สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การใช้ความร้อนทำลายแบคทีเรีย

          ๑.  โดยการเผา  ใช้เมื่อต้องการทำลายภาชนะที่เปรอะเปื้อนหรือเกรงว่าถ้านำมาใช้อีกจะเป็นปัญหาทางการติดเชื้อ  บางครั้งก็ใช้ในห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยา

๒.  ใช้ตู้อบความร้อน (Hot Air Oven) ตู้เหล่านี้มีกรรมวิธีทำให้ความร้อนและอากาศภายในตู้หมุนเวียนอยู่เสมอ  อุณหภูมิที่ใช้ประมาณ ๑๖๐°ซ. เป็นเวลา ๑ ชั่วโมง  ซึ่งสามารถทำลายเชื้อและสปอร์ (spore)ได้ วิธีนี้ใช้กันไม่มากนัก  เพราะความร้อนที่สูงระดับนี้มักจะทำลายสิ่งของที่นำไปอบแต่ใช้ได้กับสิ่งต่อไปนี้

ก.  เครื่องแก้วทนความร้อน

ข.  เครื่องมือที่เป็นโลหะ

ค.  แป้งผง

ง.  นำมันบางอย่าง

๓.  โดยการต้ม ตัวแบคทีเรีย  ไวรัสและเชื้อราจะตายเมื่อนำไปต้มในน้ำเดือด เพราะส่วนใหญ่จะไม่สามารถทนความร้อนที่อุณหภูมิ ๗๐°ซ. มากกว่า ๕ นาทีได้ แต่สปอร์ของแบคทีเรีย ซึ่งทนความร้อนได้มากกว่าจะไม่ตายไปทั้งหมด  วิธีนี้ใช้กันมากตามสถานพยาบาลเล็ก ๆ เพราะโอกาสที่จะได้พบแบคทีเรียชนิดร้ายแรงที่มีสปอร์นั้นน้อยมาก  และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การต้มนี้ทำลายเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดตับอักเสบได้  สิ่งสำคัญบางประการเกี่ยวกับการต้ม คือ

ก.  ภาชนะที่นำไปต้มไม่ควรเปรอะเปื้อนน้ำมันหรือสิ่งปฏิกูลอื่น ๆ

ข.  ไม่ควรมีอากาศค้างอยู่ในภาชนะที่ต้ม

ค.  ของมีคมจะทื่อถ้าต้มบ่อย ๆ

ง.  ควรต้มเป็นเวลาอย่างน้อย ๓๐ นาที  เวลาที่ใช้ต้มนี้จะลดเป็น ๑๕ นาทีได้ถ้าเติมโซเดียมคาร์บอเนท (๒ ส่วนในน้ำ ๑๐๐ ส่วน)  แต่ว่ามีข้อเสียเพราะสารนี้กัดเครื่องแล้วและเครื่องยาง  นอกจากนี้ยังเปื้อนเครื่องมือที่นำไปต้ม  จึงจำเป็นต้องเอาไปล้างออกอีกหนหนึ่งก่อนจะนำไปใช้ได้

จ.  ถ้าต้องการทำลายสปอร์ก็ควรต้มติดต่อกันเป็นเวลา ๓ วัน ๆ ละ ๒๐-๓๐ นาที (Tyndallisation) แต่จะได้ผลก็ต่อเมื่อสปอร์นั้นอยู่ในภาวะที่พร้อมที่จะเจริญเป็นตัวแบคทีเรียได้เท่านั้น

๔.  Pasteurisation  แต่เดิมเป็นวิธีที่ใช้ทำลายแบคทีเรียในเหล้าองุ่นและในนมสด โดยอุ่นให้ได้อุณหภูมิ ๖๓°ซ. เป็นเวลา ๓๐ นาที หรือ ๗๒°ซ. เป็นเวลา ๒๐ วินาที (อาจใช้อุณหภูมิตั้งแต่ ๖๐°-๘๐°ซ. โดยใช้เวลา ๖๐ นาที ที่อุณหภูมิ ๖๐°ซ. หรือค่อย ๆ ลดลงมาเหลือเพียง ๑ วินาทีที่อุณหภูมิ ๘๐°ซ.) วิธีนี้สามารถทำลายเชื้อไวรัสส่วนใหญ่อีกทั้งเชื้อราและแบคทีเรียแต่ไม่ทำอันตรายสปอร์  สำหรับทางการแพทย์นั้นก็ใช้อุณหภูมิประมาณ ๖๕°ซ. เป็นเวลา ๑๐ ถึง ๓๐ นาทีแล้วแต่ชนิดของภาชนะหรือเครื่องมือที่นำมาฆ่าเชื้อ เครื่องสำหรับกรรมวิธีนี้มีหลายแบบ มีทั้งที่สร้างขึ้นมาเฉพาะงาน เช่นใช้ล้างชามหรือล้างหม้อนอนอย่างเดียว และมีทั้งที่ใช้กับงานหลาย ๆอย่างได้  นอกจากนี้แล้วเครื่องเหล่านี้ยังมีทั้งที่ใช้น้ำร้อนหรือใช้ไอน้ำเป็นตัวนำความร้อน  ตัวอย่างเช่นเครื่องล้างชามใช้น้ำร้อนเป็นเวลา ๑๐ นาที ที่ ๖๖°ซ. หรือ ๑ นาที ที่ ๘๒°ซ.  ตู้อบไอน้ำใช้อุณหภูมิ ๗๐°ซ. เป็นเวลา ๑๕ นาที หรือ ๘๐°ซ. เป็นเวลา ๕ นาที

๕.  โดยการอบไอน้ำ (Autoclave)  วิธีนี้ได้ผลดีกว่าการใช้ตู้อบความร้อนธรรมดาหรือการต้ม  เพราะนอกจากไอน้ำเองมีอุณหภูมิสูงแล้ว  เมื่อกลายเป็นหยดน้ำก็ยังสามารถคายความร้อนแฝงได้อีกด้วย  และอีกประการหนึ่งเมื่อไอน้ำแปรสภาพเป็นหยดน้ำปริมาตรก็ลดลงทำให้เกิดสูญญากาศดึงดูดไอน้ำรอบข้างเข้ามาอีกทำให้มีไอน้ำหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา เป็นผลให้อุณหภูมิของภาชนะที่นำไปอบสูงอยู่เสมอ  ไอน้ำที่ใช้นี้ไม่ควรมีอากาศปนมาด้วยเพราะจะทำให้อุณหภูมิของไอน้ำต่ำลง และไม่ควรจะชื้นมากเพราะหยดน้ำที่ติดมาจะไปเกาะผิวของภาชนะทำให้ไอน้ำเข้าไม่ถึง  อีกประการหนึ่งอุณหภูมิของไอน้ำก็ไม่ควรสูงกว่าจุดที่ไอน้ำจะกลายเป็นน้ำมากเกินไป  เพราะจะกินเวลานานกว่าจะคายความร้อนแฝง

อุณหภูมิของไอน้ำที่ได้มาจากน้ำเดือดธรรมดานั้นยังไม่สูงพอที่จะทำลายสปอร์ทั้งหมดของแบคทีเรียได้  จึงมีความจำเป็นต้องทำให้ไอน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยเพิ่มความกดของบรรยากาศ (ซึ่งจะทำให้น้ำเดือดในอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติ) เช่น ถ้าเพิ่มความกดเป็น ๑๕ ปอนด์ต่อตารางนิ้ว น้ำเดือดที่ ๑๒๑ °ซ. หรือใช้ความกด ๓๐ ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว น้ำจะเดือดที่ ๑๓๔°ซ. เป็นต้น ตู้อบไอน้ำที่ใช้กันนั้นมักเป็นโลหะแข็งแรง มีช่องทางให้ไอน้ำที่อุณหภูมิสูงและความกดสูงเข้ามาและมีช่องอากาศซึ่งถูกไอน้ำเข้ามาแทนที่ออกไปได้  บางตู้ก็มีเครื่องดูดอากาศดูดอากาศออกจากตู้ร่วมอยู่ด้วย ระยะเวลาอบนั้น เริ่มนับตั้งแต่เมื่ออุณหภูมิของตู้อบไอน้ำสูงถึงขีดที่ต้องการเช่น ๒๐ นาที ที่ ๑๒๑°ซ. หรือ ๑๐ นาที ที่ ๑๒๖°ซ. เป็นต้น  การอบด้วยไอน้ำนี้ใช้ได้กับผ้าพันแผล เสื้อผ้าต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องมือโลหะ น้ำยาและน้ำมัน

เพื่อที่จะให้ได้ผลดีที่สุด  ผู้ใช้ตู้อบไอน้ำควรจะคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้

          วิธีการจัดภาชนะในตู้ ควรจะวางไว้โดยให้ไอน้ำมีทางผ่านได้ตลอดจากบนลงล่างเช่นถ้าเป็นวัสดุแบนก็ควรจะตะแคงข้างขึ้น ชั้นล่างก็ควรจะมีรูหรือเป็นตะแกรง

การจัดภาชนะที่นำเอาไปอบ  ควรจัดให้ไอน้ำเข้าไปได้รอบด้านและเข้าถึงข้างในสุด  ถ้าเป็นผ้าก็ควรพับไว้หลวม ๆ ห่อเครื่องมือก็ไม่ควรจะใหญ่เกินไป (ไม่เกิน ๑๒-๑๘ นิ้ว) ท่อยางไม่ควรพับหรืองอ  เครื่องมือที่มีล็อคหรือฝาควรเปิดอ้าไว้ ผ้าที่ใช้ห่อภาชนะก็ควรจะเป็นผ้าลินินซึ่งไอน้ำผ่านได้  เครื่องมือไม่ควรเปื้อนน้ำมัน ถ้าจะอบน้ำยาหรือน้ำมันก็ไม่ควรจะอบร่วมกับภาชนะอื่น ๆ เพราะจะทำให้ภาชนะอื่น ๆ เปรอะเปื้อน

การเอาของออกจากตู้  เมื่อหมดเวลาอบควรตั้งรอทิ้งไว้ให้ภาชนะเย็นลงก่อนจะเปิดเอาออก เพราถ้าเอาออกเมื่อยังร้อนภาชนะจะชื้นเมื่อมาถูกอากาศเย็นข้างนอกทำให้เปื้อนได้ เมื่อเอาออกจากตู้แล้วก็ควรจะผึ่งไว้ให้แห้งก่อนจะนำมาใช้

สภาพของตู้อบ  ควรได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างสม่ำเสมอ  สิ่งที่เสียได้บ่อยก็มีเรื่องไอน้ำรั่ว หม้อกรองน้ำไม่ทำงาน เป็นต้น

การทดสอบประสิทธิภาพของตู้อบ  ต้องทำอยู่เป็นระยะสม่ำเสมอวิธีใช้ทดสอบก็มี เช่น

ก.  ใช้เทป  ที่มีความไวต่อความร้อนติดไว้บนภาชนะ หรือห่อเครื่องมือ เทปนี้จะเปลี่ยนสีเมื่ออุณหภูมิสูงถึงขีดที่ต้องการ

ข.  ใช้ Browne’s tube  ซึ่งเป็นหลอดน้ำยาที่เปลี่ยนสีไปเมื่ออุณหภูมิสูง ใส่ร่วมไปกับภาชนะที่นำไปอบ  วิธีนี้ต้องลงทุนสูงกว่าวิธีแรก

          ค.  ใช้ Thermo-couple  วัดอุณหภูมิจากที่วางภาชนะภายในตู้โดยตรงเท่าที่ทราบวิธีนี้ยังไม่ใช้กันในประเทศไทย

ทุกวิธีดังที่กล่าวมาแล้ว บอกเพียงว่าภาชนะที่นำไปอบในตู้ได้รับความร้อนดังที่ต้องการ แต่ไม่ได้บอกว่าของเหล่านี้ปราศจากเชื้อแบคทีเรีย  ถ้าต้องการทราบก็ต้องใช้หลอดที่ใส่สปอร์ของ B. Stearothermophilus ซึ่งไม่เป็นภัยต่อมนุษย์ไปอบร่วมกับภาชนะแล้วนำไปเพาะเชื้ออีกทีหนึ่ง เมื่ออบแล้วสปอร์เหล่านี้จะถูกทำลายภายใน ๒๐ นาที ที่อุณหภูมิ ๑๒๐°ซ.  แต่วิธีนี้ค่อนข้างจะลำบากเพราะเตรียมเชื้อแบคทีเรียได้ยากและการวัดผลก็ยาก  จึงไม่ค่อยจะมีผู้นิยมใช้กัน

          โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่าการใช้ความร้อนทำลายเชื้อแบคทีเรียนั้นยังเป็นวิธีถูกที่สุดและให้ผลแน่นอนที่สุด

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า