สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ(Cystitis)

เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิง เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงจะอยู่ใกล้กับทวารหนักซึ่งเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคมาก จึงทำให้เชื้อโรคเข้าไปในท่อปัสสาวะได้ง่ายกว่าในผู้ชายกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ผู้หญิงตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ทุกคน มักพบภาวะนี้ได้มากในผู้หญิงที่ชอบอั้นปัสสาวะนานๆ หรือหญิงตั้งครรภ์

โอกาสเป็นโรคนี้จะมีน้อยมากในผู้ชาย แต่ถ้าพบว่าเป็นอาจมีความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมลูกหมากโต เนื้องอกกระเพาะปัสสาวะ ก้อนเนื้องอกในช่องท้อง มีความผิดปกติทางโครงสร้างของทางเดินปัสสาวะ

สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแกรมลบ เช่น อีโคไล เคล็บซิลลา สูโดโมแนส เอนเทอโรแบกเตอร์ เป็นต้น บริเวณทวารหนักจะมีเชื้อโรคเหล่านี้อยู่มากและจะเข้ามาในกระเพาะปัสสาวะโดยการปนเปื้อนผ่านเข้าทางท่อปัสสาวะ

มักพบโรคนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวาน นิ่วกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยอัมพาตที่ถ่ายปัสสาวะไม่ได้ อาจพบภายหลังจากสวนปัสสาวะ ภาวะอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต มะเร็งต่อมลูกหมาก เนื้องอกกระเพาะปัสสาวะ เนื้องอกมดลูก ก้อนเนื้องอกในช่องท้อง ภาวะตั้งครรภ์ เป็นต้น

อาจมีอาการขัดเบาแบบกระเพาะปัสสาวะอักเสบในผู้หญิงที่แต่งงานใหม่หรือหลังร่วมเพศ ซึ่งแพทย์มักเรียกว่า โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากฮันนีมูน เกิดอาการอักเสบของท่อปัสสาวะจากสาเหตุการฟกช้ำจากการร่วมเพศ

อาการ
ผู้ป่วยมักจะปัสสาวะออกแบบกะปริดกะปรอย เวลาถ่ายปัสสาวะจะปวดขัดหรือแสบร้อน หรืออาจปวดท้องน้อยร่วมด้วย ปัสสาวะอาจมีกลิ่นเหม็น มีสีใสหรืออาจขุ่นหรือมีเลือดปนในบางราย หลังอั้นปัสสาวะนานๆ หรือหลังร่วมเพศมักจะทำให้เกิดอาการขึ้น ในเด็กเล็กอาจมีไข้ เบื่ออาหาร อาเจียน และปัสสาวะรดที่นอน

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน แต่อาจมีอาการกดเจ็บเล็กน้อยตรงบริเวณกลางท้องน้อยในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน
อาจมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง แต่ส่วนมากมักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่เชื้ออาจลุกลามไปที่ไตทำให้กลายเป็นกรวยไตอักเสบได้ถ้าไม่ได้รับการรักษา และเชื้ออาจลุกลามเข้าไปทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบได้ในผู้ชาย

การรักษา
1. ให้ดื่มน้ำมากๆ ในขณะที่มีอาการ ถ้าปวดมากให้ยาแก้ปวด และให้ยาปฏิชีวนะ เช่น โคไตรม็อกซาโซล 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง อะม็อกซีซิลลิน 500 มก. ทุก 8 ชั่วโมง โอฟล็อกซาซิน 200 มก. วันละ 2 ครั้ง หรือไซโพรฟล็อกซาซิน 250 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน

2. ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นซ้ำมากกว่า 2-3 ครั้ง หรือพบโรคนี้ในผู้ชาย แพทย์อาจต้องตรวจปัสสาวะ เพาะหาเชื้อจากปัสสาวะ เอกซเรย์ หรือใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะถ้าจำเป็น แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

ข้อแนะนำ
1. กระเพาะปัสสาวะอักเสบมักพบเป็นสาเหตุอันดับแรกของอาการขัดเบา แต่ก็มีโรคหลายชนิดที่มีอาการแสดงคล้ายโรคนี้ ดังนั้นจึงควรซักถามประวัติของอาการอย่างละเอียด หรือวินิจฉัยอื่นๆ เพื่อให้แน่ใจเสียก่อนว่าเกิดจากโรคนี้

2. ควรนึกถึงโรคนี้ไว้เสมอในเด็กเล็กที่มีอาการปัสสาวะรดที่นอนบ่อยหรือมีไข้ และอาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งการวินิจฉัยโรคจะชัดเจนขึ้นด้วยการตรวจปัสสาวะ

3. ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยขับเชื้อโรคออกและช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะในผู้ป่วยโรคนี้

การป้องกัน
เมื่อหายจากโรคนี้แล้วควรป้องกันมิให้เกิดเป็นซ้ำได้อีกด้วยวิธีดังนี้
1. อย่าอั้นปัสสาวะ ควรฝึกการถ่ายปัสสาวะนอกบ้าน หรือระหว่างการเดินทางให้ได้ทุกที่ เพราะเชื้อโรคที่อยู่ในกระเพาะปัสสาวะนานๆ จะสามารถเจริญแพร่พันธุ์ได้เมื่ออั้นปัสสาวะไว้ และเมื่อกระเพาะปัสสาวะยืดตัวความสามารถในการขจัดเชื้อโรคของเยื่อบุผิวกระเพาะปัสสาวะจะลดน้อยลง จึงทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายขึ้น

2. เพื่อป้องกันมิให้นำเชื้อโรคจากบริเวณทวารหนักเข้าสู่ท่อปัสสาวะ หลังถ่ายอุจจาระควรใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดจากข้างหน้าไปข้างหลัง

3. ก่อนร่วมเพศควรดื่มน้ำ 1 แก้ว และใส่ครีมหล่อลื่นช่องคลอด เพื่อป้องกันอาการขัดเบา และหลังจากร่วมเพศควรถ่ายปัสสาวะทันที

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า