สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ไฟลามทุ่ง(Erysipelas)

เป็นภาวะที่ผิวหนังชั้นหนังแท้และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้นๆ รวมทั้งท่อน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงเกิดการอักเสบขึ้น มักพบในเด็กเล็ก ผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำจากโรค หรือจากยา หรือมีภาวะอุดตันของหลอดเลือด หรือท่อน้ำเหลือง หรือเกิดขึ้นในบริเวณที่มีอาการบวมเรื้อรัง หรือมีเนื้อตาย เชื้อจะเข้าทางรอยถลอก หรือรอยแยกของผิวหนัง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไฟลามทุ่งแบคทีเรีย สเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ และสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มอื่น

อาการ
เริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มักเกิดขึ้นฉับพลัน และจะมีอาการเป็นผื่นแดงสดในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา และจะมีอาการบวมแข็งตึงและผิวจะคล้ายเปลือกส้ม ผื่นจะลุกลามอย่างรวดเร็ว ผิวหนังบริเวณนั้นจะนูนเป็นขอบสังเกตได้ชัดเจน จับดูจะร้อนกว่าผิวหนังปกติ เมื่อกดลงตรงนั้นสีจะจางลงและมีรอยบุ๋มเล็กน้อย ผู้ป่วยอาจมีตุ่มน้ำพองถ้าเป็นมาก และผื่นจะยุบลงในระยะท้าย ผิวหนังจะลอกเป็นขุย แต่จะไม่มีแผลเป็นเมื่อหายแล้ว

ส่วนใหญ่มักพบเป็นที่บริเวณหน้า อาจเป็นที่แก้มข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ หรืออาจเป็นที่แขนขาในบางราย

อาจทำให้ท่อน้ำเหลืองเกิดการพองตัวอย่างถาวรได้ถ้าเป็นบ่อยๆ หรืออาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีลักษณะขรุขระถ้าเป็นที่เท้าหรือขา

ภาวะแทรกซ้อน
อาจเกิดอันตรายถึงเสียชีวิตได้ถ้าเป็นในเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรืออาจทำให้กลายเป็นโลหิตเป็นพิษได้ถ้าเชื้อลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด

การรักษา
1. ผู้ป่วยควรได้รับการพักผ่อน ไม่ควรเคลื่อนไหวส่วนที่อักเสบ ประคบด้วยน้ำอุ่นจัดๆ ให้ยกแขนหรือขาส่วนที่อักเสบให้สูงขึ้น

ผู้ป่วยควรกินอาหารพวกโปรตีน เช่น เนื้อ นม ไข่ ให้มากๆ สามารถกินได้ตามปกติ ไม่มีของแสลง ถ้ามีอาการปวดหรือมีไข้ควรให้ยาแก้ปวดลดไข้แก่ผู้ป่วย

2. ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อีริโทรไมซิน หรือโคอะม็อกซิคลาฟ ถ้าอาการดีขึ้นควรให้ต่อไปอีกจนครบ 10 วัน

3. ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ถ้าภายใน 3-5 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรง หรือสงสัยมีภาวะโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อน หรือพบในผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ แพทย์อาจรับตัวไว้รักษาที่โรงพยาบาล และฉีดเพนิซิลลินจี ขนาด 1-2 ล้านยูนิตเข้าทางหลอดเลือดดำ ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า