สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ไมเกรน(Migraine)

หรือที่เรียกว่า โรคปวดหัวข้างเดียว หรือลมตะกัง พบได้ในคนทุกวัย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบเป็นกันมากในช่วงอายุ 10-30 ปีไมเกรน

โรคนี้มักเป็นเรื้อรังแบบเป็นๆ หายๆ มักเริ่มเป็นครั้งแรกตอนย่างเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว และผู้หญิงมักเป็นโรคนี้ตอนเริ่มมีประจำเดือน หรืออาจเริ่มเป็นตั้งแต่เด็กๆ มักมีอาการปวดท้อง เมารถ เมาเรือ ผู้หญิงที่เคยเป็นไมเกรนมาก่อนเมื่อใกล้วัยหมดประจำเดือนประมาณ 40-50 ปี อาจมีอาการปวดศีรษะบ่อยขึ้น อาจทุเลาหรือหายไปเองเมื่ออายุ 50-60 ปีขึ้นไป หรืออาจเป็นตลอดชีวิตในบางราย

ไมเกรนไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรง แต่จะทำให้ทรมาน การใช้ชีวิตประจำวันไม่เป็นปกติสุข สร้างความรำคาญ ผู้ที่เป็นโรคนี้เป็นประจำมักเป็นคนเจ้าระเบียบ จู้จี้จุกจิก ไม่เกี่ยวกับฐานะหรือระดับสติปัญญา

สาเหตุ
โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้และมักเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบในแต่ละครั้ง สาเหตุที่แน่ชัดยังไม่ทราบ เชื่อกันว่าความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของสมองทั้งส่วนเปลือกสมอง ก้านสมอง และสารเคมีในสมอง คือ ซีโรโทนินมีปริมาณลดลงขณะอาการไมเกรนกำเริบ สารโดพามีนและสารเคมีกลุ่มอื่นๆ ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเส้นใยประสาทสมองเส้นที่ 5ที่เลี้ยงบริเวณใบหน้าและศีรษะ รวมทั้งการอักเสบร่วมกับการหดและขยายตัวของหลอดเลือดแดงทั้งในและนอกกะโหลกศีรษะ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง จึงกระตุ้นให้ปวดศีรษะและเกิดอาการร่วมอื่นๆ ตามมา

สาเหตุกระตุ้น
แต่ละคนอาจมีสาเหตุกระตุ้นที่แตกต่างกันไป เช่น
-มีแสงจ้าเข้าตา เช่น แสงแดดจ้า แสงไฟจ้า แสงไฟกระพริบ แสงสีที่ระยิบระยับในสถานเริงรมย์ เป็นต้น
-การใช้สายตาเพ่งดูอะไรนานๆ เช่น หนังสือ จอคอมพิวเตอร์ ภาพยนตร์ กล้องจุลทรรศน์ การเย็บปักถักร้อย เป็นต้น
-การอยู่ในที่เสียงดังจอแจ เช่น ตลาดนัด เสียงอึกทึกจากกลอง หรือระฆัง
-การสูดดมกลิ่นฉุน เช่น น้ำมันรถ สีหรือทินเนอร์ สารเคมี ยาฆ่าแมลง ควันบุหรี่ กลิ่นน้ำหอมหรือดอกไม้ เป็นต้น
-การดื่มกาแฟมากๆ แต่ในบางรายเมื่อดื่มกาแฟกลับทำให้อาการทุเลา
-เหล้า เบียร์ ถั่ว กล้วย นมเปรี้ยว เนยแข็ง ช็อกโกแลต ตับไก่ ไส้กรอก อาหารทะเล อาหารทอดน้ำมัน อาหารหมักดองหรือรมควัน ผงชูรส น้ำตาลเทียม สารกันบูด ผลไม้รสเปรี้ยว หอม กระเทียม ก็สามารถกระตุ้นทำให้ปวดไมเกรนได้เช่นกัน
-ยาขับปัสสาวะ ยานอนหลับ ยาลดความดันเช่น ไฮดราลาซีน รีเซอร์พีน ยาขยายหลอดเลือดเช่น ไนโตรกลีเซอรีน
-การอยู่ในที่ร้อนหรือเย็นเกินไป ห้องที่อบอ้าว ห้องปรับอากาศเย็นจัด อากาศที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น
-การนอนไม่พอ หรือนอนมากเกินไป หรือการนอนตื่นสายก็เป็นสาเหตุกระตุ้นได้
-การอดอาหาร กินผิดเวลา กินอิ่มเกินไป ภาวะน้ำน้ำในเลือดต่ำกระตุ้นให้ปวดศีรษะ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมีน้ำตาลในเลือดสูงและเป็นไมเกรน อาการปวดมักจะหายไป
-การนั่งเครื่องบิน นั่งรถ นั่งเรือ
-การเปลี่ยนแปลงของระดับความสูงและความดันบรรยากาศ
-อาการเจ็บปวดจากส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
-อาการตัวร้อนจากการเป็นไข้
-การออกกำลังกายหรือการใช้กำลังที่เหนื่อยเกินไป
-ร่างกายเหนื่อยล้า
-ถูกกระแทกที่ศีรษะแรง อาจทำให้ปวดศีรษะทันทีได้
-ฮอร์โมนเพศ โดยเฉพาะในผู้หญิง เช่น บางรายอาจจะปวดเฉพาะเวลาใกล้จะมีหรือขณะมีประจำเดือน ช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ การกินยาเม็ดคุมกำเนิดซึ่งมีฮอร์โมนเอสโทรเจนจึงทำให้ปวดศีรษะบ่อยขึ้น เมื่อหยุดกินหรือฉีดยาคุมกำเนิดแทนอาการจึงทุเลาลง
-ความเครียดทางอารมณ์ การคิดมาก อารมณ์ที่ขุ่นมัว การตื่นเต้น การตกใจ

อาการ
มักมีอาการปวดแบบตุบๆ เข้ากับจังหวะการเต้นของหัวใจ มีการกำเริบเป็นครั้งคราว มักปวดบริเวณขมับข้างใดข้างหนึ่ง อาจจะปวดแบบสลับข้าง หรือปวดพร้อมกันทั้งสองข้าง อาจมีปวดที่รอบๆ กระบอกตาในบางราย ในแต่ละครั้งมักปวดอยู่นาน 4-72 ชั่วโมง จะปวดมากเมื่อเคลื่อนไหว สัมผัสแสง เสียงหรือกลิ่น มักเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันหากปวดรุนแรงปานกลางถึงปวดมาก มักมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย หลังจากได้อาเจียนอาการจะทุเลาลง ผู้ป่วยมักไม่ชอบแสงหรือเสียง ชอบอยู่ในห้องที่มืดและเงียบ หรืออาจมีอาการตาพร่ามัว คัดจมูก ท้องเดิน ปัสสาวะออกมาก ซีด เหงื่อออก บวมที่หนังศีรษะหรือใบหน้า เจ็บหนังศีรษะ มีเส้นพองที่ขมับ ขาดสมาธิ อารมณ์แปรปรวน รู้สึกศีรษะโหวงๆ เหมือนจะเป็นลม แขนขาเย็น เป็นต้น

สัญญาณบอกเหตุก่อนมีอาการปวดศีรษะ ส่วนใหญ่จะเป็นอาการผิดปกติเกี่ยวกับสายตา เช่น เห็นแสงวอบแวบหรือระยิบระยับ เห็นเป็นเส้นหยัก ภาพเบี้ยว ภาพเล็กหรือใหญ่เกินจริง เห็นดวงมืดในลานสายตา ในช่วง 5-20 นาทีจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่เกิน 60 นาที

สัญญาณบอกเหตุในลักษณะอื่นๆ เช่น รู้สึกเสียวแปลบๆ เหมือนถูกเข็ม หรือเหมือนมีตัวอะไรไต่ที่มือและแขน รอบปากและจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ชาที่ใบหน้าและแขนขา ไวต่อการสัมผัส พูดไม่ได้หรือพูดลำบาก บ้านหมุน มีเสียงหรือกลิ่นหลอน เห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรง อาการเหล่านี้จะเป็นเพียงชั่วขณะแล้วจะทุเลาไปเอง

หลังสัญญาณบอกเหตุทุเลาลงอาการปวดศีรษะมักเกิดขึ้นภายใน 60 นาที แต่บางรายสัญญาณบอกเหตุอาจเป็นอย่างต่อเนื่องได้ หรือในบางรายอาจมีสัญญาณบอกเหตุแต่ไม่มีอาการปวดไมเกรน หรือปวดแตกต่างจากลักษณะของไมเกรน เช่น ปวดมึนแบบตื้อๆ ตามมาก็ได้ อาจมีอาการผิดปกติล่วงหน้าเกิดขึ้นก่อนหรือหลังระยะปวดไมเกรนในบางราย อาการผิดปกติล่วงหน้าอาจเกิดก่อนปวดไมเกรนเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน เช่น อารมณ์แปรปรวน อ่อนเพลีย หาวบ่อย ง่วงนอนมาก รู้สึกอยากกินอาหารบางชนิด กล้ามเนื้อตึง ท้องผูก ท้องเดิน ปัสสาวะออกมาก

ภายหลังจากหายปวดศีรษะแล้วอาการผิดปกติที่อาจพบได้ เช่น อ่อนเพลีย หงุดหงิด เฉยเมย ขาดสมาธิ เจ็บหนังศีรษะ อารมณ์แปรปรวน รู้สึกศีรษะโหวงๆ กลัวแสง เบื่ออาหาร เป็นต้น

ในเด็กมักปวดขมับพร้อมกันทั้งสองข้างแต่น้อยกว่าในผู้ใหญ่ สัญญาณบอกเหตุทางตาไม่ค่อยมี แต่มักพบอาการผิดปกติล่วงหน้า เช่น หาวบ่อย ง่วงนอนมากหรือเฉยเมย รู้สึกอยากอาหารบางชนิด เช่น กล้วย ของหวาน นมเปรี้ยว ช็อกโกแลต เป็นต้น อาการอื่นๆ ก็คล้ายๆ กัน ในเด็กบางคนอาจไม่มีอาการปวดศีรษะแต่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง กลัวแสง กลัวเสียง

สิ่งตรวจพบ
มักไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน อาจคำได้หลอดเลือดที่บริเวณขมับโป่งพอง เต้นตุบๆ ขณะมีอาการปวดศีรษะ หรือเมื่อสัมผัสถูกจะรู้สึกเจ็บเสียวที่หนังศีรษะ อาการแสดงของสัญญาณบอกเหตุ เช่น พูดไม่ได้ แขนขาอ่อนแรง หมดสติ อาจพบได้น้อยรายมาก

ภาวะแทรกซ้อน
มักมีอาการเป็นๆ หายๆ อาจทำให้วิตกกังวลหรือซึมเศร้า แต่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
ในบางรายอาจมีอาการปวดไมเกรนต่อเนื่อง ติดต่อกันนานเกิน 72 ชั่วโมง หรือเป็นแบบเรื้อรังที่ปวดมากกว่า 15 วัน/เดือน

ภาวะที่มีความสัมพันธ์กับโรคไมเกรนเรื้อรัง เช่น โรควิตกกังวล โรคแพนิก โรคอารมณ์แปรปรวนหรือซึมเศร้า มีภาวะเครียด หรือการใช้ยาไมเกรนมากกว่า 2-3 ครั้ง/สัปดาห์

พบผู้ป่วยได้เป็นส่วนน้อยที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองจากภาวะขาดเลือดแทรกซ้อนซึ่งภาวะนี้มักพบในผู้หญิงที่เป็นไมเกรนชนิดมีสัญญาณบอกเหตุ มีประวัติกินยาเม็ดคุมกำเนิดหรือสูบบุหรี่

ภาวะอื่นๆ ที่ผู้ป่วยมักเป็นมากกว่าคนปกติทั่วไป เช่น โรคลมชัก ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติจากกรรมพันธุ์ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคลำไส้แปรปรวน ความดันโลหิตสูง โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น

การรักษา
1. ให้ยาบรรเทาปวด ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ขณะที่มีอาการกำเริบ อาจให้ยารักษาไมเกรน เช่น คาเฟอร์กอต แทนในรายที่เป็นรุนแรง ให้ยาแก้อาเจียน เช่น เมโทโคลพราไมด์ ดอมเพอริโดน เมื่อมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน ยาบรรเทาปวดต้องให้ทันทีเมื่อมีอาการจึงจะได้ผล และผู้ป่วยควรนั่งหรือนอนพักในห้องที่เงียบๆ และมืด

2. หากสงสัยจะเกิดจากสาเหตุร้ายแรงอย่างอื่นเมื่อปวดศีรษะรุนแรงติดต่อกันเกิน 72 ชั่วโมง เช่น ต้อหินเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมองแตก เลือดออกในสมองจากการที่ศีรษะได้รับบาดเจ็บ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เจาะหลัง ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

ยาที่ใช้สำหรับไมเกรนชนิดรุนแรง ได้แก่ ซูมาทริปแทน ขนาด 50-100 มก.ครั้งเดียว หลังให้ยาอาการจะทุเลาลงภายใน 4 ชั่วโมง แพทย์อาจให้ยาซ้ำหลายครั้งแต่ไม่เกิน 300 มก./24ชั่วโมง ร่วมกับยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ในรายที่ปวดไมเกรนเกิน 72 ชั่วโมง

แพทย์อาจพิจารณาให้ยาอื่นแทนในบางกรณี เช่น ฉีดไดโดรเออร์โกตามีน 1-2 มก. ใต้ผิวหนัง หรือฉีดคลอร์โพรมาซีน 25-50 มก.เข้าหลอดเลือดดำ หรือฉีดเดกซาเมทาโซน 4-8 มก. เข้าหลอดเลือดดำ หรือให้กินเพร็ดนิโซโลนวันละ 60 มก. นาน 3-4 วัน

จำเป็นต้องให้การรักษาแบบประคับประคองในกรณีที่มีอาการแสดงของไมเกรนชนิดรุนแรง เช่น แขนขาอ่อนแรง หรือหมดสติ อาการมักจะเป็นเพียงชั่วคราว และหายไปได้เอง

3. ควรให้ยาป้องกันในรายที่มีอาการมากกว่าเดือนละ 3 ครั้ง ถ้ามีอาการปวดมากกว่า 15 วัน/เดือน หรือใช้ยาไม่ได้ผล มักเป็นไมเกรนชนิดเรื้อรัง ควรตรวจหาสาเหตุโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ข้อแนะนำ
1. นอกเหนือจากไมเกรนอาจเป็นอาการแสดงของโรคความดันโลหิตสูงก็ได้ หากมีอาการปวดศีรษะแบบตุบๆ จึงควรตรวจวัดความดันให้แน่ใจเสียก่อน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป

2. โรคนี้มักเป็นๆ หายๆ เรื้อรังมาตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยหนุ่มสาว อาการกำเริบจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ไม่ใช่โรคร้ายแรง ควรแนะนำให้ผู้ป่วยเข้าใจและไม่เกิดความวิตกกังวล

3. ผู้ป่วยควรสังเกตและหลีกเลี่ยงสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะจากไมเกรน

4. หากพบมีอาการผิดปกติล่วงหน้า มีสัญญาณบอกเหตุ ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองตั้งแต่เริ่มมีอาการกำเริบ โดยกินยาแก้ปวดทันที นั่งหรือนอนพักในห้องที่เงียบและมืด อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อนอบอ้าว อาการก็จะบรรเทาได้อย่างรวดเร็ว

5. ผู้ที่กินยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ หรือยากลุ่มเออร์โกตามีน อยู่ เพื่อรักษาไมเกรนแต่ก็ยังปวดอยู่บ่อยๆ อาจเกิดจากการใช้ยามากเกินไป ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสม

6. การออกกำลังกายที่พอเหมาะหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศร้อน มีแสงจ้า ผ่อนคลายความเครียด หรือการรักษาด้วยการฝังเข็มสามารถทำให้อาการดีขึ้นได้

7. ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการกินยาเม็ดคุมกำเนิดในผู้ป่วยไมเกรน โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นไมเกรนชนิดมีสัญญาณบอกเหตุเพื่อความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนของโรคหลอดเลือดสมอง

ในคนอายุ 40-50 ปีขึ้นไปอาจมีสาเหตุจากหลอดเลือดแดงอักเสบถ้ามีอาการปวดศีรษะรุนแรงและคลำหลอดเลือดแดงที่ขมับค่อนข้างแข็งและกดเจ็บ อาจทำให้ตาบอดได้ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลด่วน โรคนี้แม้จะพบได้น้อยแต่ก็เป็นอันตรายร้ายแรงชนิดหนึ่ง แพทย์จะให้กินเพร็ดนิโซโลน อย่างน้อยเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์

หากมีอาการปวดศีรษะรุนแรงในรายที่ไม่เคยเป็นไมเกรนมาก่อนหรืออาการแตกต่างไปจากไมเกรนที่เคยเป็น หรือกินยาไม่ได้ผล อาจต้องนึกถึงโรคต่อไปนี้ เช่น หลอดเลือดโป่งพอง หลอดเลือดฝอยผิดปกติ ต้อหินเฉียบพลัน หรือในผู้สูงอายุอาจเกิดโรคปวดประสาทใบหน้า ที่ปวดเหมือนถูกมีดแทงหรือเข็มร้อนๆ แทง หรือไฟฟ้าช็อตที่ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง ประมาณ 10-30 วินาทีต่อครั้ง มีอาการเรื้อรังเป็นๆ หายๆ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉันหาสาเหตุที่แน่นอนเพื่อลดอันตรายจากโรคหากเกิดจากภาวะรุนแรง

การป้องกัน
ควรสังเกตและหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรน เช่น อาการปวดเมื่อกินยาเม็ดคุมกำเนิด เมื่อดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อกินอาหารที่ผสมผงชูรส เมื่อมีเสียงอึกทึก หรือแสงจ้า หากเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดก็ควรหลีกเลี่ยง

หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือไม่ทราบสาเหตุสิ่งกระตุ้นจนทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันเสียไป ก็ควรกินยาป้องกันชนิดใดชนิดหนึ่งติดต่อกันทุกวันนาน 4-6 เดือน หากมีอาการกำเริบก็ให้กินยาดังกล่าวซ้ำอีก

ผู้ป่วยควรเลือกใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งให้เหมาะสมดังนี้

1. ฟลูนาริซีน ชื่อการค้า คือ ซิบีเลียม ขนาด 5-10 มก. กินวันละครั้งก่อนนอนทุกคืน

2. อะมิทริปไทลีน เช่น ทริปตานอล ขนาด 10 มก. กินวันละครั้งก่อนนอนทุกคืน หากไม่ได้ผลให้เพิ่มขนาดเป็น 25 มก.

3. ไพโซติเฟน เช่น แซนโดไมแกรน หรือโมซีกอร์ ขนาด 0.5 มก. ให้กิน 1-3 เม็ด วันละครั้งก่อนนอนทุกคืน ยานี้อยู่ในกลุ่มยาแอนติฮิสตามีน อาจทำให้ง่วงนอน และเจริญอาหารอีกด้วย

4. ไซโพรเฮปตาดีน ขนาด 4 มก. ให้กิน 1-2 เม็ด วันละครั้งก่อนนอนทุกคืน ยานี้อยู่ในกลุ่มยาแอนติฮีสตามีนเช่นเดียวกัน

5. โพรพราโนลอล เช่น อินเดอราล เป็นกลุ่มยาปิดกั้นบีตา ขนาด 20-40 มก. ให้กินวันละ 3-4 ครั้งหลังอาหาร

6. อะทีโนลอล เป็นกลุ่มยาปิดกั้นบีตา ขนาด 50-100 มก. ให้กินวันละครั้ง

7. ไนเฟดิพีน เป็นยาต้านแคลเซียม ขนาด 10-40 มก. ให้กินวันละ 4 ครั้ง

8. ยารักษาโรคลมชัก เช่น โซเดียมวาลโพรเอต ขนาด 0.6-2.5 กรัม/วัน หรือโทพิราเมต ขนาด 25-100 มก./วัน แบ่งให้วันละ 1-2 ครั้ง

9. เมทิเซอร์ไจด์ เช่น เดสเซอริล ขนาด 1 มก. กินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2-3 ครั้งหลังอาหาร ไม่ควรกินยานี้ติดต่อกันนาน 6 เดือน เพราะอาจทำให้หลอดเลือดแดงหดตัวเป็นอันตรายได้ เช่น อาจทำให้เกิด retroperitoneal fibrosis ควรเว้นระยะการใช้ยาประมาณ 1-2 เดือน หากจำเป็นต้องใช้ยาอีก เพราะยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงและมีข้อห้ามใช้จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนการใช้ยากลุ่มนี้เสมอ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า