สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคหนังกระ (Pellagra)

โรคหนังกระ
โรคหนังกระ หรือโรคเพลลากรา (pellagra) เป็นโรคที่เกิดขึ้นในประเทศที่ประชาชนกินข้าวโพดเป็นอาหารหลัก เช่น สเปญ อิตาลี รูมาเนีย อียิปต์ และทางอเมริกาใต้ ทั้งนี้เนื่องจากข้าวโพดหรืออาหารที่กินขาดวิตะมิน ไนอะชิน (Niacin) ซึ่งเป็นกรดนิโคตีนิค (Nicotinic acid) และกรดอะมิโนชนิดที่มีชื่อว่า ทริปโตเฟน (Tryptophan) ทริปโตเฟนนี้จะ เปลี่ยนเป็นไนอะซินในร่างกาย โดยอาศัยวิตะมินบี6 ช่วย ซึ่งทริปโตเฟน 60 มิลลิกรัม เปลี่ยนเป็นไนอะซินได้ 1 มิลลิกรัม สำหรับในประเทศไทยไม่ใคร่พบว่ามีการเป็นโรคนี้

อาการของโรค
โรคนี้มีอาการประกอบด้วย 3 D คือ Diarrhea (ท้องเดิน), Dermatitis (ผิวหนังอักเสบ) และ Dementia (สติวิปลาส) ฉะนั้นอาการต่างๆ แต่ละทางเป็นดังนี้

1. อาการทางระบบทางเดินอาหาร มีอาการเบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเดิน ปากอักเสบ รู้สึกแสบในปากและลำคอ ลิ้นเป็นแผลและอักเสบ

2. อาการทางผิวหนัง จะพบว่าผิวหนังบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อยๆ อยู่นอกร่มผ้า หรือถูกแสงแดด เช่น ต้นคอ แขน ขา หลังมือและเท้า ผิวหนังบริเวณดังกล่าวจะแห้งหยาบ กร้าน อักเสบ นูน แดง จากสีแดงต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล สีนํ้าตาลไหม้ และเป็นสีดำ เหมือนถูกไฟไหม้ในที่สุด ถึงตอนนี้ผิวหนังบริเวณนั้นจะหนา นูน ขรุขระตกสะเก็ดแล้วลอกมี สีดำคล้ำ มีลักษณะเหมือนสวมถุงมือดำ หรือสวมถุงเท้าดำ

3. อาการทางประสาท ระบบประสาทจะผิดปรกติ มีการอักเสบของปลายประสาท และประสาทส่วนกลาง ซึ่งอาการทางประสาทเป็นสัญญาณเริ่มแรกของโรคนี้ ด้วยการที่ผู้ป่วย ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย ตกใจง่าย เวียนศีรษะ มึนงง นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม กล้ามเนื้อ อ่อนกำลัง ถ้าเป็นอยู่นานประสาทส่วนกลางจะพิการมากขึ้น ด้วยการมีความคิดฟุ้งซ่าน หลงผิด (Delusion) และมีสัญญาณวิปลาสถึงกับวิกลจริตได้ ในรายที่เป็นโรคนี้เรื้อรังจะมีโอกาสวิกลจริตได้ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์

การป้องกันและรักษา
โรคหนังกระป้องกันและรักษาได้ด้วยการให้สารอาหารพวกวิตะมินบีรวม โดยเฉพาะไทอะมิน ไนอะซิน ไรโบฟลาวิน ไพริด๊อกซิน และกรด
ทริปโตโฟน หรือสารโปรตีน อาหารที่ควรเลือกรับประทานเพื่อป้องกันโรคนี้ ซึ่งมีไนอะซินมากได้แก่ เนื้อสัตว์และ และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเนื้อสัตว์ทุกชนิด ตับสัตว์ พวกถั่วต่างๆ นอกจากนี้อาหารถึงจะมีไนอะซินน้อยก็ควรได้รับประทาน คือข้าวต่างๆ ผักสีเขียวเหลืองต่างๆ ผลไม้ เมล็ดกาแฟที่คั่วแล้ว ยีสต์ ไข่

ที่มา:ค้วน  ขาวหนู
วท.บ.(สุขศึกษา).ค.ม.

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า