สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

แอสเปอร์จิลโลซิส (Aspergillosis)

ประวัติ

แอสเปอร์จิลโลซิส (Aspergillosis) เป็นโรคสัตว์โรคแรกที่พบว่าเกิดจากเชื้อรา มีรายงานครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2358 ในปอดของนกตะขาบ (Carvus glandarius) โดย Mayer and Emmert สำหรับโรคแอสเปอร์จิลโลซิสที่มีรายงานพบในคน โดย Sluyter ในปี พ ศ. 2390 เป็นครั้งแรกเรียก Aspergillus pneumomycosis. Rudolf Virchow ได้รายงานโรคนี้ จากการชันสูตรศพรายแรกในปี พ.ศ. 2399 ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 Renon ก็รายงานโรคนี้ในผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค 6 ราย ในปัจจุบันอุบัติการของโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เข้าใจว่าภูมิต้านทานของคนและสัตว์ลดต่ำลง เนื่องมาจากภาวะแวดล้อมจากการใช้ยาจำพวกสเตียรอยด์และยาปฏิชีวนะ รวมทั้งยารักษาโรค มะเร็ง (antineoplastic drugs) ในคน เป็นต้น

สาเหตุ

โรคนี้เป็นโรคที่คนติดมาจากสัตว์ เชื้อราที่พบบ่อยส่วนมากคือ แอสเปอร์จิลลัส ฟูมิกาตัส (Aspergillus fumigatus) นอกจากนี้ยังพบแอสเปอร์จิลลัสอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ได้ เช่น โรคแพ้เชื้อรา (allergic aspergillosis) เกิดจากเชื้อรา A. flavus, A.nidulans, A. niger, A. terreus, และ A. clavatus ส่วนโรคแอสเปอร์จิลโลซิสในปอดมักเกิดจากเชื้อ A. fumigatus, A lerreus, A. flavus, A. niclulans และ A. niveus.

ระบาดวิทยา

คน

เชื้อแอสเปอร์จิลลัสเมือเข้าอยู่ในร่างกายอาจทำให้เกิดโรคได้ 3 แบบ คือ

1. โรคแพ้เชื้อรา (Allergic aspergillosis) คนไข้ส่วนใหญ่มาด้วยอาการหอบหืดพบเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล (eosinophils) ในเลือดสูง โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการแพ้เชื้อรา หรือสปอร์ของเชื้อรารวมทั้งเศษของเชื้อรา (fungal debris) ในบางครั้งสปอร์ของเชื้อราอาจเจริญดีบนเยื่อบุทางเดินลมหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลอดลม เรียกว่า bronchopulmonary aspergillosis ผู้ป่วยมักมีอาการเช่นเดียวกับโรค asthma แต่เป็นเรื้อรังและรุนแรงกว่า ทั้งนี้เกิดจากการอุดตันภายในหลอดลม โดยปฏิกิริยาไวต่อแอสเปอร์จิลลัสเอนติเจน

2. โรคเชื้อราชนิดอยู่เฉพาะที่ ( aspergilloma or aspergillus mycetoma) โรคแอสเปอร์จิลโลมา เกิดจากเชื้อราพวกแอสเปอร์จิลลัสเข้าไปเจริญอยู่ภายในโพรงในปอดซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว เช่นโพรงหลอดลมพอง หรือโพรงที่เกิดจากโรคอื่นในปอด ผู้ป่วยมักมีอาการไอเนื่องจากเสมหะเพิ่มขึ้นจากการระคายเคือง ผู้ป่วยบางคนอาจไอเป็นเลือดหรือมีการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน โรคนี้พบกันมากในประเทศไทย มีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาทางศัลยกรรมที่โรงพยาบาลโรคทรวงอกจังหวัดนนทบุรี ในระหว่างปี พ.ศ. 2502 – 2519 รวม 55 ราย เป็นชาย 33 ราย และ หญิง 22 ราย พบมีคนไข้หายเป็นปกติหลังการผ่าตัด 53 ราย และตายเพียง 2 ราย (ด้วยโรคดีซ่านและภาวะการหายใจล้มเหลว)

3. โรคเชื้อราชนิดกระจายในเนื้อเยื่อปอด ( invasive aspergillosis ) โรคเชื้อราแอสเปอร์จิลโลซิสชนิดนี้พบได้มากพอสมควรในปัจจุบัน โรคนี้มักมีอาการของโรคเฉพาะที่ปอด บางครั้งเชื้อราอาจแพร่กระจายเร็วมากในภาวะที่ผู้ป่วยมีโรคร้ายสำคัญอยู่ก่อน หรือภูมิต้านทานต่ำเนื่องจากได้รับการรักษาโรคด้วยยาปฏิชีวนะ หรือสเตียรอยด์ หรือการรับยารักษาโรคมะเร็งเป็นเวลานานๆ ผู้ป่วยมักมีอาการปอดบวม และมีไข้สูงไอ หายใจลำบาก ตรวจเม็ดโลหิตขาวพบมีมากกว่าปกติ (leukocytosis) ถ้าเชื้อราแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว (rapid fulminating) ก็ทำให้ผู้ป่วยตายเร็วมาก ได้มีรายงานโรคคริปโตค๊อคโคซิส (cryptococcosis) และแอสเปอร์จิลโลซิสชนิดแพร่กระจายในผู้ป่วยรายเดียวกันในประเทศไทย โดยนายแพทย์ ทวี เลาหะพันธ์ และนายแพทย์ อร่าม ธรรมธัชในปี พ.ศ. 2521 ผู้ป่วยเป็นหญิงอายุ 23 ปี ป่วยด้วยโรค Systemic Lupus erythrematosus ได้รับการรักษาด้วยสเตอรอยด์ ต่อมามีการติดเชื้อคริปโตค็อกคัสร่วมกับแอสเปอร์จิลโลซิส จากการตรวจศพพบเชื้อแอสเปอร์จิลลัสในปอด หัวใจและสมองเป็นการติดเชื้อแบบแพร่กระจาย ในปี พ.ศ. 2523 มีรายงานการติดเชื้อแอสเปอร์จิลลัส ฟูมิกาตัส และโนคาร์เดียแอสเทอรอยตีส (Nocardiaasteroides ) ในผู้ป่วยโรคเดียวกันโดย นายแพทย์ อมร ลีลารัศมี และคณะ ผู้ป่วยได้รับการรักษาจนทุเลาลงได้

สัตว์

โรคแอสเปอร์จิลโลซิสในปอด (pulmonary aspergillosis) โรคเชื้อราที่ทำลายชีวิตสัตว์และทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจมากที่สุด ในวงการอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่และไก่งวง โรคนี้พบมากในไก่ที่เพิ่งเกิดใหม่เรียกว่า brooder pneumonia หรือ pneumonic cu couveuse โรคนี้ยังพบได้ทั่วไปในนกต่างๆ เช่น นกกระจอกเทศ นก- เพ็นควิน นกนางนวล นกในป่า และนกป่าที่จับมาเลี้ยงในสวนสัตว์ นอกจากนี้ยังพบในสัตว์อื่นๆ ทั่วไป เช่น วัว แกะ สุกร แมว กระต่าย และหนูตะเภา สำหรับในประเทศไทยมักพบมีการระบาดเสมอๆ ในลูกไก่อายุเพิ่งเกิดใหม่ๆ อย่างเมื่อปี พ.ศ. 2517- 2518 มีการระบาดของโรคนี้ในลูกไก่จากตู้ฟักของฟาร์มต่างๆ ดังมีรายงานว่า ลูกไก่อายุ 2 – 3 วัน แต่ละชุดมีจำนวนตั้งแต่ 2,000 – 5,000 ตัว พบป่วยเป็นโรคนี้ร้อยละ 1 – 20 ส่วนใหญ่ไก่ที่มีอาการป่วยมักตายทุกตัว ดูตารางที่ 45.1 ลูกไก่ที่ป่วยแสดงอาการอ้าปากหายใจด้วยความลำบาก ส่วนใหญ่จะชูคอขึ้นเพื่อหายใจ บางตัวสลัดหัวไปมา คล้ายมีสิ่งอุดตันอยู่ภายในทางเดินหายใจ ไก่ป่วยส่วนมากเบื่ออาหารและน้ำ ไก่จะจับกลุ่มกันในระหว่างไก่ป่วยด้วยกัน และยืนสุมกันอยู่กับที่ ส่วนใหญ่ไก่ที่แสดงอาการป่วยดังกล่าวจะตายภายในวันนั้นหรือในวันต่อมาตรวจเชื้อราดูพบว่าส่วนใหญ่เป็นเชื้อรา แอสเปอร์จิลลัส ฟูมิกาตัส ( A. fumigatus) เมื่อตัดชิ้นเนื้อปอดมาดูด้วยกล้องจุลทัศน์พบการเปลี่ยนแปลงในเนื้อเยื่อปอดแบบ granulomatousnodules

การติดต่อ

การระบาดของโรคจากสัตว์มาสู่คน ส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับเชื้อนี้จากสัตว์ปีกได้แก่ นก ตัวอย่างเช่น เมื่อปี พ.ศ. 2513 ได้มีรายงานพบคนเลี้ยงนกพิราบมีอายุ 59 ป่วยด้วยโรคเบาหวานเป็นโรคแอสเปอร์จิลโลซิสในปอด และในปี พ.ศ. 2515 มีรายงานพบหญิงชราอายุ 68 ปี เป็นโรคนี้ โดยมีอาการหายใจลำบาก หญิงผู้นี้มีประวัติว่าเลี้ยงนกพิราบมาเป็นเวลาถึง 10 ปี

ปี พ.ศ. 2516 Sendhu และ Sendhy ได้สำรวจคนไข้ 812 รายจากอาชีพต่างๆ โดยตรวจเชื้อจากเสมหะ จาก bronchial aspirate และ throat swab แล้วนำมาตรวจเชื้อราพบเชื้อราถึงร้อยละ 61.7 ส่วนมากพบในกรรมกรและชาวนา

การควบคุมและป้องกัน

การหลีกเลี่ยงการติดต่อเชื้อราพวกแอสเปอร์จิลลัสทำได้บ้างในกรณีที่เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานตามฟาร์มสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟาร์มไก่ ซึ่งถือเป็นแหล่งกักตุนโรคพอๆ กับนก การป้องกันอาจทำได้โดยการใส่ผ้าปิดจมูกกันฝุ่นละอองจากที่รองพื้นขนไก่และสิ่งขับถ่าย คนที่มีประวัติแพ้เชื้อราไม่ควรทำงานทางด้านนี้ นอกจากนี้คนที่ทำงานในฟาร์มควรต้องมีสุขภาพแข็งแรง และควรงดทำงานในวันที่ร่างกายอ่อนแอจากการเจ็บป่วย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า