สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ส่วนประกอบของฟัน

การเกิดโรคทั้งสองนี้เป็นเรองที่นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ มากมาย เช่นปัญหาทางด้านความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ความทรมาน และการสูญเสีย ทั้งในเรื่องของการสาธารณสุข (สุขภาพ) และการคลัง (กระเป๋าเงิน) ของคุณ
ความเข้าใจถึงสาเหตุของโรค (ฟันและเหงือก), ปัญหาเกี่ยวกับ อันตราย และผลเสียที่จะมีตามมา คงจะเป็นการกระตุ้นให้คุณผู้อ่านตื่นตัว มีความคิดที่จะเอาใจใส่รักษาและป้องกันฟันและเหงือกของคุณ (รวมทั้งลูกหลาน) ให้มีความแข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ใช่มีแต่ความแข็ง แต่ไม่มีแรง ที่จะใช้เคี้ยว
อย่าลืมว่าฟันก็เป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย และร่างกาย ที่ไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ
ฉะนั้นการที่คุณดูแลรักษาฟันและเหงือกให้ปราศจากโรค ก็เป็นลาภอันประเสริฐด้วย
อโรคา ทันตา ปรมา ลาภา
ความจริงธรรมชาติสร้างฟันขึ้นมาให้เป็นอวัยวะที่แข็งแกร่งที่สุดในร่างกายแล้ว ก็ไม่น่าจะมีสิ่งใดมาทำลายได้ ไม่น่าที่จะเกิดปัญหาหรือมีโรคขึ้นกับอวัยวะส่วนนี้อีกจริงไหมครับ ฟัน -นอกจากจะมีเนื้อฟันที่แข็งแล้ว ยังมีเคลือบฟันที่แข็งยิ่งกว่าคลุมอยู่ภายนอกอีกชั้นหนึ่งด้วย มองดูแล้วฟันควรจะเป็นอวัยวะที่คนเราสามารถจะใช้ขบเคี้ยว และกัดอาหารไปได้นาน เท่านาน แต่ความจริงหาได้เป็นดังที่ว่านี้เลย เพราะมีปัญหาและสาเหตุหลายอย่างที่ทำให้ฟันเกิดเป็นโรคได้ ทำให้เราต้องสูญเสียฟันไปก่อนเวลาอันควร แม้แต่คนที่อายุน้อยๆ ก็ตาม เช่นฟันของเด็กทารกก็มีโอกาสที่จะผุเน่าได้ตั้งแต่เริ่มงอกพ้นเหงือกขึ้นมาในช่องปากใหม่ๆ
ส่วนประกอบของฟันและอวัยวะข้างเคียง
ก่อนที่จะพูดกันถึงเรื่องโรคของฟันและเหงือก ผมใคร่จะพูดถึงส่วนประกอบของฟัน รวมทั้งอวัยวะข้างเคียง ให้คุณผู้อ่านได้มีความเข้าใจและมองเห็นภาพเสียก่อน
ฟันมีกำเนิดของโครงสร้างคล้ายกระดูกแต่มีความแข็งกว่ากระดูกมาก มีส่วนประกอบเกือบทั้งหมดเป็นสารพวกแคลเซียม เราพบว่าใน เนื้อผิวของฟันมีสารแคลเซียมถึง 96% ซึ่งสูงกว่าที่พบในกระดูกหลายเท่า
ฟันของคนเราประกอบด้วยสองส่วนคือ ส่วนตัวฟัน กับส่วนรากฟัน ตัวฟันคือส่วนที่อยู่ในช่องปากเหนือเหงือก เราสามารถมองเห็นได้ มีลักษณะแข็ง สีขาวหรือขาวปนเหลือง ส่วนรากฟันเป็นส่วนที่ฝังอยู่ใน ขากรรไกรบริเวณกระดูกส่วนยอดและห่อหุ้มด้วยเหงือก ส่วนนี้ไม่สามารถจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่านอกจากจะถอนฟันนั้นขึ้นมา
รอยต่อระหว่างตัวฟันกับรากฟัน เรียกว่าคอฟัน มองดูคล้ายเอวคน คือบริเวณที่ขอบเหงือกปิดคลุมอยู่ ฟันหน้าและฟันเขี้ยวจะมีรากฟันเพียง เดียว ส่วนฟันกรามจะมีสองหรือสามราก ทั้งนี้ก็เนื่องจากธรรมชาติสร้างมาเพื่อให้มีความแข็งแรง และเพื่อประโยชนใช้สอยเกี่ยวกับเรื่องกินทั้งสิ้น
ส่วนของตัวฟัน ประกอบด้วยชั้นต่างๆ 3 ชั้น ชั้นนอกสุดเป็นเคลือบฟัน เป็นชั้นที่มีความแข็งมากที่สุด สีขาวหรือมีปนเหลืองนิดหน่อย คนเอเชียจะมีฟันสีค่อนข้างเหลือง เนื่องจากมีชั้นเคลือบฟันบาง ผิดกับพวกนิโกรซึ่งมีผิวเคลือบฟันหนาและขาว ชั้นเคลือบฟันนี้เป็นตัวสำคัญที่ทำหน้าที่ในการบดอาหารให้แหลก ชั้นถัดเข้าไปหรือชั้นกลางคือเนื้อฟัน มีสีเหลืองจัดกว่าชั้นนอกสุดและมีความแข็งน้อยกว่า โดยปรกติชั้นเนื้อฟันนี้ จะต้องมีเคลือบฟันหุ้มคลุมไว้เสมอ ถ้าไม่มีเคลือบฟันปกคลุมจะด้วยสาเหตุ เพราะการเกิดรูผุหรือสึกกร่อนแตกออกไปก็ตาม ส่วนของเนื้อฟันจะมีอาการเสียวหรือปวดขณะเคี้ยวอาหาร หรือดื่มนํ้าเย็น เนื่องจากเนื้อฟันเป็นส่วนของฟันที่มีความรู้สึกไว เพราะใต้ชั้นนี้ลงไปจะเป็นส่วนของเส้นประสาทที่เลี้ยงฟันอยู่ เส้นประสาทที่ว่านี้จะวางตัวอยู่ในโพรงกลวงที่เป็นช่องอยู่กลางฟัน ส่วนนี้เป็นส่วนที่อยู่ในสุดของฟัน ในโพรงนี้เป็นที่อยู่ของทั้งเส้นเลือดและเส้นประสาท ซึ่งทอดผ่านมาจากกระดูกขากรรไกร เข้ามาเลี้ยงฟัน จึงทำให้ฟันแต่ละซี่รับความรู้สึกได้ มีความรู้สึกเสียว ปวด และเจ็บ
สำหรับส่วนที่เป็นรากฟันซึ่งฝังอยู่ในกระดูกนั้น จะเป็นส่วนที่มีแต่ เนื้อฟันล้วนๆ ไม่มีเคลือบฟันปกคลุมเหมือนส่วนที่เป็นตัวฟัน แต่จะมี เยื่อบางๆ ซึ่งไม่มีความแข็งแรงนักคลุมอยู่แทน เราเรียกว่า เยื่อหุ้มราก ฟัน
รูปแสดงลักษณะและรายละเอียดภายในของฟัน

ส่วนประกอบของฟัน
ทั้งหมดที่เล่ามา เป็นรายละเอียดและลักษณะของฟันปรกติรวมทั้งส่วนประกอบภายในและอวัยวะข้างเคียง คิดว่าคุณผู้อ่านคงจะมองเห็นภาพได้ชัดเจนดีทีเดียว
ที่มา:ทันตแพทย์สมนึก  วัฒนสุนทร

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า