สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ยาที่ใช้ทางตา

ยาตา
ยาที่ใช้ทางตา โดยทั่วไปแล้ว มีไม่มากนัก พอจะแบ่งได้ดังนี้
1. ยาประเภทลดความระคายเคือง (Soothing agents)
ยาพวกนี้หยอดแล้วจะทำให้ตาสบายขึ้น แต่ไม่มีผลทางฆ่าเชื้อ หรือทำให้สายตาดีขึ้นแต่อย่างใด ได้แก่ยาพวกที่มี ซิงค์ซัลเฟต (Zinc sulfate) หรือนํ้าตาเทียม (Methyl cellulose) ทั้งหลาย
ชื่อการค้าเช่น ออคคิวโลซาน (Oculosan) ปรีฟรินแซด (Prefrin-Z) ซิงค์ฟริน (Zincfrin)
ขนาดและวิธีใช้
ให้หยอดยาได้วันละ 4 ครั้ง หรือหยอดได้ทุก 2 ชั่วโมง
2. ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
ได้แก่ยาที่ฆ่าเชื้อแบคทเรียทั่วๆ ไป ได้แก่พวก คลอแรมเฟนิคอล ซัลฟา อีริโธรมัยซิน หรือตัวอื่นๆ  ซึ่งพวกนี้เราใช้ในรายที่เป็นหรือสงสัยว่าตาอักเสบจากการติดเชื้อ เช่นกุ้งยิง ในบางครั้งถ้าเป็นการอักเสบอย่างรุนแรง อาจต้องใช้กินยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
ไม่แนะนำให้ใช้ยาที่มีตัวยาปฏิชีวนะพวก เพนิซิลลิน เนื่องจากถ้าเกิดการแพ้อาจจะมีอาการตั้งแต่ลมพิบ จนถึงช็อคและถึงแก่ความตายได้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปน้ำยาหยอดตา หรือขี้ผึ้ง (0.5-1 กรัม) ก็อาจทำให้เกิดลมพิษของผิวหนังบริเวณเปลือกตา และตาอักเสบมากขึ้นได้ ยกเว้นบางรายอาจต้องใช้ยานี้ เช่นในรายที่ติดเชื้อโกโนเรียเป็นต้น
คลอแรมเฟนิคอล ยาปฏิชีวนะชนิดนี้เมื่อให้ทางทั่วไป (กิน, ฉีด) จะให้ความเข้มข้นในลูกตาสูงกว่ายาปฏิชีวนะชนิดอื่นๆ แต่มีผลข้างเคียงคือ คลื่นไส้ อาเจียน และที่สำคัญคืออาจเกิดเลือดจางอะพลาสติค
ยาที่ใช้เฉพาะที่มีทั้งยาหยอดตา 0.5 เปอร์เซ็นต์ และขี้ผึ้งป้ายตา 0.5-1 กรัมใช้ได้ผลดี และราคาถูก
อีริโธรมัยซิน เมื่อกิน ยาจะเข้าสู่นัยน์ตาไม่ค่อยดียาที่ทำเป็นขี้ผึ้งป้ายตาได้ผลดีพอสมควร
รูปของยา
ยาตาที่เข้าปฏิชีวนะ
คลอแรมเฟนิคอล (ChloramphenicaL) ชื่อการ เช่น
1.1 อาร์คีเฟ็น (Archefen) ชนิดหยอดตา 0.4% ขนาด 10 มิลลิลิตร 1.2 คลอโรคอล (Chlorocol) ชนิดหยอดตา 0.5% ขนาด 5 มิลลิลิตร
1.3 ซินโธมัยเซติน (Synthomycetin) ชนิดหยอดตา 0.4% ขนาด 10 มิลลิลิตร
1.4 ทิโฟมัยซิน (Tifomycin) ชนิดหยอด 0.4% ขนาด 10 มิลลิลิตร
1.5 เคมิเซติน (Kemicetin) ชนิดขี้ผึ้งป้ายตา 1% 5 กรัม
3. ยาลดการอักเสบพวก กลูโคคอร์ติคอยด์(Glucocorticoid) หรือ สเตียรอยด์
ซึ่งส่วนประกอบที่สำคัญของยาพวกนี้คือ สเตีย¬รอยด์ (Steroid) เราจะใช้ยานี้ในรายที่แน่ใจว่าเป็นตาอักเสบ ที่เกิดจากการแพ้ (Allergic Conjunctivitis) โรคกระจกตาอักเสบ (Keratitis) ที่หาสาเหตุได้ หรือโรคม่านตาอักเสบ (Uveitis) โรคตาดำอักเสบ ที่ได้เกิดจากการแพ้ และในกรณีเหล่านี้ ผู้ที่สามารถจะบอกได้คือแพทย์ จึงไม่ควรแนะนำให้ผู้ป่วยซื้อใช้เอง
ฤทธิ์และอาการที่ไม่พึงประสงค์
ถ้าใช้หยอดตานานๆ จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ดังนี้
3.1 ต้อหินชนิดธรรมดา (Steroid Gluacoma)
ซึ่งจะเกิดในคนไข้ที่ไวต่อสเตียรอยด์ และหยอดยานี้นานๆ
3.2 ต้อกระจก
ในกรณีที่ใช้ยาที่เข้าสเตียรอยด์ จะทำให้มีอาการทางสายตามัวลง เพราะเลนส์นัยน์ตาเกิดขุ่นขึ้น หากขุ่นมาก สายตาจะมัวมากขึ้นถ้าทิ้งไว้นาน ในบางรายจะกลายเป็นต้อหิน (ถ้าไม่ได้รักษาหรือรับการผ่าตัด)
3.3 ทำให้ภูมิต้านทานของตาดำ ต่อการติดเชื้อลดน้อยลง เช่น ทำให้ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราได้โดยง่ายเกิดการอักเสบของเยื่อบุตา และตาดำ โดยการติดเชื้อราขึ้น
ข้อควรระวัง
ไม่ควรใช้ยานี้พร่ำเพรื่อ ควรห้ามคนไข้ไปซื้อยามาหยอดเองเป็นอันขาด เพราะการใช้ยาที่มีสเตียรอยด์ หรือกลูโคคอร์ติคอยส์ หยอดตานานๆ จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนดังกล่าว
พึงระลึกเสมอว่า ยาที่ซื้อเองส่วนใหญ่ จะเข้าสเตียรอยด์
4. ยาที่ผสมระหว่างยาปฏิชีวนะกับสเตียรอยด์ (Antibiotic Corticosteroid Combinations)
ยาพวกนี้จะพบมากในท้องตลาด เรามักจะใช้ในคนไข้ตาอักเสบที่เราไม่แน่ใจว่าจะเกิดจากการแพ้ หรือเกิดการติดเชื้อ ยานี้จะได้ผลดีในรายที่ที่เกิดตาอักเสบจากอาการแพ้ แต่ถ้าเกิดจากการติดเชื้ออย่างรุนแรง ยานี้จะทำให้การติดเชื้อรุนแรง ดังข้อ 3.3 ทั้งนี้เนื่องจาก ฮอร์โมนพวกนี้มีคุณสมบัติไปเป็นตัวกดภูมิต้านทานเชื้อโรคของร่างกาย
5. ยาอื่นๆ
ยาอื่นๆ ในที่นี้หมายถึง ยาที่ต้องใช้ให้ถูกต้อง ถูกวิธีโดยจักษุแพทย์ เช่น ยาขยายม่านตา จำพวก อะโทรปีน หรือ นีโอ-ซิเนฟรีน (Neo-Synephrine) และยาหดม่านตา จำพวก ไปโลคาร์ปี (Pilocarpie) ซึ่งก่อนใช้ยาเหล่านี้ให้คนไข้ จะต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องเสียก่อน
การใช้ยารักษาโรคทางตา มีดังต่อไปนี้คือ
1.  การใช้ยาหยอด
เป็นวิธีที่สะดวก ง่าย ไม่ลำบากต่อผู้ใช้ และเป็นวิธีที่นิยมที่สุดสำหรับการใช้ยาทางตา ยาที่ใช้จะเป็นในลักษณะของน้ำ อาจจะใสหรือขุ่นหรือมีสี หรืออาจเป็นในลักษณะของน้ำมันที่สามารถหยดเข้าไปในตาได้ การใช้ยาหยอดมักนิยมใช้ในเวลากลางวัน เพราะยาหยอดจะไม่ติดเหนอะหนะ และไม่ทำให้การมองเห็นเสียไป คือไม่มีอะไรมาบังเหมือนยา พวกขี้ผึ้งหรือครีม สิ่งที่ไม่ดีเกี่ยวกับยาหยอดก็คือ มันอยู่ในตาได้ไม่นานจะไหลออกไปกับน้ำตาอย่างค่อนข้างรวดเร็ว จึงต้องหยอดกันบ่อย ๆ
2. การใช้ยาป้าย
ยาพวกนี้มาในรูป ขี้ผึ้ง ครีม หรือน้ำมัน ส่วนใหญ่จะใช้ในเวลากลางคืนก่อนนอน หรือในรายที่ต้องการให้มียาอยู่กับตานานๆ และช่วยเป็นสิ่งทำความหล่อลื่นในตา ข้อเสียคือใช้ยากกว่าการหยอด เหนียว เหนอะหนะน่ารำคาญและอาจทำให้สายตาพร่ามัวไปได้ ข้อดีตามที่กล่าวแล้วคือ ตัวยาสามารถอยู่ในตาได้นานกว่ายาหยอดและเป็นวิธีที่ใช้รักษาโรคของหนังตาหรืออวัยวะรอบๆ ตาเหมาะที่สุด
3. การใช้ยาโดยการกิน หรือโดยการฉีด
การฉีดยาทางตาเรามีวิธีที่แตกต่างออกไปอีก คือ นอกจากฉีดเข้ากล้ามผิวหนัง ใต้ผิวหนัง เข้าหลอดเลือดแล้ว การฉีดยาทางตายังมีการฉีดเข้าไปใต้เยื่อบุตา ทั้งสองแบบนี้ทำให้เพื่อตัวยาได้เข้าสู่ตาในจำนวนเข้มข้นและนานที่สุด เป็นวิธีที่ทำไม่บ่อยนัก โดยมากทำกับคนไข้บางรายที่ต้องการให้ยาเข้าตามากจริงๆ
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ยาหยอด ยาป้าย
1. ใช้ให้ถูกวิธี ถ้าผิดวิธีอาจจะไม่ได้ผล เช่น ยาไม่เข้าตา หรือไม่สัมผัสกับส่วนที่ต้องการยา อาจมีอันตราย เช่น ที่หยอดตาหรือหลอดขี้ผึ้งทิ่มแทงตา หรือเชื้อโรคที่อยู่บริเวณตาอาจติดเข้าไปเจริญอยู่ในขวดยา ถ้าเราเอาที่หยอดหรือขวดยามาถูกกับตาบ่อยๆ ครั้งเข้า ถ้ามีสิ่งสกปรกติดอยู่ เช่น ขี้ตา สะเก็ดแผล ควรทำความสะอาดก่อน มิฉะนั้น ยาจะไปเกาะอยู่ที่สิ่งสกปรกเหล่านี้ ไม่ถูกกับแผลโดยตรง ทำให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร
2. ใช้ให้ถูกขนาด ตามที่แพทย์กำหนด เช่น 1-2 หยด เพราะยาบางอย่างหยอดมากเกินไปในครั้งๆ หนึ่งจะมีอันตรายได้
3. ให้ตรงเวลา เช่น โรคบางชนิดควรให้หยอดทุก 2 ชม. ก็ควรจะเป็นเวลาประมาณนั้น แต่ไม่ถึงกับต้องทุก 2 ชั่วโมงตรง ผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ไม่มีความสำคัญอะไรมาก ผู้ที่ต้องหยอดยาเป็นประจำ เช่น พวกที่เป็นต้อหินชนิดเรื้อรัง ควรฝึกให้เป็นนิสัยจะได้ไม่ขาดยา เช่นทำหลังอาหารเช้า เที่ยง เย็น ก่อนนอน ถ้าทำเป็นประจำอยู่ทุกวันจะเคยชินและสม่ำเสมอดี
4. ถ้ามียาหยอดสองขนานต้องหยอดเวลาเดียวกัน ควรหยอดอย่างหนึ่งก่อน รออีกประมาณ 5-10 นาที จึงหยอดอีกอัน ถ้าหยอดรวมๆ กันในเวลาใกล้กัน ยาอาจจะไปฆ่าฤทธิ์กัน หรืออาจทำอาจทำให้ทั้งสองเจือจางลงไป ควรจะถามแพทย์หรือผู้รู้ที่อยู่ใกล้ ถ้าเกิดมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น
5. ถ้ามียาป้ายกับยาหยอด ที่ต้องทำพร้อมๆ กัน ให้ใช้ยาหยอดก่อน เพราะถ้าป้ายก่อนยาหยอดจะไหลหลุดออกจากตาไปรวดเร็วมาก
6. เก็บยาในที่ๆ เหมาะ มียาบางอย่างต้องเก็บในตู้เย็นหรือห้ามถูกแสงสว่างมากๆ เช่นเดียวกับยาอื่น ต้องไม่เก็บรวมกับพวกอาหารและให้ไกลจากมือเด็ก
7. ยาทุกอย่างควรเป็นของส่วนตัว ถึงแม้ว่าอาจจะมีคนในบ้านเป็นเหมือนๆ กัน ก็ไม่ควรใช้ยาขวดเดียวกัน ทั้งนี้เพราะโรคตาบางอย่างติดต่อกันได้ง่ายมาก โดยผ่านทางยาหยอดหรือป้าย และบางทีดูคล้ายกับ ว่าเป็นโรคเหมือนๆ กัน แต่จริงๆ แล้วแตกต่างกันมาก
8. ห้ามเอายาหยอดหรือป้ายตา ไปใช้อย่างอื่น เช่นเอาไปรับประทาน เอาไปทาแผลอย่างเด็ดขาด
9. หยอดให้ถูกต้อง ยาบางอย่างถ้าหยอดอีกตาซึ่งไม่ได้เป็นอะไรอยู่ อาจมีโทษอย่างมหันต์ ถ้าสงสัยควรปรึกษาจักษุแพทย์
การทำความสะอาดตาและบริเวณรอบๆ ตา
ปรกติตาคนเราไม่ต้องการทำความสะอาดตาโดยการล้าง เพราะตาเรามีวิธีรักษาความสะอาดตัวเองโดยธรรมชาติอยู่แล้ว คือมีน้ำตาซึ่งจะขับออกมามากขึ้น เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปเพื่อชะล้างสิ่งแปลกปลอมนั้นออกมา การล้างตาเป็นประจำ เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะกระทำ เพราะเป็นการล้างเอานํ้าตาธรรมชาติ ซึ่งมีประโยชน์มากกว่าออกไป แต่ถ้าเกิดมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตาแล้วน้ำตาธรรมชาติไม่สามารถชะล้างออกได้ เราอาจต้องช่วยเหลือจัดการกับสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น โดยวิธีต่อไปนี้
การล้างตา
น้ำยาที่ใช้ล้างมีพวกกรดบอริค (Boric acid) น้ำเกลือหรือน้ำสะอาดธรรมดา ที่นิยมคือใช้ถ้วยที่เหมาะกับตาใส่น้ำยาแล้วคว่ำมาที่ตาลืมตาแล้วกลอกตาไปมา ใช้ได้ผลดีพอประมาณส่วนใหญ่ได้ผลทางจิตใจมากกว่า และในแง่ของการติดเชื้อแล้วถือว่าไม่ได้ผล เพราะเมื่อล้างแล้วสมมุติมีเชื้ออยู่ เชื้อก็จะคลุกเคล้ากับน้ำยาที่ล้างแล้วก็ติดอยู่แถวๆ ตานั้น ที่ร้ายคือเชื้อติดอยู่ที่ถ้วยล้าง หลังจากล้างแล้ว ไม่ทำความสะอาดให้ดีพอ พอล้างใหม่เชื้อก็กลับเข้าไปอีกไม่มีวันหาย ฉะนั้นหลังล้างต้องทำความ สะอาดภาชนะให้ดี เช่นต้ม แล้วทิ้งให้แห้งจึงจะเหมาะกว่า การล้างแบบนี้ตามที่กล่าวแล้วได้ผลทางจิตใจเป็นส่วนใหญ่ ผู้ที่ล้างแล้วมีความรู้สึกว่าตาสะอาด โล่งเย็นสบาย ที่จริงตาก็สะอาดดีอยู่แล้ว นอกจากการล้างตา อาจจะทำได้ใดยวิธีอื่น เช่น เปิดก๊อกน้ำให้ไหลแล้วเอาตาเข้าไปรอง หรือลืมตาในน้ำ วิธีเหล่านี้ไม่แนะนำให้ทำ เพราะอันตรายมีมากและไม่ถูกสุขลักษณะ แต่เป็นวิธีที่เหมาะและสมควรทำอย่างยิ่ง เมื่อมีสารเคมีเข้าตา เช่น กรด ด่าง ฯลฯ เพราะขณะนั้นต้องการความรวดเร็ว และเป็นสิ่งที่หาง่ายที่สุด
การเช็ดตา
เป็นวิธีที่แพทย์ พยาบาล หรือผู้เกี่ยวข้องใช้ทำความสะอาดตาของผู้ป่วยทางตาทั่วๆ ไป โดยเฉพาะหลังการผ่าตัด การทำคือ
1. ล้างมือให้สะอาดจริงๆ
2. ใช้สำลีที่สะอาด เทน้ำยาที่ใช้เช็ด ซึ่งส่วนมากก็เป็นน้ำเกลือ (NSS) น้ำยาบอริค (Boric acid) หรือแอลกอฮอล์ (ต้องใช้อย่างระวัง) บีบน้ำยาที่มากเกินไปออกให้สำลีมีลักษณะหมาดๆ
3. จัดรูปสำลีให้มีลักษณะบางๆ หน่อย แล้วค่อยๆ เช็ดที่ขนตา เปลือกตา และบางทีอาจบริเวณเยื่อตาที่สกปรกมีขี้ตาหรือคราบสิ่งของติดอยู่
การเช็ดต้องพยายามให้ด้านเดียวของสำลีถูกับของสกปรก อย่าให้ถูกมือ เมื่อเห็นยังไม่หมดแต่ติดอยู่กับสำลี ก็ให้ทำซ้ำจนสะอาด
ข้อสำคัญคือต้องพยายามทำอย่างเบาที่สุด อาจให้คนถูกเช็ดตา เหลือบขึ้นลง เพื่อการเช็ดจะได้สะดวกเข้า เมื่อเช็ดแล้วก็ใส่ยาตามที่แพทย์สั่ง ล้างมือให้สะอาด
ข้อดีของวิธีนี้ คือถูกลักษณะ เชื้อโรค ของสกปรกจะติดอยู่เฉพาะสำลี ซึ่งเราก็โยนทิ้งไป ไม่กระจาย หรือมีโอกาสไปใช้กับคนอื่น เป็นการทำที่ค่อยๆ ทำไปจึงไม่กระทบกระเทือนรุนแรง
ข้อเสีย คือไม่ค่อยสะดวก อาจกินเวลาพอสมควร ถ้าทำเองก็ต้องอาศัยกระจก และผู้นั้นต้องมีสายตาพอดีพอประมาณ มิฉะนั้นจะเช็ดไม่ถูกจะอันตรายมากขึ้น ถ้าเป็นคนสูงอายุ มือสั่น สายตาไม่ดี ตายังอักเสบอยู่ระคายเคือง ก็ต้องไหว้วานคนอื่น ซึ่งบางครั้งทำได้ยาก


ที่มา:รองศาสตราจารย์นายแพทย์จริเมธ  กาญจนารันย์
รองศาสตราจารย์นายแพทย์เทียม  ลักขณาภิชชนชัช
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ศุภชัย  โชติบุตร

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า