สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

คอร์ติโคสเตียรอยด์

ยาพวกกลูโคคอร์ติคอยด์ฮอร์โมนหรือคอร์ติโคสเตียรอยด์

ยาพวกสเตียรอยด์เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone), เพรดนิโซน (Prednisone) เด๊กซ่าเมธาโซน (Dexamethasone), เบต้าเมธาโซน (Betamethasone) คือ ยาฮอร์โมน ที่สังเคราะห์ขึ้นเลียนแบบฮอร์โมน กลุ่มหนึ่งที่สร้างมาจากต่อมหมวกไตชั้นนอก (Adrenal cortex) เรียกว่า กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoids) ซึ่งฮอร์โมน กลูโคคอร์ติคอยด์ ที่สำคัญในร่างกายคน 3 ตัว คือ คอร์ติโซล (Cortisol) หรือ ฮัยโดรคอร์ติโซล (Hydrocortisol) คอร์ติโซน (Cortisone) คอร์ติโคสเตอโรน (Corticosterone) มีหน้าที่สำคัญ คือ
1. ควบคุมการเปลี่ยนแปลงสร้างเสริม และทำลายสารพวกโปรตีน ไขมัน คาร์โบฮัยเดรทในร่างกาย เช่น ทำหน้าที่เพิ่มระดับนํ้าตาลในเลือดให้สูง เพื่อให้เซลต่างๆ ในร่างกาย มีน้ำตาลไว้ใช้ให้เพียงพอกับความต้องการและความจำเป็นในยามที่ร่างกายต้องการ
2. ลดการอักเสบ (Antiinflammatory action) ซึ่งเป็นเหตุให้ยานี้มีส่วนกลายเป็นยาที่มีความสำคัญและใช้กันมากตัวหนึ่งในทุกวันนี้)
ต่อมหมวกไตชั้นนอก ยังสร้างฮอร์โมนอื่นๆ อีก คือ ฮอร์โมนเพศ และฮอร์โมน วก มินเนอรอลโลคอร์ติคอยด์ (Mineralocorticoids) ประกอบด้วยฮอร์โมนที่สำคัญ 2 ตัว คือ แอลโดส เตอโรน (Aldosterone) และดีสอ๊อกซิคอร์ติโคส เตอโรน (Desoxycorticosterone) ฮอร์โมนพวกนี้มีฤทธิ์หน้าที่สำคัญคือ “ควบคุมการขับถ่ายและรักษาระดับของเกลือแร่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการป้องกันการสูญเสียแร่ โซเดียม (Na+) และการขับแร่โปตัสเซียม (K+) ในร่างกายที่ไต”
จะเห็นว่าต่อมหมวกไตสร้างฮอร์โมน 2 กลุ่ม คือ พวกกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoids) และมินเนอรอลโลคอร์ติคอยด์ แต่เพราะว่าฮอร์โมนทั้ง 2 ต่างเป็นพวกสเตียรอยด์ ที่มีลักษณะโครงสร้างทางเคมีใกล้เคียงกันมาก ดังนั้นยาฮอร์โมนพวก กลูโคคอร์ติคอยด์ที่สังเคราะห์ขึ้น และใช้กันเป็นยาอยู่ทุกวันนี้หลายตัวมุ่งพยายามที่จะให้ออกฤทธิ์ไปเพียงแต่ด้านลดการอักเสบอย่างเดียว แต่บางตัวยังมีฤทธิ์สะสมเกลือโซเดียมไว้ในร่างกายแฝงอยู่ด้วย เช่น ต้องการฤทธิ์ทางด้านลดการอักเสบของฮอร์โมนสังเคราะห์เพรดนิโซโลนแต่พบว่า เพรดนิโซโลน ยังมีฤทธิ์สะสมเกลือโซเดียมไว้ในร่างกายแฝงอยู่ 0.7 (ตารางที่20-1) ถ้าบังเอิญผู้ป่วยเกิดเป็นโรคตับแฝงอยู่ ซึ่งขณะนั้นร่างกายมีระดับของแอลโดสเตอโรนสูง (หรือมีฤทธิ์สะสมเกลือโซเดียมสูง) จะ ให้เห็นได้เด่นชัดยิ่งขึ้น
ดังนั้นในกรณีที่จำเป็นต้องเลือก กลูโคคอร์ต¬คอยด์ขึ้นมาใช้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ให้ยาจะต้องเลือกตัวยา กลูโคคอร์ติคอยด์ ตัวที่มีฤทธิ์ของกลูโคคอร์ติคอยด์อย่างเดียว และไม่มีฤทธิ์ของ มินเนอรอลโลคอร์ติคอยด์เลย หรือหากจำเป็นบางครั้ง จำต้องเลือกตัวที่มีฤทธิ์ของมินเนอรอลโลคอร์ติคอยด์แฝงอยู่ด้วยน้อยที่สุด จึงจะเหมาะสม เป็นต้น
อย่างไรก็ตามฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมหมวกไต และที่สังเคราะห์มีฤทธิ์เปรียบได้ดังนี้


นอกจากฤทธิ์ของการลดการอักเสบและฤทธิ์การสะสมเกลือไว้ในร่างกายแล้วการเลือกใช้กลูโคคอร์ติคอยด์ สังเคราะห์ ยังต้องคำนึงถึง ชนิดของโรค ผลที่จะได้ในด้านการรักษา ฤทธิ์และอาการที่ไม่พึงประสงค์ ราคายา และลักษณะการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอีกด้วย

ลักษณะการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนแบ่งออกเป็น 3 ชนิด
1. ชนิดออกฤทธิ์ระยะสั้น น้อยกว่า 1 ½  วัน
2. ชนิดออกฤทธิ์ระยะปานกลาง น้อยกว่า 2-2 ½  วัน
3. ชนิดออกฤทธิ์ระยะยาวนานมากกว่า 2 ½  วัน


หลักในการใช้ยาประเภทนี้ คือ
1. ควรที่จะใช้กลูโคคอร์ติคอยด์ ในกรณีที่มีข้อบ่งใช้จริงๆ แต่ก็ควรที่จะได้ลองใช้ยาที่เป็นชนิดไม่มีกลูโคคอร์ติคอยด์ เสียก่อน เช่น ยาธรรมดาในกลุ่มแอสไพรินหรือกลุ่มพวกแอนตี้ฮีสตามีน เพื่อลดอาการอักเสบหรือแพ้ ดูก่อนว่าจะได้ผลหรือไม่ เพียงใด ต่อเมื่อใช้ยาดังกล่าวแล้วไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จึงจะพิจารณาเปลี่ยนมาใช้ยาในรูปของกลูโคคอร์ติคอยด์
2. เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องให้ยานี้แก่ผู้ป่วยโดยให้ระยะเวลานาน ควรใช้ยาในขนาดต่ำที่สุดที่พอจะมีผลทางการรักษา ถ้าโรคที่จะรักษาไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงจนถึงกับทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในทันที เช่น โรคไขข้ออักเสบ (Rheumatoid arthritis) ขนาดยา เริ่มแรกควรมีขนาดต่ำ และค่อยๆ เพิ่มจนกระทั่งอาการเจ็บปวดน้อยลงจนถึงขั้นทนทานได้
3. ถ้าเป็นโรคซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น ช็อค หรือโรคผิวหนังบางชนิด (Emphigus) การรักษานี้จำเป็นต้องเริ่มด้วยขนาดยาสูง เพื่อแก้ไขให้ผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายก่อนต่อจากนั้นควรจะรับลดขนาดยาลง และระหว่างลดยาควรระมัดระวัง และดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
4. ไม่ควรใช้ยาประเภทสเตียรอยด์ ในการรักษาอาการอักเสบที่เกิดจากเชื้อโรค โรคติดเชื้อชนิดต่างๆ เพราะจะทำให้การกระจายเชื้อโรคเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น
5. เนื่องจากยาพวก กลูโคคอร์ติคอยด์ ถ้าใช้นานๆ จะมีผลไปกดหรือยับยั้งการทำงานของต่อมหมวกไต ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาประเภทนี้นานเกินความจำเป็น และถ้าจำเป็นต้องใช้นาน ควรพิจารณาให้ยาขนาดสูงพอที่จะควบคุมอาการของโรคได้ แต่ให้วันเว้นวัน (Alternate day) เพื่อให้ต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไตไม่ต้องถูกกดอยู่ตลอดเวลา และได้ทำงานตามปติในวันที่หยุดยาบ้าง หลังจากได้ใช้ยานี้เป็นเวลานาน เมื่อจะหยุดยาจะต้องค่อยๆ ลดขนาดของยาลงช้าๆ มิฉะนั้นอาจจะเกิดสภาวะที่ร่างกายจะขาดสเตียรอยด์ฮอร์โมนไปเฉยๆ ช่วงหนึ่งยังผลให้แสดงอาการ Withdrawal symp¬toms ได้ ซึ่งจะปรากฎอาการต่างๆ เช่น ปวดกล้ามเนอ ปวดข้อ มีไข้ อ่อนเพลีย เป็นต้น
ในทางการแพทย์เราจะแบ่งการใช้ กลูโคคอร์ติคอยด์ ออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
1. เมื่อต่อมหมวกไตไม่สามารถสร้างหรือหลั่งกลูโคคอร์ติคอยด์ ให้พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย เช่น ต่อมหมวกไต หย่อนสมรรถภาพลงอาจเกิดจากมะเร็งบางชนิด การแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง (Autoimmune) หรือเสียเลือดมากเกินไป บางคนอาจจะมีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ทำให้ต่อมหมวกไตไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเหล่านี้ได้ การใช้แบบนี้เรียกว่า ใช้เพื่อการทดแทน (Repacement therapy)
2. ในทางรักษาโรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผิดปกติของต่อมหมวกไต โดยอาศัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยานี้
3. เพื่อทดสอบ วินิจฉัยหาสาเหตุว่าความผิดปกติเกิดขึ้นจากต่อมใต้สมองหรือที่ต่อมหมวกไตเอง เพราะการสร้างฮอร์โมนอาจเกิดจาก ต่อมหมวกไตเสื่อม หรือต่อมใต้สมองไม่ทำงาน เราเรียกวิธีนี้ว่า ใช้เพื่อการทดสอบหรือเพื่อการยับยั้งการทำงานของต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไต (Suppression therapy)
ประโยชน์ที่ใช้รักษา
1. จากการใช้เพื่อการทดแทน (Replacement the¬rapy) ฮอร์โมนที่ขาดไป เช่นในกรณีที่ประสิทธิภาพของต่อมหมวกไตเสื่อมลง หรือเนื่องจากมีพยาธิสภาพที่ต่อมหมวกไต หรือต่อมใต้สมองส่วนหน้า ทำให้ไตไม่สามารถหลั่ง กลูโคคอร์ติคอยด์ให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายได้ ซึ่งอาจเกิดจาก
1.1 การติดเชื้อ
1.2 จากมะเร็ง
1.3 จากแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง (Autoimmune)!
1.4 จากการเสียเลือดมากเกินไป
1.5 พันธุกรรมทำให้ต่อมหมวกไตไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้
1.6 ต่อมหมวกไตโตเนื่องจากกรรมพันธุ์ เช่น ผู้ป่วยที่มีต่อมหมวกไตถูกทำลายเนื่องจากภูมิคุ้มกันตนเอง (Autoimmune) ผู้ป่วยประเภทนี้ จะมีอาการของโรคที่แสดงให้เห็นเด่นชัดว่าร่างกายสูญเสียเกลือ และแร่พวกโซเดียม (Na+) มากไป และสูญเสียโปตัสเซียม (K+) น้อยไป ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักลด ความดันต่ำลง อ่อนเพลียมากๆ และไวต่อการออกฤทธิ์ของอินซูลินมากๆ อาการประกอบเหล่านี้ บ่งชี้ให้เห็นว่าจะต้องเลือกใช้ กลูโคคอร์ติคอยด์ที่สามารถออกฤทธิ์ในการรักษาไม่ให้ เกลือโซเดียมสูญเสียมากเกินไป ซึ่งหมายถึงจะต้องเลือกยา กลูโคคอร์ติคอยด์ ที่มีฤทธิ์ในทางสะสมเกลือโซเดียมไว้ในร่างกาย หรือการใช้ กลูโคคอร์ติคอยด์  ในผู้ป่วยที่ถูกผ่าตัดมะเร็งของต่อมหมวกไต (Cushing syndrome) จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์หนักไปในทางกลูโคคอร์¬ติคอยด์ โดยไม่มีฤทธิ์ที่จะสะสมเกลือโซเดียมไว้ในร่างกาย
2. จากการใช้ในทางรักษาทั่วไปโดยอาศัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา (Phamacological uses) หมายถึงการใช้กลูโคคอร์ติคอยด์ ในทางรักษาโรคอื่นๆ มากมายที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการผิดปกติของต่อมหมวกไต ทั้งนี้อาศัยความสามารถที่กว้างขวางในการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยากลูโคคอร์ติคอยด์ ดังจะพอพิจารณาจากการที่กลูโคคอร์ติคอยด์ มาใช้เพื่อรักษาโรคต่างๆ หลายชนิดได้ผลและประสิทธิภาพดียิ่ง เช่น นำมาใช้ในการ
1. ระงับการอักเสบ
2. รักษาและป้องกันโรคที่เกิดจากการแพ้ (จากยาและสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน) เช่น โรคหืด, หอบ แผลอักเสบ จากการแพ้ (Al-lergic eczema) คันเนื่องจากการแพ้ยา (Drugeruption) การแพ้อย่างรุนแรง (Severe allergic anaphylaxis)
3. รักษาประสิทธิภาพและความแข็งแกร่งของหลอดเลือดเมื่อถูกสารพิษด้วยการลดการพองขยายตัวของผนังหลอดเลือด
4. ใช้รักษาเกี่ยวกับทางผิวหนัง ทางระบบทางเดินอาหาร โรคไต โรคระบบเลือด และโรคตา
5. อื่นๆ ซึ่งกลไกของการทำงานยังไม่ทราบชัดแน่นอน เช่น ในคนไข้ที่ช็อคและมีความดันในสมองสูงกว่าปกติ เป็นต้น
ตัวอย่างโรคที่รักษาด้วย กลูโคคอร์ติคอยด์ ได้ผลดี
1. โรคแพ้ (Allergic disorders) เช่น หืด
2. โรคเกี่ยวกับเลือด (Blood diseases) เช่น He¬molytic anemia, Acute lymphatic leukemia
3. โรคเกี่ยวกับ Collagen (Collagen disease) Disseminated lupus erythrematosus, Polyarteri¬tis nodosa)
4. โรคผิวหนัง (Skin disease) ที่เกิดจากการแพ้ และชนิดที่เป็นตุ่มพองโต (Pemphigus)
5. โรคเกี่ยวกับไขข้อ (Rheumatic disease)
6. โรคตา (Eye diseases) ซึ่งไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
7. โรคไตบางชนิด
8. อาการอื่นๆ เช่น ช็อค
อนึ่งการใช้ กลูโคคอร์ติคอยด์ ในโรคเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการลดอาการที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ได้แก้ไขที่สาเหตุของโรค ดังนั้นการรักษาควรที่จะแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคพร้อมกันไปด้วย และควรจะลองใช้ยาชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (Non-steroid) ที่มีผลในการรักษาก่อน ถ้าไม่ได้ผลจึงจะพิจารณาหันมาใช้กลูโคคอร์ติคอยด์
จะเห็นได้ว่าการรักษาเพื่อการทดแทนนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยแพทย์ ผู้มีความรู้ความเข้าใจถึงสาเหตุของโรคและในการเลือกยาตัวที่เหมาะสม จึงจะทำให้การรักษาเป็นไปเพื่อขจัดอาการผิดปกติ ของโรคนี้ได้ถูกต้องและเหมาะสม และควรต้องเข้าใจด้วยว่าการรักษาแบบทดแทนฮอร์โมนที่ขาดนี้ มิได้เป็นการรักษาให้หายขาดแต่เป็นเพียงการรักษาเพื่อขจัด หรือแก้ไขอาการผิดปกติให้ดีขึ้นเท่านั้น
3. จากการใช้เพื่อทดสอบ หรือยับยั้งการทำงานของต่อมใต้สมอง หรือต่อมหมวกไต (Suppression thera¬py)
เป็นลักษณะพิเศษในการใช้กลูโคคอร์ติคอยด์ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุว่าความผิดปกติเกิดขึ้นจากต่อมใต้สมองโดยตรงหรือที่ต่อมหมวกไตเอง หรือเนื่องมาจากสาเหตุอื่น ซึ่งกระทำได้ด้วยการฉีดยากลูโคคอร์ติคอยด์ตัวที่มีความสามารถในการออกฤทธิ์ได้เร็วแรง และมีช่วงระยะเวลาของการออกฤทธิ์สั้น ด้วยปริมาณของยาจำนวนต่างๆ กัน ที่เหมาะสม แล้วตรวจดูปริมาณของสารพวกสเตียรอยด์ที่เปลี่ยนแปลงในร่างกายถูกขับออกมาในปัสสาวะตลอดเวลา 24 ชั่วโมง หลังจากที่ได้ให้ยานั้นไปว่าเป็นอย่างไร ฉะนั้นผู้ที่จะใช้ยากลูโคคอร์ติคอยด์ เพื่อการนี้จึงจำต้องเป็นแพทย์ผู้มีความรู้ ความเข้าใจในตัวยาและลักษณะต่างๆ ของโรคเท่านั้น
กลูโคคอร์ติคอยด์ ได้ถูกใช้เป็นยาที่อาจจะถูกเรียกได้ว่าเป็นยาพวกครอบจักรวาล จะเห็นได้ว่ายา กลูโคคอร์ติคอยด์ได้มีใช้กันทั้งในรูปของยาน้ำ ยาเม็ด ยาฉีด ยาเหน็บ ยาหยอด และยาทาผิวหนัง ซึ่งหาก จะลองพิจารณาถึงโรคต่างๆ ที่กลูโคคอร์ติคอยด์ได้ถูกนำมาใช้นั้นจะมีตั้งแต่การเปลี่ยนอวัยวะทดแทนที่สำคัญ เช่น ไต หัวใจ บำบัดอาการช็อคที่เกิดจากสารพิษ รักษามะเร็งในเม็ดเลือด ขจัดอาการจากการอักเสบที่ไขข้อและกระดูก โรคหัวใจ ไต โรคหอบหืด ตลอดจนถึงโรคผิวหนังซึ่งรวมถึงการใช้ช่วยในด้านศัลยกรรมตกแต่ง เป็นต้น
ผลจากการที่กลูโคคอร์ติคอยด์ สามารถใช้ประโยชน์ในทางรักษาได้อย่างกว้างขวาง ทำใหัมีผู้นำยานี้มาใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อและอาจใช้ไปในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งจะก่อให้เกิดพิษมาก จึงควรระลึกไว้เสมอว่า ยาใดที่สามารถออกฤทธิ์ได้อย่างกว้างขวางย่อมเป็นยาที่มีพิษ หรือมีฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์ (Side effect) มากมายตามมาด้วยเช่นกัน
ฤทธิ์และอาการที่ไม่พึงประสงค์
1. เนื่องจากการใช้ยาเป็นเวลานานในขนาดสูง ทำให้ปริมาณของฮอร์โมนในร่างกายมากเกินไป ทำให้เกิดอาการพิษได้ ซึ่งโดยทั่วๆ ไปมีดังนี้
1.1 ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น รวมทั้งทำให้บาดแผลหายช้าและไปยับยั้งภูมิคุ้มกัน
1.2 มีการสะสมไขมันเพิ่มขึ้นในอวัยวะบางส่วน โดยเฉพาะบริเวณหน้าและลำตัวทำให้หน้าอ้วนกลมผิดปกติ และหลังเป็นหนอก
1.3 อาการระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร เช่นทำให้มีเลือดออกจากกระเพาะอาหารและอาจทำให้เกิดแผลเปื่อยในกระเพาะ หรือบางครั้งอาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุได้
1.4 ทำให้มีการคั่งของเกลือในร่างกาย จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการบวม เป็นโรคหัวใจ และความดันเลือดสูง
1.5 ทำให้กล้ามเนื้อลีบ ไม่มีแรง (Myopa¬thy) ถ้าใช้ยานานๆ
1.6 ทำให้กระดูกผุ (Osteoporosis) ซึ่งมักพบได้บ่อยในคนไข้สูงอายุ หรือคนไข้ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย
1.7 ในคนที่มีสุขภาพจิตไม่ดี กลูโคคอร์ติคอยด์อาจจะทำให้เกิดเป็นโรคจิต (Psychosis) ขึ้นได้
1.8 ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จึงควรใช้ด้วยความระวังในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
2. ถ้าหยุดให้ยาพวกโคคอร์ติคอยด์ทันทีจะปรากฎอาการผิดปกติต่างๆ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ความดันต่ำ เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อหยึดยาพวก กลูโคคอร์ติคอยด์ จะต้องลดยาทีละน้อยๆ ทั้งนี้เพราะยาพวกกลูโคคอร์ติคอยด์ มีผลต่อการกดระบบทำงานของต่อมใต้สมอง (Pituitary) และต่อมหมวกไต (Adrenal) ทำให้มีการสร้างฮอร์โมนจากต่อมทั้งสองภายในร่างกายลดน้อยลง เมื่อหยุดให้ยาทันทีต่อมหมวกไตซึ่งอยู่ในสภาพถูกกดอยู่ ยังไม่มีความสามารถที่จะผลิตฮอร์โมนทดแทนให้แก่ร่างกายได้อย่างพอเพียงตามปกติ ร่างกายจึงอยู่ในสภาวะขาดฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต (Adrenal insufficiency) จึงปรากฎอาการดังกล่าว การจะเลิกยาพวกนี้จึงต้องลดยาลงทีละน้อย จนกว่าต่อมหมวกไตจะสามารถผลิตฮอร์โมนให้แก่ร่างกายได้เพียงพอตามปกติ
ข้อควรระวัง
การใช้ยานี้จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เป็นพิเศษในบุคคลที่มีส่วนผิดปกติของโรคเหล่านี้ร่วมอยู่ด้วย คือ
1.ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ย่อมต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากกลูโคคอร์ติคอยด์จะสามารถทำให้เยื่อหุ้มกระเพาะอาหาร ลำไส้บางลง ทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารเพิ่มขึ้นอย่าง น่าเป็นอันตรายยิ่ง
2.ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ และโรคความดันเลือดสูง จะต้องระวังการใช้กลูโคคอร์ติคอยด์ ซึ่งจะเสริมให้เกิดการบวมของน้ำในร่างกาย ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น และเป็นอันตรายถึงตายได้ การใช้ยาขับปัสสาวะควบคู่กันไปด้วยในกรณีที่จำต้องใช้ยานี้ อาจจะช่วยบรรเทาผลร้ายให้ลดลงได้บ้าง
3. ผู้ป่วยที่เป็นโรคติเชื้อ ถ้าใช้กลูโคคอร์ติคอยด์ ซึ่งมีฤทธิ์ไปลดภูมิคุ้มกันอยู่ด้วยจะยังผลทำให้ประสิทธิภาพการต่อสู้กับโรคติดเชื้อของร่างกายลดลง ทำให้โรคติดเชื้อนั้นรักษายากขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อจากไวรัส เช่น ไวรัสพวกเฮอร์ปีส ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex)
4. ผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตประสาท ควรระวังเพราะ กลูโคคอร์ติคอยด์ จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงบุคคลิกและการแสดงออกแปลกๆ ในผู้ป่วยประเภทนี้
5. ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน เพราะกลูโคคอร์ติคอยด์ จะเป็นสารที่กระตุ้นให้ร่างกายปล่อยน้ำตาล (Glu¬cose) ลงในเลือดทำให้การรักษาโรคเบาหวานมีประสิทธิภาพลดลง
6. ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกอ่อน และในคนสูงอายุ
7. ผู้ป่วยที่เป็นต้อ (Glaucoma) อาจเป็นผลเสริมให้เกิดความดันเพิ่มขึ้นในกระบอกตาและอาจนำไปถึงตาบอดได้
8. ถ้าจำเป็นต้องใช้ ควรให้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร กินโซเดียมน้อยกว่าวันละ 500 มิลลิกรัม โปตัสเซียมวันละ 2-6 กรัมและกินอาหารที่มีโปรตีนมาก และมีแคลเซียมเพียงพอ
9. เมื่อใช้กลูโคคอร์ติคอยด์ ในการรักษาเป็นเวลานานๆ ไม่ควรหยุดยาทันทีทันใดควรลดจำนวนยาลงเป็นลำดับ เพื่อจะได้ให้สมองส่วนล่าง ต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไตได้มีโอกาสฟื้นตัวทำงานก่อน เพราะมิเช่นนั้นหากมีการหยุดยาอย่างกระทันหันจะมีผลทำให้ผู้ป่วยตกอยู่ในสภาพขาดฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตได้
ที่มา:ดร.อุดม  จันทรารักษ์ศรี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า