สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กระเพาะอาหารทะลุ/แผลเพ็ปติกทะลุ(Peptic perforation)

ผู้ป่วยโรคแผลเพ็ปติกที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจังมักมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงทำให้เกิดแผลเพ็ปติกทะลุ ผู้ป่วยมักมีประวัติชอบกินยาแก้ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดข้อ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ปวดท้องเรื้อรังบริเวณใต้ลิ้นปี่เป็นๆ หายๆ มักจะทำให้เกิดภาวะแผลกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นค่อยๆ กินลึกจนทะลุกระเพาะอาหารทะลุ

อาการแสดงจากกระเพาะอาหารทะลุ
ผู้ป่วยจะปวดเสียดแน่นใต้ลิ้นปี่รุนแรงเกิดขึ้นทันทีทันใด ปวดติดต่อกันนานกว่า 6 โมง มักปวดลุกลามไปทั่วท้องอย่างรวดเร็ว ปวดร้าวไปที่หัวไหล่ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง จะปวดมากขึ้นหากขยับตัว ต้องนอนอยู่นิ่งๆ ใช้ยาแก้ปวดแล้วก็ไม่ได้ผล ในบางรายอาจมีอาการใจสั่น หน้ามืด วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน

สิ่งตรวจพบ
ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่จะมีอาการกดเจ็บ กดปล่อยแล้วกดเจ็บ ท้องแข็ง ได้ยินเสียงโครกครากน้อยลงหรือแทบไม่ได้ยินเมื่อใช้เครื่องฟังตรวจที่หน้าท้อง ชีพจรเต้นมากกว่า 120 ครั้ง/นาที อาจมีไข้ กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น ความดันต่ำ หรือช็อกในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน
อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้จากอาการเยื่อบุช่องท้องอักเสบและโลหิตเป็นพิษหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

การรักษา
ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วนหากสงสัยว่าเกิดภาวะนี้
ถ้าฉีดยาแอนติสปาสโมดิก เช่น อะโทรพีน ไฮออสซีน แล้วไม่หายปวดใน 15-30 นาที ให้สงสัยว่าเป็นกระเพาะอาหารทะลุ เพราะถ้าปวดจากอาการกระเพาะเกร็งมักหายปวดได้ด้วยการฉีดยานี้

ควรงดน้ำและอาหารระหว่างส่งไปโรงพยาบาลเพื่อเตรียมผ่าตัด ควรให้น้ำเกลือไประหว่างเดินทางด้วยหากมีภาวะขาดน้ำหรือช็อก

ภาวะนี้มักต้องวินิจฉัยด้วยการตรวจเอกซเรย์ และตรวจพิเศษอื่นๆ ต้องรักษาและแก้ไขด้วยการผ่าตัดทุกรายหากเป็นโรคนี้จริง

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้เป็นภาวะร้ายแรง ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะยิ่งมีอันตรายมากขึ้น มักทำการรักษาด้วยการผ่าตัดจึงจะหายขาดได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการที่น่าสงสัย เช่น ปวดท้องรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือปวดนานเกิน 6 ชั่วโมง ควรรีบส่งโรงพยาบาลด่วน

2. สามารถป้องกันโรคนี้ไม่ให้เกิดขึ้นได้การไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่กินยาแก้ปวดหรือยาชุดประจำ ถ้ามีอาการของโรคกระเพาะควรรักษาให้หายขาดอย่าปล่อยไว้ให้เรื้อรังเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า