สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สุรา (Alcohol)

นับเป็นเวลานานมาแล้วที่มนุษย์รู้จักการนำแอลกอฮอล์มาใช้ให้ เกิดประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง อาทิเช่น การใช้แอลกอฮอล์ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมยา ในโรงพยาบาล ในชีวิตประจำวันและงานสังคมทั่วๆ ไปเป็นต้น ถึงแม้ว่าแอลกอฮอล์จะมีประโยชน์มาก แต่เมื่อนำมาผลิตเป็นสุราที่ใช้ดื่มแล้วก็จัดได้ว่า เป็นสิ่งเสพย์ติดที่ก่อให้เกิดโทษต่อสุขภาพของผู้ดื่ม ครอบครัวและสังคมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสุราเป็นสิ่งเสพติดที่กฎหมายและสังคมยอมรับจึงทำให้ปัญหานี้ถูกละเลยและมองข้ามไป เป็นเหตุให้สถิติผู้ดื่มสุราเพิ่มขึ้นทุกปี พร้อมๆ กับจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคพิษสุรา และผลกระทบทางสังคม เช่น อุบัติเหตุคดีผิดทางเพศ คดีอาชญากรรม และอื่นๆ ก็สูงตามขึ้นไปด้วย

สุรามาจากภาษาบาลีและสันสกฤตแปลว่า เหล้าหรือน้ำเมาที่กลั่นแล้วสุราทำมาจากพืชหรือผลไม้ที่มีแป้งหรือน้ำตาล โดยใช้การหมักหรืออาศัยการเปลี่ยนแปลงทางเคมีโดยเอนไซม์ของยีสต์ (yeast) ชื่อไซเมส (zymase) จะเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอล์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามสูตรสมการเคมี ดังนี้
health-0342 - Copy
แอลกอฮอล์ที่มีพิษน้อยที่สุดและนำมาใช้ดื่ม คือ เอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทานอล (Ethyl Alcohol or Ethanol) ซึ่งมีสูตรทางเคมี C2H5OH ส่วนเมทิลแอลกอฮอล์ หรือเมทานอล (Methyl Alcohol or Methanol) ซึ่งมีสูตรทางเคมี CH3 OH ใช้สำหรับจุดไฟหรือผสมสี ถ้าใช้ดื่มจะทำให้ตาบอดหรืออาจถึงตายได้

สุรามีหลายชนิด โดยการ เรียกชื่อแตกต่างกันไปตามวิธีการปรุงและผลิตตลอดจนความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่ผสมอยู่ด้วย ดังเช่น
health-0343 - Copy
* สุรา 1๐ หรือ 1 ดีกรี หมายถึง จำนวนแอลกอฮอล์ 8 กรัมที่อยู่ในสุรา 1 ลิตร
** แอลกอฮอล์ 1 กรัม ที่ถูกเผาผลาญในร่างกาย ให้พลังงานความร้อน 7 แคลอรี่

สำหรับสุราเถื่อน เช่น น้ำตาลเมา นํ้าตาลขาว ไม่มีมาตรฐานและความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่แน่นอน

ถึงแม้ว่าแอลกอฮอล์จะให้พลังงานความร้อน แต่ก็ไม่มีสารอาหาร (Nutrient) อยู่เลย จึงไม่มารถใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อดื่มสุรา
เมื่อสุราเข้าสู่ร่างกายแอลกอฮอล์ประมาณ 1 ใน 5 จะถูกดูดซึมผ่านผนังกระเพาะอาหาร และส่วนที่เหลือจะผ่านผนังลำไส้เล็กเข้าสู่หลอดเลือด เมื่อผ่านไปที่ตับแอลกอฮอล์จำนวนประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์จะถูกนํ้าย่อย ADH (Alcohol Dehydrogenase) เปลี่ยนเป็นอะซีตัลดีไฮด์ (Acetaldehyde) จากนั้น เปลี่ยนเป็น เกลือของกรดนํ้าส้ม (Acetate) ซึ่งใช้ประโยชน์เป็นพลังงานได้แล้วกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำ ส่วนแอลกอฮอล์ที่เหลืออีกประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์จะถูกขับออกจากร่างกายทางปอด ไต และต่อมเหงื่อ ซึ่งจะผสมออกไปในรูปของลมหายใจและปัสสาวะ
health-0343 - Copy1

กระบวนการเผาผลาญแอลกอฮอล์
การเผาผลาญแอลกอฮอล์ที่ตับจะเป็นอัตราคงที่เสมอ ประมาณ 10 ลบ.ซม. ต่อชั่วโมงและโดยทั่วไปแอลกอฮอล์ จะถูกขับออกจากร่างกายหมดภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนการที่ผู้ดื่มสุราจะมึนเมาช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับอัตราเร็วของการดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่หลอดเลือดของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน และปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น ความเข้มข้นหรือดีกรี ปริมาณและอัตราเร็ว การดื่ม สภาพกระเพาะอาหารว่างหรือไม่ สถาพของร่างกายและความ เคยชิน สภาพอารมณ์และจิตใจตลอดจนสภาวะแวดล้อมในขณะที่ดื่มสุรา เป็นต้น

จากการทดลองเพื่อหาปริมาณแอลกอฮอล์ที่สามารถทำให้ผู้ดื่มมีอาการมึนเมาในลักษณะต่างๆ หรืออาจถึงแก่ความตายได้นั้น ผลปรากฏดังนี้
health-0344 - Copy

ปัจจุบันได้มีผู้ประดิษฐ์เครื่องมือวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในหลอด เลือดที่ใช้กันทั่วไป เรียกว่า “Drunkometer” โดยให้ผู้ถูกสงสัยว่าดื่มสุราหรือไม่ เป่าลมเข้าไปในลูกโป่ง แล้วจึงนำลูกโป่งนั้นไปตรวจสอบ หาปริมาณแอลกอฮอล์อีกครั้งหนึ่ง เครื่องมือนี้ก็จะสามารถบอกปริมาณแอลกอฮอล์ในหลอดเลือดได้

สาเหตุของการดื่มสุรา
การดื่มสุรามีสาเหตุต่างๆ กันซึ่งพอจะแบ่งได้ดังนี้

1. สาเหตุทางด้านร่างกาย โดยดื่มเพื่อช่วยให้เจริญอาหาร ลดความเจ็บปวดในยามป่วยไข้ บางคนใช้แก้ปัญหาโรคนอนไม่หลับ และบางคนใช้แก้หนาว เป็นต้น แต่เมื่อดื่มสุราบ่อยๆ ก็ติดได้ในที่สุด

2. สาเหตุทางด้านจิตใจ ผู้ดื่มสุราคิดว่าการดื่มสุราสามารถสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง ปิดบัง หรือลดปมด้อยบางประการ ลดความกังวล ความเครียด ความกลัว และขจัดความผิดหวัง ดื่มย้อมใจ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือแสดงความก้าวร้าวต่อผู้อื่น หรือก่อคดีอาชญากรรม

3. ค่านิยมของสังคม เยาวชนมักดื่มสุราเนื่องมาจากความอยากรู้ อยากเห็น และอยากทดลอง ถูกชักชวนจากเพื่อนและเลียนแบบผู้ใหญ่ สำหรับผู้ใหญ่เองก็ลอกเลียนแบบจากสังคมชั้นสูง เพราะ เข้าใจว่าสังคมชั้นสูงจะต้องมีการสังสรรค์กันด้วยการดื่มสุรา
นอกจากนี้ บางคนอาจเข้าใจว่าการดื่มสุราจะทำให้สมองแจ่มใส มีความสามารถในงานศิลปะเพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นความเข้าใจที่ผิดทั้งสิ้น

โทษของการดื่มสุรา
การดื่มสุราทำให้เกิดผลเสีย ดังนี้

1. ทางด้านศาสนา ศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ห้ามการดื่มสุราเพราะถือว่าเป็นอบายมุข และบ่อเกิดแห่งความชั่วทั้งหลาย สำหรับศาสนาคริสต์ ถือว่าการดื่มสุราจนมึนเมามากทำให้เสียสุขภาพ เป็นบาป เพราะทำลายร่างกายที่พระเจ้าสร้าง และยังเป็นสาเหตุให้ทำชั่วอื่นๆ อีกด้วย

2. ผลเสียทางเศรษฐกิจ

2.1 ผู้ที่ดื่มสุราและครอบครัวต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการซื้อสุราทั้งดื่มส่วนตัวและใช้รับแขก จากสถิติของสำนักสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี พ.ศ. 2517 ประชาชนได้จ่ายเงินซื้อสุราถึง 6 พันล้านบาท และได้เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี จนไม่ตํ่ากว่าหมื่นล้านบาทในปัจจุบัน ซึ่งเป็นตัว เลขที่สูงมาก นอกจากนี้ ยังต้องเสียค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยจากการติดสุราอีกด้วย

2.2 ทำให้เสียเวลาในการทำงาน นอกจากนี้ แรงงานและความสามารถในการทำงานก็ลดลงด้วย

2.3 การสั่งสุราจากต่างประเทศเข้ามา ทำให้เสียเศรษฐกิจของประเทศ

3. ผลเสียทางด้านสังคม การดื่มสุราจนมึนเมาเป็นเหตุนำมาซึ่งความแตกร้าวในครอบครัว อุบัติเหตุ ความผิดทางเพศ และคดีอาชญากรรม เป็นต้น

4. ผลเสียทางสุขภาพ การดื่มสุราจำนวนมากหรือความเข้มข้นสูง จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคตับแข็ง โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคเหน็บชา โรคหัวใจ โรคเลือดจาง โรคติดเชื้อต่างๆ และ โรคพิษสุรา เป็นต้น

พิษของสุราต่อสุขภาพ
สุราทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ดังนี้

1. ระบบทางเดินอาหาร
1.1 กระเพาะอาหารและลำไล้เล็ก แอลกอฮอล์จะกระตุ้นให้มีการหลั่งกรดและนํ้าย่อยในกระเพาะออกมามากขึ้น ซึ่งช่วยให้เจริญอาหาร แต่ถ้าแอลกอฮอล์มีปริมาณมาก และความเข้มข้นสูง จะเป็นเหตุให้มีการระคายเคืองและเกิดการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก เมื่อเกิดการอักเสบเรื้อรังก็ทำให้การดูดซึมอาหารลดลง ซึ่งเป็นผลทำให้ร่างกายขาดสารอาหารและวิตามินหลายชนิด เช่น วิตามินบีหนึ่ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผล เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น ตลอดจนมีอาการท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก เบื่ออาหาร และอาจอาเจียนเป็นเลือดได้

1.2 ตับอ่อน แอลกอฮอล์มีผลทำให้นํ้าย่อยของตับอ่อนเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการอุดตันของท่อในตับอ่อน เป็นเหตุให้นํ้าย่อยที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่สามารถออกไปได้ จึงเป็นต้นเหตุให้ตับอ่อนอักเสบ ซึ่งจะมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่หรือระดับสะดือมาก คลื่นไส้ อาเจียน ไข้ขึ้นสูง อาจช็อคและตายได้

1.3 ตับ ตับเป็นอวัยวะสำคัญในการเผาผลาญหรือทำลายพิษของแอลกอฮอล์ ขณะเดียวกันแอลกอฮอล์ก็จะทำให้มีไขมันแทรกอยู่ในตับมากขึ้น เป็นเหตุให้เซลล์ของตับตาย แล้วเกิดแผลเป็นมีพังผืดบางๆ เกิดขึ้นในบริเวณนั้น ถ้าเกิดตับอักเสบร่วมด้วยจะมีการทำลายเซลล์มากขึ้น ในที่สุดก็จะกลายเป็นตับแข็ง และอาจนำไปสู่ภาวะเป็นมะเร็งที่ตับได้ ผู้ที่ตับอักเสบจากพิษสุราจะมีอาการไข้สูง ดีซ่าน เจ็บปวดบริเวณใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ตับโต และอาจเสียชีวิตได้

2. ระบบเมตาบอลิกและต่อมไร้ท่อ
แอลกอฮอล์ทำให้ระดับนํ้าตาลในเลือดลดตํ่าลง จนถึงกับทำให้หมดสติและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์สกัดกั้นการสร้างนํ้าตาลกลูโคสจากไกลโคเจนในตัว ในทางตรงกันข้าม แอลกอฮอล์ สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หรือมีอาการของเบาหวานได้ เนื่องจากมีการทำลายเซลล์ของตับอ่อน ซึ่งสร้างอินซูลิน (Insulin) ให้แก่ร่างกาย

แอลกอฮอล์ทำให้กรดแลคติก (Lactic)ในเลือดสูงขึ้น เป็นเหตุให้การขับถ่ายกรดยูริกทางไตน้อยลง ระดับกรดยูริกในเลือดจึงสูงขึ้นและตกตะกอนในส่วนต่างๆ ของร่างกายทำให้เกิดการอักเสบ เช่น เกิดการอุดตันในท่อไต และไตอักเสบ ตลอดจนข้ออักเสบที่เรียกว่า เกาต์ (GOUT) เป็นต้น นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังกระตุ้นการหล่อ เลี้ยงของเลือดที่ไต และสกัดกั้นการหลั่งฮอร์โมนแอนทิไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone) จากต่อมหมวกไต ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เก็บนํ้าไว้ในร่างกาย เป็นเหตุให้มีการถ่ายปัสสาวะเพิ่มขึ้นจากปกติ

3. ระบบประสาทส่วนกลาง
แอลกอฮอล์จะไปกดการทำงานของสมอง ทำให้เกิดผลต่างๆ ดังนี้

3.1 ผลต่อความรู้สึกและการรับรู้ แอลกอฮอล์ทำให้ความไวต่อกลิ่นและรสเสื่อมลง หูอื้อ ตาลาย ความสามารถในการแยกความเข้มของแสงลดลงโดยเฉพาะแสงสีแดง การคาดคะเนความเร็วและระยะทางของวัตถุต่ำกว่าความเป็นจริง เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย นอกจากนี้ ความไวต่อการเจ็บปวดก็น้อยลง เพราะสุรามีฤทธิ์เหมือนยาสลบ

3.2 ผลต่อกลไกการเคลื่อนไหว แอลกอฮอล์ทำให้ปลายประสาทเกิดการอักเสบ เป็นเหตุให้กล้ามเนื้ออ่อนกำลังลงและทำงานไม่ประสานกัน ผู้ดื่มสุราจึงพูดไม่ชัดเจน เหมือนคนลิ้นไก่สั้น ยืนโอนเอนไปมา เดินไม่ตรงทางหรือบางครั้งถึงกับเดินไม่ได้ เพราะเกิด เป็นตะคิวบ่อยๆ มีอาการชาตามปลายมือและปลายเท้า ทั้งนี้ก็ เพราะการขาดวิตามินบีหนึ่งนั่นเอง

3.3 ผลต่ออารมณ์ แอลกอฮอล์ทำให้ขาดความยับยั้งในการพูดและการแสดงออก ผู้ที่ดื่มสุราจึงมักจะพูดจาไม่สุภาพ กิริยาก้าวร้าว กล้าและยอมรับการเสี่ยงมากขึ้น มีอารมณ์เคลิ้มฝัน การตัดสินใจและปฏิกิริยาตอบสนองช้าลงตลอดจนประสาทรับความรู้สึกและสติปัญญาเสื่อมลง จากการศึกษาของ Trgens-jensen ในปี ค.ศ. 1971 พบว่า ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุราจะวาดภาพได้ไม่สมบูรณ์ และ เป็นภาพที่ชี้นำเกี่ยวกับเรื่องเพศมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มสุรา นอกจากนี้ Hetherington และ Wray ในปี ค.ศ. 1971 พบว่า ผู้ดื่มสุรา เล็กน้อยจะมีอารมณ์ขันต่อภาพการ์ตูนมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม และจะประทับใจต่อภาพการ์ตูนที่แสดงอารมณ์ก้าวร้าวมากกว่าภาพที่ แสดงอารมณ์ขันโดยทั่วไป

3.4 ผลต่อความรู้สึกทางเพศ แอลกอฮอล์จะทำให้ผู้ดื่มสุรามีความรู้จักรับผิดชอบต่อสาธารณชนน้อยลง ความรู้สึกอยากแสดงความรักมีมากขึ้น ยิ่งกว่านั้น บางคนยังดูเหมือนว่ามีความสามารทต่อกิจกรรมทาง เพศภายหลังการดื่มเท่านั้น ข้อสังเกตนี้เป็นอันตรายต่อการสนับสนุนสมมติฐานที่ว่า แอลกอฮอล์ส่งเสริมหรือช่วย ปรับปรุงกิจกรรมทางเพศ ข้อเท็จจริงก็คือ แอลกอฮอล์กระตุ้นให้เกิดความต้องการทางเพศ แต่ก็เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ผู้ที่ดื่มสุรามากจะทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง ส่วนผู้ที่ติดสุราจะมีความบกพร่องและไร้สมรรถภาพทาง เพศ ผู้มีประวัติเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังจะชราภาพและต่อมเพศเสื่อมก่อนเวลาอันสมควร ตลอดจน เพิ่มปัญหาทางเพศแก่คู่ชีวิตอีกด้วย

3.5  ผลต่อการนอนหลับ ผู้ที่ดื่มอย่างหนักมาแล้วเมื่อนอนจะนอนพลิกตัวกลิ้งไปมาเป็นพักๆ และตื่นขึ้นมาตอนเช้าด้วยอาการปวดศีรษะอ่อนเพลียมาก

นอกจากแอลกอฮอล์จะไปกดสมองและระบบประสาทส่วนกลางทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อความรู้สึก การรับรู้กลไกการเคลื่อนไหวและอารมณ์ ซึ่งเป็นผลให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ และการทำผิดกฎหมายสูงขึ้นแล้ว แอลกอฮอล์ยังทำให้เกิดอาการอักเสบและบวมที่เยื่อหุ้มสมองและที่เนื้อสมองเองอีกด้วย

4. ระบบหัวใจและหลอดเลือด
แอลกอฮอล์ทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจต่ำลง เนื่องจากมีการสะสมไขมันและสารที่สำคัญ เช่น Norepinephrine, Magnesium, CaIcium และ Enzymes ต่างๆ นอกจากนี้ในผู้ที่ดื่มสุราจัดเป็นเวลานานจะพบโรคหัวใจที่เกิดจากพิษสุรา (Alcoholic Cardiomyopathy) โดยมีอาการหายใจลำบาก ใจสั่น ไอ หัวใจโต และเต้นผิดปกติ หัวใจเสื่อมลงและเกิดภาวะหัวใจวายได้ คือ ทำให้ เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ ท้องบวม เท้าบวมทั้งสองข้าง

แอลกอฮอล์ทำให้หลอดเลือดขยาย ความดันเลือดสูงขึ้น อัตราการ เต้นของหัวใจเร็วขึ้น แต่การ ไหลเวียนของเลือดจะเกิดการขัดข้องได้ง่าย เพราะเลือดไม่สามารถผ่านตับได้สะดวก เนื่องจากตับแข็ง นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังทำให้เกิดโรคเลือดจาง เนื่องจากการทำงานของไขกระดูก ซึ่งมีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดเสียไป

5. ระบบการต่อต้านจุลชีพ
แอลกอฮอล์ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายต่ำลงเป็นเหตุให้ผู้ดื่มสุรามีโอกาสเป็นโรคปอดบวมหรือติดเชื้ออื่นๆ ได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม แพทย์ผู้รักษาโรคหนองในจึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างการรักษา

การติดสุรา
การดื่มสุราในแต่ละบุคคลนั้นย่อมแตกต่างกัน โดยในขั้นต้นก็เป็นการดื่มเพื่อสังคม (Social drink ) เมื่อดื่มบ่อยครั้งติดต่อกันอยู่ เสมอก็จะทำให้ดื่มจนเป็นนิสัย (Habitual drink ) ในที่สุดไม่ สามารถควบคุมการดื่มได้ พึงพอใจอยู่กับสุราความสัมพันธ์ในครอบครัวและมิตรสหายเสื่อมลง มักดื่มตามลำพัง และเพิ่มความไม่เอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม ขาดความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน หากเป็นถึงขั้นนี้ก็นับได้ว่า เป็นผู้ที่ติดสุรา (Alcoholism) ซึ่งถือเป็นการป่วยเรื้อรัง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ลักษณะของผู้ที่ติดสุรา
ผู้ที่ติดสุราจะมีลักษณะทั่วไป ดังเช่น ใบหน้าบวมฉุ นัยน์ตาแดง ลมหายใจมีกลิ่นสุรา ผิวที่หน้าและลำตัวจะเป็นผิวทองแดง มือสั่น ท่าทางไม่แข็งแรง การแต่งกายไม่เรียบร้อยและสกปรก การทำงานไม่มีประ สิทธิภาพ มีความประหม่าสูง อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่ายและความจำเสื่อม เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ติดสุราจะมีพฤติกรรมที่สังเกตได้ดังนี้ ผู้ติดสุราจะต้องดื่มเมื่อถึง เวลาดื่ม ในเวลาเช้า ยินยอมเสียงานและเสียเวลาเพื่อไปดื่ม มีอาการจำเหตุการณ์และความเป็นไปในขณะที่ดื่มอยู่และที่ผ่านไปแล้วไม่ได้ มีอาการอดสุรา เมื่อไม่ได้ดื่ม สำหรับอาการอดสุราจะพบได้ในผู้ที่ดื่มจัดมาเป็น เวลาหลายปี อาการทางกายได้แก่ มือสั่น ปากแห้ง มีไข้ ม่านตาขยาย อาจมีอาการชัก คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ส่วนอาการทางจิตใจ ได้แก่ รู้สึกหงุดหงิด อยู่ไม่สุข  ฝันร้าย ประสาทหลอนและความจำเสื่อม

จากแบบทดสอบของสถาบันศึกษาการใช้สุราผิดและโรคพิษสุรา เรื้อรังแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา จะช่วยให้ผู้ดื่มสุราทราบว่าตน เองมีปัญหาจากการดื่มสุราหรือไม่ โดยการตอบคำถามต่อไปนี้

1. ท่านคิดและพูดเกี่ยวกับการดื่มบ่อยๆ ใช่หรือไม่
2. ท่านดื่มเพิ่มขึ้นกว่าเดิมใช่หรือไม่
3. บางครั้งท่านดื่มสุราอย่างรีบร้อนใช่หรือไม่
4. ท่านใช้สุราช่วยผ่อนคลายอารมณ์บ่อยๆ ใช่หรือไม่
5. ท่านดื่มสุรา เมื่ออยู่ตามลำพังใช่หรือไม่
6 . บางครั้งท่านลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะกำลังดื่มใช่หรือไม่
7. ท่านเก็บขวดสุราซ่อนที่ใดที่หนึ่ง เช่น ที่บ้าน หรือที่ทำงานเพื่อใช้เป็นยาบำรุงกำลังใช่หรือไม่
8. ท่านต้องการสุรา เพื่อความสนุกสนานใช่หรือไม่
9. ท่านเคยเริ่มการดื่มสุราโดยปราศจากการไตร่ตรองอย่างแท้จริงใช่หรือไม่
10. ท่านดื่มสุราในตอนเช้าเพื่อบรรเทาอาการเมาค้างใช่หรือไม่

ถ้าท่านตอบ “ใช่” ตั้งแต่ 4 ข้อขึ้นไป แสดงว่าท่านอาจจะเป็นผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุรา สำหรับผู้ดื่มสุราหรือติดสุราควรดำเนินการแก้ไข ดังนี้

1. ลดปริมาณการดื่มลงไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ปรึกษาแพทย์เพื่อรับประทานยาบำรุงสุขภาพด้วย

2. ถ้ามีจิตใจเข้มแข็ง ก็ควรงดการดื่มสุราทันที ในระหว่างนี้หากมีใครมาชวนดื่มอีก ก็ควรหาทางหลีกเลี่ยง โดยอ้างว่าสุขภาพไม่ดี แพทย์สั่งให้งดสุรา

3. ผู้ที่ติดสุราอย่างหนัก ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการบำบัดรักษาต่อไป

การบำบัดรักษา
ผู้ที่เป็นโรคพิษสุราจะได้รับการบำบัดรักษาตามอาการ ซึ่งแบ่งได้ เป็น 2 ชนิด คือ

1. ชนิดเฉียบพลัน เป็นสภาวะสุราเป็นพิษ เนื่องจากดื่มมากเกินขนาดโดยมีอาการบกพร่องในความจำและการตัดสินใจ เดินโซเซ พูดไม่ชัด ชีพจรเบาเร็ว และอาจถึงขั้นหมดสติได้ วิธีแก้ไขควรปฏิบัติดังนี้ คือ ให้หยุดดื่ม ทำให้อาเจียน ถ้ายังมีสติดีให้ดื่มกาแฟดำร้อนๆ หรือน้ำมากๆ ให้นอนพักห่มผ้ากันปอดบวม และคอยระวังอุบัติเหตุต่างๆ ในรายที่หมดสติหรืออาการรุนแรงต้องรีบนำส่งแพทย์

2. ชนิดเรื้อรัง มักพบในผู้ที่ดื่มสุราจัดมาเป็นเวลานาน และเมื่อหยุดสุราจะมีอาการอดสุราเกิดขึ้น โดยมีอาการประสาทหลอน หวาดระแวง อารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง ในรายที่สมองเสื่อมมากก็จะมีอาการลืมเลือน พูดไม่รู้เรื่อง เฉยเมย และอาการอาจรุนแรงมากจนไม่สามารถช่วยตัวเองได้

การรักษาผู้เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง สามารถแบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

1. ขั้นเตรียมการรักษา ผู้ให้การรักษาจะศึกษาข้อมูล ประวัติของผู้ติดสุราต่อจากนั้นจึงให้ความรู้ ขั้นตอนของการบำบัดรักษา แนะนำและช่วยกระตุ้นให้กำลังใจแก่ผู้ติดสุรา นอกจากนี้ ยังชี้แจงแนะนำญาติพี่น้องหรือครอบครัวให้เข้าใจถึงแนวทางต่างๆ ที่จะช่วยบำบัดรักษาผู้ติดสุรา

2. ขั้นของการรักษา แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

2.1 การรักษาทางกาย แพทย์จะให้ผู้ป่วยด้วยโรคพิษสุราเรื้อรังเริ่มรับประทานยาแอนตาบิวส์ (Antabuse) หลังจากให้งดดื่มสุราประมาณ 1 สัปดาห์ โดยให้รับประทานยาวันละ 500-1000 มิลลิกรัม จนกว่าผู้ป่วยจะหายอยากดื่ม ถ้าผู้ที่รับประทานยานี้แล้วไปดื่มสุราอีก จะเกิดอาการไม่สบายโดยมีหน้าและคอแดง นัยน์ตาแดง หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะ มึนงง เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น หายใจไม่ค่อยออก และคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งจะทำให้ผู้ติดสุราขยาดต่อการดื่มสุรา อาการที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ เนื่องจากตัวยาแอนตาบิวส์ จะทำให้เกิดการคั่งของสารอะเซตาลดีไฮด์ (AcetaIdehyde) ที่ถูก เปลี่ยนแปลงจากสุราและเป็นสารพิษที่ร่างกายพยายามขจัดออกให้หมด ในระหว่างนี้แพทย์จะให้การรักษาความทรุดโทรมของร่างกายจากโรคแทรกซ้อนต่างๆ ด้วย เช่น ตับแข็ง กระเพาะอาหารอักเสบ โรคระบบประสาท เป็นต้น

2.2 การรักษาทางจิตใจ เพื่อแก้ไขความบกพร่องทางจิตใจที่ถูกชักนำไปสู่การดื่มสุรา ในบางรายอาจต้องใช้ยากล่อมประสาทช่วยในการรักษา เช่น ยาคลอโพรมาซีน (Chlorpromazine) และโพรมาซีน (Promazine) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังใช้การทำกลุ่มบำบัดร่วมด้วย ในประเทศสหรัฐอเมริกามีสมาคมรักษาผู้ติดสุราชื่อ AIcoholic Anonymous (A. A. ) โดยสมาชิกของกลุ่มประกอบด้วยบุคคลที่ เคยติดสุรา แต่เลิกได้เด็ดขาดแล้วทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ให้แก่สมาชิกใหม่ โดยการให้ความเห็นอกเห็นใจ การหลีกเลี่ยงที่จะอบรมขู่เข็ญ หรือกล่าวถึงความน่ากลัวของโรคพิษสุรา การรักษาแบบนี้สามารถให้ผู้ป่วยหายขาดประมาณ 50-75 เปอร์เซ็นต์

3. ขั้นของการฟื้นฟูจิตใจและติดตามผล เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างเหมาะสมและราบรื่น ซึ่งต้องอาศัยนักสังคมสงเคราะห์ครอบครัวผู้ป่วย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นอย่างมาก โดยการช่วยให้ผู้ป่วยแก้ไขความผิดพลาดต่างๆ ที่เคยทำขึ้น มอบรายได้ให้ในระหว่างรับการรักษาและสามารถให้คำรับประกันอย่างมีเหตุผลสำหรับการทำงานในอนาคตของเขา

การป้องกันและแก้ไข
การป้องกันและแก้ไขการดื่มสุราหรือติดสุรา ปฏิบัติได้ดังนี้

1. การใช้สุราเพื่อเจริญอาหารหรือบรรเทาความเจ็บป่วยของร่างกาย จิตใจ สังคมนั้น ควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด และพึงระลึกเสมอว่าสุราไม่สามารถใช้แก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างแท้จริง

2. ผู้ปกครองหรือครูอาจารย์จะต้องหลีกเลี่ยงการดื่มสุราให้เด็กและ เยาวชนเห็น นอกจากนี้ ควรเป็นแบบอย่างในการไม่ดื่มสุราตลอดจนชี้แจงให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงโทษของการดื่มสุราอีกด้วย

3. ช่วยกันสร้างค่านิยมที่ถูกต้องว่า การเป็นผู้ดีในสังคมชั้นสูงหรือการเป็นลูกผู้ชาย มิใช่อยู่ที่การดื่มสุรา แต่อยู่ที่ตัวเราเองมีจิตใจ เข้มแข็ง ไม่ตกอยู่ในห้วงอบายมุขทั้งปวงต่างหาก

4. ผู้ที่เคยดื่มหรือติดสุรา ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในร้านสุรา บาร์ ไนท์คลับ หรืองานสังคมที่มีการดื่มสุรา เป็นต้น เพราะจะกระตุ้นให้กลับไปดื่มสุราอีกได้

5. ไม่ดื่มสุราทุกวัน และไม่ดื่มตามลำพัง

6. ถ้าดื่มไม่เป็นอย่าพยายามลอง ถ้าทดลองแล้วควรเลิก ไม่ควรลองต่อไปอีก

7. เมื่อจำเป็นต้องดื่ม ควรดื่มในระหว่างอาหาร และดื่มเพียงเล็กน้อย

8. ควรให้สุขศึกษาแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป เพื่อทราบถึงพิษภัยของสุราอย่างแท้จริง

9. ควรสร้างบรรยากาศในครอบครัวให้มีความสุข เพื่อป้องกันปัญหาและความคับข้องใจที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยการดื่มสุรา

10. รัฐบาลควรถือเป็นนโยบายในการลดปริมาณการผลิตสุราลง เพิ่มภาษี

ที่มา:รศ.สุพัฒน์  ธีรเวชเจริญชัย
คบ.(สุขศึกษา), วทม.(สุขศึกษา)
รองศาสตราจารย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า