สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคอ้วนกับโภชนาการของเด็ก

เด็กอ้วน

โรคอ้วน (Obesity)
คืออาการอ้วนผิดปกติจากการที่มีไขมันเพิ่มมากเกินธรรมดา ปัญหานี้ยังไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญของบ้านเรา เป็นปัญหาเฉพาะของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น โดยถือว่าอ้วนผิดปกติเมื่อมีน้ำหนักเทียบกับน้ำหนักมาตรฐานมีค่าสูงกว่า 90th percentile และถือว่าอ้วนมากเมื่อสูงกว่า 95 th percentile

สาเหตุ
สามารถแบ่งออกได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ 4 กลุ่มคือ
1 . Overnutrition รวมกับ genetic factor
2. Endocrine disorders ได้แก่ Cushing’s syndrome, hypo-pituitarism, hypothyroidism
3. Neurologic disorders ได้แก่ lesions ที่ ventromedian nucleus
4. Inherited syndromes : Laurence-Moon-Biedl syndrome (obesity, Polydactyly and retinal pigmentation), Prader-Willi syndrome (obesity, hypogonadism, hypotonia, mental retardation)

การวินิจฉัย
ประวัติการให้อาหารตั้งแต่วัยทารก
นมมารดาหรือนมผง, การให้อาหารเสริม, ประวัติอาหารในปัจจุบัน, ประวัติครอบครัว บิดามารดาหรือญาติผู้ใดอ้วนบ้าง

ตรวจร่างกาย
เนื่องจากวิธีการวัดปริมาณไขมันในร่างกาย (body fat content) โดยตรง เช่น densitometry, body potassium content เป็นต้น เป็น วิธีที่ยุ่งยากและเสียเวลามากเกินกว่าที่จะใช้กับผู้ป่วยที่มาคลินิกผู้ป่วยนอก จึงยังใช้การวัดน้ำหนักตัว ซึ่งวัดทั้ง lean body mass (ได้แก่ กระดูกและกล้ามเนื้อ) และ fat content เทียบกับน้ำหนักมาตรฐานโดยถือว่าอ้วนเมื่อมีค่าสูงกว่า 90th percentile และถือว่าอ้วนมากเมื่อสูงกว่า 95th percentile และในกรณีที่มีเครื่องมือ การวัดความหนาของ ไขมันใต้ผิวหนัง (skinfold thickness) จะช่วยได้มากขึ้น เพราะเป็นการวัดไขมันโดยตรง

โรคอ้วน จาก endocrine disorders แยกออกจาก overnutrition ได้ง่ายโดยการวัดส่วนสูง, skeletal proportions, และอายุกระดูกซึ่งทั้งหมดต่ำผิดปกติ ในพวก endocrine disorders ในขณะที่เด็ก obesity จาก overnutrition มักจะสูงกว่าเกณฑ์เฉลย และอายุกระดูก เร็วกว่าอายุจริงเล็กน้อย นอกจากนี้ยังตรวจพบอาการแสดงเฉพาะของโรคต่อมไร้ท่อ เช่น moon face, buffalo hump, hirsutism, striae ใน Cushing’s syndrome เป็นต้น

การรักษา
สาเหตุที่ต้องรักษา เนื่องจากเด็กที่อ้วนมีโอกาสจะเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนได้มาก และมีอัตราเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้หลายโรค ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น การรักษาผู้ป่วยประเภทนี้มักประสบความสำเร็จน้อยมาก ผู้ป่วยและผู้ปกครองต้องมีความตั้งใจจริงที่จะรักษา และจะยิ่งได้ผลดี เมื่อผู้ป่วยอยากรักษา และเป็นผู้ขอให้พามาพบกับแพทย์เอง หัวใจของการรักษาคือ ให้มีการใช้กำลังงาน (energy expenditure) มากกว่ากำลังงานที่ได้รับเข้าไป (energy intake) ไม่ว่าผู้ป่วยจะอายุเท่าไร มีวิธีการเหมือนกันคือ จำกัดอาหาร ออกกำลังกาย เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการใช้ยาทำให้เบื่ออาหาร ซึ่งไม่ใช้ในเด็ก เนื่องจากมีผลข้างเคียงทำให้มี hyperactivity และนอนไม่หลับ นอกจากนี้ยา เหล่านี้จะให้ผลดีในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกเท่านั้น หลังจากนั้นจะเหมือนเดิมหรืออ้วนกว่าเดิม

การรักษาจะได้ผลดีเมื่อผู้ปกครอง และสมาชิกในครอบครัวทั้งหมดให้ความร่วมมือด้วยโดยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้เหมือนกัน กินอาหารให้เป็นเวลา งดของว่างพวกของหวาน ลดอาหารจำพวกที่ให้แต่พลังงานได้แก่ พวกแป้ง น้ำตาลและไขมัน เช่นงดน้ำอัดลมและน้ำหวาน และลดปริมาณข้าว ใช้วิธีปิ้งอาหารแทนทอด เป็นต้น กินอาหารจำพวกโปรตีน (เนื้อหมูมีไขมันมาก เนื้อไก่บริเวณอกมีไขมันน้อยกว่าบริเวณสะโพก เป็นต้น) ผัก และผลไม้ที่ไม่หวานจัดได้เต็มที่ นอกจากนี้ต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ ในเด็กที่กำลังเติบโตไม่ควรหวังผลลดน้ำหนักมากเกินไป ไม่ควรเกิน 0.5-1 กก./สัปดาห์ และต้องระวังอย่าให้ลดอาหารมาก จนการเติบโตชะงัก ต้องนัดผู้ป่วยและผู้ปกครองมาตรวจติดตามผลเป็นประจำ เพื่อให้กำลังใจและดูแลอย่างใกล้ชิด

การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา เมื่อเป็นแล้ว ดังนั้นเมื่อสังเกตว่ามารดาเป็นคนอ้วน ควรแนะนำการให้อาหารทารกอย่างละเอียดเพื่อป้องกันทารกอ้วน ซึ่งจะรักษายากในเวลาต่อมา เนื่องจากได้เพาะบริโภคนิสัยขึ้นแล้ว

ที่มา: ลัดดา  เหมาะสุวรรณ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า