สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ลมพิษ(Urticaria)

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย พบมากในคนอายุ 20-40 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เป็นโรคที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด มักเป็นอยู่ไม่กี่วันก็หายได้เอง แต่ก็อาจเป็นเรื้อรังได้ถ้าเป็นติดต่อกันนานเกิน 2 เดือน จะเรียกว่า ลมพิษชนิดเรื้อรัง แต่ถ้าไม่เกิน 2 เดือน จะเรียกว่า ลมพิษชนิดเฉียบพลัน

ผู้ป่วยอาจมีประวัติเคยเป็นโรคภูมิแพ้หรือคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อนร่วมด้วย

สาเหตุ
เกิดจากเมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่แพ้จะสร้างสารแพ้ที่เรียกว่า ฮิสตามีนออกมาจากเซลล์ในชั้นใต้ผิวหนัง ทำให้หลอดเลือดฝอยขยายตัวมีพลาสมาซึมออกมาในผิวหนังทำให้เกิดเป็นผื่นนูนแดง ซึ่งลมพิษถือว่าเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการแพ้อาหาร เช่น อาหารทะเล กุ้ง ปลา ไข่ เนื้อสัตว์ ถั่ว มะเขือเทศ ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว เป็นต้น หรืออาจจะแพ้สารที่ผสมอยู่ในอาหาร เช่น ผงชูรส สารกันบูด สีผสมอาหาร หรือแพ้เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ แพ้ยา เซรุ่ม วัคซีน พิษแมลง ฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ นุ่น ไหม หรือสารเคมี

อาจมีอาการของลมพิษเกิดขึ้นได้ในรายที่เป็นโรคติดเชื้อ เช่น ทอนซิลอักเสบ หูอักเสบ ท้องเดิน ไซนัสอักเสบ ไตอักเสบ โรคเชื้อรา โรคพยาธิ เป็นต้น แต่ก็อาจตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนในบางราย

ในรายที่เป็นลมพิษเรื้อรัง มักจะไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดขึ้น ที่พบสาเหตุแน่ชัดมักมีเป็นส่วนน้อย ซึ่งนอกจากสาเหตุดังที่กล่าวมาแล้วก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีก เช่น การแพ้ความร้อน ความเย็น แสงแดด เหงื่อ น้ำ แรงดัน แรงกด หรือการขีดข่วนที่เกิดกับผิวหนัง การยกน้ำหนัก โรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น ฟันผุ โรคหูน้ำหนวก พยาธิลำไส้ พยาธิตัวจี๊ด เป็นต้น หรืออาจเกิดร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น เอสแอลอี หรือมะเร็ง ในบางราย และอาจเป็นสาเหตุของลมพิษเรื้อรังได้เช่นกันจากภาวะความเครียด ความวิตกกังวล และอารมณ์ของผู้ป่วย และในรายที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ก็อาจทำให้อาการของลมพิษกำเริบขึ้นได้

อาการ
ผู้ป่วยมักมีวงนูนแดงในขนาดและรูปร่างที่ต่างกัน เช่น วงกลม วงรี วงหยัก ภายในวงจะนูนและซีดกว่าขอบเล็กน้อยทำให้เป็นขอบแดงๆ มักเกิดขึ้นฉับพลัน มีอาการคัน ถ้าเกาที่ตรงไหนก็จะมีผื่นแดงขึ้นตรงนั้น อาจมีไข้เล็กน้อยหรือรู้สึกร้อนผ่าวตามร่างกายในบางราย

ลมพิษมักขึ้นกระจายตัวไม่เหมือนกันทั้งสองข้างของร่างกาย อาจเกิดขึ้นที่หน้า แขนขา ลำตัว หรือส่วนอื่นๆ ก็ได้

วงนูนแดงจะยุบหายไปเองหลังจากเป็นอยู่ประมาณ 3-4 ชั่วโมง แต่ในวันเดียวกันหรือวันต่อมา หรือในเดือนต่อๆ มาก็อาจเกิดขึ้นมาใหม่ในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งอื่นก็ได้ หรืออาจขึ้นติดต่อกันเป็นวันๆ ก็ได้ในบางราย แต่มักจะยุบหายไปได้เองภายใน 1-7 วันเป็นส่วนใหญ่

ในรายที่เป็นลมพิษชนิดรุนแรง ที่เรียกกันว่า ลมพิษยักษ์ หรือแองจิโอเอดิมา เนื้อเยื่อชั้นลึกของผิวหนังจะมีอาการบวม กดไม่บุ๋ม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-3 นิ้วหรือมากกว่า มักมีอาการอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงแล้วจะยุบหายไปเอง มักชอบขึ้นตรงส่วนริมฝีปาก หนังตา หู ลิ้น หน้า มือ แขน หรือส่วนอื่นๆ แต่อาจทำให้หายใจลำบาก ตัวเขียว เป็นอันตรายได้ถ้ามีอาการบวมของกล่องเสียงร่วมด้วยซึ่งอาจเกิดจากการแพ้อาหาร หรือแพ้ยากลุ่มยาต้านเอช แอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เป็นต้น

ในรายที่เป็นเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีลมพิษขึ้นเป็นๆ หายๆ ติดต่อกันนานกว่า 2 เดือนแทบทุกวัน กว่าจะหายขาดไปเองได้อาจใช้เวลาเป็นปีๆ

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีลมพิษขึ้นลักษณะเป็นวงนูนแดง มีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันไป อาจพบรอยเการ่วมด้วยในบางครั้ง หรืออาจพบอาการหายใจลำบาก ตัวเขียว ในรายที่เป็นลมพิษยักษ์

การรักษา
1. ให้ประคบผื่นลมพิษด้วยน้ำเย็น น้ำแข็ง หรือถ้าไม่แพ้ก็ให้ทาด้วยยาแก้ผดผื่นคัน เหล้า หรือแอลกอฮอล์

2. ให้ผู้ป่วยกินยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ไดเฟนไฮดรามีน หรือไฮดรอกไซซีน ครั้งละ 1-2 เม็ด และให้ซ้ำได้อีกทุก 6-8 ชั่วโมงถ้ายังมีอาการ ยานี้ถ้าใช้ในเด็กให้ลดลงตามอายุ และควรให้ยาแก้แพ้ดังกล่าวเป็นชนิดฉีดครั้งละ ½ -1 หลอดถ้าเป็นมากหรือกินยาไม่ได้

ควรฉีดอะดรีนาลิน 0.5 มล. เข้าใต้ผิวหนังทันทีแล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลในรายที่เป็นลมพิษยักษ์ และมีอาการหายใจลำบาก ส่วนในเด็กให้ใช้ยานี้ในขนาด 0.2-0.3 มล.

3. ควรกำจัดหรือหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค เช่น ควรหยุดยาหรือเลิกกินอาหารชนิดนั้นถ้าทำให้แพ้ หรือให้ยาถ่ายพยาธิถ้าเป็นโรคพยาธิลำไส้ เป็นต้น

4. ควรส่งผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลหากให้ยา 1 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นๆ หายๆ เกิน 2 เดือน หรือสงสัยจะมีสาเหตุจากโรคอื่นร่วมด้วย

นอกจากการซักถามประวัติและการตรวจร่างกายอย่างละเอียดแล้วในการตรวจหาสาเหตุของโรค แพทย์อาจต้องทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ หรือทำการทดสอบผิวหนัง หรือตรวจพิเศษอื่นๆ ด้วย

-ในรายที่เป็นลมพิษเฉียบพลันโดยไม่มีโรคอื่นร่วมด้วย อาจให้เพร็ดนิโซโลน หลังอาหารวันละครั้ง เป็นเวลา 10 วัน โดยวันแรกให้ขนาด 40-60 มก. แล้วค่อยๆ ลดลงจนเหลือขนาด 5-10 มก.ในวันสุดท้ายในรายที่ใช้ยาแก้แพ้แล้วไม่ได้ผล

-แพทย์อาจให้ยาฉีดอะดรีนาลิน ร่วมกับยาแก้แพ้ สตีรอยด์ และรานิทิดีนชนิดฉีดแบบเดียวกับการรักษาภาวะช็อกจากการแพ้และอาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจในรายที่มีอาการหายใจลำบากเนื่องจากลมพิษยักษ์

-ยาแก้แพ้ที่ใช้ได้ผลดีในรายที่เป็นเรื้อรัง โดยเฉพาะในรายที่แพ้เหงื่อ แพ้แดด หรือแพ้รอยขีดข่วน คือ ไฮดรอกไซซีน ขนาด 10-20 มก. วันละ 1-3 ครั้ง และให้การแก้ไขตามสาเหตุที่ตรวจพบ

ในรายที่แพ้ความเย็นหรือน้ำเป็นประจำควรให้กินยาแก้แพ้ก่อนจะสัมผัสถูกความเย็นหรือน้ำประมาณ ½ -1 ชั่วโมงเพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการ โดยให้ยาแก้แพ้ที่มีชื่อว่า ไซโพรเฮปตาดีน(cyproheptadine) มีชื่อการค้า คือ เพอริแอกทิน(Periactin) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง และแพทย์จะให้ยาแก้แพ้ที่ไม่ง่วง เช่น ลอราทาดีน 10 มก. วันละครั้งแทนในรายที่ต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือขับรถ

อาจลดยาเหลือเพียงวันละครั้ง ในขนาดต่ำสุดก่อนนอนทุกวัน ถ้าอาการทุเลาลงแล้ว แล้วลองหยุดยาเมื่อเวลาผ่านไป 2-3 เดือนแล้ว และให้กินยาใหม่เมื่อมีอาการกำเริบขึ้น ผู้ป่วยบางรายกว่าจะหายขาดจากโรคและหยุดยาได้อาจต้องใช้เวลานานเป็นแรมปีหรืออาจนาน 3-5 ปีก็ได้

แพทย์อาจให้ยาแก้ซึมเศร้า เช่น ดอกซีพิน (doxepin) ซึ่งมีฤทธิ์แก้แพ้ ครั้งละ 25-75 มก.ก่อนนอน ในรายที่ให้ยาแก้แพ้แล้วไม่ได้ผล

-แพทย์อาจให้ยาต้านเอช2 (H2 antagonists) เช่น รานิทิดีน 150 มก. วันละ 2 ครั้ง ร่วมกับยาแก้แพ้ในกรณีที่ให้ยาแก้แพ้อย่างเดียวไม่ได้ผล ซึ่งยานี้จะช่วยเสริมฤทธิ์ยาแก้แพ้ทำให้อาการบวมแดงของลมพิษระงับลง

-ควรให้การรักษาโรคที่ตรวจพบร่วมกันไปด้วยกับอาการลมพิษ เช่น เอสแอลอี โรคติดเชื้อ โรคพยาธิ มะเร็ง เป็นต้น

ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยควรสังเกตและหาทางหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษเพื่อช่วยให้อาการหายขาดได้ เช่น อาหาร ยา หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ

2. อาจช่วยให้อาการของผู้ป่วยบรรเทาลงได้ด้วยการพยายามหลีกเลี่ยงภาวะเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ อย่าวิตกกังวล ทำใจให้สบาย และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ

3. ลมพิษเรื้อรังส่วนใหญ่จะไม่มีอันตรายร้ายแรง และมักไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค ผู้ป่วยอาจมีอาการอยู่นานเป็นแรมปีแล้วหายไปได้เอง จึงควรกินยาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำจนกว่าจะหายจากโรค มีส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีโรคร้ายแรงร่วมด้วย แต่ก็ควรตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดเสียก่อนเมื่อเป็นลมพิษเรื้อรังเกิดขึ้น

4. ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ในผู้ที่เป็นลมพิษบ่อยหรือมีโรคภูมิแพ้อยู่ประจำ เพราะยานี้มีฤทธิ์ทำให้โรคภูมิแพ้กำเริบขึ้นมาได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า