สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

Cutaneous Candidiasis

โรคแคนดิดิเอสิสที่ผิวหนังเป็นโรคที่รู้จักกันมาร่วม 2 ศตวรรษแล้ว Robin และ Rosenstein ได้เป็นผู้ริเริ่มรายงานลักษณะของโรคนี้เมื่อคริสตศตวรรษที่ 18 โดยทั่วไป C. albicans มักพบอาศัยอยู่ที่ผิวหนังคนโดยไม่ก่อโรค แต่บางกรณีโรคอาจเกิดขึ้นได้ตามที่อับชื้นของร่างกาย เช่น ตามรอยพับของร่างกายหรือในผู้ป่วยบางรายที่มีภูมิต้านทานตํ่า และอาจกลายไปเป็นชนิดที่รุนแรงลุกลามไปทั่วร่างกายซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
อุบัติการ
โรคแคนดิดิเอสิสเกิดขึ้นได้ง่ายตามบริเวณรอยพับของผิวหนัง เช่น ขาหนีบ ง่ามก้น รักแร้ และใต้เต้านมของผู้หญิงซึ่งเป็นที่อับชื้น เช่นเดียวกันกับในเด็กอ่อนมักพบโรคได้ที่ซอกคอ ขาหนีบ และในบริเวณที่ผ้าอ้อมห่อ เนื่องจากความร้อนทำให้เหงื่อออกมามากหรือปัสสาวะเปียกชุ่มอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นที่มาช่วยส่งเสริมทำให้เป็นโรคได้ง่าย เช่น ความอ้วน โรคเบาหวาน โรคเลือด ผู้ที่ได้รับยาปฏิชีวนะหรือสารสตีรอยด์และโรคแกมม่า โกลบูลินตํ่า
สาเหตุ
เชื้อที่แยกได้จากบริเวณโรคส่วนมากเป็น Candida albicans เกือบทั้งหมด Maibach และ Kligman ได้อธิบายการเกิดโรคแคนดิดิเอสิสที่ผิวหนังไว้ดังต่อไปนี้
1. เกิดจากการปิดอับ (occlusion) และเน่าเปื่อย (maceration) ของผิวหนังจากเชื้อที่มีจำนวนมาก
2. ในเด็กอ่อนมักเกิดร่วมกับโรคผ้าอ้อมกัด (napkin dermatitis หรือ diaper rash) โดยเชื้ออาจแพร่มาจากอุจจาระ
3. อาจเกิดเป็นทุติยภูมิในโรคผิวหนังอักเสบอื่นได้ง่าย เช่น eczema
4. จากสาเหตุร่วมดังกล่าวแล้วข้างต้น เช่น คนอ้วนหรือโรคเบาหวาน
พยาธิสภาพ
C. albicans จะรายตัวอยู่ในหนังกำพร้าชั้นที่มีเคอราติน (stratum corneum) ที่สูญเสียความแน่นไปจากโรค เชื้อไม่เข้าไปอยู่ในชั้นหนังแท้ เพราะร่างกายสามารถสร้างแอนติซีรั่มมาต้านเชื้อเอาไว้ การอักเสบเกิดขึ้นจากสารที่ขับถ่ายออกมาจากตัวเชื้อ แล้วซึมผ่านชั้นหนังกำพร้าเข้าไปสู่ชั้นหนังแท้ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นรอบหลอดเลือดที่รายล้อมไปด้วยเซลล์การอักเสบ เช่น นิวโตรฟิล, ลิมโฟซัยท์, ฮิสติโอซัยท์ และพลาสม่าเซลล์ ต่อมาเซลล์การอักเสบเหล่านี้ก็เคลื่อนตัวผ่านเซลล์ของหนังกำพร้าที่บวม หรือตายแล้วขึ้นมาอยู่ใต้ชั้น stratum corneum เป็นจุดหนองเล็กๆ อยู่ทั่วไป เรียกว่า subcorneal
spongioform pustule ลักษณะดังกล่าวนี้ยังพบได้ในโรคเชื้อหนองพุพอง (Impetigo contagiosa) ส่วนประกอบของหนังแท้ไม่พบการเปลี่ยนแปลงมากมายนัก นอกจากพบการบวมของใยคอลลาเจนเท่านั้น เมื่อย้อมชิ้นเนื้อด้วยวิธี PAS หรือ Gomori เชื้อแคนดิดาจะติดสีม่วงแดงหรือสีดำตามลำดับ เชื้อมีรูปร่างกลมหรือรี ขนาด 8-12 ไมครอน ซึ่งมีติ่งกลมเล็กๆ (budding blastospore) ติดอยู่ด้านข้างของ ผนังแม่ ในกรณีที่โรคเป็นรุนแรงอาจพบท่อนปล้องเทียมของเชื้อ (pseudomycelium) ปะปนอยู่ด้วย
ลักษณะทางคลินิค
โรคเริ่มต้นด้วยตุ่มอักเสบเล็กๆ สีแดงหลายๆ เม็ดเกิดขึ้นพร้อมกันที่บริเวณหลืบรอยพับ ต่อมาตุ่มเหล่านี้จะกลายเป็นหนองแล้วแตกออกเป็นแผลตื้นๆ และมีราสีขาวของผิวหนังที่ตายติดอยู่ ตุ่มโรคเหล่านี้ จะขยายตัวมารวมกันเป็นแผ่นฝ้าใหญ่ในหลืบรอยพับ มองเห็นพื้นส่วนล่างเป็นสีแดง (มี maceration) รอบๆ บริเวณพยาธิสภาพเดิมจะพบตุ่มแดงเล็กๆ เกิดขึ้นใหม่อีกเป็นจำนวนมากกระจายตัวออกไป (satellite) โรคนี้มีอาการคันและแสบ ในรายที่เป็นนานๆ แผ่นฝ้าค่อยๆ เลือนหายไปเอง แต่ผิวหนังบริเวณที่เป็นโรคจะหนาขึ้นมีสีคลํ้าพร้อมด้วยรอยปริปรากฏอยู่ตรงซอกหลืบรอยพับ ลักษณะของโรคชนิดนี้เรียกว่า Candida intertrigo
นอกจากนี้ โรคแคนดิดิเอสิสยังพบเกิดขึ้นได้บ่อยที่บริเวณซอกนิ้วมือหรือนิ้วเท้า โดยผิวหนังมีอาการตายเป็นฝ้าสีขาวแล้วหลุดลอกออกไป เห็นพื้นส่วนล่างเป็นสีแดงสด ผู้ป่วยมีอาการเจ็บๆ คันๆ ลักษณะของโรคเช่นนี้เรียกว่า Erosio interdigita lis blastomycetica (Kaufmann-Wolf) ซึ่งพบได้บ่อยในคนที่ทำงานอยู่กับนํ้าตลอดทั้งวัน เช่น แม่ค้า แม่บ้าน และลูกจ้างซักผ้า เป็นต้น
การวินิจฉัย
อาศัยลักษณะทางคลินิคและการแยกเชื้อทางห้องปฏิบัติการ
การวินิจฉัยแยกโรค
1. การอักเสบที่ซอกหลืบรอยพับชนิดปราศจากเชื้อ (intertrigo) เช่น ในคนอ้วน
2. Intertrigo ที่เกิดในโรค Psoriasis vulgaris, Lichen planus และ Seborrheic dermatitis
3. Napkin rash
4. Napkin psoriasis
5. Flexural dermatitis จากเหงื่อ
การรักษา
1. ใช้ครีมที่มีสารฆ่าเชื้อรา เช่น nystatin, imidazole หรือ oxyquinoline ทาที่ตำแหน่งพยาธิสภาพ
2. รักษาความสะอาด เช่น อาบนํ้าบ่อยๆ และใส่เสื้อผ้าที่โปร่งเพื่อให้ผิวหนังแห้ง
3. ลดความอ้วน
4. รักษาโรคที่เป็นปัจจัย เช่น เบาหวาน เป็นต้น
5. ใส่ถุงมือยางหรือรองเท้าหุ้มกันเปียกในขณะที่ทำงานอยู่กับนํ้า
ที่มา:เมระนี  เทียนประสิทธิ์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า