สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

Countertransference ของนักจิตบำบัด

นักจิตบำบัดนั้น ก็คือมนุษย์ธรรมดานี้เอง การเป็นมนุษย์ธรรมดา หมายความว่า จงต้องมีอารมณ์อย่างสามัญชนทั่วไป คือ รักได้ เกลียดได้ โกรธได้ อิจฉาริษยาได้ มีอคติ ทั้งทางลบ และทางบวกได้

อารมณ์ของนักจิตบำบัดในขณะรักษาคนไข้นั้น แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ อารมณ์ ที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และอารมณ์ที่มาจากความขัดแย้งภายในจิตใจ ของนักจิตบำบัดเอง ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ป่วยชอบทำลายข้าวของในสำนักงานของนักจิตบำบัดบ่อยๆ แล้ว นักจิตบำบัดย่อมจะไม่พอใจเป็นธรรมดา แต่ถ้านักจิตบำบัดโกรธจัด หรือ โมโหจนสุดขีด เพราะว่าผู้ป่วยทำขี้บุหรี่ตกลงบนพื้นห้องโดยไม่เจตนาแล้ว สิ่งนี้ คือ Countertransference แน่ๆ

Countertransference ในความหมายกว้างๆ หมายถึงอารมณ์ ความรู้สึก และปฏิกิริยาที่ผู้รักษามีต่อผู้ป่วย แต่ในความหมาย “เฉพาะ” หรือทางทฤษฎีจิตวิเคราะห์แล้ว หมายถึง การที่นักจิตบำบัดมีอารมณ์ ความรู้สึก และปฏิกิริยาต่อผู้ป่วย เสมือนหนึ่งว่า ผู้ป่วย เป็นบุคคลสำคัญในอดีตของนักจิฅบำบัดเอง เช่น บิดามารดา พี่น้อง ญาติใกล้ชิด ฯลฯ

ในการทำจิตบำบัดชั้นสูงนั้น นักจิตบำบัดจะต้อง “รู้สึกตัว” ว่า อารมณ์อย่างไหน เป็นไปตามธรรมชาติ และอารมณ์ชนิดไหน เป็น Countertransference ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว จะเป็นอันตรายทั้งต่อคนไข้ และต่อตัวนักจิตบำบัดเอง

นักจิตบำบัดหัดใหม่ที่ประสบกับความล้มเหลว ส่วนมากมักจะมาจากปัญหาในเรื่องนี้ คือ “ไม่รู้สึกตัว” ว่าตนเองมี Countertransferences นอกจากนี้ ปัญหาส่วนตัวของนักจิตบำบัดเองก็มีส่วนในการทำให้ผลของการรักษาล้มเหลวด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้านักจิตบำบัดมีปัญหาในเรื่องเพศก็มักจะพยายาม (ในระดับที่ “ไม่รู้สึกตัว”) บังคับให้คนไข้พูดแต่ปัญหาเรื่องเพศ หรือถ้านักจิตบำบัดมีปัญหาเรื่องความก้าวร้าวรุกราน ก็มักจะแสดงออกเป็น 2 ทาง คือ พยายาม “เลี่ยง” ไม่ยอมพูดถึงเรื่องนี้ หรืออาจจะทำตรงกันข้าม คือ “ยั่วยุ” ให้คนไข้มีปฏิกิริยาก้าวร้าวต่อตน เป็นต้น นักจิตบำบัดบางราย มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับบิดา- มารดา ก็มักจะพยายามให้ผู้ป่วยพูดถึงแต่เรื่องนี้ ฯลฯ ผู้เขียนมีประสบการณ์ในเรื่องนี้พอสมควร  ครั้งหนึ่งเคยสอนให้แพทย์ฝึกหัด “สัมภาษณ์” คนไข้ เมื่อสอนภาคทฤษฎีแล้ว จึงให้แพทย์ฝึกหัดผู้นั้น สัมภาษณ์คนไข้แบบตัวต่อตัว เมื่อจบชั่วโมงการสัมภาษณ์ และแพทย์ฝึกหัดผู้นั้นออกจากห้องไปแล้ว ผู้เขียนจึงถามผู้ป่วยว่า “รู้สึกอย่างไรบ้าง ?”

ผู้ป่วยตอบว่า “คุณหมอคนนั้นเป็นคนดีมาก มีความเอาใจใส่ดี แต่ ดิฉันคิดว่าเขาต้องมีปัญหากับคุณแม่ของเขาแน่ๆ” !!!

Countertransference ที่พบบ่อยสำหรับนักจิตบำบัดหัดใหม่อีกประการหนึ่งก็คือ กระทำต่อผู้ป่วยเหมือนกับว่า ผู้ป่วยเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของตัวนักจิตบำบัดเอง ซึ่งเรียกเป็น ภาษาทางทฤษฎีจิตวิเคราะห์ว่า Externalization และความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น นักจิตบำบัดจะถือว่า (ในระดับจิตไร้สำนึก) ผู้ป่วยเป็นส่วนที่ “ไม่ดี” หรือ “เลว” ของตัวนักจิตบำบัดเอง และนักจิตบำบัดหัดใหม่ต้องการจะ “ดัด” นิสัยที่ “เลว” ของตนเอง

นอกจากที่กล่าวมานี้ คนไข้บางประเภทสามารถ “เร้าอารมณ์” หรือ ทำให้นักจิตบำบัดหัดใหม่รู้สึกตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคนไข้ สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ Countertransference แท้ๆ แต่เป็นเหตุการณ์ที่คนไข้ “สามารถ” สร้างขึ้นมาได้จริงๆ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวลจัด อาจจะ “ถ่ายทอด” อารมณ์ จนทำให้นักจิตบำบัดหัดใหม่ “เกิด” ความวิตก กังวลขึ้นมาด้วย คนที่ซึมเศร้ามากๆ อาจบรรยายความเศร้าและความผิดหวัง จนทำให้นักจิตบำบัดหัดใหม่มีอารมณ์ “คล้อยตาม” ไปด้วย คนไข้บางคนที่มีท่าทางเฉยเมย และน่าเบื่อหน่าย ก็จะสามารถทำให้นักจิตบำบัดหัดใหม่มีอารมณ์อย่างเดียวกันไปด้วย ฯลฯ

Menninger (1958) นักจิตวิเคราะห์ผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ได้ให้หลักเกณฑ์ของ Countertransferences ที่เป็นอันตรายต่อการรักษาไว้ 20 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. นักจิตบำบัดไม่สามารถ “เข้าใจ” หรือ “ติดตามความคิด” ของคนไข้ได้ เมื่อคนไข้พูด “กระทบกระเทือน” มาถึงปัญหาของนักจิตบำบัดเอง ตัวอย่างเช่น ถ้านักจิตบำบัดมีปัญหากับภรรยา เมื่อผู้ป่วยพูดถึงปัญหากับภรรยาบ้าง นักจิตบำบัดเกิดใจลอย ไม่มีสมาธิ ไม่เข้าใจเรื่องราวของผู้ป่วย ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ฯลฯ หรือที่เรียกว่า เป็น “เบี้ยล่าง” หรือ “One-down เป็นต้น สิ่งนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการรักษาเป็นอย่างยิ่ง อาจจะถึงกับล้มเหลวก็ได้

2. นักจิตบำบัดมีความรู้สึกซึมเศร้า วิตกกังวล ไม่สบายใจ ในขณะรักษาคนไข้ หรือหลังการรักษาคนไข้เป็น “บางคน” หมายความว่า ถ้านักจิตบำบัดมีสุขภาพทางกายและทางจิตไม่ดี ความรู้สึกดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นกับคนไข้ “ทุกคน” แต่ถ้าสุขภาพของนักจิตบำบัดอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแล้วมีความรู้สึกเช่นนี้เฉพาะกับคนไข้ “บางคน” เท่านั้น อันนี้เป็น Counter-transferences ต่อคนไข้บางคนนั้นแน่ๆ

3. มีความสะเพร่าต่างๆ เกิดขึ้น โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น ลืมเวลานัด คนไข้มาสาย ต้องการให้จบชั่วโมงการรักษาโดยเร็ว หรือยืดเวลาการรักษาให้ยาวออกไปกว่าที่ควร โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ฯลฯ ตัวอย่างเช่น มีนักจิตบำบัดหัดใหม่ผู้หนึ่ง พบคนไข้ทุกวันพุธเวลาเช้าติดต่อกันมาโดยตลอดเป็นเวลากว่า 2 ปี แต่มีอยู่วันพุธหนึ่งกลับ “ลืม” เวลานัดหมายคนไข้ ทั้งที่พบกันมานานกว่า 2 ปี!!

4. นักจิตบำบัดมีอาการง่วงนอน ตลอดชั่วโมงการรักษา

5.  นักจิตบำบัด “จู้จี้” หรือ “พิถีพิถัน” มาก หรือน้อยเกินไป เกี่ยวกับ ค่ารักษา ตัวอย่างเช่น เก็บค่ารักษาแพงหรือถูกเกินไป จากราคามาตรฐาน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

6.  นักจิตบำบัดมีความรู้สึก “เป็นสุขมาก” หรือ “รัก” คนไข้ และรู้สึกพอใจ และ “ตื่นเต้น กระตือรือร้น” ที่จะพบคนไข้บางคนอย่างเกินสมควร

7. นักจิตบำบัด “ยินยอม” หรือ อย่างน้อยก็ “รู้เห็นเป็นใจ” ให้คนไข้มี พฤติกรรมแบบ Acting-out หรือ Acting-in ในลักษณะที่เกินสมควร ก่อนที่จะเข้าใจเรื่องนี้ จะขออธิบายคำศัพท์เสียก่อนดังนี้

รากศัพท์เดิมในภาษาอังกฤษอธิบายว่า Acting Out. “An action rather than a verbal response to an unconscious instinctual drive or impulse that brings about temporary partial relief of inner tension. Relief is attained by reacting to a present situation as if it were the situation that originally gave rise to the drive or impulse.

จากคำอธิบายในภาษาอังกฤษนี้ จะเห็นได้ว่า ท่านผู้อ่านที่ไม่เข้าใจทฤษฎีจิตวิเคราะห์ขั้นมูลฐาน ย่อมไม่อาจเข้าใจได้ ผู้เขียนจึงขออธิบายอย่างง่ายๆ ดังนี้

Acting-out หมายถึง พฤติกรรม “ทดแทน” ความรู้สึกที่มาจากแรงผลักดันของจิตใจ การที่ผู้ป่วยมีพฤติกรรมประเภทนี้ นักจิตวิเคราะห์ถือว่า เป็นการตอบสนองต่อแรงผลักดันของจิตใจเพียง “บางส่วน” แต่มีผลเสียต่อการรักษา คือ แทนที่คนไข้จะนำความรู้สึกเหล่านี้มาพูดกับนักจิตบำบัด ผู้ป่วยกลับทำพฤติกรรม “ทดแทน” เสีย และพฤติกรรม “ทดแทน” เหล่านี้ ส่วนมากได้แก่พฤติกรรมทางเพศและทางก้าวร้าวรุกราน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมีความรู้สึกทางเพศกับผู้รักษา เดิมผู้ป่วยเป็นคนเรียบร้อย ไม่เคยมีเรื่องเสียหายทางชู้สาว แต่เมื่อได้รับการรักษาโดยวิธีจิตบำบัดแล้ว เกิดมีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศขึ้น หรือเดิมผู้ป่วยเป็นคนเรียบร้อย ไม่เคยก้าวร้าวรุกรานใคร เมื่อได้รับการรักษาแล้ว กลับแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น

ถ้าพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นนอกชั่วโมงการรักษา หรือกับคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่นักจิตบำบัด นักจิตวิเคราะห์นิยม เรียกว่า Acting-out แต่ถ้าพฤติกรรมเหล่านี้ เกิดขึ้นในชั่วโมงการรักษาหรือกับนักจิตบำบัดเอง นิยมเรียกว่า Acting-in

ตัวอย่างของ Acting-in ที่พบบ่อยก็คือ ยอมให้คนไข้ “ถูกเนื้อต้องตัว” ผู้รักษาโดยไม่มีเหตุผล ตัวอย่างเช่น ยอมให้คนไข้นั่งตัก ยอมให้คนไข้กอดจูบ หรือมีเพศสัมพันธ์ ยอมให้คนไข้ทำร้ายนักจิตบำบัด เช่น ตบหน้า ขว้างปาข้าวของ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถือว่าเป็น Countertransference ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

8. เห็นความสำคัญของคนไข้บางคนเกินกว่าที่ควรจะเป็น เช่น พยายามทำให้เพื่อนร่วมงานเห็นว่า คนไข้เป็นกรณีที่น่าสนใจจนเกินความพอดี หรือพยายามแสดง “ความประทับใจ” ให้คนไข้เห็นว่า ผู้รักษามีความสนใจตนมากเป็นพิเศษ

9. พยายามทำให้คนไข้ต้อง “พึ่ง” หรือ “ติด” ผู้รักษามากเกินไป พยายามทำให้คนไข้ยกย่องนักจิตบำยัด หรือ หลงรักนักจิตบำบัด

10. แสดงความโกรธ โมโห ก้าวร้าวคนไข้ ต่อการที่คนไข้พูดไม่ถูกใจ หรือมีพฤติกรรมที่นักจิตบำบัดไม่ชอบเกินกว่าเหตุ หรือในทางตรงกันข้าม แสดงความ “ใจดี” “ตามใจ” คนไข้มากเกินไป ทั้งๆ ที่คนไข้ใช้คำพูด หรือมีพฤติกรรมที่ไม่สมควร

11. มีความรู้สึกอย่างรุนแรงว่า ต้องรักษาคนไข้ “ให้หาย” เพื่อเกียรติยศและชื่อเสียงของนักจิตบำบัดเอง

12. มีความหวาดกลัวว่า คนไข้จะ “ผละหนี” จากการรักษา จนไม่เป็นอันกินอันนอน

13. ทะเลาะกับคนไข้ด้วยอารมณ์ ไม่ใช้เหตุผล หรือโกรธเคืองจนควบคุมตัวเองไม่ได้ ในเมื่อถูกคนไข้ตำหนิ หรือโต้เถียงผู้รักษา คือเป็น “one-down”

14.  รู้ตัวว่าไม่สามารถควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติกับคนไข้คนใดคนหนึ่ง แต่ไม่ใช่กับคนไข้ทุกคน (ถ้ามีความรู้สึกเช่นนี้ต่อคนไข้ทุกคน อาจเนื่องมาจากการที่นักจิตบำบัดป่วย หรือมีสุขภาพจิตไม่ดีไม่พร้อมที่จะทำงาน)

15. พยายามช่วยเหลือผู้ป่วย เกินกว่าหน้าที่ของนักจิตบำบัด ตัวอย่างเช่น ช่วยเหลือหรือแนะนำเรื่องการปลูกบ้าน ตกแต่งบ้าน ซื้อรถยนต์ การแต่งตัว การเดินทางไปพักผ่อนหรือท่องเที่ยว การเล่นตลาดหุ้น ฯลฯ

16. มีความรู้สึกว่า เหมือนถูกบังคับให้ใช้ความพยายาม “อย่างสุดกำลัง” เพื่อรักษาคนไข้ และความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ จนรบกวนสุขภาพจิตของนักจิตบำบัดเอง

17. มีความรู้สึกต้องการให้เป็นที่ “โปรดปราน” ของคนไข้อยู่เสมอ

18. เกิดความรู้สึกขึ้นมาทันทีทันใดใน 2 ลักษณะ คือ สนใจคนไข้ หรือเบื่อหน้าคนไข้อย่างรวดเร็วผิดธรรมดา

19. ฝันถึงคนไข้ เวลานอนหลับ

20. หมกมุ่นในเรื่องของคนไข้ แม้ในเวลาพักผ่อน ตามธรรมดาถ้านักจิตบำบัดรักษาผู้ป่วยที่ยากหรือน่าสนใจ ที่อาจจะกลับไปคิดพิจารณา เพื่อวางแผนการรักษาได้ ซึ่งเป็นของธรรมดา แต่ถ้าหมกมุ่นคิดแต่เรื่องของคนไข้ในเวลาที่พักผ่อน เช่น เวลาไปเที่ยว ไปดูหนัง ไปฟังเพลง ฯลฯ ถ้าอย่างนี้ถือว่าผิดปกติแล้ว

สำหรับวิธีแก้ไข Countertransferences นั้น จะได้กล่าวต่อไป  เมื่อพูด ถึง Middle Course ของการรักษา มาถึงตอนนี้ ที่มักจะมีผู้ถามเสมอว่า นักจิตบำบัดชั้นสูงชนิดนี้ ควรจะได้รับการทำจิตวิเคราะห์ทุกคนหรือไม่
คำตอบก็คือ ถ้าจะเป็นนักจิตวิเคราะห์แท้ๆ แน่นอนที่จะต้องได้รับการทำจิตวิเคราะห์ของตนเองเสียก่อน แต่การที่จะเป็นนักจิตบำบัดชั้นสูงชนิดนี้ ได้มีผู้แสดงความเห็น เป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกเห็นว่าจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้านักจิตบำบัดหัดใหม่มีสุขภาพจิตที่ไม่ดีพอ หรือบุคลิกภาพแปรปรวน หรือเกิดอาการของโรคประสาทเสียเอง ฯลฯ ฝ่ายหลังเห็นว่าไม่จำเป็น ทั้งนี้ เนื่องมาจากข้อมูลที่ได้จากการวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า การที่นักจิตบำบัดชั้นสูงชนิดนี้ จะทำการรักษาได้ผลดีหรือไม่นั้น หาได้ขึ้นอยู่กับการได้รับการทำ “จิตวิเคราะห์” ของตนเองเสียก่อนไม่ แต่ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพ ความสามารถ และความสนใจ จริงจังของนักจิตบำบัดมากกว่า อย่าลืมว่าไม่มีผู้ใด “perfect” นักจิตบำบัดบางคนถึงแม้ว่า จะได้รับการทำ “จิตวิเคราะห์” แล้ว ก็หาได้สามารถแก้ไขปัญหาของตนเองเท่าที่ควรไม่ ในทางตรงกันข้าม นักจิตบำบัดที่ไม่ได้รับการทำ “จิตวิเคราะห์” แต่มีความสนใจจริงจัง ซื่อสัตย์ต่อตนเอง คอยพินิจพิจารณาอยู่เสมอว่า ความรู้สึกของเราที่มีต่อคนไข้เป็นอย่างไร สิ่งที่เรากระทำไปนี้ “ถูกต้อง” หรือไม่ ฯลฯ นักจิตบำบัดพวกหลังนี้ กลับประสบความสำเร็จมากกว่า

สำหรับความรู้สึกส่วนตัวของผู้เขียนนั้น มีลักษณะประนีประนอมระหว่างความเห็นของทั้งสองฝ่าย คือ ถ้าสามารถได้รับการทำจิตวิเคราะห์ของตนเองได้ ก็เป็นการดี แต่ถ้าทำไม่ได้ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นนัก แต่ที่สำคัญยิ่งก็คือ ต้องมีความรู้ ความเอาใจใส่ ความพากเพียร ความจริงใจต่อตนเอง และการได้รับการฝึกอบรมอย่างถูกต้อง

สำหรับบางท่านที่จะ “ลอง” ทำจิตวิเคราะห์ด้วยตนเองนั้น ผู้เขียนขอแนะนำให้อานหนังสือชื่อ Self-Analysis เขียนโดย Karen Horney New York, Norton, 1942

แต่ถ้านักจิตบำบัดเกิดป่วยด้วยโรคจิตเวชเสียเองแล้ว เป็นสิ่งที่แน่นอนว่า จะต้อง ได้รับการทำ “จิตบำบัด” หรือ “จิตวิเคราะห์” เสียก่อน จนกว่าจะหาย และถ้าไม่หายก็ขอเรียนแนะนำว่า ให้เปลี่ยนทิศทางการทำงานเสีย อย่าฝืนทำจิตบำบัดต่อไปอีกเลย

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า