดูคอจะพบว่า epiglottis บวมมากและแดงจัด เด็กที่สงสัยภาวะนี้ไม่ควรจะไปรบกวนเด็ก และไม่ควรทำหัตถการหรือตรวจร่างกายเพิ่มเติม

การรักษา ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน ต้องรีบรับไว้รักษาในโรงพยาบาล และส่วนมากต้องใส่ท่อหรือเจาะคอช่วยหายใจทุกรายร่วมกับให้ยาต้านจุลชีพซึ่งได้แก่ ampicillin หรือ/และ chloramphenicol ร่วมกับการรักษาแบบประคับประคองอาการอื่นๆ

Bacterial tracheitis
เป็นการอักเสบของกล่องเสียงส่วนล่าง (Infraglottis) ซึ่งเกิดจากการ อักเสบบริเวณหลอดคอ และแขนงหลอดลมใหญ่จากเชื้อแบคทีเรีย มีการอักเสบ บวมและมี purulent exudate บางครั้งเห็นเป็น pseudomembrane

เชื้อที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยได้แก่ Staphylococcus aureus อาจพบ He-mophilus influenzae และ Streptococcus pneumoniae

ลักษณะทางคลินิก  โรคนี้พบบ่อยในเด็กอายุประมาณ 2 ปี อาการมักจะเริ่มด้วยการเป็นหวัด ไอ น้ำมูกไหลนำมาก่อน 1-3 วัน คล้ายกับที่พบใน Acute laryngotracheobronchitis หลังจากนั้นมีไข้สูงขึ้น ถ้าตรวจเม็ดเลือดขาวจะพบว่าเม็ดเลือดขาวขึ้นสูง อาการจะดำเนินอย่างรวดเร็ว ซึม กระวนกระวาย หายใจลำบากและมีเสียงดัง ไอเสียงก้องและอาจมีอาการของการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบนอย่างรุนแรง บางรายอาจจะเกิดตามหลังการออกหัด หลังจากนั้นจะมีอาการของการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนและดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จนอาจมีภาวะการขาดออกซิเจนและเสียชีวิตได้ ถ้าไม่ให้การรักษาอย่างรีบด่วน

การวินิจฉัย ได้จากประวัติ การตรวจร่างกาย และได้จากการใส่ท่อช่วย หายใจเมื่อเด็กมี respiratory arrest หรือมีภาวะหายใจวาย จะพบว่าดูดเสมหะจากคอได้หนอง และ/หรือ pseudomembrane ถ้าส่งตรวจ chest x-ray และ lateral neck x-ray จะได้ลักษณะ เหมือนกับที่พบใน acute laryngotracheobronchitis

การรักษา เด็กที่สงสัยภาวะนี้ต้องรับรักษาในโรงพยาบาลทุกราย และมักจะใส่ท่อช่วยหายใจ หรือทำการเจาะคอ ร่วมกับให้ยาต้านจุลชีพที่จำเพาะต่อเชื้อนั้น ได้แก่ กลุ่ม penicillinase resistant penicillin ร่วมกับการรักษาประคับประคองอาการอื่นๆ เช่น การให้ออกซิเจน ความชื้น สารน้ำ การดูแลเกี่ยวกับเรื่องท่อทางเดินหายใจ เป็นต้น

สำหรับข้อแตกต่างที่สำคัญของทั้ง 3 โรคได้แสดงตามตาราง

ลักษณะทางคลินิกของ Viral croup, Epiglottitis และ Bacterial tracheitis

health-0166 - Copy

ที่มา:สมชาย  สุนทรโลหะนะกูล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า