สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ(Spinal cord injury)

ประสาทไขสันหลังได้รับบาดเจ็บจากการได้รับบาดเจ็บที่บริเวณคอหรือหลัง อาจเป็นเหตุให้แขนขาเป็นอัมพาตได้ มักพบในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเป็นส่วนใหญ่ เช่น รถชน หรือตกจากที่สูงไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ

สาเหตุ
มีมักสาเหตุจากอุบัติเหตุร้ายแรง เช่น รถชน รถคว่ำ ตกจากที่สูง ถูกของหนักหล่นทับ การถูกยิง ถูกแทงบริเวณไขสันหลัง ทำให้เกิดอาการอัมพาตของแขนขาจากการที่ประสาทไขสันหลังได้รับความกระทบกระเทือน ฟกช้ำ เลือดออกหรือฉีกขาด

อาการ
ขาทั้ง 2 ข้างจะชาขยับไม่ได้ ถ่ายปัสสาวะอุจจาระเองไม่ได้ องคชาติไม่แข็งตัว ถ้าการบาดเจ็บเกิดตรงระดับเอว

จะมีอาการอัมพาตของแขนขาทั้ง 2 ข้างถ้าได้รับบาดเจ็บระดับคอ และจะหายใจไม่ได้ถ้ากระทบกระเทือนถูกส่วนที่ควบคุมการหายใจอาจทำให้เสียชีวิตได้ในเวลารวดเร็วถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ผู้ป่วยโรคนี้มักมีความรู้สึกตัวดีเหมือนคนปกติทั่วไป

สิ่งตรวจพบ
อาจตรวจพบอาการแขนขาทั้งสองข้างชา หรือเป็นอัมพาต

ภาวะแทรกซ้อน
อาจเกิดแผลกดทับหรือโรคติดเชื้อ เช่น ปอดอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ได้ง่ายในผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตนานๆ

การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่คอและหลัง
1. ถ้าไขสันหลังส่วนคอได้รับบาดเจ็บผู้ป่วยหายใจไม่ได้ ให้ทำการผายปอดด้วยการเป่าปากจนกว่าจะถึงโรงพยาบาล

2. วิธีเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
-ห้ามยก แบก หรือหามผู้ป่วยโดยตรง เพราะอาจทำให้ไขสันหลังได้รับอันตรายมากขึ้นได้
-ให้ผู้ป่วยนอนราบ ให้ศีรษะ คอ และลำตัวตั้งอยู่ในแนวตรงกัน ถ้าจะขยับผู้ป่วยให้ช่วยกัน 3 คน เพื่อขยับศีรษะ คอ และลำตัวไปพร้อมๆ กันในแนวตรงอย่าให้บิดเบี้ยว
-เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยให้นอนหงายบนแผ่นกระดานแข็งๆ พันตัวผู้ป่วยกับแผ่นกระดานเพื่อป้องกันการพลิกตัว
-หากสงสัยว่าเกิดกระดูกต้นคอหัก ควรใช้กระดาษแข็ง หนังสือพิมพ์หรือผ้าพับม้วนเป็นทบแล้วสอดไว้ใต้คอผู้ป่วยทำเป็นปลอกคอใส่ไว้เพื่อไม่ให้ขยับเขยื้อน เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยให้นอนหงายบนแผ่นกระดานแข็ง วางถุงทรายหรืออิฐขนาบระหว่างคอผู้ป่วยเพื่อมิให้ผู้ป่วยเอี้ยวหรือบิดคอ

การรักษา
ปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ผู้ป่วยก่อนนำส่งโรงพยาบาล แพทย์อาจตรวจพิเศษด้วยการเอกซเรย์กระดูกสันหลัง ถ่ายภาพไขสันหลังด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ่ายภาพรังสีไขสันหลังโดยการฉีดสารทึบรังสีเพื่อตรวจดูลักษณะการบาดเจ็บว่าเกิดจากข้อกระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกสันหลังหัก หรือมีก้อนเลือดกดทับไขสันหลัง หรือไม่ เป็นต้น

นอกจากให้การรักษาตามอาการ ให้น้ำเกลือ หรือใช้เครื่องช่วยหายใจแล้ว แพทย์อาจให้สตีรอยด์ฉีดเข้าหลอดเลือดดำเพื่อลดอาการบวม เช่น เมทิลเพร็ดนิโซโลน จะช่วยให้ฟื้นตัวดีขึ้น ถ้าให้ยานี้ภายใน 8 ชั่วโมงหลังบาดเจ็บ และให้ติดต่อกันนาน 24 ชั่วโมง การรักษามักได้ผลดี อาจต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของสันหลังหรือเชื่อมต่อข้อกระดูกสันหลังด้วย หรืออาจต้องใช้น้ำหนักดึงถ่วงให้กระดูกสันหลังเข้าที่ ป้องกันไม่ให้เคลื่อนหรือไปกดทับไขสันหลัง

อาจต้องใช้เวลานานในการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล และอาจต้องทำการฟื้นฟูสภาพด้วยกายภาพบำบัด การใช้อุปกรณ์ช่วยในการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยด้วย ถ้าไขสันหลังบาดเจ็บไม่มากก็มีโอกาสฟื้นคืนสภาพได้ดี ถ้าภายใน 1 สัปดาห์ผู้ป่วยสามารถขยับแขนขาและมีความรู้สึกเจ็บก็อาจมีทางหายได้ ซึ่งผลการรักษามักขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

อาการอัมพาตจะเกิดขึ้นอย่างถาวรและไม่ดีขึ้นเลยภายหลังบาดเจ็บ 6 เดือนไปแล้วถ้าประสาทไขสันหลังถูกทำลาย

อาการอัมพาตทั้งแขนและขาและหายใจเองไม่ได้หากเป็นอัมพาตอย่างถาวรในรายที่มีการบาดเจ็บตรงคอ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อประคับประคองชีวิต ผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ในระยะต่อมา

ข้อแนะนำ
1. ควรระมัดระวังในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเพื่อป้องกันมิให้ไขสันหลังได้รับอันตรายมากขึ้นถ้าผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บบริเวณคอหรือหลัง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีกระดูกคอหรือกระดูกหลังหักหรือไขสันหลังได้รับการกระทบกระเทือน

2. ผู้ป่วยไขสันหลังบาดเจ็บมักได้รับการรักษาจนปลอดภัยดี แต่ถ้าเกิดอาการอัมพาตอย่างถาวรมักจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกท้อแท้ ซึมเศร้า จึงควรให้การรักษาทั้งทางร่างกายและด้านจิตใจไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งการได้รับการดูแลช่วยเหลือและกำลังใจจากคนในครอบครัว

3. ผู้ป่วยควรติดตามผลการรักษาและพบแพทย์ตามนัดโดยสม่ำเสมอ หากสงสัยมีอาการแทรกซ้อนควรไปพบแพทย์ก่อนเวลานัด ปรับตัวปรับใจ และยอมรับความจริง เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข เช่น การทำกิจกรรมที่ชอบและถนัด การประกอบอาชีพและการเข้าสังคม เป็นต้น

การป้องกัน
การป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะอุบัติเหตุจราจร และการตกจากที่สูง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า