สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคหืด (BRONCHIAL ASTHMA)

โรคหืดเป็นโรคของหลอดลมที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ มากกว่าธรรมดา ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมหดเกร็ง เยื่อบุหลอดลมบวม และต่อมมูกในหลอดลมหลั่งมูกออกมากขึ้น ทำให้หลอดลมตีบแคบลง แต่การตีบแคบลงของหลอดลมในโรคหืดนี้เกิดขึ้นครั้งคราว ไม่ได้ตีบถาวร เวลาหลอดลมตีบก็ทำให้อากาศเข้าไปในปวดได้ยาก ร่างกายจึงขาดออกซิเจน ทำให้เกิดอาการหอบ เพื่อให้ได้ออกซิเจนตามความต้องการของร่างกาย อาการหอบอาจจะหายไปได้เองถ้าไม่หอบรุนแรงนัก ถ้ารุนแรงต้องได้รับยาขยายหลอดลมอาการจึงดีขึ้น ขณะผู้ป่วยไม่มีอาการอาจเป็นปกติสบายดี และการตรวจอาจไม่พบสิ่งผิดปกติ

โรคนี้เกิดจากอะไร

โรคนี้อาจแบ่งเป็นพวกใหญ่ ๆ ได้สองพวก คือ

       ผู้ป่วยพวกแรก  มีสาเหตุจากการแพ้สารบางอย่าง ผู้ป่วยพวกนี้มีสาเหตุคล้ายโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ สารก่อโรคที่สำคัญได้แก่ สารที่สูดดมทางการหายใจเป็นส่วนใหญ่ เช่น ฝุ่นภายในบ้าน ไรในฝุ่น ขนและรังแคสัตว์เลี้ยง นุ่น เศษแมลงในบ้าน ราในที่อับชื้นในบ้าน หรือเป็นสารนอกบ้าน เช่น เชื้อราในบรรยากาศ เกสรหญ้า เกสรต้นไม้และวัชพืช สารที่เป็นต้นเหตุอาจเป็นอาหารก็ได้

       ผู้ป่วยพวกที่สอง  ไม่ได้มีสาเหตุจากการแพ้ แพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุการแพ้ได้จากการซักประวัติ หรือทดสอบทางผิวหนัง หรืออื่น ๆ เชื่อว่ามีความผิดปกติในระบบประสาทที่มาควบคุมหลอดลม ตลอดจนมีความไว ต่อิส่งไม่จำเพาะต่าง ๆ เช่น เวลามีไข้หวัด เวลาอากาศเปลี่ยน (เช่น อากาศอ้าวก่อนฝนตก อากาศเย็นในฤดูหนาว) เวลาออกกำลังมาก ๆ จิตใจและอารมณ์เปลี่ยนแปลง

ผู้ป่วยบางรายเป็นทั้งสองแบบ อาจแพ้สารบางสิ่งบางอย่าง ขณะเดียวกันเมื่อพบสิ่งไม่จำเพาะต่าง ๆ ก็เกิดอาการหอบได้ เช่น ไข้หวัด ออกกำลัง เป็นต้น

ผู้ป่วยบางรายมีอาการหอบหืดภายหลังได้รับแอสไพริน มักพบผู้ป่วยกลุ่มนี้ในวัยกลางคน อาการเริ่มมักเป็นหวัดเรื้อรัง พบริดสีดวงจมูกร่วมบ่อย ไซนัสอักเสบ หอบหืด และมีอาการแพ้แอสไพรินอย่างรุนแรงภายหลังได้รับ ผู้ป่วยจะมีอาการหอบรุนแรง บางรายอาจเสียชีวิต คนที่แพ้แอสไพรินเกิดขึ้น เนื่องจากมีการทำงานผิดปกติในระบบเอ็นซัยม์บางชนิดในร่างกาย คนกลุ่มนี้นอกเหนือจากการแพ้แอสไพรินแล้วยังแพ้ยาแก้ปวด หรือ ยาลดการอักเสบบางชนิด เช่น Idomethacin, Aminopyrine, Ibuprofen, Fenoprofen, Mefenamic acid นอกจากนั้นสีเหลืองที่ใช้ปรุงแต่งสีอาหารและเครื่องดื่มพวก Tartrazine สามารถก่อให้เกิดอาการรุนแรงถ้าผู้ป่วยได้รับเข้าไป

ผู้ป่วยบางรายเกิดจากการประกอบอาชีพบางชนิด ทั้งนี้เพราะสูดเอาควัน ฝุ่น หรือแก๊ส ในอาชีพของตน ต่อมาสร้างภูมิแพ้ขึ้นเมื่อทำงานและพบสารนั้น ๆ ก็เกิดอาการหอบขึ้น ผู้ป่วยพวกนี้ เช่น คนงานโรงงานสารเคมี โรงงานละหุ่ง โรงงานผงซักฟอก เครื่องสำอาง เป็นต้น

โรคนี้เป็นกรรมพันธุ์หรือไม่

โรคหืดมีกรรมพันธุ์เกี่ยวข้องมาก  โดยเฉพาะโรคหืดประเภทที่เกิดจากการแพ้ ซึ่งพบมากในวัยเด็ก เด็กที่เป็นหืดจะมีญาติพี่น้อง ซึ่งอาจเป็นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือลูกพี่ลูกน้อง เป็นหืดได้ถึงร้อยละ 50 แต่ผู้ป่วยโรคหืดที่เกิดในผู้ใหญ่ พบประวัติในครอบครัวน้อกว่า การถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ไม่ได้เป็นแบบเด่น คือ พ่อแม่ที่เป็นหืดไม่จำเป็นต้องมีลูกเป็นหืด แต่อาจมาเป็นในระดับหลาน หรืออาจเป็นโรคอื่น แต่อยู่ในกลุ่มภูมิแพ้ด้วยกัน เช่น จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือผื่นแพ้เอ็กซิมา

อายุและเพศในผู้ป่วย

โรคหืดเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งอาจเริ่มมีอาการตั้งแต่เล็ก เช่น ในขวบปีแรก หรืออาจเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่จนถึงสูงอายุก็ได้  ในวัยเด็กนั้นพบในเพศชายมากกว่า แต่ในวัยผู้ใหญ่พบในเพศหญิงมากกว่า

โรคหืดมีอาการอย่างไร

ผู้ป่วยโรคหืดจะมีอาการเป็นครั้งคราว ขณะไม่มีอาการจะเหมือนคนปกติ เวลามีอาการจะแน่นหน้าอก รู้สึกหายใจลำบาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหายใจออกลำบาก ไอมาก มีเสมหะเหนียว และมักมีเสียงวี๊ด ๆ ขณะหายใจ การหอบอาจทุเลาลงได้เอง หรือภายหลังได้ยาประเภทขยายหลอดลม ในรายที่หอบมากมีเหงื่อแตก หอบตัวโยน ปากเขียวได้

ในเด็กก่อนที่เริ่มมีอาการหอบอย่างชัดเจน ผู้ป่วยอาจมีอาการไอเรื้อรังนำมาก่อน อาจไอเป็นเดือน ๆ มักไอเวลากลางคืน หรือเช้ามืด ไอมีเสมหะในลำคอ บางครั้งไอจนอาเจียนเอาเสมหะออกจึงจะสบาย ลักษณะไอบางครั้งคล้ายโรคไอกรนได้

อาการของโรคหืดจะเป็นเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ในรายที่เป็นรุนแรงเรื้อรังและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ทรวงอกอาจโป่งมีลักษณะคล้ายอกไก่ได้

โรคที่มีอาการคล้ายหืด

ความจริงแล้วโรคหืดนั้นวินิจฉัยไม่ยาก  โดยอาศัยประวัติการหอบเป็น ๆ หาย ๆ ยิ่งถ้ามีประวัติโรคหืด หรือโรคภูมิแพ้ในครอบครัวจะช่วยสนับสนุนมากขึ้น และถ้าแพทย์มีโอกาสตรวจผู้ป่วยในขณะหอบจะช่วยได้ดีขึ้น รวมทั้งดูการตอบสนองต่อยาขยายหลอดลม อย่างไรก็ตามยังมีโรคอีกมาก ที่อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการคล้าย ๆ โรคหืดได้

ในวัยเด็ก โรคที่มีอาการคล้ายหืด เช่น

1.  การที่มีของตกหล่นติดคอ หรือหลอดลม โดยมากมีอาการทันทีทันใดในเด็กที่สบายดีมาก่อน อาจมีประวัติสำลักสิ่งของบางอย่าง หรืออาหาร อาจทำให้เกิดอาการหอบ และมีเสียงวี๊ด ๆ พร้อมกับการหายใจได้

2.  โรคติเชื้อของระบบทางเดินหายใจตั้งแต่ส่วนบนจนถึงส่วนปลาย เช่น กล่องเสียงอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบ (ปอดบวม) นอกจากนั้นวัณโรคในเด็กที่มีต่อมน้ำเหลืองโตเบียดหลอดลมตีบ บางรายอาจมีอาการหอบคล้ายหืดได้ โรคไอกรน มีเสมหะเหนียวติดในหลอดลมเล็ก ๆ เด็กจะไอเป็นชุด ๆ จนกว่าเสมหะจะหลุดจึงสบาย อาการนี้จะคล้ายกับเด็กที่เป็นหืดในระยะเริ่มแรกได้

3.  ความพิการแต่กำเนิด ในบริเวณหลอดลม เช่น มีท่อติดต่อระหว่างหลอดลมกับหลอดอาหาร หรือความพิการในปอด เช่น ถุงลมในปอด หรือความพิการของกระบังลม เช่น ไส้เลื่อนกระบังลม โดยที่กระบังลมมีช่องโหว่ทำให้กระเพาะอาหารเลื่อนขึ้นไปอยู่ในช่องอก ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหอบได้

4.  มีก้อนเนื้องอกในบริเวณหลอดลม หรือในทรวงอกที่กดหลอดลม

5.  โรคหัวใจรั่ว หัวใจวาย หรือโรคของหลอดเลือด อาจมีอาการหอบคล้ายคลึงได้

6.  เด็กมีปัญหาทางจิตใจ อารมณ์ อาจแกล้งหอบคล้ายคนเป็นหืดได้ ส่วนมากพบในเด็กโต หรือผู้ใหญ่ และมักเคยเห็นผู้ป่วยเป็นหอบหืด ชอบแสดงให้เกิดอาการเพื่อเรียกร้องให้เกิดความสนใจ

ในวัยผู้ใหญ่  โรคที่มีอาการคล้ายหืด เช่น

1.  โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และโรคที่มีถุงลมโป่งพอง(เอ็มฟิสซีมา) มักพบในวัยชรา และมีประวัติสูบบุหรี่มากมาเป็นเวลาเป็นสิบ ๆ ปี

2.  โรคปอดอักเสบ

3.  โรคมะเร็งของหลอดลม หรือปอด

4.  โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย

5.  สิ่งแปลกปลอมในหลอดลม

อารมณ์และจิตใจในคนเป็นโรคหืด

อารมณ์และจิตใจมีบทบาทในโรคหืดมาก อารมณ์จิตใจที่เครียด กังวล โกรธ กลัว อารมณ์ขุ่นมัว หรือแม้แต่ดีใจ ตลก สนุกสนาน อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ผุ้ป่วยโรคหืดเกิดอาการหอบขึ้น แต่จะมีบทบาทเป็นตัวกระตุ้นเท่านั้น ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้คนปกติเกิดโรคหืดขึ้น

อีกด้านหนึ่ง คนที่เป็นหืดไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ใหญ่ก็จะมีผลทำให้ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติในอารมณ์และจิตใจได้มาก เพราะผู้ป่วยไม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้เหมือนคนอื่น ๆ เพราะอาจเกิดอาการหอบขึ้น เช่น การออกกำลังกาย หรือจะท่องเที่ยว ทำงานทำการ บางครั้งก็เกิดอาการหอบขึ้น ทำให้แผนการที่กำหนดไว้มักต้องเลื่อนหรือเปลี่ยนแปลง เด็กอาจเสีเวลาเรียนบ่อย ๆ  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เพิ่มความเครียด และกังวลในผู้ป่วยมากขึ้น และถ้าเรื้อรัง ผู้ป่วยมักเป็นคนเจ้าอารมณ์ หรืออาจเก็บกด

ดังนั้นญาติผู้ป่วยควรให้กำลังใจ และไม่พยายามทับถมผู้ป่วย ไม่ควรตำหนิติเตียนผู้ป่วยว่าเป็นผู้นำความเดือดร้อนมาสู่ครอบครัว หรือทำให้เสียเวลา เสียเงินเสียทอง เพราะจะเพิ่มความเครียดให้ผู้ป่วยมากขึ้น

เมื่อไรจึงจะสงสัยว่าเป็นโรคหืด

ผู้ที่จะสงสัยเป็นโรคหืดนั้น มีข้อช่วยในการวินิฉัย คือ

1.  ต้องมีอาการที่ควรสงสัย เช่น หอบเป็น ๆ หาย ๆ ผู้เริ่มเป็นใหม่ ๆ อาจไม่ถึงกับมีอาการหอบ แต่อาจมีอาการแน่นหน้าอก มีอะไรมาจุกอยู่บริเวณคอ ไอและมีเสมหะมาก อาการปรากฎเมื่อไปกระทบกับบางสิ่ง เช่น กวาดบ้าน มีฝุ่นมาก หรือเวลาเปลี่ยนแปลงอากาศ ออกกำลัง เป็นหวัด หรือเวลามีอารมณ์จิตใจผิดปกติ ถ้าเป็นมากแล้วจะมีอาการหอบชัดเจน หายใจฝืดไม่เต็มปอด หายใจออกก็ยาก มักได้ยินเสียงวี๊ด ๆ ขณะมีการหายใจด้วย  ถ้ามีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์ขณะมีอาการ เพราะแพทย์จะได้ตรวจได้อย่างละเอียด นอกจากนั้นยังดูการตอบสนองต่อยาขยายหลอดลมได้  เพราะโรคหืดขณะมีอาการหอบหากได้รับยาขยายหลอดลม มักสบายขึ้นภายในเวลาไม่กี่นาที แต่โรคอื่น ๆ ในผู้ใหญ่ที่มีอาการคล้ายหืด เช่น โรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง อาจดีขึ้นบ้าง ภายหลังได้รับยาขยายหลอดลม แต่จะไม่ดีขึ้นเหมือนโรคหืด อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการหอบรุนแรง อาจไม่ตอบสนองต่อยาขยายหลอดลมได้เช่นกัน

2.  ประวัติโรคหืด หรือโรคภูมิแพ้ในครอบครัว จะช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคหืดมากขึ้น

3.  ประวัติโรคภูมิแพ้อื่น ๆ ในตัวผู้ป่วย เช่น จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ผื่นแพ้เอ็กซิมา  ถ้าผู้ป่วยเป็นอยู่ เช่น น้ำมูกไหลเรื้อรังแล้วเกิดหอบขึ้น ก็ช่วนสนับสนุนมากขึ้น

4.  การตรวจทางห้องปฏิบัติการบางอย่าง แพทย์อาจตรวจ เช่น เอ็กซเรย์ปอด เพื่อดูว่าไม่มีโรคอื่น ๆ ที่ผิดปกติในทรวงอก อาจตรวจเลือด ในโรงพยาบาลใหญ่ อาจตรวจหน้าที่ปอด แต่โดยทั่วไปแล้ว ประวัติกับการตรวจร่างกายขณะหอบ ตลอดจนดูการตอบสนองต่อยาขยายหลอดลมจะสามารถให้การวินิจฉัยโรคหืดได้มาก

จะทราบได้อย่างไรว่าแพ้อะไร

ผู้ป่วย(หรือผู้ปกครองในรายที่ผู้ป่วยเป็นเด็ก) ควรสังเกตให้ละเอียดว่าผู้ป่วยหอบแต่ละครั้งเกิดขึ้นเมื่อใด ไปพบสารอะไรหรือไม่ เช่น กวาดบ้านแล้วหอบ อาจแพ้ฝุ่นบ้าน รับประทานอาหารบางชนิดแล้วหอบ อาจแพ้อาหารชนิดนั้น ๆ  เล่นกับสุนัขกับแมวแล้วหอบอาจแพ้รังแคสุนัข หรือแมว นอกจากนั้นควรสังเกตเวลาอะไร ฤดูกาลใด หรือเป็นตลอดปี

นอกจากสังเกต แพทย์อาจทดสอบทางผิวหนัง ด้วยวิธีสกิด (Prick test) หรือฉีดเข้าในผิวหนัง (Intradermal test)

เวลาหอบทำอย่างไร

เมื่อผู้ป่วยเริ่มหอบไม่ควรตกใจ ควรหายใจเข้าช้า ๆ และหายใจออกทางปาก โดยทำปากจู๋คล้ายผิวปากและพยายามเป่าออกช้า ๆ ให้ออกมากที่สุด ลมจะได้ไม่ค้างในปอดมาก ทำให้อาการอึดอัดแน่นหน้าอกน้อยลง (ขณะที่ผู้ป่วยไม่มีอาการหอบก็ควรฝึกการหายใจให้ถูกต้องไว้เป็นประจำ เวลาหอบก็จะหายใจได้ถูกต้องเลย)

ผู้ป่วยอาจใช้ยารับประทาน  หรือยาพ่นตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด  ถ้าไม่ทุเลายังหอบมากก็ควรไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ ไม่ควรปล่อยให้มีการหอบนานเป็นวัน ๆ เพราะทำให้การรักษายุ่งยาก และอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยทั่วไปแพทย์มักจะฉีดยาขยายหลอดลมให้ ถ้าไม่ดีขึ้นอาจต้องให้เข้าอยู่ในโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่จะอยู่ในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก  ซึ่งอาจเรียกว่า “การจับหืดไม่สร่าง” (Status asthmaticus) ซึ่งมักมีสาเหตุจากไปพบแพทย์ช้า ทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติในร่างกายหลายอย่าง เช่น ขาดออกซิเจน ขาดน้ำ เพราะร่างกายเสียน้ำจากการหายใจมากมีความผิดปกติในระบบกรด-ด่างของร่างกาย อาจมีการติดเชื้อร่วม เช่น ปอดอักเสบ ภาวะเช่นนี้หากรักษานอกโรงพยาบาลอาจมีอันตรายได้

การรักษาโรคหืดระยะยาวทำอย่างไร

โรคหืดเป็นโรคเรื้อรัง อาจเป็นตลอดชีวิตก็ได้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการรักษาดีขึ้น โรคอาจทุเลาหรือมีอาการน้อยมาก หรือในวัยเด็กมีโอกาสหายจากโรค เมื่อโตขึ้นอยู่จำนวนหนึ่ง ถ้าได้รับการรักษาถูกต้องโอกาสหายจากโรคก็มีมากขึ้น นอกจากนั้นการรักษาถูกต้องทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น สามารถทำงานทำการหรือในเด็กไปโรงเรียนหนังสือได้ดีขึ้น เล่นกีฬา หรือมีชีวิตประจำวันเป็นปกติมากขึ้น

หลักการรักษามีหลักใหญ่ 3 ประการ คือ

1.  หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้และสิ่งกระตุ้นให้เกิดการหอบ โดยเฉพาะพวกฝุ่นบ้าน สัตว์เลี้ยง อาหารที่แพ้ นอกจากนั้นตัวกระตุ้นอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการหอบ เช่น ออกำลังมากเกิน สิ่งระคายระบบทางเดินหายใจ พยายามอย่าให้เป็นหวัด เป็นต้น

       2.  การใช้ยา  ยาในปัจจุบันมีหลายประเภท เช่น

       ก. ยาขยายหลอดลม ยาขยายหลอดลมมีหลายประเภท มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมที่หดเกร็งคลายตัวออก ดังนั้นยานี้จึงมีประโยชน์อย่างมากเวลามีอาการหอบ เพราะจะทำให้การหอบทุเลาลงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าการหอบนั้นไม่รุนแรงจนเกินไป  แต่ถ้าหากการหอบรุนแรงมาก ยาพวกนี้อาจไม่ได้ผลในขณะนั้น

ยาประเภทนี้มีทั้งใช้รับประทาน ยาพ่นสำหรับสูดดม และยาฉีด ยารับประทานโดยทั่วไปใช้ง่าย มีฤทธิ์ประมาณ 6 ชั่วโมง นอกจากยาบางชนิดที่ดัดแปลงให้มีฤทธิ์ยาขึ้นประมาณ 12 ชั่วโมง  เพื่อให้สามารถคุมอาการได้นาน  โดยไม่ต้องใช้ยาบ่อย ๆ และจะมีประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกมีอาการหอบกลางดึกเป็นประจำ ยาสามารถคุมอาการได้ตลอดคืนได้ แต่ยาที่ออกฤทธิ์นานนั้นมักจะออกฤทธิ์ช้าด้วยเพราะค่อย ๆ ละลาย จึงมีข้อเสียตรงที่ว่าเวลาหอบแล้วเมื่อรับประทานกว่าจะออกฤทธิ์จะกินเวลานาน

ยาขยายหลอดลมประเภทสูดดมในปัจจุบันนิยมใช้มากขึ้น การเลือกชนิดควรปรึกษาแพทย์ เพราะยาประเภทนี้บางชนิดมีโอกาสเกิดอันตรายได้ง่าย ต้องใช้ชนิดซึ่งมีฤทธิ์จำเพาะต่อการขยายหลอดลม โดยมีอาการแทรกซ้อนทางหัวใจน้อย การใช้ยานี้ควรใช้ให้ถูกต้อง ส่วนมากจะใช้ได้ตั้งแต่เด็กโตจนถึงผู้ใหญ่ เด็กเล็ก ๆ การใช้ไม่ถูกต้องอาจสูดเอายาไม่ถึงหลอดลม ทำให้ไม่ได้ผล หรือถ้าใช้ในเด็กที่ยังไม่มีความรับผิดชอบอาจใช้มากเกินไป โดยที่เวลามีอาการหอบมากซึ่งควรไปพบแพทย์ยังคงใช้ยาสูดดมอยู่อาจมีอันตรายได้

วิธีการใช้ยาสูดดมที่ถูกต้องคือ จ่อปลายเครื่องพ่นห่างจากปากประมาณ 2 นิ้วฟุต ให้ผู้ป่วยอ้าปากหายใจออกเบา ๆ จนสุด แล้วกดเครื่องพ่น ผู้ป่วยสูดเข้าทางปากช้า ๆ เหมือนหายใจเข้าเบา ๆ แล้วหุบปาก สูดยาที่พ่นเข้าไปในปอดโดยหายใจเข้าเต็มที่แล้วกั้นหายใจไว้ประมาณ 5-10 วินาที แล้วจึงหายใจออกช้า ๆทางจมูก ทิ้งระยะประมาณ 2-3 นาที จึงพ่นครั้งที่ 2 โดยทำเช่นเดียวกับครั้งแรกอีกครั้งหนึ่ง  โดยทั่วไปการสูดดมนี้จะทำ 2 ครั้ง ซึ่งมักจะสามารถทำให้หลอดลมขนายได้ดี  ถ้าหากการหอบนั้นไม่รุนแรง  เหมาะสำหรับพกติดตัวและใช้ในกรณีที่มีการหอบทันทีทันใด หรือเวลาตื่นมีหอบกลางดึก เพราะให้ผลภายในเวลา 2-5 นาที ซึ่งเร็วกว่าการรับประทานยามาก นอกจากนั้นการใช้การสูดดมนี้ยังมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีอาการหอบเวลาออกกำลังกาย โดยสูดดม 2 ครั้ง ก่อนออกกำลังกายประมาณ 15 นาที ผู้ป่วยก็สามารถออกกำลังกายได้เช่นคนปกติ  โดยทั่วไปการสูด 1 เที่ยว ใช้การสูดดม 2 ครั้ง (puff) สามารถซ้ำได้อีก เช่น หลัง 2-4 ชั่วโมงแล้ว ผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะผู้ใหญ่อาจใช้ยาสูดดมแทนยารับประทานก็ได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ในรายละเอียด ในเด็กต้องระมัดระวัง เพราะตนเองจะไม่สามารถบอกได้ว่าควรพบแพทย์เมื่อใด ขณะนั้นตัวเองมีอาการมกน้อยเพียงใด จึงควรใช้เฉพาะเวลาจำเป็นเท่านั้นและเมื่อใช้ไม่ได้ผล หรือวันนั้นใช้เกิน 2 เที่ยวแล้ว (การพ่น 4 ครั้ง) ควรพาไปหาแพทย์ตรวจจะปลอดภัยกว่า

ในปัจจุบันได้มีการดัดแปลงเครื่องพ่นยาโดยทำเป็นท่อ หรือเป็นกระเปาะพลาสติกใหญ่ต่อจากเครื่องพ่น โดยให้คนไข้สูดอีกด้านหนึ่ง ยาจะได้สูดเข้าหลอดลมได้เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบกระเปาะจะมีวาวปิดเปิดได้ ซึ่งจะเปิดให้ยาเข้าหลอดลมในขณะผู้ป่วยสูดหายใจเข้าเท่านั้น  ทำให้เหมาะสำหรับเด็กที่ยังไม่สามารถใช้เครื่องมือธรรมดาได้อย่างถูกต้อง

ยาขยายหลอดลมยังมีการใช้ด้วยวิธีฉีด ส่วนมากแพทย์ใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการหอบมาก  ใช้ยารับประทานหรือยาพ่นแล้วไม่ได้ผล ยาประเภทนี้มีทั้งชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และฉีดเข้าหลอดเลือด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม

       ข.  ยาป้องกันการหอบ โดยทั่วไปแล้วมักใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการหอบบ่อยและไม่สามารถควบคุมไดด้วยยาขยายหลอดลม ยาป้องกันการแพ้นี้เป็นยาที่ป้องกันไม่ให้เซลล์มาสต์หลั่งสารเคมีพวกฮีสตามีนและอื่น ๆ ภายหลังที่สารก่อภูมิแพ้เข้าไปทำปฏิกิริยากับภูมิแพ้ (IgE)บนผิวของเซลล์มาสต์ ยาประเภทนี้มีทั้งการใช้สูดดมและแบบรับประทาน ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้จะไม่ได้ผลทุกราย และได้ผลช้าหลังจากใช้ ซึ่งมักจะกินเวลาหลังใช้ประมาณ 2 สัปดาห์ไปแล้ว บางรายอาจใช้เวลา 2-3 เดือนกว่าจะพบว่าได้ผล อย่างไรก็ตามบางรายที่ได้ผลจะได้ผลค่อนข้างดี ทำให้อาการหอบลดลงอย่างชัดเจน และอาจไม่ต้องใช้ยาขยายหลอดลม นอกจากใช้ยาขยายหลอดลมชั่วคราวเวลาหอบเท่านั้น ยาประเภทนี้มีราคาแพง ไม่เหมาะกับผู้มีเศรษฐานะไม่ดี เพราะจะต้องใช้เป็นเวลานาน

       ค.  ยาประเภทสตีรอยด์  ยาประเภทนี้ เช่น  เพร็ดนิโซโลน สามารถทำให้อาการหอบหืดลดลงอย่างชัดเจน แต่เป็นยาที่มีอันตรายถ้าใช้ประจำ หรือใช้ไม่ถูกต้องจะมีอาการข้างเคียงมาก เช่น บวม ติดเชื้อโรคได้ง่าย เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหาร กระดูกบางหักง่าย มีโอกาสเป็นเบาหวานง่ายขึ้น เด็กจะเตี้ยแคระ ไม่สูงเหมือนเด็กทั่วไป ฯลฯ จึงไม่ควรใช้เป็นประจำ อาจใช้เป็นครั้งคราวด้วยความระวังตามคำแนะนำจากแพทย์ได้ในขณะหอบมาก เป็นเวลาสั้น ๆ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาชุด หรือยาตามร้านรับประทานเอง รวมทั้งต้องระมัดระวังยาประเภทลูกกลอนด้วย  เพราะส่วนใหญ่ของยาประเภทลูกกลอนมีเพร็คนิโซโลนรวมอยู่ด้วย  ในปัจจุบันมีการสังเคราะห์ยาประเภทนี้เป็นแบบสูดดม  ซึ่งจะออกฤทธิ์เฉพาะที่หลอดลมและปอด มีการดูดซึมเข้าร่างกายน้อย นับว่าเป็นประโยชน์มาก เพราะมีอาการข้างเคียงน้อย อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรใช้ยาประเภทนี้ตามแพทย์แนะนำเท่านั้น

       3.  การเสริมภูมิคุ้มกัน  ในรายที่มีอาการมาก การหลีกเลี่ยงต่อสารที่แพ้เป็นไปไม่ได้ดี เช่น เกสรหญ้า เกสรต้นไม้ เชื้อราในอากาศ ฝุ่นในบ้าน หรือแพ้ไรในฝุ่น แพทย์อาจฉีดสารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้เป็นระยะ ๆ ซึ่งกินเวลานานเป็นปี ๆ เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อสารที่แพ้ขึ้น หากการเลือกใช้สารที่ฉีดถูกต้องตามวิชาการ จะได้ผลดีพอสมควร ทำให้การหอบห่างลง ไม่รุนแรงเหมือนเดิม ลดการเข้าโรงพยาบาล ลดการใช้ยาขยายหลอดลม หรือยาประเภทอื่น ๆ  ในรายที่เป็นไม่รุนแรง หรือในเด็กที่ยังหอบมาไม่นานนัก มีโอกาสหายจากโรคมากขึ้น

ผู้ป่วยควรควบคุมภาวะแวดล้อมในบ้ายอย่างไร

ฝุ่นบ้าน และไรฝุ่นบ้านเป็นสาเหตุสำคัญในการก่อโรคภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจ เช่น หืด และจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ดังนั้นจึงควรพยายามทำให้ฝุ่นบ้าน และไรฝุ่นบ้านน้อยที่สุด ฝุ่นที่หมักหมมไว้นาน ๆ ยิ่งมีคุณสมบัติก่อให้เกิดการแพ้มากว่าฝุ่นใหม่ ๆ  ส่วนประกอบของฝุ่นในบ้านมีเศษผ้า เศษเครื่องเรือน รังบแค ส่วนของผิวหนังคนและสัตว์เลี้ยงที่ลอกหลุด เชื้อบักเตรี เศษและขี้แมลง เชื้อรา เศษอาหาร ตัวไร และขี้ของไร และอื่น ๆ ตัวไรฝุ่นชอบบรรยากาศที่มีความชื้นสูง 75-80 เปอร์เซ็นต์และอุณหภูมิประมาณ 70°c ต้องการอาหารเป็นสิ่งที่ลอกหลุดจากผิวหนังคน ดังนั้นจึงพบตามสิ่งที่คนใช้เป็นประจำเช่น ที่นอน เบาะ ที่นั่งของชุดรับแขก เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า พรม แม้กระทั่งเบาะรถยนต์ก็พบได้ บางบ้านฝุ่นบ้าน 1 กรัม พบไรฝุ่นเป็นพัน ๆ ตัวก็มี ดังนั้นการกำจัดฝุ่นบ้านและไรฝุ่นควรทำให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยพบสารก่อภูมิแพ้น้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้อาการต่าง ๆ ลดลง โดยกระทำดังนี้

1.  ห้องนอน เป็นห้องสำคัญที่สุด เพราะผู้ป่วยอยู่ในห้องนั้นเป็นเวลานาน ผู้ป่วยควรมีห้องนอนไม่ปะปนกับผู้อื่น หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ร่วมกันก็ควรมีน้อยคนที่สุด  เพื่อให้มีของใช้สอยน้อยด้วย และควรมีเฉพาะของที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น เพื่อทำความสะอาดได้ง่าย การตกแต่งควรมีเท่าที่จำเป็น ชั้นหนังสือ กรอบรูป ไม้ประดับ และเครื่องเรื่อนที่ไม่จำเป็น ควรเก็บไว้ห้องอื่น เก้าอี้ไม้ดีกว่าเก้าอี้บุนวม เพราะเช็ดถูง่าย พื้นห้องนอนไม่ควรปูพรม ควรเป็นพื้นไม้ ซึ่งสะดวกในการเช็ดถู ไม่ควรใช้พรมเช็ดเท้า ควรใช้เป็นผ้าซึ่งสามารถนำไปซักได้ง่าย ไม่ควรใช้ผ้าม่าน เพราะจับฝุ่นได้ดี ควรใช้วัสดุที่เช็ดถูได้ง่าย เช่น มู่ลี่อะลูมิเนียม เตียงนอนควรใช้เตียงทึบแบบไม่มีขา โดยที่ขอบเตียงสนิทกับพื้นห้องเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นจับใต้เตียงที่นอน หมอนนอนควรใช้ยางหรือฟองน้ำ รวมทั้งผู้อื่นที่อยู่ในห้องเดียวกันด้วย ไม่ควรใช้นุ่นหรือขนเป็ดขนไก่ยัดที่นอนและหมอน เพราะผู้ป่วยอาจแพ้สิ่งเหล่านี้ได้  อาจแก้ไขโดยการหุ้มพลาสติกให้มิดชิด ผ้าห่มนอนไม่ควรใช้ขนสัตว์ ผ้าสักหลาด ผ้าฝ้าย หรือผ้าสำลีที่มีขน ซึ่งฝุ่นจะจับได้ง่าย ควรทำด้วยผ้าเรยองเดคร่อน หรือใยสังเคราะห์ ที่นอน หมอน ควรตากแดดและตบกลางแดดเสมอ ๆ เครื่องนอนควรซักประจำ ตุ๊กตามีขนไม่ควรไว้ในห้องนอนผู้ป่วยเด็ก เสื้อผ้าควนใสตู้เสื้อผ้าให้มิดชิด ควรใส่วัตถุทำให้อากาศแห้ง เช่น การบูร การใช้เครื่องปรับอากาศ ควรสังเกตสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน บางรายชอบอากาศเย็นอยู่แล้วไม่มีอาการหอบ บางรายอาจมีอาการหอบเมื่อถูกความเย็น ในรายที่ใช้เครื่องปรับอากาศต้องทำความสะอาดเป็นประจำ ห้องนอนควรเปิดให้อากาถ่ายเท และควรมีแสงแดดส่องถึง

การทำความสะอาดห้อง ไม่ควรให้ผู้ป่วยทำด้วยตนเองหรืออยู่ในบริเวณนั้น เพราะเวลาทำความสะอาดอาจได้รับฝุ่นเข้าร่างกายมากอาจเกิดอาการขึ้นได้ การทำความสะอาดห้องไม่ควรใช้การกวาดอย่างเดียว ถ้าเป็นไปได้ควรใช้เครื่องดูดฝุ่นและควรใช้ผ้าชุบน้ำถูตามด้วยเสมอ ซึ่งจะทำให้ฝุ่นน้อยลง สิ่งสำคัญคือ ต้องทำความสะอาดบนหลังตู้ด้วยเสมอ ในรายที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องทำความสะอาดด้วยตนเอง ต้องมีผ้าปิดจมูก

2.  ที่อื่น ๆ ภายในบ้านที่ไม่ใช่ห้องนอน แม้มีความสำคัญน้อยกว่า เพราะผู้ป่วยไม่ได้อยู่ประจำก็ตาม ควรทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะห้องอับ ๆ เช่น ห้องเก็บของ ซึ่งมีทั้งฝุ่นและรามาก ควรปฏิบัติเช่นเดียวกัน ควรระวังไม่ให้ราขึ้นตามกระถางต้นไม้ภายในบ้าน หมั่นทำความสะอาดตู้เย็น กำจัดอาหารที่บูดเน่า อาหารที่ทิ้งไว้นานอาจมีเชื้อรา ตามหิ้ง ตามที่วางของ อาจใช้ยาประเภทไวโซล์ (Lysol) หรือคอลรอกซ์ (Chlorox) ชุบฟองน้ำเปียก ๆเช็ด ควรป้องกันไม่ให้น้ำท่วมขังพื้นบ้านเป็นเวลานาน ๆ กำแพงบ้านอาจใช้ยาพ่นกันรา เช่น ไดอะนอน (Dianol) พ่นเป็นครั้งคราว

3.  ภายในบ้านไม่ควรเลี้ยงสัตว์ที่มีขน เช่น สุนัข แมว เป็ด ไก่ ม้า นก กระต่าย ฯลฯ สุนัขแม้ว่าจำเป็นในการเฝ้าบ้าน แต่ไม่ควรให้ขึ้นบนบ้านหรือเข้าห้องนอน เพราะผู้ป่วยแพ้ขน รังแค หรือปัสสาวะสุนัข และแมวได้บ่อย แม้ว่าผู้ป่วยในขณะนั้นอาจไม่ได้แพ้ก็ตาม หากผู้ป่วยได้สูดดมเป็นประจำต่อมาอาจเป็นสาเหตุทำให้ผุ้นั้นแพ้ก็ได้

4.  ซากแมลงต่าง ๆ มีความสำคัญในการก่อโรค เช่น แมลงสาบและแมลงอื่น ๆ เพราะซากของแมลงก็ดี หรือขี้แมลงเหล่านี้ก็ดี เมื่อเปื่อยยุ่ยเป็นผงแล้วเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญ ควรกำจัดให้หมดสิ้น

5.  ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกลิ่นที่ระคายทางการหายใจ  ซึ่งอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการของโรค เช่น กลิ่นสี ควันบุหรี่ ควันรถยนต์ กลิ่นการประกอบอาหารที่ฉุน ๆ ยากันยุง ยาฆ่าแมลง (ซึ่งผู้ป่วยอาจระคายแล้วหอบ หรืออาจแพ้สาร pyrethrum ที่นำมาสังเคราะห์เป็นยาฆ่าแมลงโดยตรงก็ได้ป

การรักษาที่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าได้ผล

       1.  การผ่าตัดเอาปมประสาทออก  ได้มีแพทย์บางคนรักษาโรคหืด โดยการผ่าตัดเอาปมประสาทของระบบสิมปาเตติค-บริเวณคอออก  โดยเชื่อว่าจะทำให้โรคหืดหาย แต่จากการศึกษาจนถึงปัจจุบันพบว่าไม่ได้ผล การติดตามผู้ป่วยระยะยาวพบว่าผู้ป่วยมักมีอาการหอบอีก และจะมีแผลเป็นบริเวณผ่าตัดด้วย บางรายอาการหอบรุนแรงกว่าเดิม

       2.  การใช้ไวตามินในขนาดสูง ๆ ยังไม่มีรายงานที่พิสูจน์และเป็นที่เชื่อถือทางการแพทย์ว่าการใช้วิตามินในขนาดสูง ๆ ทำให้อาการโรคหืดหายหรือทุเลาในด้านตรงข้ามอาจเกิดพิษจากการใช้ไวตามินขนาดสูงนั้นได้

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า