สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กรวยไตอักเสบ(Pyelonephritis)

หมายถึงบริเวณกรวยไตเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย มักมีอาการแสดงชัดเจนในชนิดเฉียบพลัน และไม่มีอาการแสดงชัดเจนในชนิดเรื้อรัง อาจพบเป็นโรคแทรกซ้อนของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะ มักพบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายกรวยไตอักเสบ

กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute pyelonephritis)
พบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งมักพบในวัยเด็กหรือขณะตั้งครรภ์ ผู้ที่เป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต เนื้องอกหรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือผู้ป่วยที่เคยสวนปัสสาวะมาก่อน เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย และอาจมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ง่ายขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน หรือกินสตีรอยด์นานๆ

สาเหตุ
เกิดจากกรวยไตมีการติดเชื้ออักเสบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เชื้อโรคมักจะแพร่กระจายมาจากบริเวณผิวหนังรอบๆ ท่อปัสสาวะ เข้ามาในท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ และผ่านท่อไตขึ้นมาที่ไต ปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นจากการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานในผู้ป่วยอัมพาต การตั้งครรภ์หรือมีก้อนในช่องท้อง เป็นต้น

เชื้อแบคทีเรียกลุ่มแกรมลบ ได้แก่ อีโคไล เคล็บซิลลา สูโดโมแนส เป็นเชื้อที่พบได้บ่อย เชื้อโรคอาจแพร่กระจายจากส่วนอื่นๆ ของร่างกายโดยทางกระแสเลือดก็ได้ในบางราย

อาการ
ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดมากที่สีข้างข้างใดข้างหนึ่งอย่างฉับพลัน และร้าวมาที่ขาหนีบ มีไข้สูง หนาวสั่นเป็นพักๆ อาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการขัดเบาร่วมด้วย ปัสสาวะมักมีสีขุ่น หรืออาจข้นเป็นหนองในบางครั้ง

สิ่งตรวจพบ
มักพบว่าผู้ป่วยมีไข้สูงประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกเจ็บจนสะดุ้งเมื่อใช้กำปั้นทุบเบาๆ บริเวณสีข้างที่ปวด อาจมีอาการกดเจ็บของหน้าท้อง ท้องเกร็งแข็งเล็กน้อย ปัสสาวะมีสีขุ่น

ภาวะแทรกซ้อน
เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือดกลายเป็นภาวะโลหิตอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ถ้าไม่ได้รับการรักษา หรืออาจกลายเป็นโรคกรวยไตอักเสบเรื้อรังและภาวะไตวายในบางราย

การรักษา
1. หากไม่แน่ใจหรือสงสัย ควรส่งผู้ป่วยเพื่อตรวจปัสสาวะเพิ่มเติม มักพบว่าเม็ดเลือดขาวอยู่กันเดี่ยวๆ และเกาะกันเป็นแพ อาจให้การรักษาด้วยยาลดไข้ และยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน 500 มก. ทุก 8 ชั่วโมง โคไตรม็อกซาโซล 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง โอฟล็อกซาซิน 400 มก. วันละ 2 ครั้ง หรือไซโพรฟล็อกซาซิน 500 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 14 วัน ถ้ามีอาการไม่รุนแรง หรืออาจให้ฉีดเจนตาไมซิน ครั้งละ 40-80 มก. วันละ 2-3 ครั้ง ทุก 8-12 ชั่วโมงหากกินยาไม่ได้

2. ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล หากมีอาการรุนแรง หรืออาการยังไม่ดีขึ้นหลังจากให้การรักษา 3 วันแล้ว หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ช็อก ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะออกน้อย ซีด เหลือง หรือสงสัยโลหิตเป็นพิษ
อาจพบแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุจากการเพาะเชื้อจากปัสสาวะ และเพื่อค้นหาความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสริมให้มีการติดเชื้อแพทย์อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเลือด และตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม

ในระยะแรกของการรักษาแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดตามชนิดของเชื้อที่ตรวจพบ เช่น เจนตาไมซิน เซฟาโลสปอริน หรือถ้าพบความผิดปกติอื่นๆ ก็จะให้การแก้ไขร่วมกันไปด้วย โดยทั่วไปโรคนี้มักจะรักษาให้หายขาดได้

3. ควรทำการตรวจปัสสาวะให้แน่ใจว่าไม่มีอาการอักเสบเรื้อรังเมื่อรักษาจนหายดีแล้ว เพราะอาจจะกลายเป็นกรวยไตอักเสบเรื้อรังและในระยะต่อมาอาจกลายเป็นไตวายเรื้อรังได้

ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดและเคาะเจ็บที่สีข้าง มีปัสสาวะขุ่น และมักมีไข้สูงหนาวสั่นคล้ายไข้มาลาเรีย จึงควรนึกถึงโรคนี้ไว้เสมอเมื่อพคนที่มีอาการไข้หนาวสั่นมาก

2. ควรหาทางรักษาให้หายขาดในผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากโต เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากกรวยไตอักเสบได้

การป้องกัน
ควรดื่มน้ำมากๆ และไม่ควรอั้นปัสสาวะเพื่อป้องกันมิให้มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ

กรวยไตอักเสบเรื้อรัง(Chronic pyelonephritis)
เนื่องจากมีการอุดกั้นหรือมีความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะจึงเป็นสาเหตุให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณกรวยไต มักไม่มีอาการแสดงใดๆ ในผู้ป่วย อาจตรวจพบโดยบังเอิญว่าในปัสสาวะมีเชื้อแบคทีเรีย และเม็ดเลือดขาว หรือมีอาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรืออาจมีอาการของกรวยไตอักเสบกำเริบเฉียบพลันในบางครั้ง

เซลล์ของไตจะถูกทำลาย ไตฝ่อ และเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง มีอาการซีด อ่อนเพลีย ความดันโลหิตสูง ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีการอักเสบของกรวยไตมานานเป็นแรมปี

หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัย แพทย์มักจะค้นหาความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะด้วยการตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ และตรวจพิเศษอื่นๆ อาจต้องทำการผ่าตัดแก้ไข หรือให้ยาปฏิชีวนะ และติดตามดูอาการของผู้ป่วยติดต่อกันเป็นเวลานาน เพื่อดูว่ามีภาวะไตวายแทรกซ้อนหรือไม่จากการตรวจปัสสาวะและตรวจเลือดเป็นระยะๆ

ข้อแนะนำ
การรักษาผู้ป่วยกรวยไตอักเสบเรื้อรังบางครั้งอาจมีการดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายขนาน โดยตรวจไม่พบเชื้อ แต่ยังตรวจพบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ ซึ่งต้องวินิจฉัยโดยการส่งปัสสาวะเพาะหาเชื้อโดยเฉพาะ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก วัณโรคไต ก็ได้ จึงควรรักษาให้ตรงกับสาเหตุจึงจะได้ผลดี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า